คำนำ หนังสือ สนุกกับการเรียน


 

 

คำนำ

หนังสือ สนุกกับการเรียน

 

.........

 

หนังสือสนุกกับการเรียน เล่มนี้ รวบรวมจากบันทึกใน บล็อก www.gotoknow.org/blog/councilระหว่างวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๕  ถึงวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๔ รวม ๗๑ บันทึก ในเวลา ๗๙ วัน   โดยผมเป็นผู้เขียนตีความจากหนังสือ  Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดยศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley แห่ง Foothill College  รัฐแคลิฟอร์เนีย  สหรัฐอเมริกา    ลงเผยแพร่ใน บล็อก วันละ ๑ บันทึก เกือบทุกวัน   เป็นการทำงานด้วยความสนุกสนาน และได้รับความรู้มาก   ด้วยความหวังว่า ผลงานชิ้นนี้จะช่วยชี้ทาง ให้ครู/อาจารย์ เห็นลู่ทางช่วยเหลือนักเรียน/นักศึกษา ที่ไม่สนุกกับการเรียน   ให้เปลี่ยนมาเรียนอย่างสนุกสนานได้   และที่สำคัญ เกิดการเรียนรู้ในระดับที่ลึกและเชื่อมโยงได้ ที่เรียกว่า "เรียนรู้แบบรู้จริง" (Mastery Learning)

ศาสตราจารย์ เอลิซาเบธ บาร์คลีย์ เล่าที่มาของหนังสือเล่มนี้ว่า   เกิดจากการที่ตนเองเผชิญวิกฤติการสอน   โดยที่นานมาแล้วท่านได้รับการโหวตจากนักศึกษา ให้เป็นครูยอดเยี่ยมแห่งปี คือสอนเก่งมาก   ด้วยผลงานและความสามารถ ท่านจึงได้รับแต่งตั้งเป็นคณบดีเป็นเวลานาน ๑๐ ปี   จึงห่างเหินการสอนนักศึกษาไปนาน   เมื่อออกจากตำแหน่งบริหาร กลับมาทำหน้าที่สอนอีก ท่านพบว่า นักศึกษามีลักษณะเปลี่ยนไปอย่างน่าตกใจ   คือความเอาใจใส่กาเรียนและทักษะในการเรียนรู้ ด้อยลงกว่านักศึกษาสมัย ๑๐ ปีก่อนมาก   แต่ที่น่าตกใจกว่าคือ นักศึกษาพากันไปร้องต่อคณบดีท่านใหม่ ว่าศาสตราจารย์ เอลิซาเบธ บาร์คลีย์ สอนไม่รู้เรื่อง   ทำให้ท่านต้องขวนขวายหาวิธีปรับปรุงการสอนให้น่าสนใจ   จนกลายเป็นครูยอดนิยมอีกครั้งหนึ่ง   และนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ เขียนเป็นหนังสือเผยแพร่ จนกลายเป็นหนังสือขายดีเล่มนี้ 

Foothill College  ที่ศาสตราจารย์ เอลิซาเบธ บาร์คลีย์ สอน เป็นวิทยาลัยชุมชน   ที่จัดการศึกษา ๒ ปี ในระดับอุดมศึกษา   ที่ผู้จบการศึกษาได้รับใบประกาศนียบัตรระดับอนุปริญญา ออกไปทำงานได้   หรืออาจไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเพื่อให้ได้ปริญญาตรี   โดยทั่วไปผู้เข้าเรียนในวิทยาลัยชุมชนเป็นผู้ยากจน หรือด้อยโอกาสด้วยเหตุอื่น   เช่นต้องทำงานหรือสร้างครอบครัวในวัยหนุ่มสาว   เมื่ออายุมากขึ้น มีโอกาส จึงเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา    วิทยาลัยชุมชนจึงมีนักศึกษาที่กลากหลายมาก ทั้งหลายวัยและหลายกลุ่มเชื้อชาติ   รวมทั้งนักศึกษาส่วนใหญ่มีสมองไม่ปราดเปรื่องนัก

หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ผมบอกตัวเองว่า นี่คือหนังสือที่ครู/อาจารย์ไทยควรอ่าน   เพราะสถาบันการศึกษาไทยก็ประสบความจริงเดียวกันว่า ผู้เรียนในสมัยนี้มีสมาธิสั้น ความเอาใจใส่เรียนต่ำ เบื่อเรียน และทักษะด้านการเรียนรู้ต่ำ   ครู/อาจารย์ต้องการเครื่องมือช่วยให้จัดการเรียนการสอนให้น่าสนใจ หรือเรียนสนุก   แนวทางหลากหลายแนวทางที่ศาสตราจารย์ เอลิซาเบธ บาร์คลีย์ แนะนำในหนังสือเล่มนี้ น่าจะเป็นข้อเรียนรู้ หรือตัวอย่าง ที่ครู/อาจารย์ ไทย จะนำมาปรับใช้ ให้เหมาะสมต่อบริบทของศิษย์ของตนเอง  

นอกจากเทคนิคแล้ว   ในตอนต้นของหนังสือ ศาสตราจารย์ เอลิซาเบธ บาร์คลีย์ ได้รวบรวมหลักการด้านการเรียนรู้สมัยใหม่   ที่มาจากผลการวิจัยด้านการเรียนรู้   นำมาสรุปไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง   โดยเน้นที่การเรียนรู้แบบลงมือทำ (Active Learning  หรือ  Learning by doing)   และครูทำหน้าที่เป็น "คุณอำนวย" (facilitator)  หรือเป็นครูฝึก (โค้ช)   ให้ศิษย์เรียนสนุกและรู้จริง (mastery)

หนังสือเล่มนี้ มาจากการรวบรวมบันทึกใน บล็อก ที่เขียนเป็นตอนๆ   ความต่อเนื่องของสาระจึงอาจไม่ดีนัก  นอกจากนั้น ยังเขียนมาจากหนังสือที่เขียนภายใต้บริบทอเมริกัน   แม้ผมจะได้เขียนหมายเหตุในบางตอน ว่าควรระมัดระวังเมื่อนำมาใช้ในบริบทไทย   ก็ขอย้ำไว้ ณ ที่นี้ว่า   ไม่ควรคัดลอกวิธีการมาใช้โดยไม่ไตร่ตรองหาทางปรับปรุง หรือดัดแปลง ให้เข้ากับวัฒนธรรมไทย และนักเรียนไทย เสียก่อน 

นักเรียนไทย (และนักเรียนในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก) ยังจะมีการเปลี่ยนแปลงต่อไปไม่หยุดยั้ง   และสังคมก็จะเปลี่ยนแปลงต่อไปอย่างรวดเร็ว และพลิกผัน   คือเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบไม่แน่นอน   ดังนั้น วิธีจัดการเรียนรู้ หรือที่เราพูดกันติดปากว่าวิธีสอน ของครู/อาจารย์ ก็ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่อไปไม่หยุดยั้งเช่นเดียวกัน   วิธีการตามที่แนะนำในหนังสือเล่มนี้ จึงเป็นเพียงตัวอย่าง   ไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัว 

ทฤษฎี หรือหลักการด้านการเรียนรู้ ที่ระบุไว้ในส่วนแรกของหนังสือ (บันทึกที่ ๑ - ๑๙) จะช่วยเป็นหลักการพื้นฐาน สำหรับใช้ประกอบการคิดค้นหรือประดิษฐ์เทคนิคต่างๆ ขึ้นใหม่   ให้เหมาะสมต่อนักเรียน/นักศึกษา ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย    ลักษณะของคนยุคใหม่ ที่เรียกว่า “คนพันธุ์ เอ็มมีบันทึกไว้ที่ http://www.gotoknow.org/posts/541268

ขอย้ำว่า ข้อความที่เขียนลงบันทึกใน บล็อก แะรวบรวมมาเป็นหนังสือเล่มนี้   ไม่ตรงกับข้อความในหนังสือ  Student Engagement Techniques :  เพราะเขียนจากการตีความหนังสือเล่มนี้   ไม่ได้แปล   ดังนั้น การอ่านหนังสือสนุกกับการเรียน จะไม่ทดแทน และไม่เหมือนกันกับการอ่านต้นฉบับหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty โดยตรง

ผมขออนุโมทนาต่อครู/อาจารย์ ที่เอาใจใส่เรียนรู้และปรับปรุงวิธีจัดการเรียนการสอนของตน   ด้วยจุดมุ่งหมายให้ศิษย์เรียนสนุก และเรียนแล้วรู้จริง   และขอบคุณมูลนิธิสดศรี-สฤษดิวงศ์ และมูลนิธิสยามกัมมาจล ที่ร่วมกันจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกเผยแพร่แก่สังคมไทย   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขอขอบคุณคุณวรรณา เลิศวิจิตรจรัส ที่ริเริ่มการจัดพิมพ์ และทำหน้าที่บรรณาธิการ

 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑ กันยายน ๒๕๕๖

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 550400เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2013 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ตุลาคม 2013 09:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีจัง ที่รวบรวมมาพิมพ์  ผมจะรีบไปซื้อ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท