success story of CF (Siriraj)


เรื่องเล่าความสำเร็จ

Success Story by CF
      
นวันที่ 26 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา โครงการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย จัดให้มีการเล่า success story จากการทำงาน ด้วยวิธี story telling ในกลุ่ม Cluster Facilitator (CF) ซึ่งทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการให้คำปรึกษาเรื่องระเบียบวิธีวิจัยกับทีมต่างๆ โดยได้รับความร่วมมือจาก ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคมกรุณามาเป็น Facilitator กลุ่ม เป้าหมายของการแลกเปลี่ยนครั้งนี้ คือ การเรียนรู้การนำเทคนิคของ knowledge management มาใช้ในการดำเนินงานพัฒนาโครงการวิจัยของ R2R มากขึ้น และยังเป็นการแบ่งปันความรู้ความสำเร็จในการทำงานในกลุ่ม Cluster Facilitator อีกด้วย  ผู้เล่าเรื่องได้แก่ อ.นพ.อัครินทร์ นิมมานนิตย์ (ผู้จัดการโครงการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย) ผศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ (ภาควิชาอายุรศาสตร์) อ.นพ.กุลธร เทพมงคล (ภาควิชารังสีวิทยา) รศ.พญ.ศิริพร ปิติมานะอารี (ภาควิชาวิสัญญีวิทยา)  อ.นพ.ชนินทร์ ล่ำซำ (ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด) ผศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต (ภาควิชากุมารเวชศาสตร์) รศ.ดร.นพ.ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร (ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา) และ ดร.ชนากานต์ บุญนุช (ฝ่ายการพยาบาล)   

เรื่องเล่าของ อ.นพ.อัครินทร์ นิมมานนิตย์               
      
...เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สามารถดำเนินการให้ผู้บริหารเข้าใจ และเห็นด้วยกับการอนุมัติทุนขนาดใหญ่ ให้แก่ทีมผู้วิจัยทีมหนึ่งได้ โดยความเป็นมาของประเด็นปัญหาที่ทำให้ต้องถกกันคือ รายละเอียดของเนื้องานวิจัย มีค่าใช้จ่ายในการตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นส่วนมาก  จึงไม่แน่ใจว่าจะตรงกับนโยบายของ R2R หรือไม่  เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น จึงเข้าปรึกษากับรองคณบดีฝ่ายวิจัยหลายครั้ง รวมทั้งส่งโครงร่างงานวิจัยให้ผู้เชี่ยวชาญ (expert content) ทำการทบทวน จนกระทั่งสรุปร่วมกันว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี และน่าสนับสนุน...
 
สกัดความรู้
: เมื่อพบปัญหาใดก็ตามที่ยากเกินแก้หรือไม่มั่นใจที่จะตัดสินใจ แทนที่จะปล่อยผ่านไป ให้มองหามุมที่แตกต่าง โดยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ผู้ที่มีมุมมองกว้างขวางในการวิเคราะห์ปัญหานั้นๆ   

เรื่องเล่าของ ดร.ชนากานต์ บุญนุช                
      
“…ได้ทำงานที่ตัวเองชอบ และสำเร็จในระดับหนึ่งในการเป็น CF  ได้อำนวยความสะดวกให้แก่นักวิจัยหน้าใหม่  รวมทั้งได้เพิ่มความรู้ให้ตนเอง แม้จะมีอุปสรรคระดับบริหารอยู่บ้าง  แต่การจะเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ ย่อมต้องผ่านอุปสรรค รวมทั้งต้องมีผู้อุปการะ (เช่นการมี CFเป็นที่ปรึกษา) นอกจากนี้รู้สึกยินดีที่ได้เรียนรู้ระเบียบวิธีวิจัยของศาสตร์ด้านอื่นๆ นอกเหนือไปจากด้านสังคมศาสตร์ที่ตนเองเรียนมา...
สกัดความรู้: แม้การเป็น CF จะเป็นผู้ให้คำปรึกษา ให้ความรู้แก่ทีมนักวิจัย แต่ก็ได้เรียนรู้ไปด้วยพร้อมๆกับการให้ความรู้ 

เรื่องเล่าของ รศ.พญ.ศิริพร ปิติมานะอารี   
      
...ความสำเร็จจากเป็นผู้เสนอให้มีทุนวิจัยเอื้ออาทร  ความเป็นมาเริ่มจากผู้ปฏิบัติงานมักบอกเสมอว่าไม่มีเวลาทำงานวิจัย  ภาควิชาวิสัญญีวิทยาก็เล็งเห็นปัญหานี้เช่นกัน จึงคิดเรื่องทุนวิจัยเอื้ออาทรขึ้น เพื่อให้ free time 16 man-day เพื่อให้สามารถหลุดออกมาจากงานประจำเพื่อมาทำงานวิจัยได้  ใน 16 วันที่ขอได้นี้สามารถนำไปใช้ทำงานวิจัยได้ 1 โครงการ  โดยสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปวันละ 1 คน ซึ่งไม่ทำให้ขาดคนทำงานด้วย แต่มี commitment ว่าต้องส่งโครงร่างงานวิจัย  เมื่อครบ 16 วัน ผู้วิจัยจะนำโครงร่างงานวิจัยเสนอที่ประชุม research meeting ผู้เข้าฟังจะเป็นใครก็ได้ถือเป็นการเรียนรู้ในภาควิชา…”
สกัดความรู้: ทุนวิจัยนอกจากสนับสนุนเงินทุนในการทำวิจัยแล้ว ยังมีทุนวิจัยที่สนับสนุนด้านเวลาในการทำงานวิจัยด้วย ซึ่งอาจจะนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมในแต่ละภาคส่วนต่อไป 

เรื่องเล่าจาก อ.นพ.ชนินทร์ ล่ำซำ
      
...เรื่องที่ถือว่าสำเร็จ คือ การพยายามชักชวนพยาบาลที่หอผู้ป่วยให้หันมาทำงานวิจัย จากเดิมที่พยาบาลที่หอผู้ป่วยมักบอกว่าไม่มีเวลา มีภาระงานมาก จึงได้สอบถามสารทุกข์สุกดิบ ปัญหาต่างๆที่พบในหอผู้ป่วยในแต่ละวัน จนกระทั่งพยาบาลท่านนั้นเห็นว่าปัญหาเหล่านั้นซึ่งเป็นเป็นปัญหาที่เขาเองก็อยากแก้ไขสามารถนำมาทำเป็นงานวิจัยได้ เช่น ความรู้สึกที่อยากให้ผู้ป่วยได้กลับบ้านเร็วขึ้น เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย การดูแลตัวเองเมื่อผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว เหล่านี้จับมาทำเป็นงานวิจัยได้…”
สกัดความรู้: นอกจากความรู้ความสามารถด้านระเบียบวิธีวิจัยที่ CF พึงมีแล้ว ศิลปะในการเจรจา การเข้าหาทีมนักวิจัยอย่างกัลยาณมิตรก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ทีมนักวิจัยหน้าใหม่เปิดใจและร่วมมือ เทคนิคในการพูดคือ ไม่คุยเรื่องวิจัย แต่คุยเรื่องงานและสิ่งที่อยากปรับปรุง 

รื่องเล่าจาก รศ.ดร.นพ.ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร               
      
......สิ่งที่ถือว่าสำเร็จสำหรับตัวเองคือ สามารถผลักดันให้งานสำเร็จได้โดยหาผู้ช่วย คือ  resident เนื่องจาก resident ต้องทำงานวิจัยอยู่แล้ว จึงให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนให้ทำงานวิจัยร่วมกับพยาบาล ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายได้ประโยชน์  วิธีที่ดำเนินการอยู่คือ ปล่อยให้ resident ประชุมกับทีมพยาบาลกันเอง resident มักทำหน้าที่ในการ review literature  เขียนรายงานการวิจัย หน้าที่อื่นๆจะเน้นทำไปด้วยกัน  เรียนรู้พร้อมๆกัน แม้งานวิจัยที่ได้จะไม่ได้เลิศหรู แต่ก็เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานภูมิใจ และเป็นพื้นฐานให้พัฒนาทักษะในการทำงานวิจัยของพยาบาลต่อไป...
สกัดความรู้: การหาทีมช่วยเหลือ CF เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยแบ่งเบางานของ CF ได้ ในที่นี้ใช้วิธีการสนับสนุนงานวิจัยของ resident ซึ่งมีกำหนดเวลาของงานวิจัยอยู่แล้ว ควบคู่ไปกับเสริมให้พยาบาลได้เรียนรู้ทักษะงานวิจัยจากการทำงานร่วมกับ resident  

เรื่องเล่าจาก ผศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ               
      
...จากการได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการติดดาวของฝ่ายพัฒนาคุณภาพ พบโครงการหนึ่งของพนักงานสาย ค. ภาควิชากุมารเวชศาสตร์เกี่ยวกับการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการจัดการกับเอกสารอย่างเป็นระบบ จึงแนะนำให้ลองทำเป็นงานวิจัยแบบ R2R ซึ่งปรากฏว่าทีมเห็นด้วย จึงได้นัดคุยกัน ครั้งแรกกังวลเรื่องระเบียบวิธีวิจัยพอสมควร เพราะทีมไม่รู้เรื่องระเบียบวิธีวิจัยมาก่อน จึงเริ่มด้วยการให้ทีมเป็นผู้เล่าแนวทาง วิธีการดำเนินงานวิจัยแบบที่อยากจะให้เป็น  เมื่อเล่าโต้ตอบกันไปมา พบว่าทีมก็มีความรู้เรื่องระเบียบวิธีวิจัยอยู่ในตัว เพียงแต่ไม่ได้พูดกันด้วยศัพท์วิชาการเท่านั้น ท้ายที่สุดได้ให้แนวทางแก้ไขเรื่องระเบียบวิธีวิจัยไปพอสมควร  รวมทั้งให้ทีมกลับไปเรียบเรียงเนื้อที่พูดคุยทั้งหมด แล้วจึงค่อยปรับให้เข้ากับแบบฟอร์มโครงร่างงานวิจัยของ R2R ต่อไป...
สกัดความรู้: ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรวิชาชีพใด หากมีการนำเอาปัญหาจากการทำงาน มาพัฒนาเป็นงานวิจัย และสามารถนำผลงานวิจัยกลับไปใช้เพื่อการทำงานที่ได้ผลดีขึ้น ก็ย่อมเป็น R2R จึงยืนยันว่าบุคลากรทุกภาคส่วนทำงานวิจัยได้ ไม่เฉพาะแต่แพทย์และพยาบาลเท่านั้น  

เรื่องเล่าของ อ.นพ.กุลธร เทพมงคล
      
...รู้สึกประทับใจกับทีมวิจัยทีมหนึ่งซึ่งไม่คิดว่าจะส่งโครงร่างงานวิจัยเข้ามา  แต่ทีมคิดที่จะทำ แล้วก็ทำจริงๆ กล่าวคือ ช่สงที่ผ่านมาเกิดปัญหาเรื่องคิวฉายแสงรอนานมาก จึงมีการประชุมกันหลายฝ่าย ทั้งแพทย์ พยาบาล นักฟิสิกส์ นักรังสีเทคนิค แต่ไม่ได้ข้อสรุป จึงให้ความเห็นไปว่าเคยเห็นจากแคนาดา เวลาเกิดปัญหาจะมีการนำข้อมูลมาพิจารณากันจริงๆเพื่อค้นหาว่าปัญหาเกิดขึ้นที่จุดไหน หลังจากประชุม พยาบาล OPD ซึ่งเป็นทีมผู้รับผิดชอบในการแก้ปัญหานี้จึงได้มาปรึกษาว่าจะนำข้อมูลอะไรมาพิจารณา จึงแนะนำพร้อมทั้งบอกว่างานนี้อาจจะหนักเกินไปเพราะเราไม่มีระบบฐานข้อมูลที่ดีพอที่จะทำได้อย่างรวดเร็ว แต่เห็นว่าทีมอยากจะทำและมีแววตาที่แสดงความมุ่งมั่นจึงแนะไปว่างานแบบนี้ก็มีคนนำมาทำวิจัยเหมือนกัน อีก 1 เดือนต่อมาทราบว่าทีมคิดจะจับเรื่องนี้ทำงานวิจัย และเข้ามาปรึกษากับ R2R จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้จึงได้รับ first draft proposal ...
สกัดความรู้: การทำงานทุกขั้นตอนอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ย่อมเกิดผลลัพธ์ที่ดีตามมา ดังเช่น การที่ CF พยายามให้คำปรึกษาที่ดีทุกครั้งที่มีโอกาส สุดท้ายจะเกิดผลตามมาแน่นอน  

เรื่องเล่าของ ผศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต   
     
...การได้มีส่วนสนับสนุนงานอบรม research nurse ของภาควิชากุมารเวชศาสตร์ เรื่องนี้เป็น idea ของหัวหน้าภาควิชา ตัวเองรับหน้าที่เป็นผู้ประสานระหว่างภาควิชากับโครงการ R2R เมื่อได้รับมอบหมายก็เข้าไปประชาสัมพันธ์ ผลักดัน สาขาต่างๆในภาควิชา ซึ่งตอบรับอย่างดี ทุกสาขาต้องการให้พยาบาลของสาขามาเข้าร่วมเพื่อฝึกอบรมทักษะวิจัยแล้วกลับไปเป็นผู้ช่วยวิจัยของสาขา นับว่าเป็น win-win situation กับทุกสาขาวิชา ทั้งอาจารย์แพทย์และพยาบาล แพทย์ก็มีผู้ช่วยทำงานวิจัย พยาบาลก็ได้เรียนรู้และเพิ่มคุณค่าให้ตัวเอง…”
สกัดความรู้: ผู้บริหาร หัวหน้าหน่วยงานมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานให้ทำงานวิจัย  

       จากข้างต้นเคล็ดลับต่างๆ ในการอำนวยความสะดวกให้แก่ทีมผู้วิจัย ที่เก็บเกี่ยวจากเรื่องเล่าในวันนั้น สรุปได้หลายแง่หลายมุม ดังนี้
1.  ไม่ละทิ้งปัญหา แม้จะยากเกินแก้  เมื่อพบปัญหาใดก็ตามที่ยากเกินแก้หรือไม่มั่นใจที่จะตัดสินใจ แทนที่จะปล่อยผ่านไป ให้มองหามุมที่แตกต่าง โดยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ผู้ที่มีมุมมองกว้างขวางในการวิเคราะห์ปัญหานั้นๆ  
2.  ทุนวิจัยที่สนับสนุนด้านเวลา  ทุนวิจัยนอกจากสนับสนุนเงินทุนในการทำวิจัยแล้ว ยังมีทุนวิจัยที่สนับสนุนด้านเวลาในการทำงานวิจัยด้วย ซึ่งอาจจะนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมในแต่ละภาคส่วนต่อไป
3.  พูดคุยเรื่องที่ทีมรู้สึกว่าเป็นปัญหาด้วยวิธีการที่เป็นธรรมชาติและกลมกลืน  หน้าที่สำคัญของ CF คือการกระตุ้นและผลักดันให้ผู้วิจัยทำงานวิจัยให้สำเร็จ แต่ศิลปะในการกระตุ้นก็มีส่วนที่สำคัญ เช่น แทนที่จะถามว่า มีคำถามที่จะนำมาทำวิจัยหรือไม่? อาจถามว่า ทุกวันนี้มีปัญหาในการดูแลผู้ป่วย หรืองานบริการอื่นๆอย่างไร?” เพราะหลายครั้งที่ผู้ปฏิบัติงานไม่สามารถคิดหาคำถามวิจัยได้ โดยที่ไม่รู้ว่าปัญหาที่เขาพบเจอทุกวันนั้นเองที่จับมาทำงานวิจัยได้ แล้วยังนำกลับมาใช้พัฒนาต่อให้งานบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
4.  งานวิจัยต้องเป็นงานที่เกิดจากความต้องการของผู้ทำวิจัย    ใช้วิธีการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นปัญหาในการทำงาน จนกระทั่งทีมสามารถคิดคำถามวิจัยได้เอง ซึ่งการที่ทีมรู้สึกว่าสามารถคิดได้ด้วยตัวเองนั้น จะทำให้รู้สึกว่าการทำวิจัยไม่ยากจนเกินไป  และเปลี่ยนภาพพจน์ของการทำ R2R ให้เป็นเรื่องง่ายได้
5.  มองหาทีมช่วยเหลือ  โดยปกติ CF ที่ปฏิบัติภารกิจ R2R ก็มีภาระงานประจำที่ทำอยู่ค่อนข้างมาก การหาทีมช่วยเหลืออาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยแบ่งเบางานของ CF ได้ จากเคล็ดลับของ รศ.ดร.นพ.ดิฐกานต์ ใช้วิธีส่งเสริมงานวิจัยของแพทย์ประจำบ้าน ซึ่งต้องทำงานวิจัยอยู่แล้ว โดยแพทย์ประจำบ้านจะร่วมทำงานกับทีมพยาบาลในหอผู้ป่วยโดยมี CF คอยให้ความช่วยเหลือเป็นระยะ ผลที่ได้รับคือ แพทย์ประจำบ้านและพยาบาลได้เรียนรู้ไปด้วยกัน ในขณะเดียวกัน CF ก็เบาแรงไปด้วย  
6.  บุคลากรทุกหน่วยสามารถทำงานวิจัยได้   เนื่องจากงานวิจัยแบบ R2R ค่อนข้างยืดหยุ่น กล่าวคือ เป็นการพัฒนางานวิจัยจากปัญหาที่เกิดจากงานประจำ  เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใด หากมีการนำเอาปัญหาจากการทำงาน มาพัฒนาเป็นงานวิจัย และสามารถนำกลับไปใช้เพื่อให้การทำงานได้ผลดีขึ้น ก็ย่อมเป็น R2R จึงยืนยันว่าบุคลากรทุกภาคส่วนทำงานวิจัยได้
7.  เน้น process ที่ดีที่สุด outcome จะตามมา  การทำงานโดยเน้นให้ทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมเกิดผลลัพธ์ที่ดีตามมา  อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ที่เกิดอาจเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ที่ต่างไป
8.  ผู้บริหาร/หัวหน้างาน มีส่วนสำคัญมากในการผลักดัน หน่วยงานใดก็ตามที่หัวหน้างานสนับสนุนให้บุคลากรในหน่วยทำงานวิจัยอย่างจริงจัง หน่วยงานนั้นจะมีพลังขับเคลื่อนอย่างเหลือเฟือในการสร้างงาน หากแต่วิธีการสนับสนุนบุคลากรควรเป็น วิธีการที่เป็นมิตร
9.  รอยยิ้ม & กำลังใจ ผู้สนับสนุนผลักดันงานวิจัยทุกท่าน นอกจากจะต้องมีความรู้ความสามารถในการให้คำปรึกษาด้านระเบียบวิธีวิจัยแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่จะขาดไม่ได้คือ รอยยิ้ม และ กำลังใจ ที่พร้อมจะส่งให้กับผู้ทำงานวิจัยทุกคน   

คำสำคัญ (Tags): #r2r
หมายเลขบันทึก: 55016เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2006 09:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีคะ..แมวหมี..

พี่กะปุ๋มรอน้องนานมากเลยนะ...กว่าจะได้มาเจอกันใน Blog แต่พอเห็นแล้วก็รู้สึกดีใจยิ่งนัก...

...

ขอบคุณนะสำหรับบันทึกเรื่องเล่าละเอียด...ได้มุมมองในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดีมากเลยคะ...

(^_______^)

เขียนบ่อยๆ นะคะ

กะปุ๋ม

ฝนจะพยายามค่ะพี่กะปุ๋ม ทำยังไงให้มีแรงใจไม่มีหมดดีล่ะคะ อยากเป็นอย่างพี่กะปุ๋มจัง พอกลับบ้านฝนก็หมดแรงแล้วอ่ะ

ตกลงพี่กะปุ๋มจะเรียก...maewmee หรือฝนดีนะ...เรียกฝนดีกว่าเนอะ...

...

พลังใจ...พลังใจ...เราต้องสร้างขึ้นมาให้ได้นะ...แต่ถ้าเหนื่อยก็นอนพัก..ให้หายเหนื่อย..แล้วตื่นขึ้นมาอย่างมีพลังกาย..และพลังใจนะจ๊ะ...

(^________^)

เป็นกำลังใจให้คะ...

พี่กะปุ๋ม

    คุณฝนบันทึกได้ดีมากเลยค่ะ   สกัดความรู้เอาไปใช้เป็นเทคนิคการทำงานส่งเสริมให้คนทำงานวิจัยได้เลย   เป็นความรู้แบบ how  to จริงๆค่ะ 

   ลัดดา

สวัสดีคะ...อ.หมอลัดดา...และน้องฝน

เข้ามาอีกรอบ...มาสนับสนุนความคิดของท่าน อ.หมอลัดดาคะ...ว่าเรื่องเล่าของน้ำฝนทำให้ได้ศึกษาตัวแบบ..การทำ R2R และสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้เลยคะ..

(^___^)

กะปุ๋ม

  • เล่าได้ดีและละเอียดมากครับ
  • แถมสกัดความรู้เก่งอีกด้วย อย่างนี้คงจะเป็นยอดคุณลิขิตในอนาคตแน่ ๆ
  • บันทึกยาว ๆ อย่างนี้ผมคงทำไม่ได้ครับ
ขอบคุณมากค่ะ ถือเป็นกำลังใจนะคะ จะพยายามทำต่อไปให้ดีที่สุด และจะคัดสรรมาเล่าสู่กันฟังอย่างแน่นอนค่ะ เพราะในเดือนพฤศจิกายน R2R มีการจัดกิจกรรมค่อนข้างเยอะ คงได้ยลโฉมกันอีกแน่นอนค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท