ธรรมรัต
พระมหา ธรรมรัต อริยธมฺโม ยศขุน

ความมั่นคงระหว่างประเทศ


ความมั่นคงระหว่างประเทศ

พระบุญฤทธิ์  ชูเลื่อน  ,พระวุฒิพร  จันทร์เจริญ ,พระสันติ ณ ระนอง

                                            นายวชิระ นกอักษร , นางสาวสุชาวดี  คงจันทร์

บทนำ

            ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น  อำนาจของชาติมีบทบาทและความสำคัญอย่างยิ่ง  ทั้งนี้เพราะประเทศที่มีอำนาจมากกว่าย่อมสามารถทำให้ประเทศที่มีอำนาจด้อยกว่ากระทำการต่าง ๆ ในสิ่งซึ่งประเทศด้อยอำนาจไม่ปรารถนาจะกระทำการ  ในขณะเดียวกันอำนาจของชาติก็เป็นหลักประกันในเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยของประชากรและชาติของตน[๑]  ฉะนั้นข่าวความเคลื่อนไหวของประเทศมหาอำนาจและคำแถลงการณ์ของบุคคลสำคัญของชาติมหาอำนาจ  ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลของชาติมหาอำนาจ  จึงได้รับความสนใจจากบรรดาประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก  และเป็นสิ่งที่ผู้นำประเทศจะต้องนำมาใคร่ครวญพิจารณาศึกษาอยู่ตลอกเวลา

            ในทางทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น  ได้ให้คำจำกัดความของความหมายของคำว่า “อำนาจของชาติ” ไว้ดังนี้ “อำนาจของชาติได้แก่ความสามารถของชาติหนึ่ง  ที่สามารถกระทำให้ชาติอื่นปฏิบัติตามในสิ่งที่ตนปรารถนา”[๒] ในสมัยก่อนนั้นการขยายอำนาจกระทำโดยวิธีการยึดครองอาณานิคมหรือใช้วิธีการขยายอำนาจทางการเมือง  หรืออำนาจทางเศรษฐกิจที่เรียกกันว่าจักรวรรดินิยม  แต่สำหรับปัจจุบันการขยายอำนาจแบบอาณานิคมเป็นสิ่งล้าสมัย  เพราะประชากรของประเทศต่าง ๆ ได้เรียนรู้และมีความสามารถที่จะป้องกันตัวเองได้  ประกอบกับอุดมการณ์ชาตินิยมได้แพร่ขยายไปทั่วโลก  นอกจากนั้นการยึดครองแบบอาณานิคมอย่างสมัยก่อนต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง  ไม่เป็นการคุ้มค่า[๓] ฉะนั้นในการศึกษาเรื่องอำนาจของชาติและความมั่นคงระหว่างประเทศ  จึงควรพิจารณาในเรื่องปัจจัยแห่งความมั่นคงระหว่างประเทศ  ซึ่งมีปัจจัยที่น่าศึกษาอยู่  ๕  ประการ 

            ๑. ปัจจัยในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ

            ๒. ข้อตกลงสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

            ๓. การทูต

            ๔. ทางจิตวิทยา : การโฆษณาชวนเชื่อ

            ๕. ทางการทหารและเศรษฐกิจ

 

๑. ปัจจัยในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ

            ๑.๑ ความสำคัญของนโยบายต่างประเทศ

            การที่นโยบายต่างประเทศมีส่วนเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐด้วยกัน  และระหว่างตัวแสดงต่าง ๆ นั้นอาจก่อให้เกิดสันติภาพและการขัดแย้งได้  ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐนั้น  โดยหลักการ   รัฐจะคำนึงถึง  “ผลประโยชน์แห่งชาติ”  (national interest)  ของรัฐตนเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญ  และในทางปฏิบัติ  รัฐมักจะดำเนินนโยบายต่างประเทศให้ฝ่ายตนได้เปรียบหรือได้ประโยชน์มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งอยู่เสมอ  เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐจึงมีความสำคัญอย่างน้อย ๒ ประการคือ

                 ๑. การรักษาเอกราชและความมั่นคงของรัฐ

                 ๒. การแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของรัฐ

            ในด้านการรักษาเอกราชและความมั่นคงของรัฐนั้น  การดำเนินนโยบายต่างประเทศของแต่ละรัฐจะมุ่งต่อต้านการขยายตัวของรัฐอื่น ๆ และการเผยแพร่ลัทธิอุดมการณ์ที่รัฐเห็นว่าเป็นภัยต่อเอกราชและความมั่นคงของตน   รัฐจะทุ่มเททรัพยากรต่าง ๆ ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศภายใต้สมมุติฐานที่ว่า  “หากรัฐเกิดความรู้สึกว่าตนเองอยู่ในฐานะไม่มั่นคงปลอดภัย  ก็จะมุ่งขยายอำนาจของรัฐ”  ตัวอย่างก็คือ  สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในปัจจุบันต่างก็มีฐานะเป็นอภิมหาอำนาจในทางการเมืองระหว่างประเทศ  ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว  ไม่มีรัฐใดหรือผู้ใดที่จะทำลายความมั่นคงของประเทศอภิมหาอำนาจทั้งสองนี้ได้  แต่ทั้งสองประเทศนี้ต่างแข่งขันกันพัฒนาอาวุธใหม่ ๆ ที่ทันสมัยโดยการระดมทรัพยากรต่าง ๆ อย่างมหาศาลเพื่อประกันความมั่นคงของตน  ซึ่งเท่ากับเป็นการชี้ให้เห็นว่า  ยิ่งรัฐพยายามขยายอำนาจของตนมากขึ้นเพียงใด  ผู้นำ  ชนชั้นผู้นำ  และประชาชนก็จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ  และกิจการระหว่างประเทศในด้านต่าง ๆ เพิ่มมากยิ่งขึ้นเท่านั้น  ในขณะเดียวกันมหาอำนาจในระดับรอง ๆ เช่น  สาธารณรัฐประชาชนจีน  อังกฤษ  และฝรั่งเศส  เป็นต้น  แม้ว่าจะไม่ต้องการเป็นผู้นำโลกดังเช่น  สหรัฐอเมริกาหรือสหภาพโซเวียต  ก็ยังคงดำเนินนโยบายต่างประเทศผูกมิตรกับรัฐต่าง ๆ ด้วยวัตถุประสงค์  เพื่อความมั่นคงของประเทศเช่นกัน

            ปรากฏการณ์ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบันได้แสดงให้เห็นถึงการที่รัฐ  โดยเฉพาะอภิมหาอำนาจและมหาอำนาจดำเนินนโยบายต่างประเทศ  เพื่อการสร้างความมั่นคงของตนอยู่ไม่น้อยทีเดียว  เช่น  กลุ่มนาโต้  กลุ่มกติกาสัญญาวอร์ซอ  หรือการที่สหรัฐอเมริกาต้องส่งทหารของตนเป็นจำนวนนับล้านคน  ออกปฏิบัติการนอกประเทศเพื่อการขยายเขตอิทธิพลเพื่อความมั่นคงของตนในภาคพื้นทวีปต่าง ๆ เป็นต้น 

            ในด้านการแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของรัฐ   ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐนอกจากจะให้ความสำคัญต่อความมั่นคงของรัฐแล้ว  รัฐยังต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพื่อเป็นการสนับสนุนความมั่นคงของรัฐอีกด้วย  ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจึงเป็นผลประโยชน์ที่มีความสำคัญควบคู่ไปกับผลประโยชน์ทางด้านการเมือง  ในทางปฏิบัติ สงครามและการต่อสู้ทางเศรษฐกิจระหว่างชาติมหาอำนาจจะปรากฏให้เห็นในรูปของการค้าขายและการให้ความช่วยทางเศรษฐกิจ  การให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจนั้น  ในแง่หนึ่งก็เพื่อสนับสนุนการแผ่ขยายลัทธิอุดมการณ์และการเผยแพร่ทางวัฒนธรรมโดยวัตถุประสงค์เพื่อการเพิ่มอิทธิพลของตนในประเทศอื่น ๆ กล่าวคือ  ในรูปการค้ากับต่างประเทศนั้น  รัฐจะใช้การค้าเพื่อการเสริมสร้างฐานะทางเศรษฐกิจและการทำให้รัฐอื่น ๆ ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการค้าของตน  ซึ่งเท่ากับเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของรัฐ  เช่น  สหรัฐอเมริกาจะดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจโดยสนับสนุนให้เอกชนของตนเข้าไปลงทุนกิจการอุตสาหกรรมในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา  ซึ่งมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา  เช่น  ลงทุนด้านกิจการน้ำมันในเวเนซุเอลา  ลิเบีย  และซาอุดิอาระเบีย  ลงทุนด้านกิจการเหมืองแร่  เกษตรกรรม  และโทรศัพท์ในประเทศลาตินอเมริกา   รวมทั้งการเป็นประเทศคู่ค้าที่ได้เปรียบต่อประเทศในแถบลาตินอเมริกา  เป็นต้น  นอกจากนี้  ประเทศที่เป็นฝ่ายได้เปรียบมักจะใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อสร้างผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและในทางการเมือง  ได้แก่  การยกเว้นอัตราภาษีขาเข้า  การตั้งกำแพงภาษี  หรือการจำกัดประเภทสินค้าขาเข้าอีกด้วย  เป็นต้น  การค้าจึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของนโยบายต่างประเทศ

            ดังนั้นจะเห็นได้ว่า  การดำเนินนโยบายต่างประเทศนั้นมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น  โดยรัฐจะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจและการเผยแพร่วัฒนธรรม  ข่าวสารต่อรัฐอื่น ๆ ด้วย  จึงกล่าวได้ว่า  ความสำคัญของนโยบายต่างประเทศนั้นนับวันจะเพิ่มขึ้นทุกขณะ  ทั้งในด้านการรักษาเอกราชและความมั่นคงของรัฐ  และในด้านการแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ  รวมทั้งผลประโยชน์อื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย[๔]

 

            ๑.๒ ปัจจัยในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ

            ในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของรัฐต่าง ๆ นั้น  ในทางปฏิบัติผู้กำหนดหรือตัดสินนโยบายต่างประเทศจะต้องพิจารณาและคำนึงถึงปัจจัยหรือองค์ประกอบต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเป้าหมาย  กระบวนการกำหนดนโยบาย  และการนำนโยบายไปปฏิบัติ  ปัจจัยหรือองค์ประกอบที่สำคัญ ๆ มีหลายประการ  โดยที่นักวิชาการแต่ละคนต่างก็มีทรรศนะแตกต่างไปในที่นี้ขอยกทรรศของ  เจมส์  โรสเนา  (James  N. Rosenau)  ที่สรุปปัจจัยต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายต่างประเทศไว้ดังนี้ คือ

                 ๑. ปัจจัยที่เกี่ยวกับลักษณะของผู้กำหนดนโยบาย

                 ๒. ปัจจัยที่เกี่ยวกับบทบาทของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบาย

                 ๓. ปัจจัยที่เกี่ยวกับระบบราชการ

                 ๔. ปัจจัยที่เกี่ยวกับรัฐ

                 ๕. ปัจจัยที่เกี่ยวกับระบบการเมืองระหว่างประเทศ

            ๑) ปัจจัยที่เกี่ยวกับลักษณะของผู้กำหนดนโยบาย   ปัจจัยข้อนี้เกี่ยวกับการรับรู้  ภาพพจน์และบุคลิกลักษณะส่วนตัวของผู้กำหนดนโยบาย  เช่น  ผู้นำที่มีลักษณะอารมณ์ร้อนวู่วามย่อมมีการตัดสินใจแตกต่างจากผู้นำที่มีความสุขุมรอบคอบเยือกเย็น  เป็นต้น

            ๒) ปัจจัยที่เกี่ยวกับบทบาทของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบาย  โดยทั่วไปไม่ว่าผู้ใดก็ตามที่จะเข้ามามีส่วนในการกำหนดนโยบายต่างประเทศนั้น  ต่างก็มีบทบาทที่ตนจะต้องยึดถือแสดงอยู่แล้วทั้งในแง่ที่ถูกกำหนดไว้อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ  อย่างเป็นทางการ  เช่น  อาจต้องดำเนินบทบาทของตนในฐานะที่เป็นประมุขของรัฐอย่างที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้  เป็นต้น  ส่วนบทบาทที่ไม่เป็นทางการ  เช่น  เป็นความคาดหวังของคนอื่น ๆ เป็นต้น

            ๓) ปัจจัยที่เกี่ยวกับระบบราชการ  ปัจจัยข้อนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างและกระบวนการของรัฐบาลและผลของโครงสร้างและกระบวนการที่มีต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศ

            ๔) ปัจจัยอันเกี่ยวกับชาติ  ปัจจัยข้อนี้ส่วนใหญ่เกี่ยวพันกับปัจจัยที่กำหนดอำนาจของรัฐ  เช่น  ปัจจัยทางภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ  ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งทางด้านภูมิศาสตร์  ขนาด  ดินฟ้าอากาศ  ทรัพยากรธรรมชาติที่แต่ละชาติมีอยู่ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศของตน  เช่น  รัฐที่มีอาณาเขตติดกับมหาสมุทรสองด้าน  อย่างเช่น  สหรัฐอเมริกาย่อมได้เปรียบกว่าโปแลนด์ที่มีที่ตั้งอยู่ระหว่างประเทศมหาอำนาจในยุโรปในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ

            ๕) ปัจจัยอันเกิดจากระบบ  คำว่า  ระบบนี้หมายถึง  ระบบระหว่างประเทศ  เช่น ระบบดุลแห่งอำนาจ  ระบบขั้วอำนาจ  หรือระบบหลายขั้วอำนาจ  เป็นต้น  ระบบเหล่านี้ย่อมมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐ  เช่น กรณีไทยในระหว่างสงครามเย็น  ไทยดำเนินนโยบายที่ผูกพันกับสหรัฐอเมริกามาก  ครั้นระบบระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ  สภาพสงครามเย็นกลายไปเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียด  ไทยก็หันไปใช้นโยบายผูกมิตรกับจีนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน  เป็นต้น[๕]

            ๑.๓ เป้าหมายของนโยบายต่างประเทศ

            ได้กล่าวมาแล้วว่า  การกำหนดและดำเนินนโยบายต่างประเทศนั้น  โดยหลักการพื้นฐานก็เพื่อรักษาไว้ซึ่ง  “ผลประโยชน์ของชาติ”  ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญของรัฐ  อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ  นโยบายต่างประเทศของรัฐต่าง ๆ นั้นมีเป้าหมายดังนี้

                 ๑. เป้าหมายเพื่อการรักษาสันติภาพ  (Peace)

                 ๒. เป้าหมายเพื่อการสร้างความมั่นคง  (Security)

                 ๓. เป้าหมายเพื่อการรักษาอำนาจ  (Power)

                 ๔. เป้าหมายเพื่อการรักษาความอุดมสมบูรณ์และการพัฒนาเศรษฐกิจ  (Prosperity and economic development)

            ๑) เป้าหมายเพื่อการรักษาสันติภาพ  ในปัจจุบันสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่เป็นอยู่ได้แสดงให้เห็นว่า  การเมืองระหว่างประเทศมีความเป็นไปได้ทุกขณะที่จะใช้ความรุนแรง (Violence)  อันได้แก่  การใช้กำลังอาวุธและกำลังทหารเป็นเครื่องมือในการระงับความขัดแย้งต่าง ๆ ดังจะเห็นได้จากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น สงครามอิรัก-อิหร่าน  ความขัดแย้งบริเวณชายแดนระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับเวียดนาม  รวมทั้งปัญหาชายแดนระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวกับประเทศไทย  เป็นต้น  เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนี้  รัฐต่าง ๆ จึงพยายามดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยกำหนดเป้าหมายเพื่อการรักษาสันติภาพ  ดังจะเห็นได้จากการตกลงจำกัดอาวุธและลดอาวุธ   ตามกฎบัตรสหประชาชน   หรือมีการตกลงกันจำกัดการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐอเมริกา  ซึ่งเป็นอภิมหาอำนาจที่สำคัญ  ตั้งแต่ปี  ค.ศ.๑๙๗๒  เป็นต้น  รวมทั้งนโยบายการผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างอภิมหาอำนาจทั้งสอง  อย่างไรก็ตาม  การเจรจากันระหว่างอภิมหาอำนาจทั้งสองเพื่อจำกัดการสร้างอาวุธที่ร้ายแรงนั้นประสบผลสำเร็จบางอย่างเท่านั้น

            ๒) เป้าหมายเพื่อการสร้างความมั่นคง  นโยบายต่างประเทศของรัฐโดยทั่วไปจะคำนึงถึงความมั่นคงเป็นหลักสำคัญ  จะเห็นได้ว่านโยบายการแผ่อิทธิพลและอำนาจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกนั้นก็เพื่อสร้างความมั่นคงในดุลยภาพของอำนาจระหว่างอภิมหาอำนาจทั้งสอง  หรือไทยต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบผูกมิตรกับจีน  สหรัฐอเมริกา  และประเทศในสมาคมอาเซียน  ก็เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยในกรณีที่เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับเวียดนาม  กัมพูชา  (เฮงสัมริน)  และลาวที่มีสหภาพโซเวียตหนุนหลัง  เป้าหมายของนโยบายต่างประเทศในแง่ของการสร้างความมั่นคงนี้  ในทางปฏิบัติดูเหมือนจะมีความสำคัญมากกว่าเป้าหมายเพื่อสันติภาพเสียอีก

            ๓) เป้าหมายในการรักษาอำนาจ  การรักษาสถานภาพแห่งอำนาจเป็นเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของนโยบายต่างประเทศ  ในทางปฏิบัติ  รัฐต่าง ๆ จะรักษาอำนาจและฐานะของตนในเวทีการเมืองระหว่างประเทศมิให้ตกต่ำลง  ดังจะเห็นได้ว่า  สหรัฐอเมริกาและสหภาพโวเวียตต่างก็พยายามรักษาอิทธิพลของตนในภูมิภาคต่าง ๆ รวมทั้งแข่งขันกันมีอิทธิพลในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย  นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดีเรแกนได้หันมาสร้างระบบแกนพันธมิตร  ๓  ฝ่าย  อันประกอบด้วย  สหรัฐอเมริกา  ญี่ปุ่น  และยุโรปตะวันตก  (กลุ่มสนธิสัญญานาโต้)  เพื่อประสานระบบความมั่นคงและรักษาอำนาจของสหรัฐอเมริกา  ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศกำลังพัฒนานั้น  สหรัฐอเมริกาจะเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางของสหรัฐอเมริกาโดยการลงทุน  การให้ความช่วยเหลือในรูปการให้กู้ยืมและการให้เปล่าตลอดจนการให้การสนับสนุนการรวมตัวกัน  เช่น สมาคมอาเซียน  และตลาดร่วมยุโรป  เป็นต้น  ส่วนสหภาพโซเวียตนั้นก็จะมุ่งสร้างดุลยภาพทางทหารและทางอาวุธให้ทัดเทียมกับสหรัฐอเมริกา  รวมทั้งมีบทบาทสนับสนุนสงครามปลดแอกในประเทศกำลังพัฒนามากยิ่งขึ้น

            ๔) เป้าหมายเพื่อการรักษาความอุดมสมบูรณ์และการพัฒนาเศรษฐกิจ  ในภาวะปัจจุบัน  ปัญหาความแตกต่างระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่ด้อยพัฒนาปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจน  ในรูปของปัญหาความยากจนและความอดยากในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย  ลักษณะเช่นนี้ได้ก่อความตึงเครียดในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ  โดยชาติมหาอำนาจต่างก็แข่งขันเพื่อมีอิทธิพลในการให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศยากจนเหล่านี้  ในทางปฏิบัติ  บทบาทของอภิมหาอำนาจนี้ก็คือ  การแข่งขันกันสร้างเขตอิทธิพลของตนในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย  ประเทศกำลังพัฒนาจึงได้ถูกแบ่งออกเป็นค่ายสังคมนิยมและค่ายเสรีนิยม  ซึ่งอันที่จริงแล้วประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในค่ายเหล่านี้  ก็คือ  ตลาดวัตถุดิบ  ตลาดแรงงาน  และตลาดสินค้าของประเทศอภิมหาอำนาจนั่นเอง  ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ต้องพึ่งพิงกับประเทศมหาอำนาจตลอดไป  นอกจานั้นประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ก็สามารถใช้แนวทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อการรักษาความอุดมสมบูรณ์และการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อผลทางเศรษฐกิจของตนอีกด้วย  เช่น  การใช้นโยบายทุ่มสินค้า  นโยบายปิดล้อม  เป็นต้น

            กล่าวโดยสรุป  นโยบายต่างประเทศของรัฐย่อมมีเป้าหมายอย่างน้อย  ๔  ประการดังที่กล่าวมาแล้ว  อย่างไรก็ดี  เป้าหมายเพื่อการรักษาสันติภาพกลับเป็นเป้าหมายที่ถูกกำจัดในตัวเอง  กล่าวคือ  เป้าหมายเพ่อการรักษาความมั่นคงและอำนาจของรัฐได้ทำให้การแสวงสันติภาพและความเป็นกลางทางการเมืองถูกบดบังลง  ในขณะเดียวกัน  เป้าเพื่อการสร้างความอุดมสมบูรณ์และการพัฒนาเศรษฐกิจ  ซึ่งในทางปฏิบัติเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือทางทหารนั้นได้กลับกลายเป็นแนวทางของการแสวงหาประโยชน์ของประเทศผู้ให้มากกว่าที่จะเป็นการช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศพัฒนาเพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าว[๖]

 

๒. ข้อตกลงสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

            คำนิยามของคำว่าข้อตกลงระหว่างประเทศกับสนธิสัญญาทั้งสองคำนี้มีความหมายคล้ายคลึงกัน  แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อแตกต่างกันอยู่  ในประเด็นข้อกฎหมายต่างๆ  ดังจะกล่าวต่อไปนี้

            คำนิยามข้อตกลงระหว่างประเทศ

                 บ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศที่เกิดจากข้อตกลง  ก็คือบ่อเกิดที่เกิดจาก ข้อตกลงระหว่างประเทศ  ซึ่งหมายถึง การกระทำทางกฎหมายหลายฝ่ายที่ตกลงทำกันขึ้นระหว่างบุคคลในกฎหมายระหว่างประเทศและอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

            ผลในทางกฎหมายที่สำคัญจากคำนิยามนี้มีอยู่  ๕  ประการคือ

            ประการแรก ข้อตกลงระหว่างเป็นการกระทำทางกฎหมายหลายฝ่าย อันหมายถึง การกระทำที่ทำขึ้นหลายฝ่ายเพื่อก่อให้เกิดผลในทางกฎหมายระหว่างประเทศ  กล่าวคือ เป็นการกระทำตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปเพื่อก่อให้เกิดความผูกพันตามข้อตกลงระหว่างรัฐ หรือองค์การระหว่างประเทศ หรือระหว่างรัฐและองค์ระหว่างประเทศ

            ประการที่สอง ข้อตกลงระหว่างประเทศเป็นข้อตกลงที่ปราศจากแบบ กล่าวคือ  ข้อตกลงระหว่างประเทศอาจเป็นได้ทั้งข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือข้อตกลงด้วยวาจาก็ได้หรืออาจเป็นได้ทั้งข้อตกลงที่ต้องผ่านแบบพิธีหรือข้อตกลงแบบย่อ อาจเป็นได้ทั้งข้อตกลงที่เป็นเอกสารฉบับเดียวหรือเอกสารหลายฉบับ  หรืออาจมีมูลฐานมาจากความยินยอมโดยปริยายจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายก็ได้

                 โดยเหตูนี้เราจึงมักเรียกชื่อ ข้อตกลงลายลักษณ์อักษรในรูปแบบต่างๆดังกล่าวข้างต้นได้หลายชื่อ  เช่นสนธิสัญญา ( Treaties )  อนุสัญญา ( Convention ) กติกา  ( Pact )  กฎบัตร  (Charte ) ธรรมนูญ  ( Statut )  ปฏิญญา ( Declartion )

            ประการที่สาม   ข้อตกลงระหว่างประเทศเป็นข้อตกลงระหว่างบุคคลในกฎหมายระหว่างประเทศ  ซึ่งโดยปกติย่อมได้แก่ ข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่างรัฐกับรัฐ แต่โดยที่สังคมระหว่างประเทศมีการพัฒนาการเจริญก้าวหน้าและมีความสัมพันธ์กันมากขึ้น  ไม่เพียงแต่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐเท่านั้น  แต่ยังได้ขยายไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับองค์การระหว่างประเทศ รัฐกับบุคคลธรรมดาหรือปัจเจกชน อีกด้วย  รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างองค์การระหว่างประเทศกับรัฐและกับปัจเจกชน หรือระหว่างองค์การระหว่างประเทศด้วยกันเอง  จนในบางครั้งก็ก่อปัญหาทางกฎหมายขึ้นได้ว่าข้อตกลงที่ทำขึ้นนั้นเป็นสนธิสัญญาหรือไม่  เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศหรือไม่และจะอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายใด กล่าวคืออยู่ภายใต้บังคับกฎหมายภายในของรัฐหรืออยู่ภายใต้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศ ในเรื่องนี้แต่เดิมคำพิพากษา เช่น ศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศ  ได้ตัดสินวางหลักไว้ในคดีเงินกู้เซอร์เบียน ค.ศ.  ๑๙๒๙ ว่าสัญญาทุกสัญญาที่มิใช่สัญญาระหว่างรัฐย่อมตกอยู่ภายใต้กฎหมายภายในของรัฐ

            นอกจากนั้น   รัฐที่เอกชนถือสัญชาติอยู่ก็อาจเข้ามาให้ค

หมายเลขบันทึก: 549103เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2013 23:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2013 23:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท