วันนี้ ... ที่หาดสงขลา


วันนี้... ที่หาดสงขลา                                                                                                  โดย นันท์นภัสร์ ปิติรัตนปกรณ์

“ท้องฟ้าสีสดใสตัดกับน้ำทะเลสีคราม ผืนนทรายทอดตัวยาวรอรับเกลียวคลื่นที่ซัดเข้าหาชายฝั่งเป็นระลอกๆ เจ้าปูลมตัวจ๋อยวิ่งไปมาบนหาดทราย ภายใต้ท้องฟ้ากว้าง” ภาพเหล่านี้ดิฉันเห็นจนชินตามาตั้งแต่เด็ก เพราะทะเลเป็นสถานที่ที่ครอบครัวดิฉันมาใช้บริการเพื่อหนีร้อน พักผ่อนหย่อนใจ และผู้คนมากมายต่างก็ใช้ชายหาดทำกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาชีพ การสร้างวัฒนธรรม อีกทั้งหาดยังทำหน้าที่ป้องปกแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่ด้วยการดูดซับแรงของคลื่น ต้องยอมรับเลยว่าหาดดูสวยมากเมื่อมีสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ แต่หลังจากที่ดิฉันได้ไปเยือนชายทะเลอีกครั้งก็ต้องตั้งคำถาม “หาดทรายของเราหายไปไหน?” ภาพที่ดิฉันเคยเห็นเลือนลางไปทุกที “เพราะอะไร?

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 56 ที่ผ่านมาดิฉันและเพื่อนๆ ได้มีโอกาสทัศนศึกษาในวิชาวิศวกรรมชายฝั่ง โดยไปเริ่มที่หาดสมิหลาเพื่อร่วมกิจกรรมกับกรีนพีซ(Greenpeace) กับภาคประชาชนสงขลา มีการจัดนิทรรศการความรู้ ความเข้าใจทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของชายหาด แต่สิ่งที่ดิฉันติดใจที่สุดคงเป็นน้องชายวัยมัธยม (ดิฉันมารู้ภายหลังว่าชื่อน้องนิ่งจากกลุ่มบีชฟอร์ไลฟ์) ที่อุทิศตนเป็นตัวแทนเผยแพร่ความรู้ต่อสังคม น้องมีความตั้งใจมากแม้เป็นแค่เยาวชน ในขณะที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ บางกลุ่มยังเห็นแก่ตนอยู่เลย

 

จากนั้นดิฉันเดินทางไปที่หาดชลาทัศน์ หน้ามหาลัยวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย หาดทรายที่เคยทอดยาวด้วยเม็ดทรายเม็ดเล็กๆถูกกองเต็มไปด้วยกระสอบทรายยักษ์ขนาด 1.20 เมตร เรียงทับกันเป็นชั้นๆ เป็นแนวยาวในสภาพที่ดูเหมือนกองขยะไม่น่าดู  ทัศนียภาพชายทะเลไม่เหมือนที่ดิฉันคิดอีกแล้ว กระสอบเหล่านั้นถูกเรียกว่าเป็นกำแพงกันคลื่นเพื่อลดการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเท่าที่ดูแม้ว่าจะมีการวางกระสอบดังกล่าวแล้ว หาดทรายก็ยังคงหายไป เหลือแต่แนวกระสอบที่ยังคงทอดยาวถึงชายฝั่งบ้านเก้าเส้ง ซึ่งกระสอบมีขนาดต่างกัน บ้างยังคงสภาพ บ้างฉีกขาดบอกถึงการชำรุดอย่างรวดเร็วหลังจากการใช้งานเพียง 2-3 ปี

ทางด้านชายฝั่งบ้านนาทับ-เกาะแต้ว พบก้อนหินกองเรียงกันขนานแนวชายฝั่ง ที่สร้างขึ้นมาเพื่อกันคลื่นที่จะมาสู่ชายฝั่ง สภาพหาดเต็มไปด้วยซากหักพังของสิ่งก่อสร้างและต้นสน เมื่อเดินถัดไปจะมีกองหินที่กองเรียงลึกลงไปในทะเล ในลักษณะที่ตั้งฉากกับฝั่ง เขาเรียกมันว่าคันดักทราย ดิฉันมองสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นพร้อมกับคำถามที่ว่า ...แล้วมันช่วยลดการกัดเซาะหาดทรายได้อย่างไร

เมื่อกลับมาจากการทัศนศึกษา ดิฉันได้ศึกษาสาเหตุการกัดเซาะชายฝั่งอย่างเป็นระบบ จึงรู้ว่าต้นเหตุเกิดจากการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นที่ปากคลองนาทับ เพื่อป้องกันการทับถมของทรายที่ปากคลอง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วทรายจะถูกพัดพามากับคลื่นและถูกหอบไปกองบนหาดเป็นแนวยาวไปตามกระแสน้ำชายฝั่ง (สำหรับสงขลาทรายจะเคลื่อนที่ไปทางทิศเหนือ) แต่เมื่อมีการสร้างเขื่อนกันทรายฯเม็ดทรายใหม่จะถูกพัดมากักเก็บไว้ที่ต้นทาง (ทิศใต้ของเขื่อนฯ) ทำให้ที่ปลายทางทิศเหนือก็จะไม่มีทรายใหม่มาหล่อเลี้ยง ขณะที่คลื่นยังเคลื่อนตัวและพาทรายเก่าบนหาดทรายไปด้วย ทำให้ชายหาดนาทับมีการโค้งเว้าหรือการกัดเซาะชายฝั่งนั่นเอง  อีกทั้งยังมีเขื่อนกันคลื่นที่มองว่าจะช่วยลดการกัดเซาะได้ แต่ผลกับตรงกันข้ามเพราะเกิดเวิ้งทรายติดต่อกันไปเรื่อยๆ ตราบที่ยังคงมีการสร้างเขื่อนกันคลื่น ส่วนปลายเขื่อนตัวสุดท้ายก็จะเกิดการกัดเซาะรุนแรงขึ้นไปอีก ทำให้มีการสร้างเขื่อนหรือกำแพงเหล่านี้ต่อไปอีกไม่มีวันสิ้นสุด


 

วันนี้หาดทรายที่ดิฉันจำได้ไม่เหมือนเดิมแล้ว มีแต่สิ่งก่อสร้างที่ก่อให้เกิดการสูญเสียทางด้านทัศนียภาพ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม การสร้างเพื่อปกป้องสิ่งหนึ่งกลับกลายเป็นการทำลายสิ่งรอบข้างต่อไปเรื่อยๆ หากไม่มีการคิดไตร่ตรองให้ดี คนบางกลุ่มซึ่งได้ประโยชน์แต่ไม่สนใจความเสียหายอย่างรุนแรงและต่อเนื่องที่เกิดกับธรรมชาติและไม่รับรู้ต่อความลำบากของชาวบ้านตาดำๆ ที่ไม่รู้อิโน่อิเน่ คำถามที่ว่า “หาดทรายของเราหายไปไหน?” และ “เพราะอะไร?” นั้น อาจตอบได้ว่าธรรมชาติถูกทำลายเพราะคนเราเองคือต้นเหตุ ....

 

 

 

ขอขอบคุณภาพจาก : เครือข่ายเฝ้าระวังรักษาชายหาดและ www.facebook.com/groups/Coastal Engineering'56 /

 

คำสำคัญ (Tags): #หาดสงขลา
หมายเลขบันทึก: 549075เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2013 18:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2013 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

หาดทรายเปลี่ยนไปจริงๆ

คิดถึงหาดทรายแก้วสมัยก่อน

เข้าใจว่ามีผลกระทบมากเลยนะครับ

มาเขียนบ่อยๆนะครับ

เปิดอ่าน file pdf ไม่ได้ น่าจะ post ลงในพื้นที่ blog โดยตรงจะสะดวกและเร็วกว่า

ทำการแก้ไขให้อ่านง่ายไม่ต้องโหลดแล้วนะคะ

อ่านได้แล้ว ภาพก็ชัดเจนมาก ต้องช่วยกันบอกต่อให้สังคมช่วยกันรักษาหาดทรายไว้

เป็นบทความที่ดีและมีประโยชน์ จริงๆ 

ข้อมูลน่าสนใจมากค่ะ

ขอบคุณสำหรับการเผยแพร่ให้ได้ทราบ

อย่าให้เป็นเหมือนที่ หาดทรายนอร์ทแคโรไลนา ลองอ่านดู 

http://www.gotoknow.org/posts/541183

ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านและให้กำลังใจนะคะ ทุกวันนี้เราให้ความสำคัญกับธรรมชาติน้อยลง ทั้งๆที่ ธรรมชาติสร้างสิ่งต่างๆ ไว้ให้เรา แล้วเราหล่ะให้อะไรธรรมชาติบ้าง มุมมองนี้น่าเอามาคบคิดกันนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท