บทเรียนหาดทรายนอร์ทแคโรไลนา


หาดทราย..รอยต่อที่มนุษย์ต้องไม่คุกคาม

 

                   

 

 

 

การพังทลายของชายฝั่งและการห้ามก่อสร้างโครงสร้างแข็งป้องกันฝั่ง 

กรณีหาดทรายของรัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา

 

 

 

( Coastal Erosion and the Ban on Hard Structures )

By EMILY JACK

แปลโดย วรรษมน อุจจรินทร์

 

Early morning, man fishing on beach. Outer Banks, North Carolina, United States.

 

 

 

ชายหาดทรายของรัฐนอร์ทแคโรไลน่า เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมติดอันดับของรัฐ และยังเป็นสถานที่ที่มีประเด็นถกเถียงบ่อยที่สุดแห่งหนึ่งของรัฐด้วย ชายฝั่งตะวันออกความยาว 301 ไมล์นี้ เป็นสถานที่แห่งการเผชิญหน้ากันระหว่างสิ่งก่อสร้างถาวรโดยมนุษย์กับพลังธรรมชาติ และระหว่างสิทธิในการถือครองที่ดินของมนุษย์กับระบบธรณีวิทยาทางธรรมชาติที่ดำเนินมาหลายพันปี นักวิทยาศาสตร์ชายฝั่งต่างพอใจกับกฎหมายในปี 1985 ที่ถูกบัญญัติไว้เพื่อรักษาธรรมชาติของชายหาด แต่ในขณะเดียวกันกฎหมายดังกล่าวกลับเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของนักพัฒนาและผู้ถือครองอสังหาริมทรัพย์

 

Ocracoke ใน Outer Banks ได้ชื่อว่า America’s Best Beach ในปี 2007 โดย ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาชายฝั่ง ของ Florida International University.

 

วิทยาศาสตร์กับเม็ดทราย

นอกจากสายลมและคลื่นจะดึงดูดผู้คนให้มาเที่ยวชมชายหาด พวกมันยังมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงแนวชายหาด ซึ่งเกิดจากทรายและตะกอนที่ถูกพัดพาจากที่หนึ่งไปกองใหม่ในอีกที่หนึ่ง อันเป็นกระบวนการทางธรรมชาติของชายฝั่งที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องที่ชายฝั่งของรัฐนอร์ทแคโรไลนา

ขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการการพังทลายและการงอกของชายฝั่งซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปคือ การซัดกระทบชายฝั่งของคลื่น โดยลักษณะการซัดของคลื่นนั้นไม่ได้แตกตัวเป็นเส้นตรงขนานไปกับชายหาด แต่จะแตกตัวเป็นแนวเอียงกับชายฝั่ง ลมและกระแสน้ำที่ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของคลื่นในลักษณะนี้ ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวอย่างต่อเนื่องของทรายตลอดชายฝั่ง

กล่าวคือ คลื่นที่พัดเข้าฝั่งจะพาทรายและตะกอนต่างๆจากท้องทะเลเข้าสู่ฝั่ง เมื่อคลื่นแตกตัวที่ชายฝั่ง ตะกอนใต้น้ำก็ถูกพัดขึ้นมาบนชายหาดในแนวเดียวกับการเคลื่อนตัวของคลื่นด้วย และเมื่อคลื่นไถลลงจากชายหาดกลับสู่ทะเล ด้วยแรงโน้มถ่วงตะกอนบนชายหาดก็ไหลกลับลงมา เป็นแนวตั้งฉากกับแนวชายฝั่ง ซึ่งเท่ากับว่าน้ำจากทะเลและตะกอนที่ถูกพัดมานั้นจะเคลื่อนที่เป็นแนวฟันปลา (zig-zag) ไปตามชายหาดครั้งแล้วครั้งเล่า เมื่อเวลาผ่านไปทรายและตะกอนก็จะค่อยๆถูกพัดพาหายไปจากที่หนึ่ง และมาสะสมตัวบนชายหาดอีกที่หนึ่ง เกิดเป็นแนวชายหาดที่ยาวต่อเนื่อง

 
ภาพการเคลื่อนที่ของเม้ดทรายตามแนวชายหาดจากการพัดพาของคลื่น

 

บนชายฝั่งนอร์ทแคโรไลนา รูปแบบการก่อตัวของทรายบนหาดเช่นนี้ ซึ่งเรียกกันว่าการเคลื่อนที่ของตะกอนเลียบชายฝั่ง (longshore drift) หรือ กระแสน้ำเลียบชายฝั่ง (longshore current) นั้น จะเกิดขึ้นในทิศทางจากทิศเหนือไปทิศใต้ นั่นคือเกาะสันดอน (barrier islands) ที่เรียงตัวตามแนวชายฝั่งนอร์ทแคโรไลนา ทรายจะถูกพัดจากทิศเหนือของเกาะไปสะสมก่อตัวขึ้นที่ปลายเกาะทางทิศใต้ โดยกระบวนการนี้อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยบางครั้งช่องเปิดระหว่างเกาะสันดอนจะเคลื่อนย้ายได้มากถึง 1 ฟุตต่อวัน

นอกจากการเคลื่อนตัวจากเหนือไปใต้ของทรายแล้ว กลุ่มเกาะสันดอนเหล่านี้ซึ่งรวมถึง Outer Banks and Core Banks นั้น จะเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเข้าหาแผ่นดินใหญ่อย่างต่อเนื่อง การเคลื่อนตัวของกลุ่มเกาะเหล่านี้ขึ้นอยู่กับลม ระดับน้ำทะเล และพายุที่จะค่อยๆผลักทรายจากฝั่งด้านทางมหาสมุทรของกลุ่มเกาะสันดอน มายังฝั่งแผ่นดินใหญ่

แม้ว่าพลังธรรมชาติจะคอยเคลื่อนทรายอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่กลุ่มเกาะสันดอนเหล่านี้กลับคงสภาพอยู่ได้ในสภาพ สมดุลพลวัต (dynamic equilibrium) กล่าวคือ กลุ่มเกาะเหล่านี้จะได้รับทรายจากแม่น้ำบนแผ่นดินใหญ่ เช่น แม่น้ำเคปเฟียร์ แม่น้ำนิวส์ แม่น้ำโรอาโนค และแม่น้ำทาร์ ซึ่งไหลลงทะเล และพัดนำตะกอนไปหล่อเลี้ยงกลุ่มเกาะสันดอน และช่องเปิดระหว่างสันดอนที่กล่าวมานี้ คือระบบนิเวศที่ได้รับสมดุลจากแรงกระทำทางธรรมชาติที่ซับซ้อนหลายประการ ซึ่งความซับซ้อนนี้ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นอีก เมื่อมนุษย์ได้เข้ามามีบทบาทในกระบวนการทางธรรมชาตินี้

 

การก่อสร้างบนหาดทรายที่ไม่อยู่นิ่

แม้ว่าการเคลื่อนที่ของตะกอนทรายชายฝั่งจะสามารถให้หลักประกันถึงความมั่นคงระยะยาวของชายฝั่งได้ แต่การเลือกสถานที่ก่อสร้างบนชายหาดก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจไว้วางใจได้ บ้านเรือนที่อยู่ริมทะเลแม้ถูกที่สร้างห่างจากทะเลนั้น สุดท้ายแล้วก็อาจถูกคลื่นซัดมาถึงประตูบ้าน เพราะการเคลื่อนตัวไปมาของหาดทราย อย่างไรก็ตาม จำนวนประชากรในรัฐนอร์ทแคโรไลนาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ได้กลายเป็นแรงกดดันให้ต้องมีการสร้างที่อยู่ตามแนวชายฝั่งเพิ่มขึ้น

มาตรการหนึ่งที่ใช้กันในมลรัฐอื่นๆที่อยู่ริมฝั่งมหาสมุทร คือสิ่งก่อสร้างป้องกันฝั่งเช่น เขื่อนกันทรายและคลื่น (jetty) คันดักตะกอน (groin) และกำแพงกันคลื่น (seawall) ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อยับยั้งการเคลื่อนตัวของทรายตามธรรมชาติ โดยที่

o  เขื่อนกันทรายและคลื่น จะถูกสร้างให้ยื่นลงไปในทะเลในแนวตั้งฉากกับชายฝั่ง เขื่อนนี้จะหยุดการเคลื่อนตัวของทรายชายฝั่งไม่ให้ถูกพัดพาไปยังที่อื่น โดยทั่วไปแล้วเขื่อนกันทรายและคลื่นมีลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีต สร้างที่ปากแม่น้ำและช่องเปิดระหว่างเกาะสันดอน เพื่อรักษาให้ช่องเปิดนั้นคงอยู่สำหรับการคมนาคมทางน้ำและการเดินเรือ

 

เขื่อนกันทรายและคลื่นที่ Surfside Beach รัฐเท็กซัส

 

o  คันดักตะกอน ถูกสร้างในแนวตั้งฉากกับชายฝั่ง โดยมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับเขื่อนกันทรายและคลื่น แต่คันดักตะกอนมักถูกสร้างบนชายหาดตามแนวขวาง ไม่เกี่ยวกับปากแม่น้ำหรือช่องแคบแต่อย่างใด คันดักตะกอนมักถูกสร้างบนชายหาดเป็นชุดในลักษณะขนานกัน โดยวัสดุที่ใช้ก่อสร้างอาจเป็นไม้ คอนกรีต เหล็ก หรือหินก็ได้

 

คันดักทราย ที่ Bolinas รัฐแคลิฟอร์เนีย

 

o กำแพงกันคลื่น เป็นกำแพงที่ถูกสร้างบนชายหาดขนานไปตามแนวชายฝั่งระหว่างแผ่นดินกับทะเล กำแพงกันคลื่นมักสร้างจากคอนกรีตหรือหินซึ่งมีขนาดใหญ่มาก

 

กำแพงกันคลื่น ที่ Isle of Wight ประเทศอังกฤษ

 

ในขณะที่สิ่งก่อสร้างเหล่านี้สามารถป้องกันที่อยู่อาศัยและอาคารริมทะเลได้ แต่ก็ถูกกล่าวหาว่าพวกมันก็เป็นตัวเร่งการพังทลายของชายหาดในขณะเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น เขื่อนกันทรายและคลื่น และคันดักตะกอนนั้น ต่างทำหน้าที่หยุดการเคลื่อนตัวของทรายชายฝั่ง โดยป้องกันไม่ให้กระแสน้ำชายฝั่งพัดนำตะกอนไปตามชายฝั่งได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการงอกขึ้นของชายหาดด้านที่ได้รับการป้องกัน แต่ชายหาดที่อยู่ปลายน้ำถัดไปนั้นจะไม่ได้รับตะกอนทราย ที่ถูกพัดพามาด้วยระบบกระแสน้ำชายฝั่งตามธรรมชาติ จึงทำให้ไม่มีตะกอนและทรายมาหล่อเลี้ยงในบริเวณนั้นอีกต่อไป และทำให้เกิดการพังทลายอย่างรุนแรงของชายฝั่งขึ้น

 

การห้ามสร้างสิ่งก่อสร้างป้องกันฝั่ง

ที่ผ่านมาทางการรัฐนอร์ทแคโรไลนาได้พยายามหลีกเลี่ยงการใช้โครงสร้างป้องกันชายฝั่งสำหรับควบคุมการกัดเซาะของชายฝั่ง ในปี 1985 คณะกรรมาธิการทรัพยากรชายฝั่งแห่งรัฐนอร์ทแคโรไลนา (CRC) ซึ่งมีอำนาจออกนโยบายสำหรับแผนงานการจัดการชายฝั่ง ได้ศึกษาผลกระทบของสิ่งก่อสร้างป้องกันชายฝั่งต่อชายหาด ในรัฐอื่นๆ และสรุปว่าผลกระทบทางลบของสิ่งก่อสร้างดังกล่าว สามารถทำให้เกิดความเสียหายต่อขายหาดในรัฐนอร์ธแคโรไลนาอย่างไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ เป็นผลให้ CRC เสนอห้ามก่อสร้างโครงสร้างแข็งแบบต่างๆ เพื่อป้องกันอาคารตามชายฝั่ง ซึ่งการห้ามดังกล่าวจะยกเว้นในกรณีของการป้องกันสิ่งปลูกสร้างที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่สามารถเคลื่อนย้ายจากที่ตั้งเดิมได้ และในการรักษาทางน้ำสำคัญที่จำเป็นต่อการเดินเรือเท่านั้น

การห้ามก่อสร้างโครงสร้างป้องกันฝั่งนี้ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการนำมาใช้ในทางปฏิบัติเป็นเวลา 15 ปีแล้วก่อนที่จะมีการนำขึ้นสู่ชั้นศาลในปี 2000 ซึ่งต่อมาในปี 2003 สภานิติบัญญัติแห่งรัฐนอร์ทแคโรไลน์ได้ลงคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ ให้มีกฎหมายห้ามก่อสร้างป้องกันชายฝั่งอย่างเป็นทางการ โดยทางสภานิติบัญญัติได้ห้ามการก่อสร้างป้องกันฝั่งใหม่ใดๆขึ้นตามชายฝั่งของนอร์ทแคโรไลนา

 

นโยบายอันเผ็ดร้อน

การออกกฎหมายห้ามก่อสร้างดังกล่าวเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงมาเป็นระยะๆ โดยกลุ่มผู้ถือครองอสังหาริมทรัพย์บนชายฝั่งต่างคัดค้านกฎหมายดังกล่าว เพราะทะเลได้ค่อยๆคืบคลานเข้าสู่บริเวณที่อยู่อาศัยและที่ตั้งกิจการของพวกเขาเรื่อยๆซึ่งในหลายกรณีนั้น ผู้ถือครองอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ได้สร้างที่อยู่อาศัยให้ห่างจากแนวชายฝั่งตามที่กฎหมายของรัฐกำหนดแล้ว แต่พายุเฮอร์ริเคนและพายุรุนแรงอื่นๆทำให้ความกว้างของชายหาดเปลี่ยนแปลงอย่างมากและฉับพลัน รวมทั้งยังทำให้กระบวนการทางธรรมชาติช้าลง เช่น การเคลื่อนที่ของทรายชายฝั่งที่เปลี่ยนไปอย่างช้าๆด้วย การห้ามก่อสร้างโครงสร้างแข็งป้องกันชายฝั่งทำให้ผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ตามแนวชายฝั่งไม่มีทางเลือกในการป้องกันทรัพย์สินและธุระกิจพวกเขาเลยเมื่อทะเลรุกคืบเข้ามา

เงินที่สะพัดจากนักท่องเที่ยวยังทำให้ข้อถกเถียงนี้ดำเนินต่อไป ผู้คัดค้านกฎหมายดังกล่าวเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นตามแนวชายฝั่ง เพราะทำให้ผู้คนไม่ต้องการก่อสร้างอาคารบนชายฝั่ง การสร้างที่อยู่อาศัยที่ลดลงนั้นทำให้การใช้จ่ายเงินในท้องถิ่นลดลงตามไปด้วย ซึ่งผู้สนับสนุนกฎหมายได้ออกมาแย้งว่า การมีกฎหมายดังกล่าวกลับช่วยรักษาความงามตามธรรมชาติของชายหาดไว้ ซึ่งเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ให้เข้ามายังรัฐนอร์ทแคโรไลนาปีแล้วปีเล่า

ในปี 2007 กลุ่มนักธรณีวิทยากว่า 40 คน ได้ออกแถลงการณ์ผลักดันให้ทางการของรัฐนอร์ทแคโรไลนา ดำเนินนโยบายห้ามการก่อสร้างโครงสร้างแข็งป้องกันชายฝั่ง โดยกล่าวว่าหากไม่มีกฎหมายกดังกล่าวแล้ว ชายฝั่งของรัฐจะได้รับความเสียหายจากการพังทลายตลอดแนวชายฝั่ง

 

กรณีของคันดักตะกอนปลายทา

 

คันดักตะกอนปลายทาง (Terminal groin) North Carolina

 

ร่างกฎหมายของวุฒิสภาที่ถูกเสนอในปี 2009 นั้น ได้อนุญาตให้มีข้อยกเว้นสำหรับการห้ามก่อสร้างโครงสร้างแข็งป้องกันฝั่ง โดยร่างกฎหมายที่ 832 เสนอให้มีการอนุญาตให้ก่อสร้าง “คันดักตะกอนปลายทาง (terminal groin)” ซึ่งเป็นคันดักทรายชนิดหนึ่งที่สร้างจากหินหรือเหล็ก มักสร้างไว้บริเวณช่องแคบตอนปลายของกลุ่มเกาะสันดอน เพื่อปกป้องอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ใกล้ช่องแคบเกาะสันดอนตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุดที่อ่อนไหวต่อการรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของชายหาดเป็นพิเศษ

ผู้ที่ต้องการให้มีการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันฝั่งกล่าวว่า คันดักตะกอนดังกล่าวเพียงแค่ดักทรายบางส่วนเอาไว้ และปล่อยให้ส่วนที่เหลือถูกน้ำพัดออกไปเท่านั้น ซึ่งจะไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชายหาดมาก อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ได้ยืนยันว่า แม้แต่คันดักตะกอนปลายทางเองก็ทำให้หาดทรายที่อยู่ถัดไปเสียหายได้ และหากอนุญาตให้สร้างโครงสร้างแข็งป้องกันชายฝั่งได้แม้แต่ประเภทเดียว ก็จะทำให้มีการออกกฎหมายอนุญาตให้สร้างโครงสร้างป้องกันฝั่งประเภทอื่นๆที่สร้างความเสียหายให้ชายหาดอย่างรุนแรงตามมาในอนาคต

จำนวนประชากรบนบริเวณชายหาดที่มากขึ้นทุกปีนั้น ทำให้การสร้างความสมดุลระหว่างสิทธิในการครอบครอง อสังหาริมทรัพย์และความมั่นคงเชิงนิเวศวิทยาของชายฝั่งนอร์ทแคโรไลนา ยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกสำหรับสภานิติบัญญัติของรัฐต่อไป.

 

====================================================================

หมายเหตุ

Outer Banks เป็นกลุ่มเกาะสันดอนที่ทอดตัวยาวกว่า 200 ไมล์ตลอดแนวชายฝั่งเกือบทั้งหมดของรัฐนอร์ทแคโรไลนาและชายฝั่งบางส่วนของรัฐเวอร์จิเนีย 

Core Banks เป็นกลุ่มเกาะสันดอนในพื้นที่ของรัฐนอร์ทแคโรไลนา และเป็นส่วนหนึ่งของเขตสงวนทางทะเลเคป ลุกค์เอาท์(Cape Lookout National Seashore)

dynamic equilibrium คือ ภาวะที่อิทธิพลของการกระทำต่างๆต่อระบบหักล้างกันหมดไป ส่งผลให้เกิดความคงที่ ความสมดุล หรือการไม่เปลี่ยนแปลงของระบบนั้นๆ

====================================================================

 

 

.............................. O ...................................

 

 

 

 

 

ผู้ผลิต : โครงการวิจัย  “ โครงการนโยบายสาธารณะเพื่อการใช้ประโยชน์หาดทรายอย่างยั่งยืน”  
 
 
 
ข้างต้นเป็นบทเรียนที่ USA หันกลับมามองบทเรียนที่บ้านเราบ้าง
จากหาดทรายสงขลาที่สวยงาม  กลายเป็นก้อนหินที่น่าเกลียดและกระสอบผุพังเต็มไปหมด ไว้ให้ลูกหลานดู 

 


ที่ชายฝั่งนาทับ-เกาะแต้ว อ.เมืองสงขลา 15 มิ.ย. 56

ที่ชายฝั่งนาทับ-เกาะแต้ว อ.เมืองสงขลา ต้นสนล้มลงกว่า 30 ต้น  เมื่อ 15 มิ.ย. 56
 
 

ที่ชายหาดชลาทัศน์ อ.เมืองสงขลา เปลี่ยนหาดทรายเป็นกระสอบเน่าๆตลอดแนว  เมื่อ 15 มิ.ย. 56
 
 
 
หมายเลขบันทึก: 541183เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2013 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2013 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นบทความแปลที่ให้ทั้ง สาระและการเรียนรู้ภาษา จะเห็นได้ว่าหาดทรายเป็นทรัพยากรที่ต้องช่วยกันรักษาอย่างจริงจัง เพราะเมื่อเกิดการใช้อย่างผิดๆแล้วจะแก้ไขไม่ได้ในภายหลัง ดังเช่นชายหาดของบ้านเรา ที่นับวันจะหมดสิ้นไป และขอแนะนำหนังสือเล่มนี้ไว้กับทุกท่านด้วย โปรดช่วยกันเผยแผ่



.....ขอบคุณบันทึกที่มีประโยชน์มากค่ะ

หาดทรายสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากมาย และยังเป็นระบบนิเวศชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับปะการัง หรือป่าชายเลน หาดทรายมีสัตว์เฉพาะถิ่นอาศัยอยู่มากมาย นอกจากนี้ยังถูกคนใช้งานอย่างหนัก แต่ที่น่าแปลกใจคือ ไม่มีหน่วยงานใดดูแลและไม่มีกฏหมายใดๆปกป้อง น่าน้อยใจแทนเต่า ปุลม หอย ฯลฯ จริงๆ

พรรณิภา โสตถิพันธุ์

เป็นกรณีศึกษาที่ดีค่ะ กรณีของหาดทรายและการเติบโตของชุมชนเมืองที่อยู่ใกล้เคียงกับหาด

ต้องเรียนรู้ไว้มากๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท