การจัดการกับพฤติกรรมท้าทายในการโค้ชผลการปฏิบัติงาน โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ


จากบทความก่อนหน้านี้ ผู้เขียนได้เขียนถึง ความท้าทายที่ผู้บังคับบัญชาในบทบาทของโค้ชจะต้องเผชิญระหว่างการโค้ชคือ การที่ลูกน้องไม่ยอมตอบคำถาม หรือ ดื้อเงียบ ซึ่งมีสาเหตุที่เป็นไปได้หลายประการไม่ว่าจะเป็น  การที่โค้ชไม่ได้แจ้งหัวข้อและวัตถุประสงค์ในการสนทนาที่ชัดเจน ลูกน้องไม่เข้าใจเรื่องการโค้ช และไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกโค้ช ลูกน้องเคยชินกับการบริหารงานในรูปแบบสั่งการ ลูกน้องคิดไม่ออกจริงๆ และสาเหตุที่สำคัญที่สุดคือ ลูกน้องไม่ใว้ใจผู้บังคับบัญชา เกรงว่าตอบไปแล้วจะส่งผลกระทบเชิงลบกับตน

ไม่ว่าสาเหตุของพฤติกรรมท้าทายจะเป็นประการใด และแสดงออกมาในรูปแบบใด ตัวผู้บังคับบัญชาในฐานะผู้นำและโค้ชคงต้องย้อนกลับมามองที่ตนเอง และแสวงหาวิธีการจัดการอย่างสร้างสรรค์ ผู้เขียนขอเสนอแนะแนวทางในการจัดการกับพฤติกรรมท้าทาย ดังนี้

  • มุ่งเน้นไปที่สถานการณ์ มากกว่าตัวบุคคล

พฤติกรรมท้าทาย ความเงียบ การไม่ตอบคำถาม หรือ การปกป้องตัวเองของลูกน้อง อาจทำให้โค้ชมีอารมณ์โกรธ หงุดหงิด และคับข้องใจได้ ผู้บังคับบัญชาซึ่งกำลังสวมบทบาทโค้ชต้องมีสติ มองภาพใหญ่ ไม่ใช้อารมณ์ อย่าลืมว่าเป้าหมายของการโค้ชคือ การให้ความช่วยเหลือแก่ลูกน้องให้ประสบความสำเร็จ สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง มีความสามารถมากขึ้น โค้ชอย่าถือเอาพฤติกรรมของลูกน้องเป็นเรื่องส่วนตัว จนทำให้เกิดอคติ และสูญเสียความเป็นกลางในการมองภาพรวมไป ใช้สติ ตระหนักรู้ในอารมณ์ของตน เพียงรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างที่เป็นจริง (Acknowledge) ตั้งคำถามโค้ชตนเองเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น และวิธีการจัดการ คำตอบที่มาจากปัญญา จากการมองสิ่งที่เกิดขี้นตามความจริง จะช่วยให้โค้ชสามารถหาวิธีการจัดการที่เหมาะสมและสร้างสรรค์ได้

  • สร้างความไว้วางใจ

ความไว้วางใจคือรากฐานของความสำเร็จในการโค้ช การเป็นแม่แบบที่ดีทั้งในด้านการปฏิบัติงาน ภาวะผู้นำ และชิวิตส่วนตัวจะช่วยให้ลูกน้องมีความเชื่อมั่น เชื่อถือในตัวโค้ชมากขึ้น เปิดประตูใจรับการโค้ชมากขึ้น และกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีผลกระทบเชิงลบกับตน การสร้างความไว้วางใจควรเกิดขึ้นทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการโค้ช ในระหว่างการโค้ช ลูกน้องควรมีความรู้สึกมั่นใจว่า การพูดคุยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่การจับผิด ตำหนิ หรือกล่าวหา โค้ชควรแสดงออกให้ลูกน้องรู้ว่า ตนเป็นกัลยาณมิตร เพื่อนร่วมทางที่จะช่วยให้เขาสามารถเอาชนะปัญหาอุปสรรค และบรรลุเป้าหมาย ไม่ใช่ภัยคุกคามแต่อย่างใด

  • แจ้งวัตถุประสงค์การพูดคุย อธิบายเกี่ยวกับความหมาย และวิธีการโค้ช

โค้ชควรแจ้งหัวข้อการสนทนา และแสดงเจตนารมย์ที่ดีอย่างชัดเจนในการสนทนาให้ลูกน้องได้รับทราบตั้งแต่ต้น รวมถึงอธิบายความหมาย กระบวนการ และวิธีการโค้ช เพื่อให้ลูกน้องเข้าใจก่อนเริ่มการโค้ช จากการศึกษาด้านสมอง ระบุว่า สมองของผู้รับการโค้ชหรือโค้ชชี่ต้องการความแน่นอน ชัดเจน อย่าให้ลูกน้องต้องอยู่ในกระบวนการสนทนาด้วยความหวาดระแวงสงสัย เพราะความรู้สึกนี้จะส่งผลต่อความสามารถในการคิดอย่างมีสติปัญญา ซึ่งเป็นวิถีทางแห่งการพัฒนาโค้ชชี่

  •  พัฒนาทักษะการโค้ช

ผู้บังคับบัญชาควรพัฒนาทักษะการโค้ชของตนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าใจแก่นแท้ หลักการ วิธีการ และทักษะการโค้ชเนื่องจากการโค้ชเป็นทักษะการสื่อสารที่ละเอียดอ่อน และลึกซึ้ง มีกระบวนการที่เป็นรูปแบบ การนำไปใช้ โค้ชต้องสามารถปรับวิธีการสื่อสารให้สอดคล้องกับลูกน้องหรือโค้ชชี่แต่ละคน ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน หลายท่านเข้าใจว่าการโค้ชคือการสอน ทำให้ใช้วิธีการสั่งสอน หรือแนะนำลูกน้องมากจนทำให้ลูกน้องไม่สามารถปลดปล่อยศักยภาพออกมาได้

 ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า แนวทางปฏิบัติข้างต้นจะเป็นประโยชน์ต่อหัวหน้างาน ผู้จัดการ และผู้บริหารทุกระดับที่ต้องสวมหมวกการเป็นโค้ชควบคู่ไปกับการเป็นผู้บังคับบัญชา เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก เพราะการเป็นผู้บริหารต้องเผชิญกับแรงกดดันหลายด้าน ขณะที่การโค้ชมุ่งเน้นการพัฒนาให้ลูกน้องเกิดความเข้าใจ เติบโต และเรียนรู้ ผู้บริหารจึงไม่อาจใจร้อน แต่ยึดหลัก ช้าๆได้พร้าเล่มงามในอนาคต ลูกน้องที่ได้รับการโค้ชจะมีความสามารถช่วยงานเป็นกำลังสำคัญให้แก่ผู้บริหารได้เป็นอย่างดี และชีวิตของท่านจะง่ายขึ้นอีกมากค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้โค้ชในองค์กรทุกท่านค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 549017เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2013 02:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2013 02:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นประโยชน์มากครับ ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท