เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ


...จากแรงมาเป็นรวง ระยะทางนั้นเหยียดยาว จากรวงเป็นเม็ดพราว ล้วนทุกข์ยากลำบากเข็ญ เหงื่อหยดสักกี่หยาด ทุกหยดหยาดล้วนลากเย็น ปูดโปนกี่เส้นเอ็น จึงแปรรวงมาเป็นกิน ...

  เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ

เกศินี จุฑาวิจิตร


                     

 

           “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ”  วรรคทองของวันนี้ ฟังรื่นหู... แต่สะกดใจนัก

         นั่นสินะ เพราะในความเป็นจริงคงไม่มีใครอยากเป็น “คนสุดท้าย” ที่ไปถึง “เป้าหมาย”  หลายๆ คนจึงพยายามไขว่คว้า วิ่งหา ป่ายปีนและลัดเลาะ   แต่พวกเขาหลงลืมไปหรือเปล่าว่า “ระหว่างทาง” ยังมีความรื่นรมย์และเป้าหมายเล็กๆ อยู่

         ฉันกลับไปที่ตำบลแหลมบัวอีกครั้ง ร่วมเรียนรู้กับพี่น้องแกนนำองค์กรชุมชน และองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมบัว พร้อมทั้งนำทีมงานตำบลผาสุก ทีมงานประชาสัมพันธ์และเคเบิลท้องถิ่น ไปค้นหาคำตอบ “เส้นทางอาหารปลอดภัย”

การเชื่อมโยง หลอมรวมและบูรณาการนี้   เริ่มมาจากความตระหนักในเรื่องสุขภาพชุมชน  โดยเมื่อหลายปีก่อน  รพ.สต.ท้องไทร รพ.สต.แหลมบัว และกลุ่ม อสม. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักด้านการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน ได้เจาะเลือดตรวจสารเคมีตกค้างของเกษตรกรและผู้บริโภคในตำบล   ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจที่จะพบความเสี่ยงในระดับที่อันตรายมากถึงมากที่สุด เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นร้อน ซึ่งก็เป็นจังหวะเดียวกับที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมได้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนความผาสุกกับ อบต.แหลมบัว ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เราจึงได้มาชวนกันคิด ช่วยกันคุย   ทำอย่างไรจะแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ  โดยทุกคนทุกกลุ่มในชุมชนได้รับการพัฒนาสุขภาวะถ้วนหน้า

 งานนี้จึงเริ่มจากการหันกลับมาสำรวจ “ต้นทุน” ของดี ที่มีอยู่ในชุมชนอย่างจริงจัง  แล้วก็พบว่ามี “ทุนทางสังคม” มากมาย กระจัดกระจายอยู่ตรงนั้น ตรงนี้

กำนันมงคล เข็มทอง  เจ้าของแหล่งเรียนรู้โครงการ “บ้านอยู่เย็นเป็นสุข” ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ชนะเลิศการประกวดในระดับจังหวัด  ทั้งยังเป็นผู้ผลิตพืชผักปลอดสารพิษรายใหญ่

คุณลุงบุญมี  สุขสถาพรเลิศ เกษตรกรผู้คร่ำหวอดกับการเกษตรผสมผสาน ไร่นาสวนผสมล้วนพร้อมสรรพ อีกทั้งประสบการณ์ตรงจากการเป็นวิทยากรของแหล่งเรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

คุณชาญณรงค์ สมาวงษ์ ประธานกลุ่มผลิตก้อนเชื้อและเพาะเห็ด 

พี่ป๊อบ - ณรงค์ กลิ่นถือศีล จาก ชาวนารุ่นใหม่ที่สร้างสรรค์เกษตรกรรมธรรมชาติและหมายจะพลิกฟื้นพันธุ์ข้าวขาวนครชัยศรี นั่นอีกเล่า

 นอกจากนี้ ก็ยังมี คุณป้าละออ วัฒนไพโรจน์ ประธานชมรมผู้สูงอายุ อดีตคุณครูผู้มากด้วยประสบการณ์ และน้องจูน-จุฬารัตน์  ประธานสภาเด็กและเยาวชนประจำตำบลที่นำเด็กๆ จากหลายโรงเรียนมาเรียนรู้และทำงานอย่างเชื่อมต่อกับกลุ่มผู้ใหญ่  

นี่อย่างไร ... ทุนทางสังคม.. ที่สั่งสมกันมา

         

จากนั้น  “เส้นทาง” ของอาหารปลอดภัย   จึงได้ถูกโยงใยและเติมเต็มโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จนเห็นเป็นภาพการเดินทางของวัตถุดิบจากทุกแหล่งผลิต  ไปจนถึงโต๊ะอาหารของทุกคน... อาหารสำหรับเด็กเล็ก เด็กโต ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ 

เราช่วยกันกางแผนที่ทางเดิน  เพื่อให้ทุกแปลงในสวนมีแต่พืชผักปลอดสารพิษ  ทุกผืนนาไม่มียาฆ่าแมลงและสารกำจัดวัชพืช ไม่มีแม้แต่ปุ๋ยเคมีและสารกันมอด  ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ทั้งข้าว พืช ผัก เห็ดและผลไม้ จะต้องถูกส่งต่อไปยังศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน  โรงพยาบาล ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทั่วไปในชุมชนเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะถูกส่งต่อไปยังชุมชนภายนอก

คำมั่นสัญญา เริ่มขึ้นแล้ว เราจะก้าวไปด้วยกัน ไม่รีบร้อน ไม่เร่งรัด เราจะเดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ อย่างหนักแน่นและมั่นคง

 ฉัน “เล่า” เรื่องนี้ออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหว ในรายการ “ราชภัฏทอล์ค” ที่ออกอากาศทางเคเบิลนครปฐม     ครึ่งวันบ่ายของการถ่ายทำ อากาศไม่ได้เป็นใจเพราะท้องฟ้านั้นหนาครึ้ม ปริ่มว่าจะปรายสายฝนได้ทุกเมื่อ    ถึงกระนั้น Producer และผู้กำกับรายการ ก็ยังอยากได้ภาพสวยๆ จึงช่วยกัน “อวย” ให้พิธีกร       แขกรับเชิญ และช่างกล้องลงไปยืนจมจ่อมสัมภาษณ์กันในแปลงข้าว บางคราวก็ให้นั่งคุยบนคันนา  

สงสารก็แต่ทีมงานเบื้องหลังทุกคน ห่วงทั้งกล้อง ห่วงทั้งไมค์... หากก็ไม่น้อยไปกว่าห่วงปลิง

เสร็จงานแล้ว ฉันนั่งมองอาหารในจานตรงหน้า แล้วหันกลับไปมองสีเขียวของต้นกล้าอีกครั้ง แว่วเสียงลมล้อยอดไม้อยู่ไกลๆ เป็นบทเพลงแห่งท้องนา

 ...จากแรงมาเป็นรวง ระยะทางนั้นเหยียดยาว จากรวงเป็นเม็ดพราว ล้วนทุกข์ยากลำบากเข็ญ  เหงื่อหยดสักกี่หยาด ทุกหยดหยาดล้วนลากเย็น ปูดโปนกี่เส้นเอ็น จึงแปรรวงมาเป็นกิน ...        

ความสุขใน “ระหว่างทาง” อยู่ใกล้ๆ ตัวเรานี่เอง !!!

 

         

หมายเลขบันทึก: 548799เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2013 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กันยายน 2013 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เพลง คนกับควาย

ให้ความหมายได้ลึกซึ้งมากนะครับ

ขอบคุณ๕ณํฐ

 

-สวัสดีครับ

-.จากแรงมาเป็นรวง ระยะทางนั้นเหยียดยาว จากรวงเป็นเม็ดพราว ล้วนทุกข์ยากลำบากเข็ญ  เหงื่อหยดสักกี่หยาด ทุกหยดหยาดล้วนลากเย็น ปูดโปนกี่เส้นเอ็น จึงแปรรวงมาเป็นกิน ...       

-ขอบคุณครับ..

เกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง...ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางทุนธรรมชาติให้ยั่งยืน...

               ขอบคุณบันทึกดี ๆ ที่มีมาฝากมากครับ

อ่านแล้วอยากกลับไปกินข้าวที่ ต.แหลมบัว อีกครั้งค่ะ 

ต.แหลมบัว เป็นตำบลที่ร่มเย็นเป็นสุขจริงๆ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ปลอดสารพิษ

พืช ผัก อุดมสมบูรณ์ มีแหล่งเรียนรู้หลากหลาย

ลมพัดเย็นสบาย ผู้คนมีน้ำใจ ยิ้มแย้ม แจ่มใส

เด็กๆก็น่ารัก ชาวบ้านก็น่ารัก

ไปตำบลแหลมบัวแล้วสุขใจจริงๆค่ะ

ไม่น่าเชื่อนะคะ  จะมีธรรมชาติที่อุดมสมบุรณ์อยู่ใกล้ๆกรุงเทพฯ

ว่างๆแวะไปกินข้าวปลอดสารพิษ และอาหารปลอดสารพิษที่ตำบลแหลมบัวกันนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท