แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมภาคใต้ พ.ศ. 2556-2559


สาระสำคัญแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมภาคใต้ พ.ศ.2556-2559

 1. หลักการและเหตุผล

         จากการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพ การใช้ประโยชน์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้สถานการณ์และแนวโน้มความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมทวีความรุนแรง นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ กระทบต่อฐานการผลิตภาคเกษตรกรรม ความมั่นคงด้านอาหาร สุขภาวะและคุณภาพชีวิตของประชาชน แม้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศมีนโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2540-2559 ซึ่งเป็นกรอบแนวทางการจัดการฯ ระดับชาติในระยะยาว 20 ปี โดยมีการถ่ายทอดเป็นแผนระยะกลาง 5 ปี เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันอยู่ในห้วงเวลาของแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2555-2559 และสอดคล้องกับของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 พ.ศ.2555-2559 แต่การขับเคลื่อนและการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ประกอบกับการจัดการสิ่งแวดล้อมต้องใช้เวลาและความต่อเนื่องในการดำเนินงาน รวมทั้งการบูรณาการและเชื่อมโยงของการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับชาติ ระดับภูมิภาค ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่นให้สอดคล้องกับสถานการณ์และประเด็นสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมในแต่ละพื้นที่

         สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 14-16 ซึ่งมีบทบาทภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค จึงได้ดำเนินการจัดทำแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมภาคใต้ พ.ศ.2556-2559 โดยการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพื่อใช้เป็นแนวทางและกลไกการขับเคลื่อนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่และแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติในการสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับประชาชน

2. แนวคิด

แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมระดับภาค เป็นกลไกสำหรับการขับเคลื่อนกลุ่มจังหวัด จังหวัด  ท้องถิ่น ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชน ในแต่ละภูมิภาค ในระยะ 4 ปี (พ.ศ.2556-2559) โดยเน้นให้ประชาชนมีการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุขภายใต้คุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม บนพื้นฐานของหลักเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาที่ยั่งยืน และการบริหารจัดการเชิงระบบนิเวศ ด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์ในมิติการสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยให้ความสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการสิ่งแวดล้อมในเชิงรุก การมีส่วนร่วมและสร้างภูมิปัญญาร่วมกันของภาคีต่างๆ ให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับพื้นที่ ทั้งนี้ จะต้องพิจารณาเงื่อนไขและปัจจัยแห่งความสำเร็จควบคู่ไปกับการกำหนดทิศทางและแนวทางปฏิบัติในการดำเนินงานต่อไป โดยกรอบแนวคิดในการจัดทำแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมภาคใต้

3. สถานการณ์สิ่งแวดล้อมภาคใต้

        3.1 สถานการณ์คุณภาพน้ำ

              3.1.1 คุณภาพน้ำแหล่งน้ำผิวดิน จากการตรวจประเมินคุณภาพน้ำแหล่งน้ำผิวดินในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 14 แหล่งน้ำ ในปี 2555 พบว่า มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 43 และพอใช้ ร้อยละ 57 โดยการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำในช่วงปี 2553-2555 พบว่า แหล่งน้ำมีคุณภาพดีขึ้น กล่าวคือ แหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์ดีเพิ่มขึ้นและแหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมีแนวโน้มลดลง โดยพารามิเตอร์ที่บ่งชี้ปัญหาคุณภาพน้ำ คือ แบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม (FCB) และแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด (TCB) ในบริเวณแม่น้ำชุมพร อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร แม่น้ำปากพนัง ตำบลท่าเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช แม่น้ำตรัง ปากแม่น้ำ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ทะเลสาบสงขลาและปากคลองสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา การปนเปื้อนของแหล่งน้ำบ่งชี้ว่า แหล่งน้ำได้รับน้ำเสียจากการระบายน้ำทิ้งจากชุมชน เกษตรกรรม และการปศุสัตว์

              3.1.2 คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง จากการตรวจประเมินคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งภาคใต้โดยใช้ดัชนีคุณภาพน้ำทะเล จำนวน 2 ครั้ง ในปี 2555 พบว่า คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งอ่าวไทยอยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 13 เกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 84 และเกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 3 และคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งอันดามันอยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 8 และเกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 92 โดยคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งของทะเลทั้งสองฝั่งมีแนวโน้มคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมลง พารามิเตอร์ที่บ่งชี้ปัญหาคุณภาพน้ำ ได้แก่ ออกซิเจนละลาย ไนเตรท-ไนโตรเจน แบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด แบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม แบคทีเรียเอ็นเทอโรคอกไค และโลหะหนัก (ตะกั่ว โครเมียม สังกะสี) นอกจากนี้ยังพบสารแขวนลอย ขยะ และคราบน้ำมันบริเวณผิวน้ำในบริเวณชายหาดท่องเที่ยว ปากคลอง ปากแม่น้ำ และท่าเทียบเรือ แหล่งที่มาของน้ำเสียส่วนใหญ่มาจากบ้านเรือนและชุมชน การประกอบธุรกิจท่องเที่ยว รวมทั้งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง

              3.1.3 ระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียชุมชน ในพื้นที่ภาคใต้มีระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียจำนวน 31 แห่ง โดยระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพการทำงานผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มีจำนวน 18 แห่ง ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มีจำนวน 3 แห่ง หยุดเดินระบบหรือชำรุด มีจำนวน 7 แห่ง และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง/ก่อสร้างไม่เสร็จ มีจำนวน 3 แห่ง ระบบบำบัดน้ำเสียสามารถรวบรวมน้ำเสียเข้าระบบได้ร้อยละ 34.4 ของปริมาณน้ำเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้นในเขตเทศบาลในพื้นที่ภาคใต้

       3.2 คุณภาพอากาศและระดับเสียง

              3.2.1 คุณภาพอากาศ ในภาคใต้โดยรวมมีอากาศดี โดยจากการตรวจวัดสารมลพิษทางอากาศหลัก 5 ชนิด ได้แก่ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน และก๊าซโอโซน ในปี 2555 พบว่า สารมลพิษทางอากาศของภาคใต้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม คุณภาพอากาศตามเกณฑ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ของทุกสถานีตรวจวัดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดนราธิวาส นอกจากนี้ จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ในปี 2555 พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างฝั่งตะวันออกเกิดปัญหาหมอกควันในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ซึ่งสอดคล้องกับผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศของสถานีตรวจวัดในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาและอำเภอเมือง จังหวัดยะลา เนื่องจากปัญหาหมอกควันข้ามแดนที่เกิดจากไฟไหม้ป่าและการเผาพื้นที่เกษตรกรรมในบริเวณเกาะสุมาตราและเกาะกาลิมันตัน ประเทศอินโดนิเซีย

              3.2.2 ระดับเสียง จากการตรวจวัดระดับเสียงอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ พบว่า มีค่าอยู่ในช่วง 52.2-86.3 เดซิเบลเอ (dBA) ซึ่งเกินมาตรฐานระดับเสียงเฉลี่ย (Leq) 24 ชั่วโมง และระดับเสียงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครภูเก็ต มลพิษทางเสียงที่สำคัญในพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนยานพาหนะในเมืองใหญ่ และกิจกรรมสันทนาการและกิจกรรมที่อยู่ใกล้เคียงในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว

        3.3 สถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชน ของเสียอันตรายชุมชน และมูลฝอยติดเชื้อ

              3.3.1 ขยะมูลฝอยชุมชน ในปี 2555 ภาคใต้มีปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้นรวม 2.475 ล้านตัน หรือ 6,780 ตันต่อวัน โดยมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกหลักสุขาภิบาล จำนวน 27 แห่ง ประกอบด้วย ระบบกำจัดแบบฝังกลบ (Landfill System) จำนวน 23 แห่ง (เดินระบบ 21 แห่ง หยุดเดินระบบ 2 แห่ง) และระบบเตาเผา (Incinerator System) จำนวน 4 แห่ง (เดินระบบ 3 แห่ง หยุดเดินระบบ 1 แห่ง) และมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่อยู่ในระหว่างก่อสร้างจำนวน 2 แห่ง ปริมาณขยะมูลฝอยที่เข้าสู่ระบบกำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกหลักสุขาภิบาลมีประมาณ 2,266 ตันต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 33 ของปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั้งหมดในพื้นที่ภาคใต้

              3.3.2 ของเสียอันตรายชุมชน จากการประมาณการอัตราการเกิดของเสียอันตรายชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ โดยคำนวณจากอัตราการผลิตของเสียอันตรายตามจำนวนประชากรในแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่า ปริมาณของเสียอันตรายในพื้นที่ภาคใต้ในปี 2555 มีประมาณ 99,892 ตันต่อปี หรือประมาณ 274 ตันต่อวัน อย่างไรก็ตาม ประชาชนในพื้นที่ยังไม่มีการคัดแยกของเสียอันตรายชุมชนออกจากขยะมูลฝอยทั่วไป เนื่องจากยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือในการคัดแยกของเสียอันตรายออกจากขยะมูลฝอยทั่วไป รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่มีระบบการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชนตั้งแต่การคัดแยก การเก็บรวบรวม และการขนส่งไปกำจัด

              3.3.3 มูลฝอยติดเชื้อ จากการประมาณปริมาณมูลฝอยติดเชื้อจากสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนของกรมควบคุมมลพิษ ในปี 2555 พื้นที่ภาคใต้มีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อ 7,500 ตันต่อปี โดยมีการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อดังนี้ 1) ส่งกำจัด ณ เตาเผามูลฝอยติดเชื้อขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  2) กำจัด ณ เตาเผามูลฝอยติดเชื้อของโรงพยาบาล  และ 3) ส่งไปกำจัด ณ เตาเผาของเอกชน

        3.4 สิ่งแวดล้อมเมืองและพื้นที่เฉพาะ

              3.4.1 พื้นที่สีเขียว จากการสำรวจสัดส่วนของเทศบาลที่มีพื้นที่สีเขียวของชุมชนเมือง (เฉพาะพื้นที่สวนสาธารณะ) ในปี 2555 จำนวน 50 แห่ง พบว่าผ่านเกณฑ์พื้นที่สีเขียวชุมชนตามตัวชี้วัดของแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2555-2559 ร้อยละ 42.0

              3.4.2 พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ภาคใต้มีพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ต้นน้ำ ลำธาร หรือมีระบบนิเวศตามธรรมชาติที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น หรือมีระบบนิเวศตามธรรมชาติที่อาจถูกทำลายหรืออาจได้รับความกระทบกระเทือนจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์โดยง่ายหรือเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางธรรมชาติ หรือสมบัติอันควรแก่การอนุรักษ์ จำนวน 4 แห่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต กระบี่ และพังงา

              3.4.3 เขตควบคุมมลพิษ ภาคใต้มีเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหามลพิษที่มีแนวโน้มที่จะร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อสุขภาพสิ่งแวดล้อม ได้แก่ อำเภอหาดใหญ่ และอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ และทุกพื้นที่ในเขตจังหวัดภูเก็ต

        3.5 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

              พื้นที่ภาคใต้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เด่นชัด คือ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยมีอัตราการกัดเซาะรุนแรงเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตรต่อปี ในพื้นที่ชายฝั่งของ 5 จังหวัดชายฝั่งอ่าวไทย ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่วิกฤต ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส สำหรับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอันดามันไม่รุนแรงเท่าชายฝั่งอ่าวไทย โดยมีพื้นที่วิกฤตที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

4. วิสัยทัศน์

         ร่วมส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมด้ามขวาน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวใต้

5. วัตถุประสงค์

       เพื่อจัดทำแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมภาคใต้ พ.ศ.2556-2559 โดยมุ่งเน้นการลดและควบคุมมลพิษ ณ แหล่งกำเนิด และการสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีในระดับพื้นที่ แบบมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนและแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ

6. เป้าประสงค์

         6.1 เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ของเสียอันตรายชุมชน และมูลฝอยติดเชื้อ

         6.2 คุณภาพน้ำ (น้ำผิวดิน น้ำทะเลชายฝั่ง) เหมาะสมแก่การนำไปใช้ประโยชน์

         6.3 คุณภาพอากาศและระดับเสียงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

         6.4 มีภาคีเครือข่ายที่มีการดำเนินกิจกรรมด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม

         6.5 สนับสนุนการช่วยเหลือให้ปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมในระดับภาค

         6.6 ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

         6.7 มีพื้นที่สีเขียวในเมืองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด

         6.8 สร้างความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

7. ยุทธศาสตร์แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมภาคใต้ พ.ศ.2556-2559

         แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมภาคใต้ พ.ศ.2556-2559 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

         ยุทธศาสตร์ที่ 1 การลดและขจัดมลพิษ

         ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาคน ชุมชน และสังคมในการจัดการสิ่งแวดล้อม

         ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาเครื่องมือกลไกในการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม

         ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

8. การขับเคลื่อนและการติดตามประเมินผลแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมภาคใต้

    พ.ศ.2556-2559

         การขับเคลื่อนแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมภาคใต้ พ.ศ.2556-2559 ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ จำเป็นต้องได้รับการขับเคลื่อนและการผลักดันจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการบูรณาการในทุกระดับ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อ และองค์กรต่างๆ  ตลอดจนภาคประชาชน รวมทั้งเพื่อให้การจัดการสิ่งแวดล้อมภาคใต้มีเป้าหมายการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมภาคใต้ พ.ศ.2556-2559 จึงมีข้อเสนอกลไกในการขับเคลื่อนและการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ ข้อเสนอโครงการสำคัญ (Flagship Projects) และข้อเสนอกลไกการติดตามประเมินผล ดังนี้

           8.1 กลไกการขับเคลื่อนและการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ

         กลไกการขับเคลื่อนและการแปลงแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมภาคใต้ พ.ศ.2556-2559 ไปสู่การปฏิบัติ มีปัจจัยแห่งความสำเร็จดังนี้

         8.1.1 องค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะส่วนราชการในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับส่วนกลาง ได้แก่ ส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ระดับภูมิภาค ได้แก่ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค และส่วนราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในภูมิภาค ระดับจังหวัด ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด กลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดของสำนักงานจังหวัด ซึ่งมีหน้าที่ในการบูรณาการแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัดเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด เพื่อเป็นช่องทางให้ได้มาซึ่งงบประมาณในการดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และระดับท้องถิ่น ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจมาจากส่วนกลางโดยตรง รวมถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคระดับจังหวัด

         8.1.2 ระบบงบประมาณ การนำแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมระดับภาคเป็นกรอบในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ ทั้งงบประมาณจากภาครัฐ และงบประมาณจากองค์กรเอกชน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ครอบคลุมทั้งระบบ ได้แก่ งบประมาณแผ่นดิน เงินกู้/เงินช่วยเหลือ และงบประมาณจากแหล่งอื่น

         8.1.3 การขับเคลื่อนแผน มีแนวทางการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติดังนี้

               (1) จัดทำรายงานตัวชี้วัดสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมทุกระดับ รวมถึงกำหนดให้ตัวชี้วัดความสัมฤทธิ์ผลในการจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นตัวชี้วัดที่ใช้ในการจัดสรรงบประมาณให้กับท้องถิ่น

               (2) สนับสนุนทุกภาคส่วนให้มีการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อเป้าหมายของแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมภาคใต้ พ.ศ.2556-2559 โดยเสริมสร้างศักยภาพผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องและการสร้างความเข้าใจเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมระดับภาค

               (3) กำหนดรูปแบบและแนวทางการประชาสัมพันธ์สาระของแผนฯ ผ่านสื่อที่เหมาะสมอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

               (4) ผลักดันให้ตัวชี้วัดในแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นตัวชี้วัดในระดับยุทธศาสตร์จังหวัด และแผนปฏิบัติการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

               (5) สร้างระบบการกำกับการดำเนินงานตามแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมภาคใต้ พ.ศ.2556-2559 โดยสร้างเครือข่ายการทำงานระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

               (6) เผยแพร่และประชาสัมพันธ์แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมภาคใต้ พ.ศ.2556-2559 ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้ทุกภาคีเครือข่ายเกิดความรู้ ความเข้าใจในสาระสำคัญของแผนฯ รวมทั้งสนับสนุนและกระตุ้นให้มีการสร้างภาคีเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อน ติดตาม และตรวจสอบผลการดำเนินงานตามแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมภาคใต้ พ.ศ.2556-2559 อย่างต่อเนื่อง

         8.2 โครงการสำคัญ (Flagship Projects) ของแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมภาคใต้ พ.ศ.2556-2559

              เป็นโครงการสำคัญที่เป็นตัวอย่างในการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดการบูรณาการงานด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ยุทธศาสตร์ แผนงานและแนวทางการปฏิบัติในรูปแบบของกลุ่มโครงการ รวมทั้งเพื่อใช้ประกอบการขอสนับสนุนงบประมาณจากแหล่งเงินทุนต่างๆ โดยเสนอแผนงานบูรณาการในแต่ละยุทธศาสตร์ รวม 5 โครงการ/กิจกรรม ได้แก่ 1) โครงการเฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายหาดท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลภาคใต้ 2) โครงการเมืองสวยใส ไร้มลพิษ 3) โครงการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อม 4) การกำกับ ดูแล และติดตามการใช้มาตรการในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และ 5) การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมของหน่วยงานส่วนราชการ

         8.3 กลไกการติดตามประเมินผล

         การติดตามประเมินผลการดำเนินงานภายใต้แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมภาคใต้ พ.ศ.2556-2559 มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานของหน่วยงานและภาคีเครือข่ายต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องว่ามีการดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแนวทางการปฏิบัติที่บรรจุไว้ในแผนฯ หรือไม่ และผลการดำเนินงานดังกล่าวตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ เป้าประสงค์ เป้าหมาย และตัวชี้วัดของแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมภาคใต้ พ.ศ.2556-2559 มากน้อยเพียงใด  ดังนี้

8.3.1 การติดตามประเมินผลตามตัวชี้วัดของแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมภาคใต้ พ.ศ.2556-2559 ทุก 2 ปี เพื่อประมวลผลการดำเนินงานตามแผนฯ รายงานความก้าวหน้า และนำผลการประเมินที่ได้มาใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงแผนฯ ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และใช้กำหนดกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนแผนฯ ไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้

8.3.2 สร้างกลไกสำคัญในการทำหน้าที่ขับเคลื่อนระบบติดตามประเมินผลแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมภาคใต้ พ.ศ.2556-2559 ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากสถาบันการศึกษา ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนภาคประชาชน และผู้แทนองค์กรเอกชนอิสระด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีการรวบรวมข้อมูลจากการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแนวทางการปฏิบัติภายใต้แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมภาคใต้ พ.ศ.2556-2559 และรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานเพื่อเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบ

8.3.3 พัฒนารูปแบบการติดตาม ประเมินผล และติดตามประเมินผลตามเป้าหมายของแผนเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของแผนฯ (4 ปี) เพื่อรวบรวมปัญหาและอุปสรรคจากการดำเนินงานตามแนวทางการปฏิบัติที่ได้เสนอไว้ในแผนฯ มาใช้ประกอบการจัดทำแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมระดับภาคในระยะต่อไป

 

สามารถดาวน์โหลด “แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมภาคใต้ พ.. 2556-2559” ฉบับสมบูรณ์ได้ที่เว็บไซด์สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 14 (สุราษฎร์ธานี) www.reo14.go.th

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 548794เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2013 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กันยายน 2013 16:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท