"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

ลืมกำเมือง ๒


"... ส่งเสริม การรักษ์ "คำเมือง" .... ไม่ลืมรากเหง้า ของเรา..." จากการแสดงความคิดเห็นของ Dr.Ple ครับ

๒๐/๐๙/๒๕๕๖

**********

ลืมกำเมือง

 

ลืมอู้เมืองกั๋นเล่ากา? ตั้งคำถามนำไว้ก่อน

จากที่บันทึกก่อนหน้านี้ เปิดเพลงลืมกำเมือง  พร้อมกับขยายประเด็นของเนื้อเพลงไว้บ้างแล้ว  บันทึกนี้ขอร่ายยาวต่อเลยก็แล้วกัน

“ก๋ารอู้เมือง” เท่าที่ผมสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้าน แบ่งเป็นกลุ่มหลัก ๆ ได้ดังนี้

๑. กลุ่มพ่อบ้านแม่บ้านที่ได้พาครอบครัวไปประกอบธุรกิจการปะยาง เปลี่ยนยาง ยังต่างจังหวัด

๒. กลุ่มพ่อบ้านหรือแม่บ้านที่ไปมีครอบครัวอยู่ต่างจังหวัด

๓. กลุ่มของเยาวชนวัยรุ่น ที่เรียนจบแล้วแยกย้ายกันไปทำงานยังต่างจังหวัดหรือกรุงเทพฯ

๔. กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่อยู่ในหมู่บ้าน โดยแยกออกเป็น ๒ ประเภทคือ

          ๓.๑  กลุ่มนักเรียนที่เติบโตในหมู่บ้าน  และ

          ๓.๒  กลุ่มนักเรียนที่เกิดหรือเติบโตจากต่างหมู่บ้าน แล้วเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน

 

บันทึกนี้ไม่ได้มุ่งเน้นให้เป็นเรื่องเครียดหรือเชิงวิชาการอะไรมากมายนัก เพียงแต่เขียนจากสิ่งที่ตนเองได้พบเห็นและสัมผัสได้ในชีวิตประจำวันเท่านั้น...

๑. กลุ่มพ่อบ้าน แม่บ้านที่ได้พาครอบครับไปประกอบอาชีพร้านยางอยู่ต่างจังหวัด

เป็นคนในหมู่บ้าน แต่เวลาที่ลูกคลอดออกมาและเติบโตขึ้นมาในต่างจังหวัดที่ตนเองพักอาศัยอยู่ ก็ให้คิดว่า(คิดแทนเขา) กลัวลูกเราจะอายเพื่อนๆ กลัวมีปมด้อยว่า ตนเองไม่ได้พูดภาษาไทย(ท้องถิ่นนั้น) เช่น อยู่สุพรรณลูกที่เกิดมาก็ต้องพูดภาษาสุพรรณเป็นภาษาแรก(ภาษาแม่) พ่อแม่ก็พาลูกพูดเป็นภาษากลาง ในขณะที่ตนเองหรือภรรยานั้น มีรกรากวัฒนธรรมจาก “คนเมือง” แต่ลืมที่จะพูดและสอนให้ลูกที่เกิดมาภายหลังได้พูดเมือง ทั้งกลัวว่าคนอื่น(ลูกค้า)จะฟังตนไม่รู้เรื่อง ทั้งกลัวว่าคนในชุมชนที่อยู่นั้นจะฟังตนไม่รู้เรื่อง ทั้งกลัวว่าถ้าพูดไปก็จะอายเขา ก็เลยถือโอกาสนี้พูดภาษากลาง และสอนลูกๆ ให้ได้พูดภาษากลาง และภาษาท้องถิ่นที่ครอบครัวตนเองตั้งหลักปักฐานอยู่

          ทำให้ลูกที่เกิดมาภายหลังเสียโอกาสที่จะได้พูดภาษาพ่อภาษาแม่ไปอย่างน่าเสียดาย  พอญาติตนเองทางบ้านเกิด(บ้านแพะ)เสียชีวิตหรือป่วยหนักรอการมาดูใจระยะสุดท้าย หอบลูกหอบหลานมาบ้านเกิด พ่อแม่พูดกับญาติเป็นภาษาเมือง หันไปคุยกับลูกเป็นภาษากลาง ลูกก็มองหน้าพ่อแม่กับตายายแบบตั้งคำถามว่า “คุยอะไรกัน?” ผู้เขียนในฐานะคนกลางก็ให้รู้สึกกระอักกระอ่วนใจยังไงบอกไม่ถูก

   ๒. กลุ่มพ่อบ้านหรือแม่บ้านที่ไปมีครอบครัวอยู่ต่างจังหวัด

ชายหรือหญิงที่ไปมีสามีหรือภรรยาอยู่ต่างจังหวัด ทั้งภาคกลางและภาคอีสาน เมื่อตนเองแต่งงานกันแล้ว พ่อบ้านและแม่บ้านจะต้องพูดคุยกันเป็นภาษากลาง เมื่อทำงานอยู่ต่างจังหวัด ภายหลังมีลูกออกมา ความเป็นไปได้ที่ลูกจะต้องพูดภาษากลางมีอยู่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

ภาษาของพ่อและภาษาของแม่ถ้าหากท่านใดใจกว้างไม่ลืมถิ่นของตนเอง หรือคิดในมุมกลับกันว่า “ลูกของเราต้องได้อีกสองภาษา” ก็จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเด็กเป็นอย่างมาก เช่น พ่อคนเมือง ไปได้กับแม่ที่เป็นคนอีสาน หรือแม่คนเมือง ไปได้กับพ่อที่เป็นอีสาน พบรักกันที่กรุงเทพและแต่งงานกันที่กรุงเทพ นอกจากว่าลูกจะพูดภาษากลางตามคนกรุงแล้ว ยังมีโอกาสที่จะได้พูดภาษาพ่อและภาษาแม่เพิ่มมาอีก  หากมองมุมกลับ เกิดพ่อกับแม่กลัวว่าลูกจะมีปมด้อยหรือกลัวจะอายเพื่อนในกรุงเทพ สอนให้พูดกลางอย่างเดียว ลูกก็เสียโอกาสที่จะได้สองภาษาไปอย่างน่าเสียดายอีกเช่นกัน  เพราะฉะนั้นแล้ว พ่อแม่คือตัวแปรสำคัญสำหรับการพูดได้หลาย ๆ ภาษาของลูก

 ๓. กลุ่มของเยาวชนวัยรุ่น ที่เรียนจบแล้วแยกย้ายกันไปทำงานยังต่างจังหวัดหรือกรุงเทพฯ

ในกลุ่มนี้คือกลุ่มเยาวชนที่เรียนจบมัธยมปลายและปริญญากันไปแล้ว หรือคนวัยเริ่มทำงาน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การพูด “เมืองคำ ไทยคำ” แบบที่คนไทยส่วนใหญ่ ชอบพูด “ไทยคำ อังกฤษคำ” นั่นแหละ เป็นการพูดผสมกันแบบกลมกลืนโดยไม่รู้ว่า ที่ถูกต้องของภาษาเมืองนั้นคือ คำไหนแน่ ผู้ที่จะรู้และเข้าใจได้ดี ก็คือ ตัวของผู้พูดเอง และผู้ที่ฟังอยู่ใกล้ ๆ ซึ่งเป็นคนเมืองแท้ที่เข้าใจภาษาได้เป็นอย่างดีและได้รับการศึกษาและผ่านโลกมามากพอสมควรการพูดในลักษณะนี้เป็นการพูดแบบ “ดัดจริต” เสแสร้งแกล้งทำ ส่วนใหญ่ที่พูดคือการพูดกันในกลุ่มเพื่อนคนบ้านเดียวกัน เวลาที่กลับมาที่บ้านเกิดของตนเอง  พร้อมกับการนำค่านิยม และวัฒนธรรมใหม่(ที่ไม่ดี)มาด้วยคือ การชวนกันไปสังสรรค์กินเลี้ยง กินเหล้าแดงน้ำแข็งกลวงกันทั้งชายและหญิง ส่วนใหญ่ที่สังเกตเห็นคือ กลุ่มผู้หญิงนอกจากการพูดคุยแล้วการแต่งตัวยังล่อแหลม ออกไปทางยั่วยวนอีกด้วย

๔. กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่อยู่ในหมู่บ้าน  ในกลุ่มนี้ก็ขอกล่าวรวมไปเลยก็แล้วกัน

นักเรียนตัวเล็ก ๆ  ที่พบเห็นในปัจจุบันหลายคนพูดไทยผสมเมือง บางคนพูดภาษากลางได้ และไม่สามารถ “อู้เมือง” ได้เลย แม้จะคุยกับเพื่อนก็ตาม นั่นเพราะพื้นฐานมาจาก

๔.๑ การศึกษาในสถานศึกษาที่บ่มเพาะนักเรียนทุก ๆ วันทั้งจากการอ่าน การพูด การเขียน การฟังครูพูดและบรรยาย และที่สำคัญจากสื่อทีวี โทรศัพท์ และคอมพิวเตอร์ ฯลฯ  เป็นการพูดตามธรรมชาติที่หลงไปว่านั่นคือ “กำเมือง” แต่ความจริงหาใช่ไม่  เด็กกลุ่มนี้ขาดการแนะนำจากปู่ย่า ตายาย และพ่อแม่อย่างถูกต้องว่า “ที่ลูกพูดอยู่นั้นมันไม่ถูกต้องนะลูก...นะหลาน” ทำให้เด็กซึมซับกับการใช้ภาษาผิดกันไปอย่างไม่รู้ตัวตลอดมา

๔.๒ พ่อกับแม่ที่ได้กันอยู่ต่างจังหวัด เป็นไปได้ทั้งกรณีแรก และกรณีหลัง พอลูกโตได้นิดหน่อยก็ส่งมาให้ตายายที่อยู่ต่างจังหวัดเลี้ยงดู โดยส่งเสียค่าเล่าเรียนมาให้ที่บ้านเกิด พอมาอยู่บ้านเกิดใหม่ ๆ ก็ไม่กล้าที่จะพูดตามตาและยาย เพราะภาษาแรกได้ฝังไปในความรู้สึกและคุ้นเคยเสียแล้ว  อยู่ต่อมานานเข้าก็เริ่มจะกล้าพูดขึ้นมาได้บ้าง แต่การพูดนั้นเป็นการพูดแบบผสมกลมกลืนคำศัพท์ภาษากลางไปเสียแล้ว  โดยไม่สามารถแยกออกได้อย่างชัดเจนว่า คำไหนไทยกลาง คำไหนไทยเหนือ  ผู้ฟังพอได้ยินเด็กพูดกันก็ให้รู้สึกขัดหู ขัดอารมณ์ความรู้สึกของตนเองเป็นยิ่งนัก

 

 

ควรให้มีการสะท้อนความเป็นจริงกันบ้างก็จะดีไม่น้อย...ลืมกำเมือง ๓.

หมายเลขบันทึก: 548773เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2013 10:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ตุลาคม 2013 09:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

 

  .... ส่งเสริม  การรักษ์  "คำเมือง" .... ไม่ลืมรากเหง้า ของเรา ค่ะ ...... ขอบคุณนะคะ

-สวัสดีครับปี้หนาน..

-อะไร.ทำไม..

-เปิ้นชอบอู้กำไทยป๋นเมืองกั๋นครับ

-ถ้ามีลูกจะสอนฮื้ออู้กำเมือง

-น่าฮักดีครับ 

  • ขอบคุณคุณพี่หมอเปิ้ลครับ ขอยืมคมคำคอมเม้นท์ไปใส่ในประโยคเด็ดด้วยนะครับ
  • ขอบคุณ คุณเพชรน้ำหนึ่ง อีกท่านนะครับ ที่ให้กำลังใจตลอดมา ผมยังนึกไม่ออกเลยว่าเคยเห็นหรือเคยกินลูกนมวัวที่ไหน 

เวลาไปเยี่ยมน้าสาวที่เชียงใหม่ ที่บ้านน้าก็ใช้”กำเมือง”กับลูกชายวัยรุ่นอยู่ตลอดคะ รู้สึกได้ถึงความสละสลวยของภาษา ปัญหาเรื่องภาษาท้องถิ่นกำลังจะหายไปนี่น่าจะจริงนะคะ. ลูกอาจารย์ที่เป็นคนใต้แท้ๆ ทั้งพ่อและแม่. ลูกก็พูดใต้ไม่ได้เหมือนกันคะ พ่อแม่กลัวว่าลูกไปเรียนที่อื่นแล้ว -ทองแดงหล่น -

สวัสดีครับอาจารย์นีโอ..เบเกอรี่ ขอบคุณที่เข้ามาอ่านให้กำลังใจร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างมากนะครับ  ต่อไปวัฒนธรรมทางด้านภาษาจะค่อยๆ หายไปในทุกที่นะครับ  เพราะเราคิดดูถูกตัวเอง ดูถูกภาษาที่ใช้ว่าไม่ทันสมัย ความจริงคือเสน่ห์ต่างหาก อยากรู้ที่มาของคำว่า "ทองแดง" จังเลยครับ

พี่หนานคะ ต้องรบกวนคนใต้แท้ ๆ มาช่วยแล้วคะ เพราะข้าเจ้าความรู้น้อย อิอิ...

เจอ บันทึก แหลงใต้วันละคำ(24) แหลงทองแดง ..ของคุณเม้ง สมพร ช่วยอารีย์  

เข้าใจง่าย..http://www.gotoknow.org/posts/96150

ขอบคุณอาจารย์นีโอ..เบเกอรี มากครับ เดี๋ยวจะลองตามไปอ่านครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท