สมาธิสั้น


คนข้างวัด

โดย พ่อครูปรีชา  ขันทนันต์

สมาธิสั้น

          เมื่อวันที่ 25-28 สิงหาคม 2556 ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าประชุมเชิงปฏิบัติการ ณ ศูนย์ฝึกอบรมอภิบาล บ้านผู้หว่าน อ.สามพราน จังหวัดนครปฐม ในหัวข้อเทคนิคการใช้จิตวิทยาในการให้คำปรึกษา แนะนำ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก เยาวชน และครอบครัว เป็นรายบุคคลของกระทรวงยุติธรรม ในฐานะที่ผู้เขียนได้เข้ามาเป็นข้าราชการตุลาการ ในตำแหน่ง ผู้พิพากษาสมทบ ศาลเยาวชน และครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ จึงขอนำเรื่องราว ที่เป็นสาระน่ารู้ น่าสนใจ ที่ยังพอจะจดจำได้จากการประชุมมาเล่าสู่กันฟังพอสังเขป ซึ่งเป็นเรื่องของกระทรวงยุติธรรม และกระทรวงสาธารณสุข         ได้ร่วมมือกัน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พระราชบัญญัติศาลเยาวชน และครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชน และครอบครัว พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นมา สำหรับอาจารย์ผู้บรรยายก็มีมาจากหลายสถาบัน อาทิเช่น         สถานพินิจฯ กรมสุขภาพจิต ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดย ศาสตราจารย์พิเศษ  ดร.จิรนิติ หะวานนท์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง  และโรงพยาบาลมนารมย์ โดย ผู้อำนายการฝ่ายคลินนิก แพทย์หญิงวรลักษณา  ธีราโมกข์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลด้านจิตเวช ของเอกชนแห่งแรกในประเทศไทย นอกจากนั้น ก็มี อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่าน(ต้องขออภัยที่ไม่ได้เอ่ยนาม)

ในระยะนี้เราจะได้ยิน ได้ฟัง และเห็นผู้คนทั่วไปได้พูด เขียน อ้าง และกล่าวคำว่า นายคนนั้นมีสมาธิสั้น เด็กกลุ่มนี้สมาธิสั้น ซึ่งเป็นการใช้คำที่ มาจากการตัดสินใจของ คนๆ นั้น เพียงคนเดียว ซึ่งบางครั้งดูแล้วมันเป็นการด่วน ตัดสินใจนำมาใช้เร็วเกินไป หรืออาจจะเป็นเพราะเหตุว่า ท่านคนนั้น ยังไม่เข้าใจคำว่าสมาธิสั้น ดีพอ หรืออาจจะเข้าใจผิดพลาดไป ก็เป็นได้ จึงอยากจะนำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสมาธิสั้น มาเล่าสู่กันฟัง แบบชาวบ้าน มิได้เล่าในเชิงวิชาการ เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ  และเราจะได้เข้าใจถึงสาเหตุของพฤติกรรมของเด็กอย่างแท้จริง และจะได้นำไปแก้ไข ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก และเยาวชนได้อย่างถูกต้อง

โรคสมาธิสั้นคืออะไร

โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ADHD คือกลุ่มอาการขาดสมาธิ อยู่ไม่นิ่ง และวู่วาม หุนหันพลันแล่น  มักจะเกิดขึ้นตั้งแต่เด็กเล็กขึ้นไป และการแพทย์ได้ถือว่าอาการดังกล่าวเป็นโรคชนิดหนึ่ง

สาเหตุ

โรคนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่การถ่ายทอดทางพันธุกรรม พบว่า 30-40% ของผู้ป่วย มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคนี้เช่นกัน และภาวะที่มีผลต่อสมอง นับตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เช่นมารดาขาดสารอาหาร หรือได้รับสารพิษ การคลอดมีปัญหา เด็กเป็นโรคลมชัก หรือสมองอักเสบเป็นต้น ส่งผลให้สารโดปามีน และนอร์เอปิเนฟริน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาท ที่คุมสมาธิ  มีปริมาณน้อยกว่าเด็กปกติ เด็กจึงมีอาการดังกล่าว และจะยิ่งเห็นอาการมากขึ้น หากเด็กได้รับการดูแลที่ไม่เหมาะสม หรือมีสิ่งเร้ามากเกินไป

โรคนี้พบได้สูงถึงร้อยละ 5 ในเด็กวัยเรียน พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง 4-6:1 และร้อยละ 1-2 ในวัยผู้ใหญ่ มักเริ่มเห็นอาการก่อนอายุ 7 ปี โดยเป็นอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6 เดือนและเป็นอย่างน้อย 2 สถานการณ์ เช่นที่บ้าน และโรงเรียน

ผลเสีย

               ทำให้เกิดผลเสียต่อชีวิตประจำวันทั้งเรื่องการเรียน การเข้าสังคม และการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น เด็กจะขาดประสบการณ์แห่งความสำเร็จ ได้รับแต่คำตำหนิและการลงโทษ เด็กจึงขาดความเชื่อมั่น อาจจะกลายเป็นคนท้อถอย มีปัญหาทางอารมณ์ซึมเศร้า หรืออาจมีอารมณ์ก้าวร้าว และกลายเป็นอันธพาลเกเรในที่สุดก็ได้

สมาธิสั้นนั้นดูได้อย่างไร

โรคสมาธิสั้นมีอาการ 3 ด้าน คือ

1).สมาธิบกพร่อง (Inattention) อาการของเด็กจะเหม่อลอย วอกแวกง่าย ขาดความตั้งใจ งานมักจะไม่เสร็จ หรือเสร็จแต่ไม่เรียบร้อย ขี้ลืม ทำของหายประจำ อาการด้านนี้มักจะมีต่อเนื่องถึงวัยผู้ใหญ่

2).อยู่ไม่นิ่งหรือซน  (Hyperactivity) หรือที่เด็กหลายคนถูกเรียกว่า”เด็กไฮเปอร์” เด็กจะยุกยิกนั่งนิ่งๆ ไม่ค่อยจะได้ ชอบลุกเดิน เล่นเสียงดัง เล่นผาดโผนและพูดไม่หยุด อาการนี้จะเห็นชัดในเด็กเล็กและจะลดลงเมื่อโตขึ้น

3).หุนหันพลันแล่น (Impulsivity) จะใจร้อนทำอะไรโดยไม่คิด รอคอยไม่ได้ มักจะพูดโพล่ง และพูดแทรกเป็นประจำ

เด็กที่เป็นโรคนี้ไม่จำเป็นต้องมีอาการครบทั้ง 3 ด้าน บางคนมีอาการซนเด่น บางคนมีอาการสมาธิบกพร่องเด่น (ประเภทนี้จะสังเกตอาการได้ยาก มักพบในเด็กผู้หญิงมกกว่า) หรือบางคนก็เด่นไปหมดทั้งสอง หรือ สามด้าน ซึ่งเป็นประเภทที่พบบ่อยที่สุด

มาปรับความเข้าใจผิด...เกี่ยวกับโรคสมาธิสั้นซึ่งมีมากมาย หลายคำถาม แต่ขออนุญาตยกตัวอย่างมา 3 ข้อ

1).“เด็กที่นั่งดูทีวีหรือเล่นเกมส์ได้นานหลายชั่วโมง เป็นโรคสมาธิสั้นหรือเปล่า”

คำตอบ ไม่เป็น ความเป็นจริงคือ เด็กเหล่านี้มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน เพราะเด็กสมาธิสั้น ก็สามารถทำสิ่งที่ตัวเองสนใจนานๆ ได้ ยิ่งสิ่งกระตุ้นนั้นมีทั้งภาพ และเสียง ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ยิ่งสามารถดึงดูดความสนใจของเด็กได้มาก

2).“เด็กไม่ค่อยสนใจเรื่องเรียน เอาแต่เล่น เพราะมีนิสัยขี้เกียจ เป็นโรคสมาธิสั้นหรือเปล่า”

คำตอบไม่เป็น ความจริงคือ เด็กมาสามารถควบคุมตัวเองให้จดจ่อกับงานได้ เพราะสมองทำงานผิดปกติ ไม่ใช่เป็นเพราะเด็กนิสัยไม่ดี

3).สมาธิสั้น เอ๋อ ออทิสติก เป็นโรคเดียวกันใช่หรือไม่ (เพียงแต่เรียกแตกต่างกัน)

คำตอบ ไม่ใช่ ความจริงแล้วเป็นคนละโรคกัน เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมีเพียง ความลำบากในการควบคุ่มสมาธิ แต่มีความฉลาด และพัฒนาการเหมือนเด็กปกติ

จะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้น

แพทย์จะสอบถามประวัติอย่างละเอียดจาก พ่อแม่ ผู้ปกครอง และขอข้อมูลจากทางโรงเรียนโดยให้คุณครูผู้ใกล้ชิดตอบแบบสอบถาม ร่วมกับการพูดคุย สังเกตพฤติกรรม และการทำงานของเด็กเป็นหลัก บางกรณีอาจจะมีการตรวจร่างกาย ระบบประสาท ตรวจสายตา การได้ยิน เชาว์ปัญญา ความสามารถทางการเรียนด้านต่างๆ หรือทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาบางอย่างด้วย

 อาการที่แสดงออก อาจจะมีดังนี้คือ

1).มีปัญหาในการอ่าน เช่น อ่านผิด ตกหล่น อ่านข้ามคำ เพิ่มคำ สลับพยัญชนะ ผสมคำผิด แยกคำอ่านไม่ได้ อ่านไม่ได้ใจความ จนถึงขั้นอ่านไม่ออกเลย

2).มีปัญหาในการเขียน เช่น เขียนตัวหนังสือกลับหลัง เขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ไม่ถูกที่ หรือเขียนคำสลับตำแหน่งทำให้เขียนช้า และไม่ชอบเขียน

3).มีปัญหาในการคำนวณ เช่น เขียนตัวเลขผิด ไม่เข้าใจค่าของตัวเลขหลักต่างๆ ไม่เข้าใจเครื่องหมายทางคณิตศาสตร์ ตีโจทย์ปัญหาไม่ได้ ไม่เข้าใจวิธีการคำนวณตัวเลข

4).มีปัญหาในการคิด เช่น ไม่สามารถลำดับเหตุการณ์ สับสนในการทำงานตามคำสั่ง การให้เหตุผลไม่ดี           ให้เหตุผลไม่ตรงประเด็น จำเรื่องราวที่เคยรู้ไม่ได้ สับสน เรียงลำดับเรื่องไม่ถูก เรียนแล้วก็ลืม

จะช่วยเหลือเด็กที่เป็น โรคสมาธิสั้น อย่างไร

การรักษาที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบันคือการใช้ยาร่วมกับการปรับสิ่งแวดล้อมและปรับพฤติกรรม เริ่มต้นจากการช่วยให้ผู้ปกครองและคุณครู มีความเข้าใจปัญหาและ ต้องยอมรับว่าเด็กป่วยอยู่ เพื่อทุกฝ่ายจะได้มีความหนักแน่น     และร่วมมือกันในการช่วยเหลือกันอย่างสม่ำเสมอ และในรายทีมีอาการมาก การใช้ยาถือเป็นสิ่งจำเป็น โดยยาจะไปเพิ่มสารสื่อประสาท ที่ใช้ควบคุมสมาธิทำให้อาการลดลง และช่วยให้เด็กสามารถร่วมมือในการปรับพฤติกรรมได้มากขึ้น

เมื่อเด็กโตขึ้น จะหายหรือไม่

เด็กที่เป็นโรคนี้ประมาณ 30% จะหายจากอาการนี้ เมื่อผ่านพ้นช่วงวัยรุ่น อีก 40% จะยังคงมีอาการบางอย่างที่รบกวนชีวิตอยู่บ้าง ส่วนที่เหลืออีก 30% จะยังคงมีอาการครบตามเกณฑ์ หรือเรียกได้ว่าเป็นโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ จะมีลักษณะ เป็นคนใจร้อน ทนความคับข้องใจได้น้อย ขาดความสามารถในการบริหารจัดการเวลา มักจะผิดนัด มาสาย ไม่มีระเบียบ รับผิดชอบทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกัน ในเวลาเดียวกันไม่ได้ ชอบผลัด เบื่อง่ายและไม่ค่อยมีสมาธิในระหว่างการทำงาน จะมีความขัดแย่งกับคนรอบข้างอยู่เสมอ ซึ่งจะต้องเข้ารับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางที่ชำนาญการ

ท่านรู้ไหมว่าเด็กมีความรู้สึกอย่างไร

เด็กมักจะรู้สึกว่าตนเองเรียนไม่เก่ง มีปมด้อย มีอารมณ์เศร้า พ่อแม่ และคุณครูไม่รัก ไม่มีเพื่อนที่หวังดี มีความหวาดระแวงเกือบทุกเรื่อง ไม่มีความไว้วางใจผู้ที่อยู่รอบข้าง บางครั้งเมื่อเด็กถูกบังคับให้ทำงานซ้ำๆ หรือเรียนพิเศษ     เด็กจะมีอาการต่อต้านการเรียน ไม่อยากไปโรงเรียน มักพูดจาฉลาดโต้ตอบได้ดี แต่พอให้อ่าน เขียน คำนวณ กลับทำได้ไม่ดี ทำให้ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ ถูกดุว่าเป็นเด็กขี้เกียจ ดื้อ เกเร เด็กบางคนเกิดความอับอาย ที่ทำสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ แต่ก็ไม่อยากให้ใครรู้ ก็เลยปฏิเสธการทำสิ่งต่างๆ

จะต้องมีการช่วยเหลือผู้เป็น โรคสมาธิสั้น ดังนี้คือ

1).พาเด็กไปพบแพทย์เฉพาะทาง ให้คุณหมอซักประวัติอย่างละเอียดจาก พ่อแม่ ผู้ปกครอง มีแบบสอบถามให้คุณครูประจำชั้นที่ใกล้ชิดตอบ วัดระดับเชาวน์ปัญญา วัดความสามารถทางการเรียนด้านต่างๆ

2).ตรวจร่างกายและทดสอบทางจิตวิทยา และผลสัมฤทธิ์ในการเรียน

3).ให้ความรู้ความเข้าใจ ช่วยเหลือเด็ก และครอบครัวทางด้านจิตใจ

4).ช่วยเด็กทางด้านการเรียน โดยคุณครูการศึกษาพิเศษ(ที่โรงเรียนเทศบาลวัดศรีสุพรรณ มีคุณครูจบการศึกษาระดับ ปริญญาโท ด้านนี้โดยตรง)

5).ถ้าเด็กมีภาวะอื่นร่วมด้วย เช่น บกพร่องในการรับรู้ และเรียนรู้ ซึมเศร้า คงต้องพบแพทย์เพื่อใช้ยารักษาร่วมด้วย

6).การบำบัดทางเลือกอื่นๆ เช่น ศิลปะบำบัด เลือกเรียนในวิชางานสล่าสิบหมู่ การกระตุ้นระบบประสาทและความรู้สึก

7).พ่อแม่จะต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูก ต้องดูแล เอาใจใส่อย่างใกล้ชิด และต้องไม่อายที่จะต้องสื่อเรื่องนี้ให้ทางโรงเรียน และครูประจำชั้นที่ใกล้ชิดตัวเด็กได้รับทราบ เพื่อหาทางช่วยเหลือ และแนวทางในการ ดูแล แก้ไขเด็กอย่างใกล้ชิด

 

................................................................................

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #คนข้างวัด
หมายเลขบันทึก: 548678เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2013 02:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กันยายน 2013 02:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณบันทึกที่ดีมีประโยชน์นะคะ

ขอบคุณพ่อครูปรีชามากค่ะที่เขียนบันทึกดีๆให้ได้อ่าน ตอนนี้กำลังสนใจจะศึกษาเกี่ยวกับ "สมาธิสั้น" ของเด็กค่ะ ได้รับความรู้ในเรื่องนี้มากค่ะ ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท