โรงเรียนชาวนาระดับมัธยม (๑๓)


โรงเรียนชาวนาระดับมัธยม (๑๓)

           การเรียนรู้จริงๆ ของโรงเรียนชาวนา เป็นการปฏิบัติหลายอย่างในเวลาเดียวกัน     คือเกี่ยวข้องกับความรู้หลายชั้น   และเป็นความรู้ปฏิบัติ    นักเรียนชาวนาแต่ละคนปฏิบัติไม่เหมือนกันทั้งหมด    เพราะแต่ละคนก็ทดลองในบริบทของตน ตามความคิด หรือความเชื่อของตน    ที่ยกมาในตอนนี้เป็นเพียงกรณีตัวอย่างที่เลือกมาเสนอ    ของจริงมีมากกว่านี้มาก

ตอนที่  12  เรียนรู้เรื่องฮอร์โมนชีวภาพ

 นักเรียนชาวนาได้ผ่านการเรียนรู้ในหลักสูตรการจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธีมากันแล้ว  ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกของโรงเรียนชาวนา  ทำให้นักเรียนชาวนาทุกคนได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติเรื่องการนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ในการทำน้ำหมักและฮอร์โมนชีวภาพ  พอระยะเวลาผ่านไปเพียงครึ่งปีเท่านั้นเอง  นักเรียนชาวนาโดยส่วนใหญ่ได้หันมาสนใจใช้ฮอร์โมนชีวภาพมากขึ้น 
 นอกจากนั้น  ยังมีนักเรียนอีกหลายต่อหลายคนคิดค้นสูตรใหม่ๆขึ้นมาให้เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่น  แถวๆบ้านแถวๆสวนของใครมีพืชผักผลไม้อะไรมากๆ  ก็เอามาลองใส่ในส่วนผสม  เป็นการพลิกแพลงสูตรไปกันตามความคิด  หลายสูตรทดลองแล้วได้ผลดีกว่าสูตรเดิม  จึงทำให้นักเรียนชาวนาได้สูตรใหม่ๆ  ได้สูตรใหม่กันแล้วจึงอยากจะนำเผยแพร่ให้เพื่อนๆนักเรียนชาวนาและเครือข่ายนำไปทดลองใช้ดูบ้าง  เรียกได้ว่ามีของดีอยู่กับตัวแล้ว  ก็อยากจะแจกให้คนอื่นบ้าง   
 เมื่อกล่าวถึงเรื่องราวของการทำฮอร์โมนแล้ว  คงต้องถึงนึกยายปิ่นทอง  ศรีสังข์  วัย  70  ปี  ก่อนใครอื่น  เพราะยายปิ่นทองเป็นนักเรียนชาวนาที่มีอายุมากสุดในโรงเรียนชาวนาวัดดาว  ยายปิ่นทองเป็นนักเรียนชาวนาที่ขยันคนหนึ่ง  จะบอกได้ว่าอายุแม้ตัวเลขมากหาใช่ได้เป็นอุปสรรคต่อ   การเรียนรู้ไม่  ยิ่งเรียนก็ยิ่งรู้มากขึ้นเรื่อยๆ  ยายปิ่นทองสนุกกับการเรียนรู้ในโรงเรียนชาวนามาก  ยายปิ่นทองรักการเรียนรู้  และยังชอบทดลองทำสิ่งนี้สิ่งนั้นตามความสนใจ  ยายปิ่นทองสนใจเรื่องการทำฮอร์โมนชีวภาพมาก  ทำการทำลองด้วยตนเองมากหลากหลายสูตร  โดยอาศัยภูมิความรู้เดิมและอาศัยการเรียนรู้จากโรงเรียนชาวนาด้วย  นำมาประสมประสานกัน  ในคราวนี้ยายปิ่นทองยินดีและเต็มใจที่จะเผยแพร่สูตรฮอร์โมนที่ทดลองทำและนำไปใช้จริงมาแล้ว  บอกได้คำเดียวว่าผลที่ได้ทำให้ยายปิ่นทองยิ้มด้วยความสุข  เราๆท่านๆลองมาติดตามดูว่ามีสูตรอะไรบ้าง
 ฮอร์โมนสูตรแรกที่ยายปิ่นทองได้แนะนำมาเป็นสูตรฮอร์โมนพืช  ซึ่งได้เน้นการนำเอาพืชผักผลไม้ที่มีอยู่ตามบ้านตามสวนมาใช้ประโยชน์  โดยมีส่วนผสม  ได้แก่ 
 (1)  กล้วยสุก     2   กิโลกรัม
 (2)  มะละกอสุก     2   กิโลกรัม
 (3)  ฟักทองแก่     2   กิโลกรัม
 (4)  อี.เอ็ม.  (E.M.)   20  ซี.ซี.
 (5)  กากน้ำตาล    20  ซี.ซี.
 (6)  น้ำ     10  ลิตร
 พอทราบส่วนผสมตามข้างต้นนี้แล้ว  จึงค่อยมาถึงวิธีทำฮอร์โมน  ซึ่งวิธีการไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลย  เพียงแต่นำเอากล้วยสุก  มะละกอสุก  และฟักทองแก่  มาสับๆให้ละเอียดๆ  ทั้งเปลือกและเมล็ดปนกัน  แล้วนำน้ำผสมกากน้ำตาลและอี.เอ็ม.  คนให้เข้ากัน  จากนั้นจึงเทน้ำที่ผสมแล้วนี้ลงในถังผักผลไม้  คลุกเคล้าทั้งน้ำผสมและผักผลไม้ให้เข้ากัน  หมักทิ้งไว้นาน  10  วัน
 เมื่อได้ฮอร์โมนพืชแล้ว  พอจะนำไปใช้ประโยชน์  ให้น้ำหมัก  จำนวน  80  ซี.ซี.  ผสมกับน้ำ  จำนวน  20  ลิตร  ผสมให้เข้ากันแล้ว  จึงจะสามารถนำไปฉีดพ่นพืชผักได้  ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การฉีดพ่นนั้น  ควรจะเป็นช่วงเช้าหรือในช่วงที่มีแสงแดดอ่อน  ให้ฉีดพ่นทุก  7  วัน  จะเห็นได้ว่าวิธีการดังกล่าวนี้ไม่ได้ยุ่งยากอะไร  แต่ต้องอาศัยความขยันสักเล็กน้อย 
 ฮอร์โมนสูตรที่  2  เป็นสูตรฮอร์โมนเร่งดอก  มีส่วนผสมเพียง  4  อย่างเท่านั้น  ได้แก่
 (1)  ไข่ไก่ 5   กิโลกรัม     (ประมาณ  100  ฟอง)
 (2)  กากน้ำตาล 5   กิโลกรัม
 (3)  ลูกแป้งข้าวหมาก 1  ลูก
 (4)  นมเปรี้ยว 1 ขวดเล็ก
 ได้ส่วนผสมมาแล้ว  วิธีการทำนั้นก็ง่ายๆ  ให้นำไข่ไก่ปั่นให้ละเอียดทั้งฟองเลย  การปั่นจะใช้เครื่องปั่นน้ำผลไม้  ปั่นจนได้ที่แล้วจึงเทใส่ลงในภาชนะหรือถังพลาสติก  จากนั้นจึงนำกากน้ำตาลเทลงในไข่ไก่ปั่น  แล้วคลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน  นำลูกแป้งข้าวหมากมาบดให้ละเอียดก่อน  จึงค่อยเทลงไปผสม  สุดท้ายเทนมเปรี้ยวผสมลงไป  คนส่วนผสมต่างๆให้เข้ากัน  เสร็จแล้วปิดฝา  หมักไว้นาน  14  วัน  แต่ในทุกวันจะต้องเปิดฝาคนส่วนผสมอยู่ประจำ  ถ้าหมักไว้จนนานๆ  น้ำในถังอาจจะแห้งลงได้  หากเป็นเช่นนั้น  ก็จะต้องเติมน้ำมะพร้าวอ่อนที่มีเนื้อเป็นวุ้นประมาณ  2  ผล
 อัตราการใช้สูตรฮอร์โมนเร่งดอก  ให้ผสมฮอร์โมน  จำนวน  20  ซี.ซี.  ต่อน้ำ  20  ลิตร  แล้วฉีดพ่น  ระยะเวลาจะอยู่ในช่วง  10 – 15  วันต่อครั้ง  และควรฉีดพ่นในช่วงเวลาที่มีแสงแดดอ่อนหรือในช่วงเช้า…จะเป็นดี
 ต่อมาเป็นสูตรที่  3  เป็นสูตรน้ำสกัดชีวภาพ  ชนิดสมุนไพรต้ม  ยายปิ่นทองเรียกเช่นนี้  ทำให้ชื่อเก๋ไก๋ไปอีกแบบหนึ่ง  เห็นบอกว่าเป็นชนิดสมุนไพรต้ม  ส่วนผสมก็ล้วนแล้วแต่เป็นพืชสมุนไพรที่พบเห็นเก็บหาได้ตามท้องถิ่นพื้นบ้านของเราๆท่านๆนี่เอง  ดังนี้
 (1)  ยอดสะเดา 5   กิโลกรัม
 (2)  ข่า  5   กิโลกรัม
 (3)  มะกรูด 2 ½    กิโลกรัม
 (4)  พริกขี้หนู 2 กิโลกรัม
 (5)  หมาก 1 ½ กิโลกรัม
 พอเห็นรายการส่วนผสมแล้ว  ก็ใช่สมุนไพรพื้นบ้านจริงๆล้วนๆเลย  ยอดสะเดากับข่านั้นสามารถไล่แมลงได้  หมาก  พริกขี้หนู  และมะกรูด  จะช่วยแก้โรคเชื้อราในข้าวได้
 เห็นประโยชน์กันแล้ว  คราวนี้มาดูวิธีการทำบ้าง  ก็ง่ายๆและไม่ยุ่งยาก  แต่อาจจะเหนื่อยกันหน่อย  ถือเป็นการออกกำลังไปในตัว  ให้นำยอดสะเดา  ข่า  มะกรูด  มาสับให้ละเอียด  ส่วนพริกขี้หนูนั้นนำมาปั่นให้ละเอียด  ซึ่งก็ใช้เครื่องปั่นน้ำผลไม้  ส่วนหมากนำมาทุบให้ละเอียด  แล้วจึงนำส่วนผสมทั้งหมดมาต้มในหม้อ  หากหม้อใบเล็กก็ควรจะแบ่งต้ม  ใช้เวลาต้มประมาณ  20  นาที
 เมื่อจะนำไปฉีดพ่น  จะผสมน้ำสกัดชีวภาพ  จำนวน  500  ซี.ซี.  ต่อน้ำ  20  ลิตร  และควรจะฉีดพ่นในช่วงเช้า  หากฉีดพ่นในช่วงที่มีแดดร้อนจะทำให้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร  ในกรณีที่มีเพลี้ย  ควรเพิ่มส่วนผสมลงไปอีกอย่างหนึ่งคือ  เหล้าขาว  ผสมในอัตราส่วน  1  ขวด  ต่อน้ำ  20  ลิตร  ส่วนในกรณีที่ฉีดพ่นในช่วงรับท้องข้าว  ควรจะเพิ่มนมสด  นมเปรี้ยว  และฮอร์โมนไข่ลงไปอีก  โดยเพิ่มนมสด  1  กระป๋อง  นมเปรี้ยว  2  ขวดเล็ก  และฮอร์โมนไข่อีก  20  ซี.ซี.
 และต่อมาเป็นสูตรน้ำสกัดชีวภาพชนิดสมุนไพรสูตรสุดท้ายที่นำมาแนะนำ  แต่มิได้เป็นสูตรสุดท้ายของยายปิ่นทอง  เพราะยังมีอีกหลายสูตรหลากส่วนผสม  และสูตรที่จะกล่าวถึงนี้ต้องใช้พืชสมุนไพรรวม  11  ชนิดด้วยกัน  ผสมกับส่วนผสมอื่นๆอีก  ได้แก่
 (1)  ยาสูบ  หัวกลอย  หางไหลแดง  เปลือกมังคุด  ลูกมะกรูด  หนอนตายอยาก  บอระเพ็ด  ตะไคร้หอม  ว่านน้ำ  เปลือกสะเดา  และเถามะระขี้นก  (รวม  11  ชนิด)     อย่างละ  5  กิโลกรัม 
 (2)  น้ำสะอาด                      200   ลิตร
 (3)  เหล้าขาว  35  ดีกรี             4   ขวด
 เก็บหรือเสาะหาสมุนไพรได้ครบตามจำนวนแล้ว  ให้นำมาสับจนละเอียด  จะสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ  หรือจะบดให้ละเอียดก็ได้  แล้วนำส่วนผสมทั้งหมดใส่ลงในถังพลาสติก  ใส่น้ำสะอาดตามลงไป  และใส่เหล้าขาว  จากนั้นจึงคลุกเคล้าส่วนผสมต่างๆให้เข้ากัน  ปิดฝาให้สนิท  หมักทิ้งไว้นาน  14  วัน  แต่ละวันจะต้องเปิดคนส่วนผสมทุกวัน
 ครั้นถึงเวลาจะนำไปฉีดพ่น  ใช้อัตราส่วน  500  ซี.ซี.  ต่อน้ำ  20  ลิตร  และควรฉีดพ่นในช่วงเช้า  จึงจะได้ผลดี  นอกจากนี้  กากที่เหลือจากการคั้นน้ำสกัด  ยังสามารถนำไปเทลาดในแปลงนาในเวลาสูบน้ำเข้านาได้อีกด้วย  เรียกได้ว่าสามารถนำพืชสมุนไพรมาใช้ประโยชน์อย่างได้ประโยชน์จริงๆ

     
ภาพที่  109  ยายปิ่นทอง  ศรีสังข์ 
อธิบายการทำฮอร์โมน – น้ำหมักสมุนไพร 
ภาพที่  110  ครอบครัวของยายปิ่นทอง
ช่วยกันทำน้ำหมักสมุนไพรไล่แมลง  
 
   
ภาพที่  111  พริก  ข่า  มะกรูด  สะเดา
ส่วนผสมของสูตรทำน้ำหมักสมุนไพร 
ภาพที่  112  ต้มสมุนไพร  

 

   
ภาพที่  113  คลุกเคล้าส่วนผสม  ภาพที่  114  น้ำหมักสมุนไพร
ที่หมักในถังนาน  2  สัปดาห์ 
 
  

    และขอปิดท้ายด้วยเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับการหมักฮอร์โมน  ความรู้นี้อาศัยการเรียนรู้ทดลองทำจากนักเรียนชาวนาอีกคนหนึ่งที่เป็นนักทดลองทำฮอร์โมน คือ  คุณสำรวย  อินทร์บุญ  นักเรียนชาวนาโรงเรียนบ้านโพธิ์  คุณสำรวยชอบทดลองทำฮอร์โมนด้วยการนำผลไม้ต่างๆที่มีอยู่ตามบ้านตามสวนมาประยุกต์ทำสูตรนั้นสูตรนี้  เพื่อจะนำไปใช้กับพืชผักผลไม้และข้าว  หลายสูตรก็นำมาจากการเรียนรู้ในโรงเรียนชาวนาบ้าง  มีบ้างบางสูตรที่คิดค้นทดลองหาสูตรเอง

 สูตรแรกที่จะแนะนำเป็นน้ำหมักผลไม้  ได้จากการหมักของผลไม้หลากหลายชนิดที่สามารถหาพบได้ตามละแวกบ้าน  อันได้แก่  กล้วยสุก  ซึ่งส่วนใหญ่มีกล้วยน้ำว้า  มะละกอสุก  ฟักทองแก่  อ้อย  มะพร้าว  (ใส่ทั้งกาก)  หัวปลา  และกากน้ำตาล

 
ภาพที่  115  คุณสำรวย  อินทร์บุญ   
 

 เมื่อกล่าวถึงเรื่องน้ำหมักผลไม้แล้ว  คุณสำรวยมีน้ำหมักผลไม้สุกสูตรพิเศษ  คือนำมะม่วงสุกกับกล้วยสุกมาหมักรวมกัน  โดยปกติ  มะม่วงสุกนั้นคนทั่วไปมักจะนำไปกวนแล้วทำเป็นมะม่วงแผ่น  ทว่าที่สวนของคุณสำรวยมีมะม่วงสุกจำนวนมาก  ก็เห็นๆว่าสุกร่วงเต็มโคนต้นไปหมด  ไม่รู้จะทำอย่างไรดี  เลยนำมาทดลองทำน้ำหมักผลไม้สูตรพิเศษ  ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการทดลองทำและทดลองใช้อยู่  ซึ่งเราๆท่านๆต้องคอยติดตามผล
 หากแถวๆสวนมีพืชสมุนไพรหลากหลายชนิด  ให้ลองนำมาหมักดู  อย่างเช่น  สมุนไพรไล่แมลงได้มาการนำสมุนไพรพื้นฐานมาหมัก  อันมีส่วนผสมได้แก่  ตะไคร้หอม  ข่า  ฝักคูน  ไพล  มะกรูด  ใบสะเดา  ใบขี้เหล็ก  ใบยูคาลิปตัส  และหมากสด  หรือหากที่บ้านมีผักสดจำนวนมากและเหลือเกินกว่าจะบริโภคกันหมด  ลองเอามาทำน้ำหมักผักสด  ส่วนผสมอย่างเช่น  ผักบุ้ง  หน่อกล้วย  กระถิน  กากน้ำตาล  และหัวเชื้อจุลินทรีย์  ซึ่งคุณสำรวยสามารถได้นำมาทำน้ำหมักผักสดและเอาไปใช้ทดลองในแปลงผักผลไม้ของตนเองแล้ว 
 และท้ายที่สุดนี้  คุณสำรวยกล่าวถึงเรื่องฮอร์โมนรกหมู  ซึ่งนักเรียนชาวนาหลายคนนำสูตรไปทดลองทำแล้วได้ผลดีและดีเกินคาด  ฮอร์โมนรกหมูได้มาจากการนำรกหมูมาหมักผสมกับน้ำมะพร้าว  กากน้ำตาล  และหัวเชื้อจุลินทรีย์  ส่วนผสมเพียงเท่านี้เอง  แต่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อผลไม้ได้อย่างสุดคุ้ม

     
ภาพที่  116  เตรียมส่วนผสมนานาชนิด  ภาพที่  117  สับๆแล้วก็สับๆ..พืชผักต่างๆ  
        

ภาพที่  118  เชื้อจุลินทรีย์  (กรณีนี้มีการใส่เศษ

เปลือกสัปรดลงไปด้วย) 

ภาพที่  119  น้ำหมักผลไม้สุก  
   
       
ภาพที่  120  สมุนไพรไล่แมลง  เน้นส่วนผสมเปลือกสะเดา  หนอนตากอยาก  ภาพที่  121  น้ำหมักผลไม้สุก  สูตรพิเศษ  ใช้มะม่วงสุกกับกล้วยสุก  
   
ภาพที่  122  สมุนไพรไล่แมลง  ภาพที่  123  ฮอร์โมนรกหมู  
   

 เมื่อมีฮอร์โมนให้เลือกใช้มากมายหลายสูตรกันอย่างนี้  ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนที่เป็นน้ำหมักจากจำพวกพืช  ได้แก่  พืชสีเขียว  ผัก  ผลไม้ต่างๆ  น้ำหมักจากสัตว์  ได้แก่  เศษซากจากปลา  หอย  รกหมู  และไข่  การหมักด้วยกากน้ำตาลจะช่วยป้องกันการเน่า  และเชื้อจุลินทรีย์จะทำหน้าที่ในการย่อยสลาย  นักเรียนชาวนาที่ใช้น้ำหมักหรือฮอร์โมนต่างๆฉีดพ่นกับต้นข้าว  จะทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตดี  ต้นเขียว  แข็งแรง  ไม่ค่อยมีโรคแมลงรบกวน  เมล็ดข้าวใสสวย  และผลผลิตดี  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น  นักเรียนชาวนาจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับจังหวะของการเจริญเติบโตของพืช  ซึ่งสามารถแบ่งได้ออกเป็น  4  ช่วง  คือ
 ช่วงแรกเป็นช่วงเริ่มงอก  ควรแช่เมล็ดพันธุ์พืชจำพวกหน่อไม้  ผักบุ้ง  ต้นกล้วย  เนื่องจากพืชจำพวกนี้จะมีฮอร์โมนเกี่ยวกับการยืดตัวของพืชมาก
 ช่วงการเติบโตทางลำต้น  ช่วงนี้ต้องใช้น้ำหมักที่ใช้วัสดุที่มีธาตุอาหารที่มีไนโตรเจนสูง  เช่น  ปลา  หอย  มะพร้าว  หรือพืชตระกูลถั่ว 
 ช่วงเข้าสู่ระยะเปลี่ยนแปลงวัย  ช่วงนี้ต้องใช้น้ำหมักจากผลไม้ดิบ  จำพวกมะม่วงดิบ  มะละกอดิบ  เพราะพืชต้องการกรดฟอสฟอริก
 และช่วงสุดท้ายเป็นระยะการสืบพันธุ์สร้างดอกออกผล  พืชต้องการน้ำหมักพวกแคลเซียม  ได้แก่  น้ำหมักที่ได้จากผลไม้สุก  พืชจะแพ้ท้องในช่วงติดดอกผสมเกสร  ต้องการจำพวกแคลเซียม  โดยได้จากเปลือกไข่  ปู  หอย  และฟอสเฟต  ได้จากต้นงาเผาหรือต้นถั่วเหลืองเผา
 หากนักเรียนชาวนาทราบรายละเอียดดังนี้แล้ว  ก็สามารถบำรุงดูแลทั้งข้าว  พืช  และผลไม้ได้  เพียงแต่อาศัยการสังเกต  และความขยันอดทนที่จะเรียนรู้ธรรมชาติของพืชแต่ละชนิดว่าเป็นอย่างไร

           เรื่องราวตามกรณีตัวอย่างนี้    ชี้ให้เห็นว่านักเรียนชาวนาสามารถสร้าง “ความรู้” ขึ้นใช้งานมากมาย    เป็นการสร้างความรู้จากการลองผิดลองถูก   ไม่ใช่ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์หรือเชิงวิชาการ    เป็นความรู้แบบเทคโนโลยี หรือ knowhow  ไม่ใช่ know why    คือชาวนารู้ว่าเป็นวิธีการที่ใช้ได้ผล    แต่ไม่รู้ว่าทำไมจึงได้ผล   ความรู้ในลักษณะนี้คือความรู้หลักๆ ที่ชาวนาสร้างขึ้นใช้ และหมุนเกลียวความรู้ยกระดับความรู้ขึ้นไป    ถ้ามีนักวิชาการหรือนักวิจัยเข้าไปทำความเข้าใจเชิงวิชาการโดยการวิจัยหรือทดสอบทางวิทยาศาสตร์ ก็จะเกิดการต่อยอดความรู้    ดังกรณี ดร. ก้านที่เข้าไปเอาตัวอย่างจุลินทรีย์ไปเพาะเชื้อ และส่งผลกลับไปให้ชาวนา ดังเล่าในตอนที่แล้ว


วิจารณ์ พานิช
๑๙ สค. ๔๘  

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 5486เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2005 11:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท