อภิมหาโครงการด้านอุดมศึกษาและวิจัย (1)


อภิมหาโครงการด้านอุดมศึกษาและวิจัย (1)

       13 - 15 ต.ค.48   ผมเข้าร่วมประชุม "นักวิจัยรุ่นใหม่พบเมธีวิจัยอาวุโส สกว." ที่ชะอำ   เป็นการประชุมที่จัดทุกปีมาเป็นเวลาหลายปี   แต่ปีนี้คนมากและคึกคักกว่าปีก่อน ๆ คือเกือบ 700 คน   รวมทั้งย้ายจากประชุมที่กาญจนบุรีมาเป็นที่ชะอำ

       มีเรื่องสำคัญ ๆ สู่การประชุมมากมาย   โครงการหนึ่งคือ Megaproject เพื่อพัฒนาอาจารย์และนักวิจัยของ สกอ. ชื่อ  "โครงการเครือข่ายเชิงกลยุทธเพื่อการพัฒนาบุคลากรอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ" ระยะที่ 1 (2549 - 2552)   เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ (Mega Project) เสนอโดย สกอ. เมื่อวันที่ 28 ก.ย.48 นี้เอง   ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล

       ผมคิดว่าเป็นโครงการที่สำคัญยิ่งต่อบ้านเมือง   น่าชื่นชม ศ. (พิเศษ) ดร. ภาวิช  ทองโรจน์   เลขาธิการ สกอ. ที่ริเริ่มโครงการนี้   จะเป็นประวัติศาสตร์ในวงการอุดมศึกษาและวงการวิจัย   และน่าชื่นชมคณะยังเติร์กแห่งวงการวิจัยของประเทศ   นำโดย รศ. ดร. วันชัย  ดีเอกนามกูล ([email protected]),  ศ. ดร. สุพจน์  หารหนองบัว,   ศ. ดร. เกตุ  กรุดพันธุ์,   รศ. ดร. วัชรพงศ์  อนันต์ชื่น,  และ ผศ. ดร. ธีรเกียรติ เกิดเจริญ   ที่ร่วมกันเขียนข้อเสนอโครงการนี้ในเวลาอันสั้นและฉุกละหุก

        เป้าหมายในระยะ 4 ปี (2549 - 2552) อย่าลืมว่านี่เป็นฉบับร่าง   ยังต้องมีการปรับปรุงต่อรองอีกมาก
1. ผลิตปริญญาเอก 7,800 คน
2. พัฒนาบุคลากรสายวิชาการระดับแนวหน้า  จำนวน 2,300 คน
3. ผลิตผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ 12,000 เรื่อง
4. สร้างหลักสูตรเชิงกลยุทธระดับนานาชาติ 25 หลักสูตร
5. ผลิตสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ระดับอุตสาหกรรม 70 ชิ้น
6. เกิดเครือข่ายวิจัยกับต่างประเทศ 700 เครือข่าย
7. เกิดศูนย์ความเป็นเลิศในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 60 ศูนย์

เครือข่ายเชิงกลยุทธฯ มี 20 เครือข่าย   แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม  ดังนี้
1. กลุ่มกระบวนทัศน์ใหม่   เน้นการก้าวทันสากล   ศาสตร์ใหม่   และการดักแนวโน้มนวัตกรรมในอนาคตสู่โลกของ Molecular Economy ประกอบด้วย 4 เครือข่ายคือ
     (1) เครือข่ายพลังงานทางเลือก
     (2) เครือข่ายนาโนวัสดุและนาโนอุปกรณ์
     (3) เครือข่ายเทคโนโลยีผสมผสานด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ
     (4) เครือข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการป้องกันประเทศ
2. กลุ่มฐานเศรษฐกิจของประเทศ   เน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตตามยุทธศาสตร์รัฐบาล   ประกอบด้วย 6 เครือข่ายคือ
     (5) เครือข่ายความปลอดภัยด้านอาหาร  สมุนไพร  และผลไม้
     (6) เครือข่ายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรก้าวหน้า
     (7) เครือข่ายอัญมณี  เครื่องประดับ   และแฟชั่น
     (8) เครือข่ายเทคโนโลยีดิจิตัลและซอฟท์แวร์
     (9) เครือข่ายระบบการจัดการเรื่องมาตรฐานและเครื่องมือวิเคราะห์
    (10) เครือข่ายะบบ logistics  การขนส่ง  การบิน (Aviation) และการจราจร
3. กลุ่มการจัดการความรู้และทรัพยากรเพื่อความมั่นคงของชาติ   ประกอบด้วย 6 เครือข่ายคือ
    (11) เครือข่ายโรคอุบัติใหม่และภัยคุกคามด้านชีวภาพ
    (12) เครือข่ายการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ
    (13) เครือข่ายเคมีเพื่อการสร้างนวัตกรรม
    (14) เครือข่ายเทคโนโลยีและการจัดการภาวะฉุกเฉิน  ภัยพิบัติ  และสิ่งแวดล้อม
    (15) เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาและการจัดการความรู้
    (16) เครือข่ายทรัพย์สินทางปัญญาและการพาณิชย์เชิงองค์ความรู้
4. กลุ่มวัฒนธรรมและสังคม   ประกอบด้วย 2 เครือข่ายคือ
    (17) เครือข่ายภาษา  วัฒนธรรม  ศิลปะ   และภูมิปัญญา
    (18) เครือข่ายสังคมศาสตร์เพื่อการจัดระเบียบสังคม
5. กลุ่มพิเศษเพื่อแก้ปัญหาวิทยาศาสตร์พื้นฐานของประเทศ   ประกอบด้วย 2 เครือข่ายคือ
    (19) เครือข่ายฟิสิกส์
    (20) เครือข่ายคณิตศาสตร์

        เนื่องจากคณะผู้ยกร่างโครงการเป็นนักวิจัยระดับยอดของประเทศ   และมีความใกล้ชิดกับทั้ง สกว. และ สวทช.   จึงเข้าใจความสำคัญของการจัดการและได้ร่างหลักการด้านการจัดการไว้อย่างดีมาก   โดยได้ระบุนวัตกรรมในการบริหารเครือข่ายไว้ดังนี้
- มีการสรรหาผู้จัดการเครือข่ายมืออาชีพ (เครือข่ายละ 1 คน รวม 20 คน)
- ผู้จัดการเครือข่ายต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการวิจัย   มี bird eye view และเป็นที่ยอมรับในสาขาเครือข่าย
- ผู้จัดการเครือข่ายมีหน้าที่ในการจัดทำ package ของเครือข่าย   พร้อมตัวชี้วัดที่สอดคล้องต่อเป้าหมายของโครงการฯ   เพื่อเสนอให้  สกอ. เห็นชอบ
- ผู้จัดการเครือข่ายและคณะกรรมการมีค่าตอบแทนที่สูงเพียงพอ   มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานโดยหน่ายงานภายนอกทุกปี
- ผู้จัดการเครือข่ายบริหารงานภายใต้คณะกรรมการเครือข่าย   โดยมีสำนักงาน  อุปกรณ์สำนักงาน   และบุคลากรประจำเพื่อทำหน้าที่ในการประสานงาน

        งบประมาณของโครงการตามในเอกสาร   ระบุว่า 28,800 ล้านบาทใน 4 ปี   แต่ ศ. (พิเศษ) ดร. ภาวิช  ทองโรจน์  เลขาธิการ สกอ. กล่าวเมื่อคืนวันที่ 14 ต.ค. ว่าคาดว่าค่าใช้จ่ายช่วง 5 ปีแรกจะตกประมาณ 16,000 ล้านบาท   โดยปี 2549 จะมีงบครุภัณฑ์ประมาณ 7,000 ล้านบาท   ฟังดูเข้าใจว่ายอดเงิน 28,800 ล้านบาทเป็นยอด 10 ปี

        ศ. ภาวิชกล่าวในการบรรยายเมื่อคืนวันที่ 14 ต.ค. ว่า  ระบบอุดมศึกษาของไทยขยายตัวเชิงขนาดหรือจำนวนในลักษณะที่เร็วมาก   เกิดมหาวิทยาลัยใหม่ 50 แห่งในเวลาปีเดียว (มรภ. & มรม.)   ทำให้เกิด "หลุมยักษ์" ด้านคุณภาพ   โครงการ Megaproject นี้จึงเป็นเครื่องมือถมบ่อและถมเนินทางคุณภาพอุดมศึกษาไปพร้อม ๆ กัน

        เอกสารโครงการระบุว่า   แต่ละเครือข่ายจะมีองค์ประกอบเชิงบูรณาการครบถ้วนในตัวเอง   ได้แก่
- หลักสูตรร่วมระหว่างสถาบัน
- คลัสเตอร์ของเครือข่าย
- สหสาขาวิชา
- การใช้ประโยชน์จากผลงาน
- ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในประเทศ
- ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากต่างประเทศ
- ภาคอุตสาหกรรม,  เอกชน
- ชุมชน
- ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

องค์ประกอบหรือหน่วยงาน/องค์กรที่จะเข้ามาร่วมในแต่ละเครือข่ายมีดังนี้
- มหาวิทยาลัย ก
- มหาวิทยาลัย ข
- มหาวิทยาลัย ค
- .......
- .......
- มหาวิทยาลัย ฮ
- สถาบันวิจัย
- อุตสาหกรรม
- ชุมชน
- สถาบัน/มหาวิทยาลัย ตปท.

         ในการประชุมใหญ่   วันที่ 15 ต.ค.   คณะผู้ยกร่างโครงการที่นำโดย รศ. ดร. วันชัย  ดีเอกนามกูล  ได้ขอให้ผมให้ความเห็น   ด้วยความจำกัดของเวลา   ผมได้สัญญาว่าจะกลับมาคิดให้ลึก ๆ    และเสนอความเห็นในบล็อกนี้เพื่อช่วยกันผลักดันให้โครงการดี ๆ แบบนี้ประสบความสำเร็จ   โดยอาจต้องค่อย ๆ คิดและเสนอความเห็นในบันทึกบล็อกหลายบันทึก   ไม่ใช่บันทึกเดียว   เพราะผมเป็นคนที่คิดช้า  คล้าย ๆ ควาย   ที่ต้องค่อย ๆ เคี้ยวเอื้อง   ผมต้องค่อย ๆ คิดทีละเปลาะ   ทีละจุด   และคงต้องบอกไว้ก่อนว่า   โครงการใหญ่อย่างนี้ต้องคิดให้ลึก ๆ   วางยุทธศาสตร์ในหลายด้าน   คล้าย ๆ ทำสงคราม (war)  ซึ่งผมไม่เก่ง   ผมเก่งในระดับทำศึก (battle) เท่านั้น   และถนัดแค่ศึกในระดับ "กองโจร"   ไม่เก่งในศึกหรือสงครามยึดพื้นที่   ดังนั้นความเห็นของผมอาจจะผิดโดยสิ้นเชิงก็ได้   เมื่อเอาเข้าไปพิจารณาในภาพรวมของ "สงคราม"

ในชั้นนี้ผมคิดว่ามีเรื่องใหญ่ ๆ ที่ควรพิจารณาอย่างน้อย 7 ประเด็น คือ
1. การคิดเชิงทำ "สงคราม" (war) 
2. การ "แยก" แต่ "เชื่อมโยง" ระบบจัดการกับระบบดำเนินการ
3. การจัดการในช่วง "ฟักไข่"
4. ระบบการจัดการ
5. การพัฒนาระบบวารสารวิชาการไทยรับใช้สังคมไทย
6. การพัฒนาระบบตำแหน่งวิชาการสายรับใช้สังคมไทย
7. ระบบ Empowerment Evaluation

         ก่อนที่ผมจะลืม   ผมขอระบุเรื่องของ 4  ระบบการจัดการ   ไว้เสียก่อนว่า   ต้องตั้งองค์กรอิสระที่เป็นองค์การมหาชนกำหนดให้มีอายุ 10 ปี   ขึ้นมารองรับ   เพื่อหลีกเลี่ยง "จุดตาย" ของโครงการ   คือการตกเข้าไปอยู่ใต้ bureaucracy ของราชการ   และตกอยู่ใต้ politics ของข้าราชการ   เพราะว่าเมื่อไรที่โครงการแบบนี้ตกเข้าไปเป็นเครื่องมือไต่เต้าสู่ตำแหน่งของข้าราชการระดับสูง   เป้าหมายจะถูกบิดเบี้ยวไปหมด

ผมจะค่อย ๆ ให้ความเห็นทีละข้อ   พรุ่งนี้จะเริ่มที่ข้อ 1   การเตรียมทำสงคราม

       

เลขาธิการ สกอ. กำลังเล่าแนวความคิด           คณะผู้ยกร่างโครงการ

                            

                                   รศ. ดร. วันชัย ดีเอกนามกูล

วิจารณ์  พานิช
  16 ต.ค.48

หมายเลขบันทึก: 5479เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2005 09:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ฟังจากที่อาจารย์เล่าแล้ว รู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่มากเหลือเกิน
สนใจอยากฟังการวิเคราะห์ของอาจารย์ครับ

ผมขออนุญาติเล่า มุมมองความรู้สึกจากการอ่านรายละเอียดดังนี้

- คำว่า Mega project ผมฟังแล้วเสียวๆ ยังไงไม่ทราบครับ
อะไรที่ใหญ่ๆ  คิดเร็วๆ ทำเร็วๆ แล้ว  จะมีความเสี่ยงสูงมาก
หากไม่สำเร็จขึ้นมา จะน่าเสียดายอย่างยิ่ง (จึงน่าจะช่วยคิด
ส่งเสริมให้สำเร็จให้จงได้)

- งานวิจัยในเรื่อง blog และ social software อื่นๆ ถูกมองข้าม
ไปค่อนข้างมาก อาจจะพอแทรกได้ในเรื่องเทคโนโลยีดิจิตัล
และซอฟต์แวร์ กับเรื่องนวัตกรรมการศึกษาและการจัดการความรู้
ทั้งที่ความจริงแล้ว social software สามารถใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุน
การดำเนินงานของเครือข่ายได้ทุกๆ เครือข่าย  ไม่น่ามองเล็กเพียง
แค่เป็นเพียงซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งเท่านั้น  แต่มองเป็นการสร้าง
Collective intelligence ของนักวิจัยทั้งประเทศให้ได้

ในการประชุมสภา มม. วันที่ ๑๙ ตค. มีการพูดถึงเรื่องนี้    เป็นห่วงกันว่าจะเป็นโครงการ "เกลี่ยดิน" คือทำให้คุณภาพลดลงมาเท่าๆ กันหมด    ผมเชื่อว่าท่านเลขาฯ ภาวิช คงจะไม่เอาชื่อเสียงของตนมากลบลงหลุมยักษ์ด้านคุณภาพอุดมศึกษานี้    แต่ก็เอามาเล่าเพื่อให้เห็นว่ามีคนในมหาวิทยาลัยที่คุณภาพสูงอยู่แล้ว ไม่สบายใจ

วิจารณ์ พานิช

พิจารณาจากการรับทุน คปก. แล้ว     ในประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยที่มีขีดความสามารถอยู่ในกลุ่ม มหาวิทยาลัยวิจัย อยู่ ๙ - ๑๐ แห่ง     มีความเสี่ยงสูงมากในปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยเหล่านี้จะถูกเกลี่ยลงหลุม     ทำให้มหาวิทยาลัยไทยอ่อนแอเท่าๆ กันหมดเมื่อมองจากมุมวิจัย    มหาวิทยาลัยกลุ่มนี้น่าจะรวมตัวกันเพื่อคิดภาพใหญ่ของการทำหน้าที่มหาวิทยาลัยวิจัยให้แก่ประเทศ    และเสนอต่อ public ว่า มีอะไรบ้างที่จะช่วย facilitate การทำหน้าที่นั้น

วิจารณ์ พานิช

๕ พย. ๔๘

โดยหลักการทั้งหมด ถือว่าเป็นแนวความคิดที่ดีครับ แต่พบว่าจากการที่เขียนโครงการกันอย่างฉุกละหุกดังที่กล่าวไว้ข้างต้น พบว่าขณะนี้มีปัญหามากมายเกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าว เนื่องจากคณะผู้ร่างไม่ใช่นักการศึกษาที่เชี่ยวชาญเพียงพอ เป็นเพียงนักวิจัยที่เชี่ยวชาญในสาขาตนเอง

ปัญหาที่พบในขณะนี้ชัดเจนก็คือ ทุนศึกษาต่อต่างประเทศ เนื่องด้วยเงินงบประมาณในส่วนนี้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มการสอบทุนกลยุทธ์เพียงอย่างเดียว ซึ่งจำกัดสาขาในการสอบแต่ละปี... ปัญหาที่จะตามมาชัดเจนก็คือ การกระจุกตัวเป็นรุ่นๆของนักวิจัยในสาขานั้น เช่นให้ทุนสาขาคณิตศาสตร์ทั้งหมด(แม้จะแยกสาขาย่อยออกไปก็ตาม)ในปี 2548 อีกประมาณห้าปีจะไม่มีการให้ทุนของคณิตศาสตร์อีกแน่นอน เพราะได้ให้ไปแล้วในปี 2548  รวมถึงความไม่สำเร็จในการส่งนักเรียนไปศึกษายังมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ซึ่งแม้จะมีการตรวจสอบ Professor จริง แต่ก็ปรากฎว่านักเรียนที่ไปนั้น ไปเพียงเพราะสอบได้ในสาขานั้นและจะต้องไปเรียนในสาขานั้น ให้จบ ก็เท่านั้นเอง โดยขาดความต้องการเรียนรู้ในการเรียนสาขานั้นอย่างแท้จริง...  ด้วยเหตุนี้ปัญหาที่ชัดเจนก็คือ นักเรียนที่ต้องการจะไปเรียนคณิตศาสตร์ หรือคอมพิวเตอร์หรือในสาขาสังคมศาสตร์ในปี 2549 เป็นต้นไป... ไม่มีทุนไปเรียนต่างประเทศแน่นอน... บางท่านอาจยกค้านด้วยการกล่าวว่ามีทุนของกระทรวงวิทย์ ของ กพ. และอื่นๆ แต่การยกค้านนี้ไม่เป็นผล... เพราะคณะผู้ทำงานน่าจะทราบถึงข้อจำกัดของทุนเหล่านั้น ทั้งด้านจำนวนและคุณสมบัติ...

โดยภาพรวมเหมือนว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการชั้นเลิศ แต่ในทางปฏิบัติ อาจกล่าวได้ว่า ไม่ประสพความสำเร็จเท่าที่ควร... ไม่แน่ใจว่าจะคุ้มกับเงินทุนที่ทุ่มไปทั้งหมดหรือไม่... ทางที่ดีในการจัดสรรหรือพิจารณาครั้งหน้าควรจะหานักการศึกษาในหลากหลายสาขามาทำงานมากกว่าจะจำกัดอยู่ที่เภสัชกรวิจัยเพียงเท่านั้น และควรจะมีระบบการตรวจสอบผลจากการทำงานนี้อย่างรอบคอบด้วย ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท