คัมภีร์อุทรโรค ว่าด้วยมานลม


มานลม เป็น 1 ในจำพวกมานทั้ง 18 ประการในคัมภีร์อุทรโรค

มานลม มี 4 ประการ คือ

มานลมบังเกิดแต่กองอโธคมาวาตา

มานลมบังเกิดแต่กองอุทธังคมาวาตา

มานลมบังเกิดแต่กองกุจฉิสยามาตา และ

มานลมบังเกิดแต่กองโกฐฐาสยาวาตา

 

 

มานลมอันเกิดจากกองอโธคมาวาตา

มานที่เกิดแต่ลมที่ตั้งอยู่ในท้อง ไม่ได้พัดลงไปตามปกติ

มีลักษณะอาการคือ

  • ให้ผะอืดพะอมท้องขึ้นอยู่เสมอ
  • บางทีจุก บางทีแน่นไปทั่วท้อง
  • รับประทานอาหารไม่ได้ ให้อิ่มไปด้วยลม
  • ผายลมไม่สะดวกท้องผูก เป็นพรรดึก
  • ลอยขึ้นมาทับเส้นอัณฑพฤกษ์อยู่
  • ลมจึงพัดกล้าขึ้น
  • ให้ท้องใหญ่ออกและแข็ง

 

มานลมที่เกิดแต่ลมพัดขึ้นเบื้องบน

แพทย์โบราณเรียกว่า"ลมอุธังคมาวาตา"

มีลักษณะอาการคือ

  • เป็นลมที่พัดจากปลายเท้าขึ้นไปเบื้องบน
  • พัดอยู่ในท้อง ไม่ได้พัดขึ้นไปตามปกติ ให้แน่นหน้าอก
  • กินอาหารไม่ได้ เรอก็ไม่ออก แน่นท้องไปหมด
  • อุจจาระก็ผูก ตดก็ไม่ออก ผายลมไม่สะดวก
  • ลมนั้นพัดกล้า พัดเตโชให้กำเริบ
  • ลมกองนี้ตั้งอยู่เหนือสะดือ 2 นิ้วแข็งดุจดังกระดาน
  • ทับอยู่บนเส้นอัณฑพฤกษ์ ระคนด้วยลมอุทรวาต
  • ทำให้ท้องใหญ่ขึ้นๆ อุดมไปด้วยลม และใหญ่กว่าปกติ

 

มานลมบังเกิดแต่กองกุจฉิสยาวาตา 

มีลักษณะอาการคือ

  • เป็นกองลมที่พัดอยู่ในท้อง ระคนเข้ากับลมอุทรวาตก็พลอยกำเริบขึ้น
  • ไม่ได้พัดลงไปสู่ทวาร ทวารจึงไม่ได้เปิด อุจาระก็ไม่เดินเป็นปกติ
  • แต่หากรับประทานยาก็เดินโดยกำลังยา ครั้งคุมเข้าก็ทำให้แน่นอืดเฟ้อ
  • ถ้าได้ถ่ายอกไปก็จะสบายขึ้น แล้วกลับเป็นอีกหลายครั้ง
  • ท้องใหญ่ขึ้นโดยกำลังวาโยกล้า พัดเตโชธาตุให้ดับเสีย
  • กระทำให้ท้องขึ้นอยู่เป็นนิจ หายใจไม่สะดวก เหนื่อยมาก
  • รับประทานมักให้คลื่นเหียนอาเจียน เวลาเช้าท้องค่อยหย่อนลง
  • สบายไปถึงเที่ยง สบายไปจนถึงเที่ยงวัน เวลาบ่ายท้องขึ้นไปถึงย่ำรุ่ง
  • หาความสุขมิได้

 

มานลมบังเกิดแต่กองโกฎฐาสยาวาตา

มีลักษณะอาการคือ

กองลมนี้พัดอยู่ในลำไส้น้อยและลำไส้ใหญ่

เมื่อจะเกิดโทษระคนกันเข้ากับลมอุทรวาตพลอยกำเริบพัดไม่มีกำหนด

ลำไส้ก็พองขึ้นดุจบุคคลเป่าลูกโป่งๆก็พองขึ้นเต็มไปด้วยลม 

กระทำให้ผะอืดผะอมถ่ายอุจจาระไม่ได้

โทษอันนีร้คือลมโกฏฐาสยาวาตามิได้พัดอุจจาระลงสู่คูถทวาร

ทวารก็ไม่เปิด อุจจาระจึงเดินไม่ปกติ

ทำให้จุกแน่นเสียดไปทั้งท้อง สะบัดร้อน สะบัดหนาว

โดยลมนั้นกระทำพิษ

 

สมุนไพรที่รักษาโรคมานลมมีหลายตัว เช่น

โกฐสอ โกฐเชมา ว่านน้ำ รากเตลังดี ลูกผักชี รากมะคำไก่ ส้มกุ้ง ยาดำ การบูร เปล้าน้อย เปล้าใหญ่ เปล้าน้ำเงิน 

ที่มา: ตำราแพทย์แผนไทย  กองประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณะสุข 

ศ . น.พ.สันต์ หัตถีรัตน์  นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย   กล่าวว่า ‘ท้องมาน’ (ascites) คือ  ‘ภาวะ’ ที่มีน้ำขังอยู่ในช่องท้องจำนวนมาก โดยเกิดได้จากสาเหตุมากมาย ที่พบบ่อยคือ  ภาวะที่เกิดจากโรคตับ โดยเฉพาะตับแข็ง, โรคไต, ช่องท้องอักเสบ จากการติดเชื้อ หรือภูมิแพ้, การขาดแอลบูมิน (โปรตีนในไข่ขาว)  และมะเร็งชนิดต่างๆในช่องท้อง เป็นต้น  

ที่มา:http://www.sac.or.th/main/content_detail.php?content_id=215

 

ตำรายารักษาโรคมานที่ปรากฏในหนังสือตำรายาศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) พระนคร   เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ มีดังนี้

“….ยาถ่ายสรรพมานทั้งปวง  เอาผลจันทน์,  ดอกจันทน์,  กระวาน,  กานพลู,  ขิงแห้ง,  ดีปลี,  เลือดแรด,  สารส้ม,  กะทือ,  ไพล,  ขมิ้นอ้อย,  มหาหิงคุ์  สิ่งละส่วน  ยาดำ,  รงทอง  สิ่งละ  ๒  ส่วน  ผสมสลอดสิทธิ  ๔  ส่วน  ทำเป็นจุณบดด้วยน้ำผึ้งให้กินหนัก  ๑  สลึง  ประจุอุทรโรค  คือสรรพมานทั้งปวงหายวิเศษนัก….”   (แผ่นที่ ๑๕) 

ที่มา: ที่มา:http://www.sac.or.th/main/content_detail.php?content_id=215

ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาอ่านค่ะ

ขอบคุณค่ะ

หมายเลขบันทึก: 548293เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2013 20:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2013 21:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณบันทึกที่ดีมีประโยชน์นะคะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท