การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการช่วงชั้น โดยใช้กระบวนการ Active Learning สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้นเรียน


บทความ เรื่อง

การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการช่วงชั้น

โดยใช้กระบวนการ Active Learning

 

สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้นเรียน

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

     การศึกษาเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประชากรของประเทศ หากประชากรมีการศึกษาดี   มีคุณภาพก็จะส่งผลให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองในทุก ๆ ด้าน ดังนั้น การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาประชากรให้มีคุณลักษะที่พึงประสงค์จำเป็นต้องจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ มีกลไกการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานคุณภาพอย่างต่อเนื่อง จนเปิดเผยผลการดำเนินงานต่อสาธารณชน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ปกครอง ชุมชน สังคมได้(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2553 : 11) และต้องจัดการศึกษาให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 49 ซึ่งได้บัญญัติ ไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย        ผู้ยากไร้  ผู้พิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับสิทธิและสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาเท่าเทียมกับบุคคลอื่น(กระทรวงศึกษาธิการ,2550 : 19-20) เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 7 ได้บัญญัติว่า การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคล มีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี และรัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และในมาตรา 22 การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด  กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ และมาตรา 23 บัญญัติว่าการจัดการศึกษาต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา  และมาตรา 30 ให้สถานศึกษาพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพส่งเสริมผู้สอนสามารถพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน(สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ,2542  : 7-29) และกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552 – 2561) ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ”  โดยประเด็นหลักของเป้าหมายปฏิรูปการศึกษามี 3 ประเด็น คือ การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาและการเรียนรู้ของคนไทย เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนในการบริหารและจัดการศึกษา ทั้งนี้ ได้กำหนดกรอบแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเป็นระบบไว้ 4 ประการ คือ การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่     การพัฒนาครูยุคใหม่  การพัฒนาสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ และการพัฒนาการบริหารจัดการใหม่ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2553:15) จากสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542  และนโยบายกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าว ได้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการศึกษาในการพัฒนาศักยภาพของคนที่จะให้เรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้    ตลอดชีวิต  

 

2

โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างเต็มที่ ทั้งในด้านคุณลักษณะ รู้จักคิดวิเคราะห์ รู้จัก          การแก้ปัญหา มีความคิด ริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถเผชิญกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ เป็นการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา มีความรู้ คุณธรรม จริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข (กระทรวงศึกษาธิการ, 2553 : 12) 

     สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  กระทรวงศึกษาธิการ  เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสิบสองปี  จึงจำเป็นต้องดำเนินการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อสนองตอบบทบัญญัติ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และนโยบายการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  มีโรงเรียนในสังกัดจำนวน  32,879  โรงเรียน เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 120 คนลงมา จำนวน13,882 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 43.73 ของจำนวนโรงเรียนทั้งหมด และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี อันเป็นผลมาจากอัตราการเกิดลดลง และความนิยมของผู้ปกครองที่ต้องการส่งบุตรหลานไปโรงเรียนในเมือง  ในจำนวนนี้เป็นโรงเรียนขนาดเล็กมาก     มีนักเรียนตั้งแต่ 60 คนลงมา จำนวน 1,966  แห่ง ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ ส่วนใหญ่ มีปัญหาในด้านคุณภาพค่อนข้างต่ำ และขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ  กล่าวคือ  มีการลงทุนค่อนข้างสูง  เช่น อัตราส่วนครู : นักเรียน ไม่สอดคล้องกับเกณฑ์ตามมาตรฐานที่กำหนดคือ 1 : 25 แต่สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก อัตราครู : นักเรียน เท่ากับ 1 : 8–10 เท่านั้น (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2555: 4-6 )  ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงได้จัดทำโครงการยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กขึ้น โดยมุ่งหวังที่จะแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพของนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กดังกล่าว โดยได้นำเสนอรูปแบบการบริหารและการจัดการโรงเรียนขนาดเล็กไว้  ในหลายรูปแบบ เช่น  การใช้โรงเรียนตั้งศูนย์ โรงเรียนเฉพาะช่วงชั้น  โรงเรียนเรียนรวมกับโรงเรียนหลัก  โรงเรียนสอนตามปกติ  และหน่วยคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ (Mobile Teacher)รวมทั้งการนำเสนอแนวทางสร้างความเข้มแข็งและยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก   ไว้อีก คือ การประสานเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม   การใช้ Office Station  การให้ค่าตอบแทนครูผู้สอนที่ไปช่วยสอนโรงเรียนขนาดเล็ก  การจัดทำเกณฑ์อัตรากำลังครูโรงเรียนขนาดเล็ก และการรวม/เลิกโรงเรียนขนาดเล็ก(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2555 : 7-15)

     อนึ่ง  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1 มีโรงเรียนในสังกัด    ของรัฐจำนวน 128 โรงเรียน  ในจำนวนนี้มีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่  120  คนลงมา ในปีงบประมาณ  2556  มีจำนวน 78 โรงเรียน  คิดเป็นร้อยละ 60.94 ของโรงเรียนทั้งหมด   มีจำนวนนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก รวมทั้งสิ้น 3,196  คน ครู  327  คน (ข้อมูล ณ วันที่ 10  มิถุนายน  2556) สัดส่วนจำนวนโรงเรียน ต่อนักเรียนคิดเป็น 1 : 41  จำนวนนักเรียนต่อชั้นเรียนคิดเป็น 1 :6   และสัดส่วนจำนวนครู

 

3

ต่อนักเรียนคิดเป็น 1 : 9  จำนวนโรงเรียนเหล่านี้เมื่อพิจารณาโดยใช้นักเรียนเป็นเกณฑ์ตามเกณฑ์ ก.ค. พบว่า  มีจำนวนโรงเรียนที่มีครูพอดีเกณฑ์  จำนวน 40 โรงเรียน  ครูเกินเกณฑ์จำนวน  30  โรงเรียน  และครูต่ำกว่าเกณฑ์ จำนวน 9 โรงเรียน  แต่เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริงจะต้องมีครูสอนห้องเรียนละ1 คนแต่ละโรงเรียนจึงควรมีครู  7- 8  คน   จะพบว่ามีครูไม่ครบชั้นถึง  30  โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 38.46 (สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1, 2556 : 4-6)  โรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ประสบปัญหาสำคัญ ๆ  คือ ปัจจัยที่เป็นตัวป้อนมีไม่เพียงพอและไม่มีคุณภาพ รวมทั้งมีปัญหาในด้านประสิทธิภาพในกระบวนการบริหารจัดการและกระบวนการจัดการเรียนรู้ ส่งผลให้ผู้เรียน มีระดับคุณภาพค่อนข้างต่ำ  เมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่  ประกอบกับได้พิจารณาจากข้อมูลการนิเทศการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก พบว่า โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่ มีปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วน ที่ควรได้รับการแก้ไข (สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1, 2556:15-20) เรียงลำดับความสำคัญ ดังนี้

          1. ปัญหาด้านคุณภาพผู้เรียน  จากผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (National Educational Test=O-NET) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่  6 มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละต่ำโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่

          2. ปัญหาด้านกระบวนการบริหารจัดการและการจัดการศึกษา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริหารงานวิชาการ พบว่า  ปัญหาสำคัญและควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน ได้แก่ การนำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานไปใช้  การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ การจัดกระบวนการเรียนรู้และการบูรณาการ  การวัดผลและประเมินผล   การใช้เทคโนโลยี และสื่อการเรียนรู้  และห้องสมุดโรงเรียน

          3. ปัญหาด้านงบประมาณเพื่อการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน พบว่าปัญหาส่วนใหญ่ เป็นเรื่องงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนที่ไม่เพียงพอ การขาดแคลน วัสดุครุภัณฑ์ เพื่อใช้สนับสนุน          การสนับสนุนการเรียนการสอน

          4. ปัญหาด้านปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา ได้แก่การขาดแคลน ห้องเรียน อาคารเรียน  ขาดเครื่องมือการสื่อสาร เช่น โทรศัพท์ เครือข่ายอินเตอร์เน็ต

          5. ปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังครู ทำให้มีครูไม่ครบชั้น เนื่องจากเกณฑ์การจัดสรรอัตรากำลังครูนั้นใช้จำนวนนักเรียนเป็นเกณฑ์ในการจัดสรร  และอัตราครูที่มีก็สอนไม่ตรงวิชาเอก

     อีกทั้ง  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1  ได้ตระหนักในปัญหาและเห็นความสำคัญของการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็ก โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีนักเรียน 60 คนลงมา และมีครูไม่ครบชั้นเรียน ดังกล่าว จึงมีความสนใจที่จะศึกษากระบวนการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ รวมทั้งสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ในบริบทสภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก ที่อยู่บนพื้นฐานของความขาดแคลนและเอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างมีคุณภาพ  ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ส่วนใหญ่ใช้วิธีการสอนสลับห้องเรียน

 

4

โดยใช้ครูผู้สอนคนเดียว หรือใช้วิธีการนำนักเรียนที่อยู่ในคนละระดับชั้นมาเรียนรวมกัน โดยไม่มีหลักการและมาตรฐานที่ชัดเจน  จึงส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนซึ่งส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ  จึงเห็นว่าควรจะมีรูปแบบการจัดการเรียนรู้ในการดำเนินการที่จัดเจน และสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551  ทั้งนี้ครูผู้สอนขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ    อีกทั้งโรงเรียนขาดสื่อ อุปกรณ์  กิจกรรม วิธีการ ที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ด้วย(สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1, 2555:12) จึงเป็นเหตุผลประการสำคัญ ที่ผู้วิจัย ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาการเรียนรู้ในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้นตามแนวทางการจัดการเรียน  การสอนแบบรวมชั้นเรียน ที่สอดคล้องกับนโยบายการยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2553 : 13)

     การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการช่วงชั้น  เป็นวิธีการหนึ่งในการจัดการเรียนรู้เพื่อยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก มีลักษณะที่สำคัญ  ประการ คือ 1) เป็นการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  2) เป็นการแก้ปัญหาครูไม่ครบชั้นโดยจัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ หนึ่งๆ ให้นักเรียน ต่างระดับชั้น ในช่วงชั้นเดียวกัน สามารถเรียนร่วมกันได้ในห้องเรียนเดียวกัน ภายใต้การดูแลของครูผู้สอน โดยเน้นการจัดการเรียนรู้ ตามระดับพัฒนาการของผู้เรียน เป็นช่วงชั้น ตามโครงสร้างของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 คือ ช่วงชั้นที่ 1 ประกอบด้วยนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3    ช่วงชั้นที่ 2 ประกอบด้วยนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 เพื่อให้นักเรียนในแต่ละช่วงชั้นที่มีวัยใกล้เคียงกันสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ ประกอบกับการจัดการเรียนรู้สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กจะต้องมีกระบวนการจัด  การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียน ให้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา ร่วมสร้างองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาเรียนรู้ ดังนั้น   การใช้กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Leaning ที่เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความหมายโดยการร่วมมือระหว่างผู้เรียนด้วยกัน เกิดความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างหลากหลายร่วมกันกับเพื่อน ๆ จึงเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สามารถใช้บูรณาการกับการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการช่วงชั้นได้

     จากเหตุผลดังกล่าว  ถึงแม้ว่าจะมีนโยบายและมีวิธีการส่งเสริมพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กอย่างหลากหลายแต่ที่ผ่านมายังไม่ประสบผลสำเร็จและยังไม่บรรลุเป้าหมายตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งก็ยังมีแนวทางอีกหลายแนวทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายในการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กได้ ดังนั้น รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการช่วงชั้นโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ Active Leaning เป็นรูปแบบหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาครูไม่ครบชั้นและยกระดับคุณภาพของผู้เรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก ได้ดังที่กล่าวข้างต้น จึงจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ ตามรูปแบบให้สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และสามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนในบริบทของความขาดแคลนในโรงเรียนขนาดเล็กได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ดังนั้น ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนารูปแบบการบริหารและการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนขนาดเล็ก มีความตระหนักถึงปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็ก จึงได้คิดค้น รูปแบบ เพื่อการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ 

5

ช่วงชั้นโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ Active Leaning  เพื่อเป็นต้นแบบให้ครูผู้สอนได้ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการช่วงชั้น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ครูไม่ครบชั้น รวมทั้งแก้ปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้มีคุณภาพสูงขึ้น ต่อไป

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

          การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

          1.  เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการช่วงชั้นโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ Active Leaning สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้นเรียน

          2. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการช่วงชั้น โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ Active Leaning  สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้นเรียน

          3. เพื่อสำรวจความพึงพอใจของ  นักเรียน ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน และผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการช่วงชั้น โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ Active Leaning  สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้นเรียน

สมมติฐานของการวิจัย

          การวิจัยครั้งนี้ ได้กำหนดสมมติฐานของการวิจัย ไว้ดังต่อไปนี้

          ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนช่วงชั้นที่ 1 และช่วงชั้นที่ 2 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน เมื่อได้รับการสอนตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการช่วงชั้น โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ Active Leaning  สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้นเรียน

ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย

          ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัยในครั้งนี้ คือ

          1. การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการช่วงชั้นโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ Active Leaning  จะเป็นทางเลือกหนึ่งในการจัดการศึกษา สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้นเรียน

          2. ครูผู้สอนในโรงเรียนขนาดเล็กมีคู่มือครูและแผนการจัดการเรียนรู้สำหรับการจัดกิจกรรม

การเรียนการสอน

          3. เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในบริบทของความขาดแคลน ให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ

ขอบเขตของการวิจัย

          1.  ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

                   1.1  ประชากร  ได้แก่ นักเรียน ครูผู้สอน ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ปกครองนักเรียน       ในโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1 ที่มีนักเรียน120 คนลงมา และมีครูไม่ครบชั้นเรียน ประจำปีการศึกษา 2556  จำนวน 10 โรงเรียน

 

6

                   1.2 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่  นักเรียน  ครูผู้สอน  ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ปกครองนักเรียน ในโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต1ที่มีนักเรียน    120 คน ลงมา และมีครูไม่ครบชั้น  ประจำปีการศึกษา  2556 จำนวน 10 โรงเรียน ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง 

                             1.2.1 นักเรียน   ได้แก่ นักเรียนช่วงชั้นที่ 1  จำนวน 172  คน  และนักเรียนช่วงชั้นที่ 2 จำนวน 168  คน รวมจำนวนนักเรียน ทั้งสิ้น  340  คน

                               1.2.2  ครูผู้สอน  ได้แก่ ครูผู้สอนช่วงชั้นที่ 1 จำนวน 10 คน และครูผู้สอน ช่วงชั้นที่ 2 จำนวน 10 คน รวมจำนวนครูผู้สอน ทั้งสิ้น  20  คน

                             1.2.3   ผู้บริหาร ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีครูไม่ครบชั้น 10 โรงเรียน

                             1.2.4    ผู้ปกครองของนักเรียน ได้แก่ผู้ปกครองของนักเรียนที่ดูแลนักเรียน      ช่วงชั้นที่ 1และช่วงชั้นที่ 2  ใน 10 โรงเรียน จำนวน 310 คน

          2.  เนื้อหาที่ศึกษา ได้แก่

                   การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการช่วงชั้น ที่ 1 และช่วงชั้นที่ 2 อิงมาตรฐานช่วงชั้นตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

          3.  ตัวแปร ที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า  ประกอบด้วย

                             3.1 ตัวแปรต้น (Independent  Variables) ได้แก่  รูปแบบการจัดการเรียนรู้   แบบบูรณาการช่วงชั้นโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ Active Leaning ช่วงชั้นที่ 1 และช่วงชั้นที่ 2

                             3.2 ตัวแปรตาม (Dependent  Variables)  ได้แก่  ผลของการใช้รูปแบบ          การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการช่วงชั้น โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ Active Leaning ช่วงชั้นที่ 1 และช่วงชั้นที่ 2  คือ

                                   1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ในโรงเรียนที่ใช้รูปแบบ การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการช่วงชั้นโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ Active Leaning  ช่วงชั้นที่ 1 และช่วงชั้นที่ 2

                                   2) ความพึงพอใจของนักเรียน  ครูผู้สอน ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ปกครองนักเรียน ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการช่วงชั้น โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ Active Leaning  สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก

          4.   ระยะเวลาในการศึกษาค้นคว้า

                             4.1  พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการช่วงชั้น โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ Active Leaning  ช่วงชั้นที่ 1 และช่วงชั้นที่ 2  ปีการศึกษา  2556

                             4.2  ทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการช่วงชั้น โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ Active Leaning  ช่วงชั้นที่ 1 และช่วงชั้นที่ 2  ปีการศึกษา  2556

 

7

ข้อตกลงเบื้องต้น

              1.  ครูผู้สอนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจตามรายละเอียดในคู่มือ การพัฒนารูปแบบการจัด    การเรียนรู้แบบบูรณาการช่วงชั้นโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ Active Leaning  ช่วงชั้นที่ 1 และช่วงชั้นที่

              2.  ครูผู้สอนจะต้องมีสื่อวัสดุสำหรับให้นักเรียนร่วมกิจกรรมเป็นรายบุคคล

              3.  ครูผู้สอนตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการช่วงชั้น โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ Active Leaning  ช่วงชั้นที่ 1 และช่วงชั้นที่

นิยามศัพท์เฉพาะ

              1.  การวิจัยและพัฒนา  หมายถึง  กระบวนการทางการวิจัยที่ใช้ในการสร้าง หรือคิดค้นแนวทาง หรือสิ่งประดิษฐ์ ไปใช้ในการพัฒนาหรือแก้ปัญหาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่คาดหมายว่าจะดีขึ้น

               2.  รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการช่วงชั้น  หมายถึง  แนวทางในการจัดกิจกรรม      การเรียนการสอน สำหรับครู เพื่อแก้ปัญหาการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้นเรียน รวมทั้งพัฒนาผลสัมฤทธิ์ ช่วงชั้นที่ 1 และช่วงชั้นที่ 2 ให้สูงขึ้น

              3. โรงเรียนขนาดเล็ก  หมายถึง  โรงเรียนที่มีนักเรียนตั้งแต่ 1 - 120 คน  สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

              4. โรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้นเรียน  หมายถึง โรงเรียนที่มีนักเรียนตั้งแต่ 1 - 120 คน และเปิดสอน ตั้งแต่ ระดับก่อนประถมศึกษา จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แต่มีครู 3 - 6 คน

              5. การจัดการเรียนรู้  หมายถึง  การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ

              6. บูรณาการช่วงชั้น  หมายถึง การนำมาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัด  เนื้อหาสาระ ตาม หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551  ในแต่ละชั้นมาบูรณาการเป็นช่วงชั้น

              7. กระบวนการเรียนรู้ Active Leaning หมายถึง กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความหมายโดยการร่วมมือระหว่างผู้เรียนด้วยกัน เกิดความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างหลากหลายร่วมกันกับเพื่อน ๆ 

              8.  แผนการจัดการเรียนรู้  หมายถึง เอกสารที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรม    การเรียนการสอน ช่วงชั้นที่ 1

หมายเลขบันทึก: 548292เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2013 20:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2013 20:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท