สถานการณ์ที่ 7 : รูปธรรมของการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิหลังคลื่นสึนามิ


หลังเหตุการณ์คลื่นสึนามิ พบว่าการให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิ

โดยในภาคประชาชนเริ่มมีโครงการสำรวจบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลแบบปูพรม ในปี ๒๕๔๘ ภายใต้การทำงานร่วมกันของมูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิเด็ก ซึ่งได้ประสานงานร่วมกับฝ่ายต่างๆ ที่ทำงานอยู่กับประชาชนในพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว เช่น สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำงานวิจัยกับชาวมอแกนอย่างต่อเนื่องกว่า ๑๐ ปี หรือโครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ ซึ่งทำงานสร้างเครือข่ายคนเชื้อสายไทยหรือคนไทยพลัดถิ่น  อยู่ที่จังหวัดระนองและพังงา  รวมทั้งการประสานงานกับเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล เช่นที่ตำบลคึกคัก ในการสืบค้นคนไทยที่ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร ซึ่งแทรกตัวอยู่อย่างกระจัดกระจายในชุมชนต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยคนในชุมชนด้วยกันสืบค้น ปัจจุบันภาคประชาชนจึงมีฐานข้อมูลของบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ที่พร้อมประสานงานแก้ไขปัญหาต่อไปได้

 

ส่วนรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาของภาคราชการ เริ่มจากการดำเนินโครงการนำร่องสำรวจชาวมอแกนที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียน ที่อ่าวบอนใหญ่ หมู่เกาะสุรินทร์ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงาเมื่อวันที่ ๑๕-๑๖ มีนาคม ๒๕๔๘ โดยกรมการปกครอง ส่วนกลาง ปฏิบัติการร่วมกับส่วนท้องถิ่นคืออำเภอคุระบุรี ภายใต้การรับรู้และลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่จากสภาความมั่นคงแห่งชาติ

 

ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีคำสั่งที่ ๖๓๓/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๘ แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยธรณีพิบัติ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน และ เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๙ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรแสดงตน รวมทั้งโครงการเร่งรัดให้สถานะตามกฎหมายแก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยติดต่อกันเป็นเวลานานฯ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ  อันนำมาซึ่งปฏิบัติการสำรวจคนไทยพลัดถิ่น และมอแกนในพื้นที่จังหวัดระนอง เมื่อวันที่ ๑-๕ มีนาคม ๒๕๔๙

 

สภาพปัญหาอันมีผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว

 

จากการศึกษาข้อมูลและสัมภาษณ์ฝ่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง พบว่าในการสำรวจข้อมูลอย่างเป็นทางการ ๒ ครั้งที่ผ่านมาของฝ่ายราชการ ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อฐานข้อมูลภาคประชาชนหรือการเข้าร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการสำรวจ อันนำไปสู่ปัญหาความผิดพลาดต่างๆ ของข้อมูลดังที่มีการร้องเรียนกัน  ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐส่วนท้องถิ่นบางคนได้ให้ความเห็นในทางเดียวกันว่า การสำรวจตามการสั่งการเร่งด่วนในช่วงเวลาสั้นๆ เช่นนี้ เป็นปัญหาในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และยังอาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้

 ดังนั้น หากเป้าหมายทั้งของภาครัฐและภาคประชาชนรวมถึงทุกฝ่ายเป็นสิ่งเดียวกัน คือต้องการแก้ไขปัญหาให้ผู้ประสบปัญหาด้านสถานะและสิทธิ  การได้มีการประสานความร่วมมือกันอย่างจริงจังและเป็นระบบ เช่น การเชื่อมโยงฐานข้อมูลภาคประชาชนที่ได้สำรวจไว้แล้ว กับฐานข้อมูลของภาครัฐที่กำลังดำเนินการ หรือการให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการพิสูจน์ทราบตัวบุคคลหรือกลั่นกรองคน นอกเหนือจากเดิมที่เคยใช้เฉพาะกำนันผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น ย่อมก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น



 
หมายเลขบันทึก: 54821เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2006 16:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท