สถานการณ์ที่ 2 : คนไทยแท้ๆ แต่ไร้สัญชาติมีอยู่เป็นจำนวนมากตามชุมชนภาคใต้


มีประชาชนที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนจำนวนมากในพื้นที่สึนามิ ในจำนวนนั้นไม่ได้มีเฉพาะคนต่างด้าว แต่มีคนสัญชาติไทยที่ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร และอยู่มาก่อนเหตุการณ์คลื่นสึนามิ

จากการสำรวจสถานการณ์ในพื้นที่สึนามิ พบว่า บุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลที่เป็นคนสัญชาติไทย มักใช้ชีวิตตามปกติอยู่ในชุมชนเช่นคนไทยทั่วๆ ไป หลายกรณีไม่ค่อยเดือดร้อนเรื่องเอกสารหรือบัตรประชาชน จึงไม่ค่อยได้ติดตามเรื่องจนเวลาผ่านไปนาน หรือจนเมื่อมีความเดือดร้อน โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพอนามัย  เรื่องเอกสารของบุตร  และเรื่องความช่วยเหลือกรณีประสบภัยคลื่นสึนามิ จึงได้ปรากฏให้เห็นปัญหาจำนวนมากที่ซ่อนตัวอยู่ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิแล้ว

 

     จากฐานข้อมูลขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินการสำรวจบุคคลผู้มีปัญหาสถานะบุคคลในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๘ ถึงปัจจุบัน  พบกรณีคนไทยตกหล่นจากทะเบียนราษฎรหรือไม่เคยได้รับการจดทะเบียนการเกิดเช่นนี้จำนวนมากในพื้นที่ ๖ จังหวัด เฉพาะในพื้นที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีถึง ๕๑ คน และในพื้นที่อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา มีถึง ๓๔ คน  พบว่า มีทั้งคนไทยที่มาจากภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และในพื้นที่ภาคใต้เองที่มุ่งมาทำงานที่จังหวัดพังงา ตั้งแต่ช่วงทำเหมืองแร่ และได้ทำมาหากินสร้างครอบครัวเรื่อยมาจนปัจจุบัน

 

ผิดกับกรณีบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลที่เป็นคนต่างด้าว ซึ่งมักอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม หรือเป็นชุมชน รวมทั้งมีองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ให้ความสนใจทำงานช่วยเหลือโดยตรง

 

สภาพปัญหาอันมีผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน ครอบครัว และผู้สูงอายุ

 

การที่คนสัญชาติไทยซึ่งตกหล่นทางทะเบียนราษฎร มักอยู่กระจัดกระจายตามชุมชนต่างๆ โดยไม่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเช่นนี้ ทำให้ไม่ค่อยได้รับความสนใจในการแก้ไขปัญหารวมทั้งไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน หลายกรณีโดยเฉพาะคนชรา หรือคนป่วย ต้องเผชิญชะตากรรมตามลำพัง เช่นกรณีป้าแก้ว เสียงจันทร์ (กรณีศึกษาที่ ๑๑ ) คนชราไร้เอกสารจากจังหวัดลำพูนที่ป่วยเป็นมะเร็ง ซึ่งองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่พบตัวได้ไม่นานก็เสียชีวิตจากโรคร้าย นอกจากนี้ ยังพบคนชราที่ไม่มีสิทธิในสวัสดิการใดๆ จากรัฐ ทั้งที่เป็นคนสัญชาติไทยอีกจำนวนมาก ที่รอคอยการแก้ไขปัญหา

                     โดยปัญหาการไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรุ่นปู่ย่าตายาย จะส่งผลมาถึงรุ่นบิดามารดา และสืบทอดสู่รุ่นลูก เช่นกรณีของน้องเบล (กรณีศึกษาที่ ๑) ที่เกิดจากมารดาและยายซึ่งเป็นคนสัญชาติไทยที่ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร ทำให้ต้องกลายเป็นคนที่ไม่มีตัวตนทางกฎหมาย และไม่มีสิทธิในสวัสดิการใดๆ ของรัฐ เช่นเดียวกับมารดาและยาย


หมายเลขบันทึก: 54808เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2006 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท