สถานการณ์ที่ 1 : ท่ามกลางความหลากหลายทางเชื้อชาติของประชาชนในสึนามิ ในแต่ละคนแต่ละชาติพันธุ์ ยังมีความต่างของการเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยอีกด้วย


ประชาชนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่อยู่ในพื้นที่สึนามิ มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ มีทั้งคนไทยจากภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย คนเชื้อสายไทยจากประเทศพม่า คนมอแกน คนซาไก คนกะเหรี่ยง คนพม่า คนมอญ คนลาว เป็นต้น โดยแต่ละคนแม้มีชาติพันธุ์เดียวกัน แต่มีความเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยแตกต่างกัน
                การอยู่ร่วมกันของประชาชน ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติ อันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของสังคมไทย ได้ปรากฏข้อเท็จจริงในพื้นที่ ๖ จังหวัดที่ประสบภัยคลื่นสึนามิด้วยเช่นเดียวกัน และพบว่าแม้กลุ่มคนที่มีเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์เดียวกัน ก็ยังมีความเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยในระดับที่ต่างกันได้

จากงานวิจัย สามารถแบ่งประชาชนที่มีปัญหาสถานะบุคคลในพื้นที่ซึ่งคัดเลือกเป็นกรณีศึกษา  ออกตามสถานะการเกาะเกี่ยวกับประเทศไทย ได้เป็น ๓ กลุ่ม ประกอบด้วย

๑.) กลุ่มคนดั้งเดิมที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยอย่างแท้จริง อันนำไปสู่การได้สัญชาติไทยโดยผลของกฎหมาย ได้แก่

        ๑.๑. คนไทย  เช่นกรณีของเด็กหญิงเบลล์ (กรณีศึกษาที่ ๑) , นางแก้ว เสียงจันทร์ (กรณีศึกษาที่ ๑๑)  และนางสาวพร (กรณีศึกษาที่ ๑๕)  ซึ่งเป็นคนไทยที่ไม่เคยได้รับการจดทะเบียนการเกิด และไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรไทย ทั้งที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายญาติพี่น้องล้วนมีสัญชาติไทยและมีบัตรประจำตัวประชาชนไทย

        ๑.๒. กลุ่มชาติพันธุ์มอแกน ที่ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยก่อน พ.ศ.๒๔๕๖ โดยชาวมอแกนซึ่งถือเป็นคนดั้งเดิมกลุ่มนี้  ดังเช่นชาวมอแกนส่วนใหญ่ที่หมู่เกาะสุรินทร์ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา   ซึ่งยังไม่เคยได้รับการสำรวจและจัดทำบัตรประจำตัวใดๆ    ก่อนเหตุการณ์คลื่นสึนามิ  ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร  รวมทั้งจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้คนที่อายุครบกำหนด แล้วจำนวนทั้งสิ้น ๙๓ คน

        ๑.๓. คนเชื้อสายไทย หรือคนไทยพลัดถิ่น  เช่นเด็กชายสมปอง สินสุวรรณ (กรณีศึกษาที่ ๑๖) ซึ่งแม้เกิดที่ประเทศพม่า แต่เกิดจากมารดาที่เป็นคนเชื้อสายไทยและมีสัญชาติไทย เป็นต้น

๒) กลุ่มคนต่างด้าวที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยอย่างแท้จริง (genuine link)

        โดยยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘ ได้กำหนดเกณฑ์การอาศัยอยู่ในประเทศไทยติดต่อกันเป็นระยะเวลานานไม่ต่ำกว่า ๑๐ ปี นับจากมีคณะรัฐมนตรีเห็นชอบยุทธศาสตร์ฯ เป็นเส้นแบ่งของการมีจุดเกาะเกี่ยวตามหลักดินแดนของคนต่างด้าว ดังเช่นกรณีของนางส้มแป้น กล้าทะเล (กรณีศึกษาที่ ๒๐) หญิงมอแกนที่เดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยกว่า ๒๐ ปีแล้ว รวมทั้งนายวิรัตน์ สวัสดิ์สายวารี (กรณีศึกษาที่ ๑๙) คนไทยพลัดถิ่น ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ ๓๗ ปีก่อน

        นอกจากนี้ การมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยอย่างแท้จริง โดยหลักบุคคลยังเกิดจากการมีบุพการีหรือบรรพบุรุษที่มีสัญชาติไทย ดังเช่นกรณีคนไทยพลัดถิ่นหลายกรณี เช่น นายกาหรีม เจริญฤทธิ์ (กรณีศึกษาที่ ๕) หรือมีบุพการีที่เกิดในประเทศไทย เช่น เด็กชายกรการ เจริญฤทธิ์ (กรณีศึกษาที่ ๓) หรือกรณีที่มีผู้สืบสันดานที่มีสัญชาติไทย เช่น นางสาวแสงเดือน ทานะสมบัติ (กรณีศึกษาที่ ๑๘) บุคคลสัญชาติลาวที่มีสามีและบุตรเป็นคนสัญชาติไทย รวมทั้งกรณีคนไร้รากเหง้าที่เกิดในประเทศไทย เช่นเด็กหญิงโบ (กรณีศึกษาที่ ๒๒) หรือนางสาวไข่มุก (กรณีศึกษาที่ ๒๓) เป็นต้น

๓) กลุ่มคนต่างด้าวที่ไม่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยอย่างแท้จริง

        ได้แก่ กรณีของเด็กชายบิ๊ก (กรณีศึกษาที่ ๔) หรือเด็กหญิงซิน (กรณีศึกษาที่ ๑๔)  ซึ่งเป็นลูกที่เกิดในประเทศไทยของแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า และนายมูซา (กรณีศึกษาที่ ๒๑)  คนต่างด้าวซึ่งมีครอบครัวที่อาศัยอยู่ชั่วคราวในประเทศไทย เป็นต้น

  สภาพปัญหาอันมีผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว

แม้ปัจจุบันภาคราชการจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลตามแนวทางของยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘ ที่ยึดหลักการกำหนดสถานะบุคคลตามจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยของประชาชน ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติก็ยังคงมีการพิจารณาดำเนินการตามกลุ่มชาติพันธุ์ เช่นที่กำลังเร่งดำเนินการให้สถานะแก่กลุ่มคนเชื้อสายไทย หรือคนไทยพลัดถิ่น และกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้ หากไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอย่างรอบคอบ อาจส่งผลให้คนที่มีสัญชาติไทยบางคน ต้องได้รับสถานะคนต่างด้าวหรือได้รับสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ เช่นกรณีบิดาของนายกาหรีม เจริญฤทธิ์ (กรณีศึกษาที่ ๕) หรือกรณีคนไทยพลัดถิ่นในสถานการณ์เดียวกันที่เข้าไปอาศัยที่จังหวัดมะริด ทวาย หรือตะนาวศรี ภายหลังจากที่ตกเป็นดินแดนของประเทศพม่า ซึ่งตามกฎหมายถือว่าพวกเขายังไม่เคยเสียสัญชาติไทยไป จึงไม่จำเป็นต้องแปลงสัญชาติ  เป็นต้น

ดังนั้น ในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล จึงไม่ควรมีการตีตราโดยแบ่งแยกกลุ่มต่างๆ      แต่ทุกฝ่ายควรตระหนักว่า ในท่ามกลางประชาชนแต่ละชาติพันธุ์ที่มีอยู่หลากหลายนี้  แม้ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันก็อาจมีสถานะบุคคลตามกฎหมายที่แตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับความเกาะเกี่ยวกับประเทศไทย ที่ต้องได้รับการพิสูจน์ด้วยพยานหลักฐานต่างๆ  เช่นกรณีของคนไทยพลัดถิ่น ที่แม้เกิดและเติบโตที่ประเทศพม่า แต่หากมีพยานหลักฐานเชื่อมโยงเครือญาติที่เป็นบรรพบุรุษที่มีสัญชาติไทยได้ ก็ถือได้ว่ามีความเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยอย่างแท้จริง



หมายเลขบันทึก: 54804เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2006 15:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 19:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท