วัฎจักรการศึกษา..ปัญหาที่รู้แต่ไม่แก้


ล่วงเลยมาถึงวันที่ ๕ ของเดือนกันยายน กว่าจะได้เขียนบันทึกแรก เพราะมัวแต่ยุ่งอยู่กับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนครูกับกิจกรรมฝึกซ้อมนักเรียนนำเสนอโครงงานเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทั้งสองอย่างก็ผ่านไปด้วยดี เหลือบไปเห็นข้อมูลผลการจัดการศึกษาของไทยที่ติดบ๊วยอาเซียน นึกในใจว่า "อีกแล้วหรือ" แล้วทำไมตกต่ำได้ถึงขนาดนี้ น่าจะมีสาเหตุที่สำคัญ ที่ลองไล่เรียงดูตั้งแต่บนสุด จนถึงระดับรากหญ้า ก็พบทันที

ผมเคยเป็นศึกษานิเทศก์ และเคยเป็นคณะทำงานของ สปช.(เดิม) ซึ่งปัจจุบันเรียก สพฐ. ก็พอจะมองเห็นอยู่ ถึง "ระบบ"การทำงานการศึกษาของนักการศึกษาไทย เรื่องนี้ผมไม่เน้นที่จะโทษใคร แต่อยากเห็น การเปลี่ยนแปลง และอยากแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่านทุกท่าน ที่หลากหลายอาชีพ ที่ท่านรับฟังแล้ว คิดอย่างไร เห็นแย้งได้ครับ เพราะผมเองก็ไม่ใช่นักวิเคราะห์วิจัยอะไร แต่มีประสบการณ์ มองเห็นภาพซ้ำๆจนชาชิน ผมจะพูดถึงกระบวนการทำงาน และตบท้ายด้วยวิธีแก้ไข(ตอนที่ ๒) และเชื่อมั่นว่าถ้าทำได้อย่างที่ผมพูด..รัฐจะประหยัดงบประมาณ..และคุณภาพการศึกษาจะเกิดขึ้นภายในเวลา ๒ ปี

เรื่องเป็นอย่างนี้ครับ..กระทรวงศึกษาธิการ ได้งบประมาณประจำปี(มากที่สุด) แบ่งสันปันส่วนให้ สพฐ.(มากที่สุดอีก)ที่เป็นส่วนราชการเทียบเท่า"กรม" ในสพฐ.มีหลายฝ่ายหลายสำนัก ตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับ "ครู" มากที่สุดคือ นักวิชาการและศึกษานิเทศก์     ๒ ตำแหน่งดังกล่าว จะทำงานอย่างไม่มีความสุขนัก ถ้าไม่มีงาน/โครงการสนองนาย ส่วนหนึ่งเป็นงานนโยบาย/ อีกส่วนหนึ่งเป็นงานสนองตัวเอง เพื่อเลื่อนซีเลื่อนระดับ จาก ซี ๖ เป็น ซี ๗ จาก ๗ เป็น ๘ และ ๙ ตามลำดับ

แผนงาน/โครงการ ที่นักวิชาการคิดและทำ เพื่อใช้งบประมาณ รวมกันนับร้อยล้านในแต่ละปี มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้านการศึกษาของโรงเรียน(ครูและนักเรียน) ข้อสังเกตตรงนี้ ทำโครงการกันทุกปี  ซ้ำแล้วซ้ำเล่า งบประมาณมิได้ลดลงเลย อ้างว่าพบปัญหามากขึ้นด้วยซ้ำ ที่สำคัญก็คือแทบจะทุกโครงการจะต้องมี "การประชุมอบรม/สัมมนา" ตามโรงแรมหรู และผู้ที่เข้าประชุมโดยมากจะเป็น ศึกษานิเทศก์

หน้าที่หลักของศึกษานิเทศก์ คือนิเทศ กำกับติดตามการเรียนการสอนของโรงเรียน

แต่วัฒนธรรมการทำงานในปัจจุบันกลับไม่เป็นเช่นนั้น ศึกษานิเทศก์จะเวียนวนอยู่ตามห้องประชุมโรงแรม เดินพาเหรดเข้าอบรมปีละหลายครั้ง /คน บางคนรับโครงการสพฐ.มาทำที่เขต ยังไม่ทันได้ทำ ก็ต้องไปอบรมเรื่องใหม่อีกแล้ว ไม่ไปก็ไม่ได้จะผิดระเบียบแบบแผนของทางราชการ

หนักไปกว่านั้น...เขตพื้นที่..ก็ได้รับงบประมาณก้อนใหญ่มาจากสพฐ. ก็ดำเนินการจัดสรรโดยดูที่แผนงาน/โครงการ ของ ๔ ฝ่าย คือ ๑ ฝ่ายนิเทศการศึกษา ๒.ฝ่ายส่งเสริมการศึกษา ๓.ฝ่ายบุคคล ๔.ฝ่ายนโยบายและแผน

ฝ่ายนิเทศการศึกษา มีโครงการมากกว่าเพื่อน เนื่องจากมีโครงการรองรับจากสพฐ.(บางทีสพฐ.ให้งบมาทำด้วย) และโครงการวิชาการที่คิดขึ้นเองเพื่อใช้งบประมาณ เพื่อพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนภายในเขต  โครงการที่ว่ามาทั้งหมด ร้อยละ ๙๐ ต้องจัดประชุมอบรมสัมมนาครูแทบทั้งสิ้น นำครูออกจากห้องเรียน ปีละหลายครั้ง บางโรงเรียนที่ครูน้อย ต้องปิดเรียนไปเลยก็มี เป็นเช่นนี้มาหลายปีแล้วครับ ไม่เคยลดน้อยถอยลง ตั้งแต่เห่ออาเซียนกัน

นอกจากฝ่ายนิเทศฯของเขตพื้นที่ ต้องใช้ครู ในการจัดอบรมแล้ว ทุกฝ่ายบนเขต ก็ต้องทำโครงการเหมือนกัน และเรียกครูผู้บริหารไปอบรมสัมมนาทุกโครงการ รวมแล้วปีละหลายครั้ง ใช้งบประมาณมากมายก่ายกอง โรงเรียนก็แทบจะไม่มีเวลาได้พัฒนาคุณภาพกันอย่างจริงจัง ต้องหมุนเวียนเปลี่ยนครูไปที่เขตฯ นโยบายคืนครูสู่ห้องเรียน จึงเป็นเพียงคำพูดลมๆแล้งๆ

คำถามก็คือ..ทำไมชอบอบรม..(ผมผิดอะไร) เรื่องอบรมก็มักจะไม่ใช่เรื่องใหม่..เหมือนจัดใช้งบให้หมดๆไป ห่างไกลเรื่องการอ่านออกเขียนได้คำนวณเป็นของเด็กอย่างลิบลับ

ผมบอกแล้ว..ว่าผมไม่ได้โทษใคร ..ถ้าจะโทษ ก็ต้องโทษ การเมือง ระบบ และวิธีคิด ที่ไม่เกาะติด "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ทั้งที่เป็นถึง ศธ.,สพฐ. แท้ๆ

ท่านผู้อ่านครับ ท่านคิดว่า ผมควรนำบันทึกนี้ ให้รมต.ดูไหมครับ หรือจะรอให้ผมเขียนบันทึก"วิธีแก้ไขก่อน" ผมใช่ว่าจะอยากดังหรอกครับ แต่สงสารเด็ก สงสารประเทศไทย ครับ

 

 

หมายเลขบันทึก: 547504เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2013 19:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 19:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

         อาจารย์ค่ะ มันเป็นเรื่องการเมืองด้วยมังค่ะ เรื่องมันน่าจะมีอะไรมากกว่านี้ ไม่รู้ว่ารวมถึงตำแหน่งที่ได้มาของ ผอ.เขตหรือเปล่าค่ะ คริ ๆ ๆ ต้องลงทุนหน่อยกว่าจะได้มา สำหรับงบประมาณ ก็ทำไป เพื่ออะไร ใช่เด็กหรือเปล่า? เพราะถ้าใช่ เด็กจะคุณภาพไม่เป็นแบบนี้หรอกค่ะ...พี่ว่า มันน่าจะต้องปรับในเรื่องของการขอผลงานมังค่ะ ให้ครูหันไปสนใจที่ตัวเด็ก ครูก็ต้องรัก + เข้าใจในตัวเด็กให้มาก ใส่ใจเด็กให้มากกว่านี้ ส่วนผลงานไปวัดกันที่ตัวเด็กถึงมันจะค่อนข้างวัดยาก แต่ไม่เกินความสามารถของ ศน. หรอกค่ะ...ไม่อยากเห็นการโทษคุณภาพของเด็กจากโรงเรียนและผู้ปกครองในการโยนความผิด...อยากเห็นทุก ๆ ฝ่ายหันหน้า ร่วมมือ ช่วยกันแก้ไขปัญหาของสังคมมากกว่า ไม่อยากเห็นการป้ายความผิดให้กัน...สงสารเด็ก ควรทำอย่างไรให้เด็กที่มีปัญหาเกิดความอบอุ่นในชีวิตสำหรับความก้าวหน้าของครูก็ไม่ต้องทำผลงานหรอกค่ะเมื่อเวลาถึง ตำแหน่งก็มา ให้ครูไปคำนึงถึงเด็กให้มาก ๆ รวมถึงหลักสูตรด้วยนะคะ อาจารย์ดูให้ดี ๆ ว่า หลักสูตรจะมีส่วนทำให้เด็กได้รับความรู้ตรงตามการดำรงชีวิตจริงหรือไม่? อย่าลืม เรื่อง "ทักษะชีวิต" เหตุที่พี่บอก เพราะว่า พี่เห็นความแตกต่างจากการรับสมัครคนเข้ามาทำงานในแต่ละช่วงปี เกิดความแตกต่างกันมากค่ะ เกี่ยวกับพฤติกรรมของคน ไล่ตั้งแต่รุ่นพี่ลงไปเลยค่ะ

         เห็นด้วยกับการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเรื่องการศึกษา ปฏิรูปกี่ครั้งก็แล้ว ก็ยังเหมือนเดิมหรือจะแย่กว่าก็ไม่ทราบ เราโตแล้ว เราก็อยากเห็นเด็กที่เติบโตขึ้นมามีคุณภาพเช่นกัน เวลาทำงานด้วยกัน พูดกันรู้เรื่อง ไม่ใช่ชอบแต่พูดถึงการแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวเองอย่างเดียวแต่งานไม่คำนึงถึง...เพราะพฤติกรรมของคนทำงานต้องสะสมมาจากความรู้ ความสามารถของตนเองตั้งแต่พื้นฐานชั้นประถม ไม่ใช่มาเสริมมาเติมให้ตอนอยู่อุดมศึกษา...แล้วไม่มีใครบ้างหรือค่ะที่คิดจะช่วยกันแก้ไขปัญหาเช่นอาจารย์...พี่เชื่อว่า ถ้าทุกคนคิดที่จะร่วมมือกันจริง ๆ ปัญหาต่าง ๆ ก็จะลดลงเองค่ะ...ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ก็จะทำให้ประเทศไทยเจริญขึ้นเองค่ะ เป็นกำลังใจให้ค่ะ...

ผมมองว่าการศึกษาเรามีระบบการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องมากเกินไป

แถมคนที่เป็นรัฐมนตรี ก็ไม่ได้มีความรู้ด้านการศึกษา เลยเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา นโยบายการศึกษาไม่ชัดเจน

ไม่รู้รัฐบาลนี้มีรัฐมนตรีกี่คนแล้ว(ไม่อยากจำ)

การพัฒนาครูและผู้บริหารต้องพัฒนาเริ่มจากที่โรงเรียนแบบที่ผอ.ทำครับ

ผมเชื่อว่าการพัฒนาโรงเรียน การพัฒนาครูต้องมีฐานมาจากโรงเรียน ฐานการพัฒนานักเรียน ไม่ใช่การไปประชุมตามโรงแรมครับ

 

ขอบคุณครับ

 

ใช่ค่ะสมควรนำบันทึกนี้ให้รมต.ดูนะถูกต้องที่สุดและเห็นด้วยกับความคิดของผอ.ชยันต์ ผู้ที่ทุ่มเทให้กับการศึกษาของไทยอย่างเอาจริงเอาจัง เป็นกำลังใจให้ค่ะผอ.คนเก่ง


                หากทุกคน ทุกวัย ทุกอาชีพมีคุณธรรม โลกเราจะร่มเย็นและสันติค่ะ

 

ระบบการศึกษาไทย ล่มสลายไปนานเกินกว่าจะฟื้นคืนชีพแล้ว...จ้ะ  ส่วนจะล่มสลายด้วย

สาเหตุใด...ไม่ขอวิจารณ์นะ  เพราะครูก็เป็นส่วนหนึ่งในระบบเหมือนกัน..

...อ่านบันทึกและดูภาพจากกิจกรรม...ขัดแย้งกันมากๆนะคะ...

จริงๆ ก็ไม่ใช่กงการอะไรของผมหรอก ที่ออกมาตีผ่า ภาพซ้ำๆ และทำท่าจะเหมือนเดิม เพราะงบประมาณกำลังจะผ่านสภา พออ้าง "คุณภาพ" ก็ อบรมสัมมนา เหมือนเดิม เคยถามความต้องการของครู  หรือเปล่า / การยอมรับ ศน. หรือไม่ ไม่ใช่ประเด็น ประเด็นอยู่ที่ว่า ศน.ได้ทำงานเต็มตามศักยภาพหรือยัง...เขตพื้นที่กล้าพูดความจริงไหม..โครงการคุณภาพเพื่อแก้ปัญหาเด็กจริงๆ มีกี่มากน้อย

ผม ชยันต์ เพชรศรีจันทร์ เป็นกรรมการเขตพื้นที่ฯ อาทิตย์หน้าเขตจะพากรรมการทุกประเภท ยันประธานกลุ่ม จะพาไปเที่ยวกระบี่/หาดใหญ่ ใช้เงิน ๔ วัน/ ๔ แสน(ผมไปไม่ได้ผมอาย) อ้างประสิทธิภาพคณะทำงาน(ไปเที่ยวพักผ่อนนี่นะ) ขณะที่ ศน. ไม่มีรถยนต์จะออกโรงเรียน ถ้าจะไปคุณต้องขับรถส่วนตัวไปเอง ตอนนี้ งบประมาณเก่า ใช้หมดแล้ว ศน.ทำอะไรครับ นอกจากเล่นเฟสบุ๊ค

ปัญหาครูขี้เกียจ ผู้บริหารโรงเรียนเฮงซวย เขตต้องค่อยๆแก้ แต่เวลามันจะช่วยเยียวยา ถ้าข้างบนตระหนักในบางเรื่องเสียก่อน แล้วผมจะบอกวิธี

บอกท่านผู้อ่าน นี่คือวาระแห่งชาติ ถ้าไม่มีใครอีนังขังขอบ ประเทศชาติ ล่มสลายแน่นอน เราจะอยู่กันอย่างไร มาพูดคุยกันเถิดครับ

 

 

 

เห็นด้วยกับท่าน ผอ. นะคะ  ไม่รู้ว่าจะอบรมอะไรนักหนา  อบรมแล้ว ก็อบรมอีก  บางกิจกรรมอบรมใช้งบให้หมดไป  ซ้ำซาก  ไม่มีการติดตามประเมินผลที่เป็นรูปธรรม  เข้าข้างกันไปมา  ว่า  ดี ๆๆๆๆ ทุกกิจกรรม  แบบดีไม่ดีบอกว่าดีไว้ก่อน ดีไม่มีที่ติ  ปัญหานี้คงต้องร่วมมือกันแก้ทั้งระบบ  ไม่ใช่นั่งอยู่ในห้องแอร์แล้วหาทางแก้  คิดฝันไปเองลม ๆ  นักวิชาการก็คิดไป คนปฎิบัติก็ทำไป  เรียกว่าคนทำไม่ได้คิด คนคิดไม่ได้ทำ  แล้วหลักสูตรเปลี่ยนตลอดเวลา  กำลังจะเข้าใจหลักสูตรตัวเก่า อ้าว เปลี่ยนหลักสูตรอีกแล้ว  งง กับการศึกษาของไทยจริง ๆ 

มาอ่านบันทึกหลังจากอบมเสร็จเหมือนกัน...(อยู่เอกชนก็คิดว่าจะอบรมอะไรนักหนาเหมือนกัน 555 )

แม้ผมจะอยู่บริษัทเอกชน แต่ได้ข่าวการจัดอันดับการศึกษาทีไร รู้สึก อายคนงานพม่าทุกที

 

ปัญหาต่าง ๆ ที่ท่าน ผอ. กล่าวถึงใคร ๆก็รู้แต่ก็ไม่เห็นมีการแก้ไข เดือนนี้ก็จะได้เห็นการอบรมสัมนาในโรงแรมหรู และการไปศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศกันอย่างคึกคักเช่นเคย เคยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งหนึ่งสมัย รมต. สุขวิช เพราะปีนั้นเศรษฐกิจแย่มาก อยู่ในช่วงกู้ ไอเอ็มอส สั่งห้ามหมดการจัดประชุม อบรมในโรงแรม การไปต่างประเทศ GD เองจำได้เพราะโดนกับตัวเอง เตรียมตัวเดินทางเรียบร้อยจะเป็นหัวหน้ากลุ่ม 15 คนไปอบรมเรื่องการวางแผนการศึกษาที่ออสเตรเลียด้วยเงินกู้ธนาคารโลก ตั๋วเครื่องบินพร้อม กว่าจะเซ็นต์ไม่อนุมัติให้เดินทางก็เย็นค่ำ ทุกคนต้องเดินทางกลับที่ตั้ง ขนาดนั้น ปีนั้นเงียบไปหมด ผู้ประกอบการโรงแรมโอดครวญอย่างหนักเพราะขาดลูกค้าสำคัญ ปีต่อมาก็หมือนเดิมยอมแพ้ธุรกิจ

เรื่องอบรมต่าง ๆต้องทบทวนอย่างจริงจัง หลักง่าย ๆวิธีการที่พิสูจน์แล้วไม่ได้ผล ก็เลิกเสีย มองหาวิธีที่ดีกว่า ประหยัดกว่า คุ้มค่ากว่า

ใคร ๆก็โทษนักการเมืองว่าเปลี่ยนบ่อย ไม่เก่งพอ ความจริงวิธีในรายละเอียดมันอยู่ในมือเราทุกคนใน ศธ. ในรร. ในมหาวิทยาลัย ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพการศึกษา นักการเมืองมาในเรื่องนโยบาย แต่แผนงาน โครงการ และการดำเนินงานมาจากผู้ปฏิบัติ ทำไมจึงทำซ้ำซากจำเจ ทั้ง ๆที่คาดเดาผลที่จะได้รับได้

 

ถ้าคนระดับ ผอ. ตระหนักก็น่าจะร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ก็เข้าใจได้ว่าการเมืองภายในองค์กรอาจทำอะไรได่ไม่มากนัก

ก็น่าเศร้ากับการศึกษาของชาติเรา

อย่างไรก็ตาม ทั้ง ๆที่การศึกษาเราถูกประเมินว่าคุณภาพรั้งท้าย แต่ระดับการพัฒนาประเทศ ระดับการแข่งขันของประเทศไทยไม่ได้แย่เกินไป เราอยู่อันดับที่ 38 ปีนี้สูงขึ้น 1 อันดับจากปีที่แล้ว เป็นรองก็แค่สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน (พลเมืองน้อยกว่าเรามาก การปกครองประชาธิปไตยแบบเผด็จการนิด ๆ รวยกว่าแน่นอน แต่งบต่อหัวใน กศ. อาจไม่มากกว่าเรา ) อันดับ 38 จากประเทศที่นำมาจัดอันดับเปรียบเทียบ 144 ประเทศ สูงกว่าอีกร้อยกว่าประเทศ (ก็น่าจะพอใจระดับหนึ่ง) แสดงว่าเราเก่งพอควร ทั้ง ๆที่คอรัปชั่นสูง การศึกษา(เขาว่า)อ่อนด้อย เป็นไปได้ที่คุณภาพที่เรายอมรับเขาไม่ได้วัด ฤาจะไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษา กับ ระดับความเจริญ (กำลังศึกษาจากรายงานว่าเขาดูตัวชี้วัดใดจึงสรุปว่าเราแย่กว่ากัมพูชา แต่ที่แน่ ๆเขาจัดกลุ่มระดับการพัฒนาประเทศเป็น 5 กลุ่ม กัมพูชาอยู่กลุ่มที่ 1 ต่ำสุด เราอยู่กลุ่มที่ 3 สิงคโปร์อยู่กลุ่มที่ 5 สูงสุด มาเลเซียอยู่กลุ่มที่ 4 ผู้เขียนบอกว่าแต่ละกลุ่มพิจารณาจากตัวชี้วัดที่ไม่เหมือนกันทั้งหมด ยังอ่านไม่จบ) 

ผมเข้าใจในระดับปฏิบัติการ..เห็นภาพน้ำเน่า จนชาชิน...สิ้นเปลืองเวลา งบประมาณ เบียดบังเวลาการสอนของครู...แต่ต้องพูดแล้ว..เพื่อให้รู้ที่มาที่ไป เป็นพื้นฐานก่อน

วันนี้..ศธ.เต้น เป็นวาระแห่งชาติ ลองติดตามดู มีแต่นโยบาย..ต่อจากนั้น..ประชุมฯลฯ

ผมเห็นด้วย..ที่พูดกันวันนี้..แต่เชื่อเถอะ พูดกันในห้องแอร์ เกาไม่ถูกที่คันแน่นอน

ขอขอบพระคุณ GD ท่านทำให้ผม...ประทับใจ..เข้าใจยิ่งขึ้น..ฝากท่านช่วยดูแลประคับประคองแนวคิดผมด้วย นะครับ จักเป็นพระคุณยิ่ง

อ่านดูแล้วเหมือนว่าเราจะต้องทำการ"กลับทาง"การบริหารจัดการ เหมือนกับการเรียนการสอนที่ต้อง"กลับทาง"นะคะ ถ้าไม่เริ่มจาก"จุดประสงค์พื้นฐาน" เอาแต่ top down ไม่ bottom up ก็คงจะวนอยู่กับระบบเดิมๆนี่แหละค่ะ การนำเสนอวิธีแก้ไขจากผู้บริหารระดับกลางๆอย่างอาจารย์น่าจะเป็นภาพที่ชัดเจนดีนะคะ เอาเลยค่ะ ลุยเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท