FBL (Family-based Learning) ณ ชุมชนห้วยค้อมิตรภาพ ๒๐๖ ขอนแก่น


วันที่ 21 กรกฎาคม 2556 ผมมีโอกาสได้นอนพักในห้องเดียวกับ อ.ศุภมิต จาก โรงเรียนชุมชนห้วยค้อมิตรภาพที่ ๒๐๖ อ.พล จ.ขอนแก่น  ในขณะที่เราเดินทางมาร่วมกิจกรรมของมูลนิธิสยามกัมมาจล ที่จังหวัดกาญจนบุรี

ผมตั้งคำถามว่า กับ อ.สนิต เพื่อนร่วมห้องนอนค้างด้วยกัน ว่า ห้วยค้อทำอย่างไรถึงได้เป็น ร.ร.ศรร.ปศพพ.  แล้วนั่งฟัง จับประเด็นได้ดังนี้ครับ

  • แต่ก่อนโน้น (ประมาณปี 2548) มูลนิธิศุภนิมิตรแห่งประเทศไทย เข้ามาให้การสนับสนุนในโครงการ "ครอบครัวสาธิตชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน" เริ่มที่กลุ่มเป้าหมายเป็นครอบครัวของนักเรียนตั้งแต่ ป.1 - ม.3 ที่มีปัญหา 30 ครอบครัว บางครอบครัวจะมีพี่น้องหลายคน ส่วนใหญ่จะมีปัญหาพ่อแม่หย่าร้าง พ่อแม่เสียชีวิต จึงต้องอาศัยอยู่กับยาย (คิดเป็นประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนทั้งหมด)  โดยมูลนิธิจะให้พันธุ์ปลาดุกครอบครัวละ 500 ตัว แม่ไก่พร้อมไข่ครอบครัวละ 5 ตัว และพันธุ์ผักต่างๆ และส่วนหนึ่งสนับสนุนบ่อกลางของโรงเรียนเพื่อเป็นอาหารกลางวันของนักเรียน คิดเป็นมูลค่าเพียง 30,000 บาท และแบ่งพื้นที่โรงเรียนออกเป็นส่วนเล็กๆ ให้แต่ครอบครัวดูแล  โครงการนี้ทำให้นักเรียนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีไข่ มีปลา และมีผักกินโดยไม่ต้องซื้อ และมีส่วนเหลือเอาไปขาย ทำให้เกิดอานิสงส์ทำให้ผู้ปกครองพอใจมาก โดยเฉพาะผู้ปกครองส่วนใหญ่ซึ่งไม่มีที่ทำกิน ต้องทำอาชีพรับจ้าง ผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมนี้ ทำให้ชาวบ้านดูแลใส่ใจ จนทำให้เกิดความต่อเนื่อง จนทำให้นักเรียนเกิดทักษะในการดำรงชีวิตแบบ พึ่งตนเอง 
  • ประมาณปี 2549 ผู้อำนวยการขณะนั้น มีความเห็นว่า บ่อปลาและเล้าไก่ที่เรียงรายอยู่ในบริเวณโรงเรียนนั้นทำให้ภูมิทัศน์สวยงาม และให้เหตุผลว่าบ่อน้ำนั้นไม่ปลอดภัยกับนักเรียน (ก่อนหน้านั้นไม่มีเด็กได้รับอันตรายใดๆ) จึงส้่งให้ถมดินเพื่อปลูกไม้ยืนต้น เหลือไว้เพียงบ่อกลางของโรงเรียน ในขณะที่โครงการ "ออยสการ์" ซึ่งได้รับความร่วมมือจากญุี่ปุ่น เข้ามาส่งเสริมให้ปลูกป่า โดยนำพันธุ์ไม้ยืนต้น เช่น ประดู ยูคาร์ ฯลฯ และสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมร่วมกันระหว่างครอบครัว จึงเกิดโครงการ "แม่ลูกผูกพันร่วมกันทำนา" โดยจัดให้มีกิจกรรมดำนาร่วมกันในตอนบ่ายของวันแม่ หลังจากที่เสร็จพิธีไหว้แม่ในตอนเช้า และจัดกิจกรรม "ดำวันแม่-เกี่ยววันพ่อ" เพื่อร่วมกันเก็บเกี่ยวข้าว นอกจากกิจกรรมนี้จะทำให้โรงเรียนได้ข้าวสำหรับโครงการอาหารกลางวันแล้ว ยังส่งผลให้เด็กๆ เกิดความผูกพันกับครอบครัวมากขึ้น  ถัดจากนาข้าว อ.เบญจมาศ (ครูแกนนำ) ยังพาเด็กปลูกดอกทานตะวัน วัตถุประสงค์สำคัญคือ ฝึกทักษะและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเด็ก นับแต่นั้น การปลูกข้าวและดอกทานตะวันกลายเป็น "ฐานการเรียนรู้" สำคัญของห้วยค้อฯ
  • ต้นปี 2550 ชาวบ้านไม่พอใจที่ ผอ.โรงเรียน กลบบ่อปลาและที่ดินทำกินที่แบ่งให้แต่ละครอบครัว กรรมการสถานศึกษาได้มาคุยกับทางโรงเรียน ได้ข้อสรุปให้ ผอ.ย้ายไปโรงเรียนใหม่ เป็นโอกาสให้ ผอ.สวัสดิ์ มะลาหอม ได้เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อน ปศพพ. จนต่อมาได้กลายเป็น ร.ร.ศรร. ปศพพ. ในปี 2555
  • ปี 2551 หลังจากเปลี่ยนผู้อำนวยการ โครงการยุวเกษตร ของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม หรือ สปก. เข้ามาให้การสนับสนุนพันธุ์ปลาและอาหารเลี้ยงปลา 5,000 ตัว ให้พันธุ์ผักพันธุ์ผัก ส่งเสริมการปลูกผักในโรงเรียน 

 

 ตอนเช้าของวันที่ 22 ก.ค. ครูเบญจมาศ (ครูต้อย) ถือกระดาษ 6 แผ่น มาให้ผม บอกว่าเป็นการบ้านที่คุยกันเมื่อวาน ที่ผมเองก็พูดผ่านๆ ไม่คิดว่าท่านจะเขียน "เรื่องเล่า" มาให้ผมจริง ....  จึงถือโอกาสนำมาบันทึกไว้ที่นี่ครับ 
 
....โครงการ "ครอบครัวสาธิต" ชีววิถีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ข้าพเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบ เกิดขึ้นเพราะข้าพเจ้าเห็นสภาพปัญหาความยากจนของนักเรียน รู้สึกสงสารเด็กๆ ที่ต้องขาดเรียนไปรับจ้างทำงานช่วยผู้ปกครอง หลังจากปรึกษาหารือกัน จึงดำเนินการขอทุนสนับสนุนและได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิศุภนิมิตร แห่งประเทศไทย เป็นพันธุ์ปลา แม่ไก่ไข่ และพันธุ์ผัก  โดยแบ่งพื้นที่ให้ครอบครัวละ 10x12 ตารางเมตร (ดังที่กล่าวไปแล้ว) แนวคิดคือ ให้ครอบครัวของนักเรียนมีส่วนร่วม และบริหารจัดการเป็นครอบครัว สิ่งที่ได้น้ำไปกินใช้ในครอบครัว ผลที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ปกครองพอใจมาก เมื่อท้องอิ่ม สมองก็เจริญเติบโต ทำให้ผู้ปกครองภาคภูมิใจในบุตร-หลานของตนเอง ส่งผลให้ผู้ปกครองและโรงเรียนมีความผูกพันกัน เกิดจิตสำนึกที่ดีต่อโรงเรียน พึ่งพาอาศัยกัน ปลูกฝังความรับผิดชอบและการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างดียิ่งขึ้น....
 
....โครงการปลูกป่าลำน้ำห้วยค้อเขียวขจี ที่ได้รับงบได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ OILSCA ประเทศญี่ปุ่น ให้พันธุ์ไม้ต่างๆ  กอปรกับตอนนั้นกำลังดำเนินโครงการ ครอบครัวสุขสันต์ จึงได้จัดกิจกรรมให้นักเรียน ครู และผู้ปกครองช่วยกันปลูกป่า ปลูกกล้วย ในวันวิสาฆบูชา.... เมื่อกล้วยให้ผลผลิต ก็นำมากินด้วยกัน แบ่งปันกัน เมื่อต้นไม้เติบโตขึ้นก็จะเป็นสมบัติของส่วนรวม  โดยครูทุกคน ผู้ปกครอง และนักเรียนได้ร่วมกันดูแลรักษาร่วมกัน...
 
... กิจกรรมครอบครัวสุขสันต์ร่วมกันดำนา ซึ่งจัดขึ้นในวันแม่ของทุกๆ ปี   หลังจากการรำลึกถึงคุณแม่ ไหว้แม่ในตอนเช้า  กินข้าวร่วมกันในตอนเที่ยง จะมาช่วยกันดำนา (หน้าโรงเรียน) ผลผลิตนำเข้าโรงครัวของโรงเรียน ทำนาด้วยกัน กินด้วยกัน ทุกคนมีส่วนร่วมและมีความสุขร่วมกัน...
 
...ในการเรียนการสอน ครูทุกคนมีส่วนร่วมในการวางแผน PDCA ในกิจกรรม ครูให้ความรักนักเรียนเหมือนลูกหลาน ใช้คติร่วมกันว่า "สอนลูกตนเองอย่างไร ต้องสอนลูกคืนอื่นอย่างน้้น ลูกคนอื่นมาอยู่กับเรา ก็เหมือนลูกของเรา" ... จนในบางครั้งรู้สึกว่า เด็กๆ มาอยู่กับเรามากกว่าอยู่กับพ่อแม่เสียด้วยซ้ำไป... เมื่อเด็กๆ รักครู ครูรักเด็ก ทำให้เรารู้สึกว่าที่นี่คือบ้านหลังใหญ่ที่สุด ที่จะต้องดูแลร่วมกัน... เช่น 
  • กิจกรรมทำดูแลรักษาความสะอาดร่วมกัน แต่ละหมู่บ้าน แต่ละครอบครัว มีบริเวณรับผิดชอบร่วมกัน โดยที่ครูไม่ต้องควบคุมดูแล... 
  • กิจกรรมไปกลับปลอดภัย ให้พี่น้องแต่ละครอบครัวดูแลมารับส่งกัน โดยจะมีกิจกรรมเข้าแถวก่อนกลับบ้านทุกวัน  ให้พี่รับน้องกลับบ้าน กลับพร้อมกันทั้งครอบครัว
  • กิจกรรมหน้าเสาธง ให้มีการแบ่งภาระรับผิดชอบร่วมกัน หลังเคารพธงชาติ เป็นกิจกรรม "จิตศึกษา" โดยแต่ละระดับชั้นจะมีผู้นำในการทำกิจกรรม 
  • กิจกรรมเวรประจำในการเตรียมอาหารให้พอเพียงกับทุกคน ทุกคนรับประทานอาหารพร้อมกัน ทานข้าวหม้อเดียวกัน เป็นครอบครัวเดียวกัน จึงรักกัน หลังรับประทานอาหารก็ช่วยกันล้างจานชามภาชนะ  มีเวรประจำผลัดกันทำความสะอาด
  • กิจกรรมแปรงฟัน ให้พี่ ม.1- ม.3 ตรวจสอบความสะอาดเรียบร้อยให้น้อง ป.1-ป.6 ทุกวัน

...กิจกรรมค่ายครอบครัวลูกเสือพอเพียงร้อยเรียงสู่อาเซียน  บูรณาการระหว่างค่ายลูกเสือและค่ายส่งเสริมภาษาอังกฤษ โดยให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งครู ตัวแทนนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครอง ตั้งแต่มีส่วนในการวางแผน ร่วมเตรียมงาน และร่วมในวันงาน  ขั้นตอนหลักของค่าย มีดังนี้ 

    • ปลูกผักเอง วางแผนให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการปลูกผัก โดยประมาณเวลาให้พอดีกับวันจัดค่าย "เมื่อผักโต เราจัดค่าย"
    • นอกจากกิจกรรมเดินทางไกล กิจกรรมรอบกองไฟ และฐานผจญภัยต่างๆ แล้ว ได้จัดให้มีงานวิชาการ ภาษาอังกฤษ ในลักษณะเป็น ฐานการเรียนรู้ในค่าย
    • แบ่งลูกเสือคละชั้น แต่ละกลุ่มมีพี่ ม.3 น้อง ม.1-2 ป.1-6  จัดให้มีภารกิจร่วมกัน ให้จัดเตรียมภาชนะเองในการรับประทานเนื้อย่างเกาหลีร่วมกัน เรียกว่า "อาหารคุณธรรม"  
    • ให้พี่สอนน้องทำเนื้อย่าง  ให้น้องกินให้อิ่มก่อน พี่ค่อยกินทีหลังพร้อมกับผู้ปกครอง
    • มากินกันทั้งหมู่บ้าน แต่ละครอบครัวรับลูก ป.1-3 กลับบ้านหลังเลิกกิจกรรมรอบกองไฟ
    • ให้นักเรียนได้ "ถอดบทเรียนร่วมกัน" พบว่าผู้ปกครองพึงพอใจมาก 

...กิจกรรม "ห้วยค้อโรงเรียนที่ฉันรัก" เพื่อส่งเสริมจิตสำนึกการรักษาสิ่งแวดล้อม และปลูกฝังให้รักโรงเรียนและชุมชนของตนเอง โดยจัดให้ครอบครัวเดียวกันและบ้านใกล้กันรับผิดชอบบริเวณเดียวกัน กวาดใบไม้มากองรวมกันก่อนนำไปทำปุ๋ยหมักใส่ต้นไม้ เรียกว่า "เศรษฐีใบไม้"

...กิจกรรม  "ดอกทานตะวันบานที่บ้านห้วยค้อ"  หลังจากเก็บเกี่ยวข้าว ทุกคนจะได้ปลูกดอกทานตะวัน ดูแลรักษา นำไร่ทานตะวันไปบูรณาการกับการเรียนการสอนในลักษณะฐานการเรียนรู้บูรณาการ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ 

 ท่านผู้อ่านบันทึกนี้ คงเห็น "ข้อความสี" ความหมายและความนัยของกิจกรรม "ฐานใจ" ทั้งหมดนั้น ทักทอสายใยรักของครอบครัว ทำให้โรงเรียนให้เป็น บ้านหลังใหญ่ นี่คือปัจจัยของความสำเร็จของ ผอ.และครูโรงเรียนชุมชนห้วยค้อมิตรภาพที่ ๒๐๖  ผมขออนุญาตเรียก รูปแบบการเรียนรู้โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแบบนี้ว่า "การเรียนรู้ฐานครอบครัว" หรือ Family-based Learning หรือย่อเป็น FBL


(ดูรูปทั้งหมดที่นี่ครับ)

(ตอนนี้ห้วยค้อฯ กำลังเขียนเรื่องเล่า หนังสือเล่มเล็ก อีกไม่นานเกินรอครับ)

 
หมายเลขบันทึก: 547187เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2013 00:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กันยายน 2013 00:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอชื่นชมกิจกรรมที่ดีมีประโยชน์นะคะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท