เนื้อตัวร่างกายฉัน ใครกำหนด?


ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับเนื้อตัวและร่างกายของผู้หญิง ในหลายต่อหลายครั้งไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกำหนดของผู้หญิงที่เป็นเจ้าของเรือนร่างนั้นโดยลำพังคนเดียว

                  ถ้าทุกคนมีสิทธิที่จะกำหนดในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้หรืออย่างน้อยสามารถมีข้อมูลมากพอที่จะตัดสินใจในเรื่องต่างๆของตัวเองหรือมีส่วนร่วมในการตัดสินในเรื่องของเนื้อตัวและร่างกายบ้าง เชื่อว่าปัญหาหลายอย่างก็อาจจะไม่เกิดขึ้นทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับเนื้อตัวและร่างกายของผู้หญิง ในหลายต่อหลายครั้งไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกำหนดของผู้หญิงที่เป็นเจ้าของเรือนร่างนั้นโดยลำพังคนเดียว ว่าเราจะตั้งครรภ์ จะไม่ตั้งครรภ์ จะคุมกำเนิด  จะยุติการตั้งครรภ์ได้หรือไม่  ผู้หญิงเองนั้นต้องมีใครมา  ร่วมคิด หรือในบางกรณีก็อาจมีใครที่มีอิทธิพลเหนือความคิดของผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นผู้หญิงที่มีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกายด้วยแล้วโอกาสที่จะกำหนดในเรื่องชีวิตและเนื้อตัวร่างกายของตัวเองนั้นมีมากขนาดไหนหรือหากจะพูดถึงประเด็นสิทธิก็คือเรามีสิทธิมากแค่ไหนในการจัดการกับเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง          มีตัวอย่างเกี่ยวกับความต้องการที่จะมีลูก ดังที่เห็นจากความอยากมี อยากเป็น ที่หลายคนได้แสดงเจตจำนงที่จะมีลูกแต่ก็มีหลายๆครั้งที่แม้เจ้าตัวซึ่งเป็นผู้หญิงติดเชื้อจะยืนยันมากแค่ไหนก็ตามว่าจะขอตั้งครรภ์และมีลูกด้วยรู้แล้วว่าโอกาสการติดเชื้อของเด็กที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อนั้นมีน้อยมากหากรู้วิธีการป้องกัน  แต่ผู้หญิงเหล่านี้กลับได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่บางคนว่าให้ทำแท้ง  แถมในบางครั้งยืนยันว่า ควรทำหมันไปเลยไม่ควรมีลูกอีกแล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่าเกรงเด็กอาจจะติดเชื้อไปด้วย หรือแม้ว่าเด็กจะไม่ติดเชื้อ แต่ก็มีคำพูดโน้มน้าวอีกเช่นกันว่า แม่ติดเชื้ออาจอยู่ไม่ได้นานแล้วเด็กจะอยู่กับใคร เป็นการกดดันให้แม่รู้สึกผิด จนหลายคนต้องตัดสินใจตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ  ขณะเดียวกัน หลายคนอาจพบว่าตนเองไม่พร้อมที่จะมีลูก ดังนั้นเมื่อพลั้งเผลอตั้งครรภ์ไปแล้วก็คิดจะทำแท้ง แต่ว่าขณะนั้นอยุ่ในช่วงของการทดลองให้ยาต้านไวรัสป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก หลายคนถูกโน้ม  น้าวให้ทดลองยาต้าน แต่หลังจากโครงการจบแล้ว แน่นอนมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่รอดพ้นจากการติดเชื้อ ทว่าการดูแลเด็กคนหนึ่งๆนั้นต้องมีอะไรบ้าง ความช่วยเหลือหรือสิ่งที่สนับสนุนให้กับแม่ที่ติดเชื้อที่จำเป็นจะต้องดูแลตัวเองไปด้วยและดูแลลูกไปด้วยนั้นได้รับการสนับสนุนแค่ไหน

เห็นได้ว่า แม้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงก็ใช่ว่าจะตัดสินใจได้ลำพังทั้งหมด  ด้วยกรอบความคิดต่างๆอย่างเช่นกรณีการใช้ถุงยางอนามัย แม้จะมีความเห็นว่าผู้ชายไม่ควรเป็นฝ่ายตัดสินใจแต่เพียงฝ่ายเดียวว่าจะใช้หรือไม่ใช้ในขณะมีเพศสัมพันธ์ ทว่าในสังคมไม่เอื้อให้ผู้หญิงสามารถพูดเรื่องนี้ได้มากนัก  รวมทั้งในกรณีของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ หากผู้ชายอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าหรือมีการใช้กำลัง ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้แน่นอนที่ผู้หญิงจะได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

ในปัจจุบัน เชื่อว่ายังมีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีความเข้าใจและยังมองผู้ติดเชื้อว่าแตกต่างและปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อแตกต่างจากบุคคลทั่วไปในสังคม และพบเห็นได้บ่อยที่ผู้คนยังรู้สึกไม่ดีที่จะเห็นหญิงติดเชื้อไปแต่งงานใหม่อีกหรือยังรับไม่ได้หากผู้หญิงติดเชื้อจะมีบุตร ทัศนคติเหล่านี้ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นส่วนกำหนดการตัดสินใจของผู้หญิงในเชิงวิชาการแต่ก็ยังเข้ามามีอิทธิพลในการใช้ชีวิตของผู้หญิงในสังคม ที่ทำให้หลายๆครั้งการตัดสินใจของผู้หญิงจึงเป็นการกระทำตามความต้องการของสังคมด้วย

สรุปและคัดลอกจากหนังสือ "ผู้หญิง (อย่างฉัน)มีสิทธิเช่นกัน"ของคุณสุทธิดา มะลิแก้ว

โดยปิยะวดี  ฉาไธสง

คำสำคัญ (Tags): #หนังสือ
หมายเลขบันทึก: 54711เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2006 18:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
น่าเห็นใจผู้หญิงเสมอค่ะ     เราคงต้องมาช่วยกันเสริมพลังให้เข้มแข็งขึ้น

นอกจากต้องการให้เพศตรงข้ามเข้าใจแล้ว พลังหญิงก็ต้องช่วยกันด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท