เรื่องที่ครูผู้ช่วย ภาคภูมิใจในความเป็นครูมากที่สุด และอยากจะปรับปรุงพัฒนามากที่สุดคืออะไร?


       เมื่อสองสามวันที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญ ให้เป็นวิทยากรเรื่องการพัฒนาสมรรถนะการปฏิบัติงาน ในการอบรมครูผู้ช่วยในโรงเรียน จำนวน 90 คน  ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม 2 ปี


       ผมมีความตั้งใจเป็นวิทยากรและคาดหวังกับครูผูช่วยมากเป็นพิเศษ เพราะเห็นว่าถ้าเราสามารถปลุกจิตวิญญาณความเป็นครูให้แก่ครูกลุ่มนี้ให้เกิดขึ้นได้ ก็จะทำให้เขารักในวิชาชีพครู จะมุ่งมั่นพัฒนาจัดการเรียนการสอนให้แก่ผู้เรียนอย่างมีความสุข และจะเป็นครูที่มีคุณภาพต่อไปร่วม 40 ปี
       3 ชั่วโมงในการเป็นวิทยากร ผมตั้งใจจัดกิจกรรมนำเสนอหลายๆรูปแบบ ทั้งเรื่องเล่า สลับกับฉาย VCD เปิดคลิ๊ป และเพลง พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนซักถามกัน ในตอนหนึ่งผมให้ครูผู้ช่วยเขียนความในใจเกี่ยวกับการทำหน้าที่ครูของเขา ส่งให้ผม 2 หัวข้อ คือ
       1.บอกพฤติกรรมความเป็นครูของตนเองที่ตนรู้สึกภาคภูมิใจมากที่สุดมาสัก 1 เรื่อง
       2.บอกพฤติกรรมความเป็นครูของตนเองที่ตนรู้สึกว่าตัวเองยังจะต้องปรับปรุงพัฒนามากที่สุดมาสัก 1 เรื่อง
      มีครูเขียนส่งมาให้ 88 คน (จาก 90 คน) ผมกลับมาแจงนับความถี่พบว่า
     คำถามแรกแรก เรื่องที่ครูผู้ช่วยภาคภูมิใจมากที่สุด เรียง3ลำดับคือ
      1.ความทุ่มเทเอาใจใส่ในการสอน(27คน)  
      2.การดูแลช่วยเหลือนักเรียน(21คน)
      3.การตรงต่อเวลาในการเข้าสอน(18คน)
     อีก 22 คนจะมีคำตอบที่กระจาย แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในประเด็นที่แสดงถึงความรักในวิชาชีพครูแทบทั้งสิ้น 
     คำถามที่สอง เรื่องที่ครูผู้ช่วยคิดว่าตนเองยังจะต้องปรับปรุงพัฒนามากที่สุด เรียง 3 ลำดับคือ
     1.ความรู้ในบางสาระการเรียนรู้ที่สอน(31คน)
     2.ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์(16คน)
     3.การดูแลควบคุมชั้นเรียน(14คน)
     อีก 22 คน จะตอบกันหลากหลาย เช่น ไม่อยากสอน เบื่อเด็ก ถูกมอบงานให้เยอะไม่มีเวลาเตรียมการสอน นอนตื่นสายไปโรงเรียนไม่ทัน ฯลฯ
      ดูจากคำตอบทั้งสองคำถาม ทำให้ผมเกิดความรู้สึกขึ้นมาสองอย่าง ความรู้สึกแรกคือดีใจที่ครูผู้ช่วยส่วนใหญ่ตั้งใจเข้ามาเป็นครู รักในวิชาชีพครู และตั้งใจทำงาน แต่ความรู้สึกที่สอง เกิดความกังวนและสงสัยขึ้นมาทันทีว่า การที่พวกเขาบอกว่ายังไม่แม่นและแน่นในความรู้ในวิชาที่สอน(บางเรื่อง) ยังขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และคุมชั้นเรียนไม่ได้ เป็นเรื่องใหญ่มากที่จะส่งผลถึงคุณภาพของเยาวชน   
     ผมทราบข้อมูลอย่างคร่าวๆว่า ครูผู้ช่วยเหล่านี้เรียนจบหลักสูตร 5 ปีกันเป็นจำนวนมาก  ทำให้เกิดคำถามอีกว่า เด็กไม่เก่งหรือว่าสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตครูไม่เก่งกันแน่!!!
     แต่ที่น่าเห็นใจเด็กๆเหล่านี้ก็คือบรรยากาศการทำงานในโรงเรียนที่เด็กๆเขาอ้างถึง ไม่ค่อยเอื้อให้เขามีความสุขนัก เช่น มีงานพิเศษที่ไม่ใช่งานสอนให้ทำหลายเรื่องจนแทบไม่มีเวลาเตรียมการสอน นักเรียนดื้อ ไม่ตั้งใจเรียน ครูเอาไม่อยู่  เรียนจบทางชีววิทยา แต่ต้องสอนวิทยาศาสตร์สาขาอื่น หรือเรียนสังคมศึกษาแต่ต้องสอนทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์ที่ตนเองไม่ถนัด เป็นต้น
      เฮ้อ...ปัญหาโลกแตกในวงการศึกษา ในยุคปฏิรูป...ยังวนเวียนอยู่เช่นนี้อีกหรือ...
       

หมายเลขบันทึก: 546569เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2013 21:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2013 21:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท