Thai DPP : Site visit รพ.บ้านนา


ผู้อำนวยการโรงพยาบาล พร้อมให้การสนับสนุนและให้มีการรายงานให้ท่านทราบเป็นระยะ ถือเป็นโอกาสที่เจ้าหน้าที่จะได้พัฒนาตนเอง

วันที่ 20 สิงหาคม 2556
วันนี้ได้โอกาสดี ดิฉันนัดหมายกับคุณแอน อังศุมาลิน มั่งคั่ง ผู้รับผิดชอบโครงการ Thai DPP จังหวัดนครนายกไปพบทีมทำงานของ รพ.บ้านนา ในเวลาประมาณ 14.00 น. เนื่องจากนัดหมายกันล่วงหน้าเพียง 1-2 วัน จึงหารถเช่าไม่ได้ ดิฉันจึงตัดสินใจขับรถไปเองเพราะระยะทางไม่ไกล

ดิฉันออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 12.30 น. ไปตามเส้นทางปกติที่ใช้อยู่เป็นประจำเมื่อไปเยี่ยมแม่ พอถึงแยกบ้านนาก็เลี้ยวซ้ายตรงไปเรื่อยๆ จนเห็นป้ายของโรงพยาบาล ก็เลี้ยวซ้ายเข้าไปเหมือนเข้าซอย อาคารของโรงพยาบาลอยู่ทั้งสองฟากถนน จอดรถที่ด้านหน้าอาคารหลังหนึ่งเพื่อโทรศัพท์หาคุณแอน ยามเห็นก็ขี่จักรยานเข้ามาถามและหาที่จอดรถให้เรียบร้อย คุณแอนตามมาสมทบในเวลาไล่ๆ กัน

ได้พบคุณรุจิรา เจดีย์ หัวหน้ากลุ่มงานเวชปฏิบัติฯ และน้องทีมงานพาเข้าไปในอาคาร ช่วงเวลาบ่ายยังเห็นมีคนไข้รอตรวจที่ OPD อยู่หลายคน ที่ชั้นสองของอาคารมีห้องประชุมที่จัดทำไว้อย่างดี เมื่อทีมงานของ รพ.บ้านนามากันพร้อมหน้าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นพ.สุวรรณ เพ็ชรรุ่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ยังติดภารกิจจึงส่งนายแพทย์หนุ่ม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมาร่วมประชุม ก่อนที่จะตามมาสมทบภายหลัง

 

ในห้องประชุม

 

ดิฉันได้เล่าให้ที่ประชุมทราบเรื่องโครงการ Thai DPP และขอความช่วยเหลือจาก รพ.บ้านนาในการคัดกรองค้นหากลุ่ม IGT ที่จะเป็นกลุ่มควบคุม คุณแอน อังศุมาลินได้เล่าวิธีการทำงานคัดกรองกลุ่มเสี่ยงด้วย OGTT ของทีมปากพลี ที่ดำเนินการระหว่างเดือนมีนาคม-กรกฎาคม 2556 ตั้งแต่การวางแผนกำหนดวันทำงาน ซึ่งจะต้องไม่ให้มีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของห้อง Lab วันที่ทำการคัดกรอง มีการทำทะเบียน เจาะ FPG ผสมกลูโคสให้ชาวบ้านดื่ม รอเวลา 2 ชม.จึงเจาะ PG อีกครั้ง

ในการเตรียมงานให้ รพ.สต. ส่งรายชื่อคนที่นัดมาให้ ทีมทำงานจัดเตรียมข้าวของที่ต้องใช้ เมื่อรู้ผลเลือดแล้วก็แจ้งให้ รพ.สต.แจ้งกลุ่มเป้าหมายต่อไป ผลจากการคัดกรองพบว่าบางคนก็หลุดจากภาวะเสี่ยง แต่บางคนก็ป่วยแล้ว ถ้าบอกชาวบ้านให้รู้ว่าเป็นการตรวจพิเศษ มีราคาแพง ชาวบ้านก็จะร่วมมือดี การเจาะเลือดไม่ยาก ตอนนี้ทีมปากพลีเริ่มให้ intervention โดยจัดค่ายแล้ว มีการเจาะเลือดเพื่อตรวจ Lipid profile และ HbA1C ที่ต้องส่งเลือดไปที่ รพ.รามาธิบดี การส่งเลือดไปไม่ยาก

ที่ปากพลีเมื่อทำ OGTT แล้วพบรายที่สงสัยป่วย จะ confirm ด้วย OGTT อีกครั้ง

 

นพ.สุวรรณ เพ็ชรรุ่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านนา นั่งหัวโต๊ะ

 

นพ.สุวรรณ เพ็ชรรุ่ง ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ รวมทั้งคุณรุจิราก็มองเห็นช่องทางที่จะทำเป็นโครงการของโรงพยาบาล แผนการทำงานต่อไปคือจะมีคณะทำงาน รวบรวมข้อมูลที่มีอยู่ในมือก่อน นัดหมายกลุ่มเป้าหมาย ชั่งกลูโคสที่จะใช้ในการทำ OGTT วางแผนการลงพื้นที่ และประสานงานกับห้อง Lab ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่มาประชุมด้วยก็ไม่มีปัญหาที่จะต้องตรวจ PG เพิ่มขึ้น

ผู้อำนวยการโรงพยาบาล พร้อมให้การสนับสนุนและให้มีการรายงานให้ท่านทราบเป็นระยะ ถือเป็นโอกาสที่เจ้าหน้าที่จะได้พัฒนาตนเอง

บรรยากาศในการประชุมวันนี้เป็นไปด้วยดี ดิฉันมอบเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กับคุณรุจิราไว้ รู้สึกสบายใจและมีความมั่นใจว่าทีมงานของ รพ.บ้านนา จะทำงานนี้ได้สำเร็จแน่นอน

ดิฉันขับรถออกจาก รพ.บ้านนา เมื่อเวลาเกือบ 16.30 น. หลังจากมีฝนตกไปแล้ว ยังมีละอองฝนอยู่บ้าง เส้นทางที่มุ่งหน้ากลับกรุงเทพฯ รถวิ่งได้สะดวกดี เพราะไม่ใช่วันหยุด แต่เมื่อถึงถนนเกษตรนวมินทร์รถติดอยู่นานมาก นั่งจนเมื่อยกว่าจะถึงบ้านก็เริ่มค่ำพอดี

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2556 เข้า Facebook ของ นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ได้ทราบว่า รพ.บ้านนา ผ่านการรับรองคุณภาพเป็นระยะเวลา 3 ปี ขอแสดงความยินดีด้วย

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 546565เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2013 21:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2013 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เบาหวาน เรื่องระดับชาติ เลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท