ทักษะความจำเป็นสำหรับงานด้านการพัฒนาและออกแบบเว็บ [กิจกรรมการเรียนโดย Google Spreadsheet และ wordle.net]


เรื่องหนึ่งที่อาจารย์ต้องทำคือการเตรียมความพร้อมให้กับนิสิตนักศึกษา ว่าจบไปแล้วเขาจะทำมาหากินอะไรนะครับ เมื่อก่อนผมเคยดัดจริตคิดว่าเรามีหน้าที่ทำให้เขาเป็นพลเมืองที่ดีเท่านั้น แต่เพิ่มมานึกได้ว่าการที่เขาได้ทำงานที่รักและมีความพร้อมสำหรับงานก็เป็นการส่งเสริมให้เขาเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของสังคมเช่นกัน ผมคิดว่างั้นนะ

ในวิชาพื้นฐานอย่าง Programming & Algorithm (หรือ Computer 1) ผมใช้วิธีไปสัมภาษณ์โปรแกรมเมอร์ที่รู้จัก แล้วเอามาให้นักศึกษาดู พูดคุยถึงข้อดีข้อเสียของอาชีพนี้ (ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงสื่ออยู่ครับ) ส่วนอีกวิชาที่จะพูดถึงในบันทึกนี้คือ Web Design & Programming ซึ่งเป็นวิชาที่ตรงกับสายงานที่มีอยู่จริง คือเว็บดีไซน์เนอร์และนักพัฒนาเว็บ ผมเลยเกิดไอเดียให้ผู้เรียนออกไปสำรวจตลาดงานว่าในปัจจุบัน ขณะที่เขาเรียนอยู่นี่ มีทักษะอะไรบ้างที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพดังกล่าว

แต่การสำรวจตลาดงานครั้งนี้ไม่ต้องออกไปเดินตากแดด ส่งแบบสอบถามใครให้เหมื่อยตุ้มครับ ผมสร้าง Google Spreadsheet และแชร์ให้นักศึกษาทุกคนเข้ามาใส่ข้อมูลของงานที่ไปหาจากเว็บหางานที่มีอยู่มากมาย โดยเน้นที่คำสำคัญ (Key Words) เป็นหลัก เพื่อช่วยในการประมวลผล ใส่รายละเอียดทุกอย่าง ทุกคนสามารถแก้ไขเอกสารนี้ได้ จะเพิ่มคอลัมน์หรือใส่รายละเอียดอะไรก็ตามสบายเลย นักศึกษาใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนสำหรับกิจกรรมนี้

spreadsheet

เสร็จแล้วผมก็จะนำข้อมูลทั้งหมดมารวมรวมหาความถี่ของคำสำคัญและโยนเข้าไปใน wordle.net เพื่อ visualize ข้อมูลครับ

ผ่านมาหนึ่งปี ผมทำกิจกรรมนี้มาสองเทอม ได้ผลเป็นแบบนี้ครับ

2012-2

2013-1

พอจะสังเกตได้ไหมครับ ว่ามีความเหมือนหรือความต่างกันขนาดไหน? ส่วนตัวผมเห็นว่าทักษะด้านเทคนิค เช่น HTML JavaScript CSS นั้นยังเป็นพื้นฐานสำคัญ จะมีเพิ่มขึ้นมาก็เป็นพวก framework ในการพัฒนาใหม่ๆ เช่น Ruby on Rails (ตัวเล็กๆ อยู่ด้านขวาของคำว่า JavaScript ถัดจากคำว่า web app นะครับ) และ SEO ส่วนด้านการออกแบบ Photoshop Dreamweaver และ Illustrator ก็ยังเป็นที่นิยมอยู่เหมือนเดิม
แต่ที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือ soft skills อื่นๆ ครับ เช่นด้านภาษาอังกฤษ (อยู่ข้างๆ Photoshop) ก็เป็นทักษะที่ต้องการ และ การทำงานเป็นทีม (Team Player อยู่ด้านบน Dreamweaver) ก็เช่นกัน ซึ่งอาจเกิดจากเหตุผลสองประการ หนึ่งคือในเทอมนี้ผมให้นักศึกษาค้นหาเว็บหางานในพื้นที่ AEC ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย สองคืออาจเป็นความต้องการที่เพิ่มขึ้นจริงของตลาดด้วย

หมายเหตุทางเทคนิค

มีเทคนิคนิดหนึ่งสำหรับคนที่อยากจะลองใช้ wordle นะครับ ปกติระบบจะประมวลผลช่องว่างระหว่าง (เช่น web app) ให้กลายเป็นสองคำ วิธีการแก้ไขคือเปลี่ยนจากช่องว่างเป็นตัวอักษร ~ (เช่น web~app) เราก็จะได้คำที่ติดกันแล้วครับ จากภาพจะเห็นว่าเราสามารถเตรียมรายชื่อคำซ้ำๆ กันได้ และส่งเข้าไปในหน้าสร้าง wordle (www.wordle.net/create) ได้ทันที เพราะระบบจะปรับขนาดคำตามความถี่ให้เราโดยอัตโนมัติครับ

keywords

หมายเลขบันทึก: 546434เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2013 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 20:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณคะ เทคนิคการรวบรวมสถิติและนำเสนอเป็นภาพแบบนี้น่าสนใจดี ขออนุญาตแชร์บันทึกนี้ใน facebook นะคะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท