เรื่องเล่าระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๖


๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๖

เรียน เพื่อนครู ผู้บริหาร และผู้อ่านที่เคารพรักทุกท่าน

วันอังคารที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ ตื่นเช้าเพราะมีงานใหญ่ของเขตรออยู่ คือพิธีเปิดงานแข่งขันทักษะทางวิชาการ งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ ๖๓ ระดับเขตพื้นที่การศึกษา พิธีเปิดจัดที่โรงเรียนคลองบ้านพร้าว ผอ.สำเริง ทองมอญ เตรียมการไว้อย่างดี มีผู้บริหารและครูมากันหนาแน่นกว่าปีกลาย พิธีกรตัวน้อย ๆ เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษา พูดเป็นภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ พอกดปุ่มเปิดงาน เครื่องบินเล็กแสดงโชว์ได้ดีด้วยความอนุเคราะห์ของชมรมเครื่องบินเล็กปทุมธานี มีการแสดงของนักเรียนแต่ละกลุ่มเครือข่ายร่วม ๑๐ ชุด หลังพิธีเปิดเดินชมนิทรรศการ โครงงานของนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ อย่างทั่วถึง อากาศร้อนพอทนได้ นับว่ายังน้อยกว่าที่ฮานอย ขากลับมาแวะทานข้าวกลางวันที่ร้านต้อยซีฟู้ด หน้าวัดหงส์ปทุมาวาส มีอาหารทะเลสด ๆ ถูกกว่าที่อ่าวฮาลองหลายเท่าตัว แม้ปลาของที่นี่จะตายแล้ว แต่ก็สด ของที่โน่นแม้ยังว่ายน้ำได้ แต่ตอนกินก็ต้องทำให้ตายเหมือนกัน บ่ายทำงานที่ห้อง ผอ.กลุ่มนโยบายและแผน นำแบบแปลนรั้วสำนักงานที่จะสร้างใหม่มาให้ดู เท่าที่เห็นเสารั้วด้านหน้าต้องเพิ่มขนาดขึ้นอีกหน่อย เพราะแบบที่เราให้เขาไปเป็นแบบรั้วบ้าน วิศกรจึงคิดว่าเราจะเอาเท่าตัวอย่าง อย่างนี้ก็โทษเขาไม่ได้ ได้ทราบมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง นายอภิชาติ จิราวุฒิ เป็นเลขาธิการ กพฐ. นางสุทธศรี วงศ์สมาน เป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายศิริพงษ์ ห่านตระกูล ผวจ.ปทุมธานี เป็นอธิบดีกรมการปกครอง เอาเท่าที่คุ้นเคยกันตามสายงาน แค่สามท่าน ฝนตกหนักตลอดช่วงบ่าย ปีนี้ฝนมากแต่น้ำไม่มากเหมือนปี ๒๕๕๔ แต่ก็เต็มลำน้ำเจ้าพระยาเหมือนกัน

วันพุธที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ เต้ยมารับ ๐๖.๓๐ น. เดินทางไปสัมมนา อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา ภาคกลางที่โรงแรม อิมพีเรียล ควีนส์ ปาร์ค สุขุมวิท ๒๒ เขาจัดที่พักไว้ให้ที่โรงแรมวินเซอร์ ผมเตรียมเสื้อผ้าไม่ทันจึงเดินทางไป-กลับสะดวกกว่า นายจตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดท่านให้นโยบายการบริหารงานบุคคลที่จะต้องส่งผลต่อนักเรียนเป็นเป้าใหญ่ เพราะสังคมมักมีคำถามว่าครูได้แล้วเด็กได้อะไรเพิ่ม คงเป็นคำตอบที่ครูต้องแสดงต่อสังคมให้เห็นเชิงประจักษ์ เช่น ครูชำนาญการกับครูชำนาญการพิเศษ ทำให้คุณภาพของนักเรียนต่างกันอย่างไร แม้จะเป็นคำตอบที่ยากจะอธิบายแต่พวกเราก็ต้องตระหนักและมีความพยายามให้เกิดความต่าง เหมือนวิชาชีพหมอ หมอใหม่ หมอชำนาญการ และหมอเชี่ยวชาญเฉพาะโรค มีความแตกต่างในเรื่องความสามารถและประสิทธิภาพในการบำบัดรักษาผู้ป่วย จนเป็นที่ยอมรับในกลุ่มคนที่เป็นหมอด้วยกันและกลุ่มผู้ป่วย

                            

จากนั้น ดร.รัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการ ก.ค.ศ. บรรยายภารกิจของ สำนักงาน ก.ค.ศ. ตลอดจนผลงานที่ผ่านมาในรอบปี สำนักงาน ก.ค.ศ. เป็นหน่วยงานทางธุรการของ ก.ค.ศ. สิ่งที่น่าเห็นใจสำหรับหน่วยงานนี้ คือ ผู้เกี่ยวข้องม้กเข้าใจว่า สำนักงาน ก.ค.ศ. คือผู้บันดาลความสำเร็จและความล้มเหลวในการบริหารงานบุคคล จึงมักตกเป็นจำเลยของครูว่าทำให้ล่าช้าบ้าง สับสนบ้าง หากเข้าใจบทบาทตามกฎหมายแล้วก็จะทราบว่า สำนักงาน ก.ค.ศ. ไม่สามารถทำอะไรตามลำพังได้ ต้องเป็นมติของ ก.ค.ศ. ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ กรรมการที่ประกอบกันขึ้นเป็นองค์คณะล้วนแล้วแต่ทรงคุณวุฒิ ทรงเกียรติและทรงอำนาจทั้งสิ้น ยากที่สำนักงาน ก.ค.ศ. จะหันหางเสือให้เรือเบนทิศทางไปตามที่เห็นสมควรได้ จึงต้องปล่อยให้ชนหินโสโครกบ้าง เจอพายุบ้างจึงจะหันมาดูข้อมูลที่ควรจะเป็น. บ่ายพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี บรรยายธรรมเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมสำหรับผู้บริหาร ตลอดสองชั่วโมงที่ท่านแสดงธรรมไม่มีคนหลับสัปหงกกันเลย เพราะท่านมีเรื่องเล่าให้เราได้ตื่นได้ฮาตลอดเวลา ที่สำคัญได้เข้าใจหลักธรรมได้ง่ายขึ้นแต่ลีกซึ้ง หลักธรรมสำหรับผู้บริหารที่ท่านนำมาแสดงกับที่ประชุมวันนี้ คือ ทศพิธราชธรรม ๑๐ ซึ่งเป็นหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นคุณธรรมของผู้ปกครอง หรือ ผู้บริหาร มี ๑๐ ประการ ดังนี้

๑. ทาน หมายถึง การให้ และแบ่งปันให้คนอื่น คือ บำเพ็ญตนเป็นผู้ให้โดยมุ่งปกครองหรือทำงานเพื่อให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาและประชาชน เอาใจใส่ จัดสรรสวัสดิการ การให้การสงเคราะห์อนุเคราะห์ ให้ประชาชนได้รับประโยชน์สุข ความสะดวกปลอดภัยตลอดจนให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เดือดร้อนประสบทุกข์ และให้ความสนับสนุนแก่คนทำความดี

๒. ศีล หมายถึง รักษาความสุจริต คือ ประพฤติดีงาม สำรวมกายและวจี ประกอบการอย่างสุจริตประพฤติตนให้เป็นแบบอย่าง และเป็นที่เคารพนับถือของผู้ใต้บังคับบัญชาและประชาชนทั่วไป

๓. ปริจจาคะ หมายถึง บำเพ็ญกิจด้วยเสียสละ คือ สามารถเสียสละความสุขสำราญ เป็นต้นตลอดจนเสียสละชีวิตของตนได้เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

๔. อาชวะ หมายถึง ปฏิบัติภาระโดยซื่อตรง คือ ซื่อตรง ไร้มารยา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจไม่หลอกลวงลูกน้องและประชาชน

๕. มัททวะ หมายถึง ทรงความอ่อนโยนเข้าถึงคน คือ มีอัธยาศัย ไม่เย่อหยิ่งหยาบคายกระด้างถือองค์มีความงามสง่าเกิดแต่ท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่มนวล ละมุนละไม ควรได้ความรักความภักดีจากลูกน้องและผู้คนทั่วไป

๖. ตปะ หมายถึง พ้นจากการมัวเมาโดยเผากิเลส คือ ตัดกิเลสตัณหา มิให้เข้ามาครอบงำจิตใจ ระงับยับยั้งข่มใจได้ไม่หลงไหลหมกมุ่นในความสุขสำราญและมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียรทำกิจในหน้าที่ให้บริบูรณ์

๗. อักโกธะ หมายถึง ไม่โกรธ คือ ไม่เกรี้ยวกราด ไม่วินิจฉัยความ และกระทำการด้วยอำนาจความโกรธมีเมตตาประจำใจไว้ระงับความเคืองขุ่นวินิจฉัยความและกระทำการด้วยจิตอันสุขุมราบเรียบตามธรรม

๘. อวิหิงสา หมายถึง ไม่เบียดเบียน คือ ไม่หลงอำนาจ ไม่บีบคั้นกดขี่ มีความกรุณาไม่หาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาชญาแก่ลูกน้องและประชาชนผู้ใดด้วยอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง

๙. ขันติ หมายถึง ความอดทน คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำ อดทนต่อความเหนื่อยยาก อดทนต่อการบำเพ็ญกรณียกิจโดยชอบธรรม

๑๐. อวิโรธนะ หมายถึง ความไม่คลาดธรรม คือ การประพฤติอยู่ในธรรมอันถือประโยชน์สุขความดีงามของรัฐและราษฎร์เป็นที่ตั้งสิ่งใดที่ประชาราษฎร์ปรารถนาโดยชอบธรรมก็ไม่ขัดขืน การใดที่จะเป็นไปโดยชอบธรรม เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนก็ไม่ขัดขวาง วางตัวเป็นหลักหนักแน่นในธรรม คงที่ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหว เพราะถ้อยคำดีร้าย ลาภสักการะหรืออารมณ์ที่ปรารถนาและไม่ปรารถนา

วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๖ ออกจากบ้านพักประมาณ ๖.๓๐ น. ถึงโรงแรม ๐๘.๓๐ น. ภาคเช้า ดร.สุรัฐ ศิลปอนันต์ ประธาน กพฐ. ท่านได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ต่อด้วย ผู้แทนครูใน กคศ. และ อกคศ. ขึ้นอภิปรายถึงผลงานของตนเองที่ทำหน้าที่ใน ก.ค.ศ. ในรอบปีที่ผ่านมา เวลามีน้อยจึงได้ข้อมูลจากการอภิปรายไม่ครบถ้วน เหลือเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงก่อนเที่ยงคณะจากสำนักงาน ก.ค.ศ. ประกอบด้วยที่ปรึกษานายสมยศ มีเทศน์ ดร.รัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการ ก.ค.ศ. และ รองเลขาธิการ ทั้ง ๓ ท่าน ได้ขึ้นตอบคำถามเกี่ยวกับการบาิหารงานบุคคล ภาคบ่ายได้ยกเลิกปล่อยให้ผู้เข้าประชุมเดินทางกลับภูมิลำเนา

วันศุกร์ที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๖ เช้านี้เข้าสายไปนิดเพราะมีภารกิจที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ถนนแจ้งวัฒนะ นั่งทำงานแฟ้มเอกสาร สลับการรับแขกที่มาหารือ มาชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาในการปฏิบัติงาน ได้แนะนำให้ไปปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้ได้งานและได้คน ที่สำคัญต้องเปลี่ยนที่ตัวเองก่อน กำจัดจุดอ่อนเสริมสร้างจุดแข็ง ครูที่ไปประกวดเรียงความได้รางวัลจาก สพฐ. มาถ่ายภาพด้วย ก็ขอให้ฝึกนักเรียนให้เก่งเหมือนครูในเรื่องการเขียนเรียงความ ซึ่งถือเป็นสมรรถนะสมองในขั้น การสังเคราะห์ ที่เรียกว่าสังเคราะห์ข้อความ ใครมีสมรรถนะถึงขั้นนี้เรียกว่าใช้งานได้แล้ว เพราะขั้นถัดไปเป็นขั้นสุดท้ายคือการประเมินค่า ตามทฤษฎีของบลูม บ่ายทำงานต่อเนื่องไปท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ทีมจัดงานถอดประสบการณ์จากผู้เกษียณอายุราชการในปีงบประมาณ ๒๕๕๖ มาปรึกษาเรื่องสถานที่จัดงาน เดิมคิดจะไปถึงนครวัดนครธม เมืองเสียมเรียบ ของเขมร แต่ดูขั้นตอนและค่าใช้จ่ายแล้วเตรียมไม่ทัน จึงตัดสินใจจัดที่นครราชสีมาจะเป็นเขาใหญ่หรือในเมืองก็ได้ หลักการคือเชิญผู้เกษียณอายุราชการทั้งทุกสายงานเกือบ ๔๐ ท่านร่วมงานนี้

 กำจัด  คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต ๑

หมายเลขบันทึก: 546433เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2013 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2013 10:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท