กำกับดูแลด้วยคำถาม (เชิงสร้างสรรค์)


 

เนื่องจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีถึง ๕ วิทยาเขต    สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีมติให้มีสภาวิทยาเขต ซึ่ง มีอำนาจและหน้าที่

 

๑.               กำหนดเป้าหมาย นโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานด้านวิชาการ และวิจัย ของวิทยาเขต   ให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของมหาวิทยาลัย และจุดเน้นของวิทยาเขต

 

๒.               เสนอแนะแนวทางในการจัดหาเงินทุน และแหล่งเงินทุน   เพื่อให้วิทยาเขตดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์

 

๓.               พิจารณากำหนดทิศทางนโยบายการมีหลักสูตรที่เหมาะสม สำหรับวิทยาเขตนั้นๆ   และพิจารณาให้ความเห็นชอบการเปิด-ปิด การปรับปรุง หรือการยุบรวม หลักสูตรการศึกษา และรายวิชาสำหรับหลักสูตร ระดับปริญญาตรี และปริญญาโท  และเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบและทักท้วง   และพิจารณาเสนอความเห็นการเปิด-ปิด การปรับปรุง หรือการยุบรวม หลักสูตรการศึกษา และรายวิชาสำหรับหลักสูตร ระดับปริญญาเอก และเสนอสภามหาวิทยาลัยพิจารณาให้ความเห็นชอบ

 

๔.               แต่งตั้งกรรมการ อนุกรรมการ คณะบุคคลหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใด เพื่อปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวิทยาเขต

 

๕.               ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย

 

 

วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖ เป็นวันประวัติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์    ที่เป็นวันที่มีการประชุมสภาวิทยาเขตเป็นครั้งแรก    และเป็นการประชุมสภาวิทยาเขตหาดใหญ่   ที่ผมได้รับแต่งตั้งเป็นประธาน

นอกจากนั้น ยังมีความพิเศษ ที่เป็นการประชุมแบบใหม่   ที่น่าจะเรียกได้ว่า เป็นการทำหน้าที่กำกับดูแลโดยการตั้งคำถาม (Governance by Inquiry)    เพื่อให้ฉุกคิดภาพใหญ่ นโยบายที่ยังไม่ได้ครอบคลุม  สารสนเทศที่ยังไม่ได้นำมาใช้    และนโยบายของสภามหาวิทยาลัยที่ให้ไว้ แต่ยังไม่ได้มีการนำมาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม 

ผมถือเป็นการประยุกต์ใช้วิธีกำกับดูแลแบบ Generative   ที่ในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีการใช้กันนัก 

และอาจเรียกได้ว่า เป็นการประชุมแบบ “กลับทางห้องประชุม (Flip the Meeting Room)   คือใช้เวลาในการประชุมตั้งคำถาม   ให้ฝ่ายบริหารไปปรึกษาหารือกันหาคำตอบ แล้วปรุงเป็นนโยบาย และแนวทางดำเนินการอย่างสร้างสรรค์ และมีการกำกับดูแลที่ดี   นำมาเสนอสภาวิทยาเขต กำหนดเป็นนโยบายหรือมาตรการกำกับดูแล    เพื่อให้ มอ. เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาภาคใต้อย่างแท้จริง   และเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑   ไม่ใช่แห่งศตวรรษที่ ๒๐ หรือ ๑๙

คณะกรรมการได้ช่วยกันตั้งคำถามต่อเรื่อง แผนพัฒนามหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๖ - ๒๕๕๘  และเรื่อง การเปิดหลักสูตรใหม่ ปี ๒๕๕๗ - ๒๕๖๑   ในลักษณะของการตั้งคำถามเพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ของการทำหน้าที่สถาบันอุดมศึกษายุคใหม่ คือยุคปัจจุบัน   ซึ่งจะต้องไม่ตั้งหน้าตั้งตาขยายหลักสูตร โดยไม่พิจารณาคุณภาพและความเหมาะสมต่อยุคสมัยของหลักสูตรที่มีอยู่แล้ว    เพราะยุคนี้ไม่ใช่ยุคขยายระบบอุดมศึกษาอย่างที่ผ่านมา    แต่จะต้องเข้าสู่ยุค transition  หรือยุค consolidation ที่จะต้องกระชับคุณภาพ และความเหมาะสมต่อสังคม   โดยเฉพาะจะต้องคำนึงถึงความต้องการที่ชัดเจนของ demand-side   การสร้างงาน  การสร้างผู้ประกอบการ   และการมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างชัดเจน   รวมทั้งต้องมีข้อมูลภาพรวมของการผลิตบัณฑิตสาขานั้นๆ ของประเทศและภาคใต้ ในทุกสถาบันมาดูประกอบด้วย 

มติที่ชัดเจนในวันนี้คือ หลักสูตรใหม่ทุกหลักสูตร ต้องจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่ใช้การเรียนแบบ active learning เป็นหลัก    ไม่ใช้การบรรยายเป็นหลักอย่างในอดีตและปัจจุบัน    โดยมอบหมายให้รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา (รศ. ดร. จุฑามาส ศตสุข) ดำเนินการติดตามการจัดการเรียนการสอน และนำเสนอสภาวิทยาเขตทุกปี  

ผมเรียกสไตล์การทำหน้าที่ของสภาวิทยาเขตหาดใหญ่ตามแบบที่ตกลงกันว่า “Change Governance”

เราตกลงกันเชิงอุปมาว่า    กรรมการสภาวิทยาเขตช่วยกันตั้งคำถาม   จนฝ่ายบริหารเข้าใจความต้องการในภาพใหญ่ (macro)   แล้วจึงไปออกแบบ ตะแกรงร่อนหลักสูตร และการดำเนินการพัฒนาวิชาการอื่นๆ   เอามาเสนอสภา    เมื่อสภาอนุมัติตะแกรงแล้ว ฝ่ายบริหารเอาตะแกรงไปร่อนเอง    แล้วกลับมาบอกสภาทุกปีว่าใช้ตะแกรงนั้นแล้วได้ผลอย่างไรบ้าง    จะเสนอให้ปรับปรุงตะแกรงอย่างไรบ้าง

คือสภาวิทยาเขตหาดใหญ่ ทำหน้าที่แบบ Macro Governance และ Generative Governance   เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของอุดมศึกษา    จากอุดมศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๐   สู่อุดมศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑   จะได้ผลดีหรือไม่ดีแค่ไหน จะเป็นการเรียนรู้อย่างยิ่งยวดสำหรับผม    และจะนำมา ลปรร. เป็นระยะๆ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.ค. ๕๖

 

 

 

 

บรรยากาศในการประชุม บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์

 

ถ่ายจากอีกมุมหนึ่ง

 

 อาหารว่างขนมไทย (ข้าวเหนียว) อย่างนี้ผมชอบ

 

หมายเลขบันทึก: 545631เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2013 11:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2013 10:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
นิ่มอนงค์ งามประภาสม

น่าอิจฉา ม.สงขลาฯที่มีสิ่งดีดีเกิดขึ้น ในชีวิตินี้จะมีโอกาสได้เข้าร่วมเรียนรู้แบบนี้กัน บางไหมหนอ ได้อ่านเห็นความก้าวหน้า อย่างไรได้มีโอกาสติดตามอ่านผลงาน ก้อชื่นใจในระดับหนึ่ง ขอชื่นชมอาจารย์ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท