บทความวิชาการ โรคไข้เลือดออก


                                                 บทความวิชาการ  โรคไข้เลือดออก

                                                    นายอานนท์ ภาคมาลี (หมอแดง)

                               

 

ตั้งแต่ เดือนมกราคม กรกฎาคม 2556 กองระบาดวิทยา ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก (DF-DHF, DSS) คาดว่าปีนี้จะมีรายงานผู้ป่วยประมาณหนึ่งแสนรายขึ้น (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2556 พบผู้ป่วย 87,533 ราย เสียชีวิต 83 ราย) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการควบคุมโรคในอีก 4 - 5 เดือนข้างหน้า ไม่ว่าแพทย์จะวินิจฉัยผู้ป่วยเป็นไข้เด็งกี่ (DF) ไข้เลือดออก (DHF) หรือไข้เลือดออกช็อก (DSS) จะต้องควบคุมโรคเหมือนกัน เพราะผู้ป่วยเหล่านี้เกิดจากการติดเชื้อเด็งกี่ไวรัส โดยมียุงลายเป็นพาหะเหมือนกัน ต่างกันเพียงอาการของผู้ป่วยเท่านั้น

โรคไข้เลือดออก ยังไม่มีวัคซีนป้องกันในขณะนี้ ในอนาคตอาจจะมีวัคซีนใช้ แต่อาจจะต้องใช้เวลา ดั้งนั้น การป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกในขณะนี้ จำเป็นต้องควบคุมและทำลายพาหะของโรคให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

โรคไข้เลือดออก ในประเทศไทย มียุงลายบ้าน และยุงลายสวนเป็นพาหะ ยุงลายบ้านเป็นพาหะที่สำคัญ ประมาณร้อยละ 95 ส่วนยุงลายสวนซึ่งชอบเพาะพันธุ์ตามภาชนะนอกบ้าน ส่วนใหญ่เป็นภาชนะที่เกิดจากธรรมชาติ หรือภาชนะที่คนทำขึ้นมารอบๆ บ้าน ยุงลายสวนชอบกินเลือดสัตว์หรือคนนอกบ้าน และพบในบางพื้นที่ จึงไม่ได้เป็นพาหะที่สำคัญของโรคไข้เลือดออก

การระบาดของโรคขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ คือ

1.            คน ซึ่งได้แก่ กลุ่มอายุ ภูมิคุ้มกันโรค และการได้รับเชื้อในอดีต

2.            ชนิดของเชื้อเด็งกี่ไวรัสที่ระบาดในพื้นที่นั้น ในปีนั้น และในขณะนั้น

3.            องค์ประกอบอื่นๆ ได้แก่ ความชุกชุมของยุงลาย และลักษณะความหนาแน่นของชุมชนเขตเมือง หรือเขตชนบท เป็นต้น

การแพร่ของโรคไข้เลือดออก จากหมู่บ้านหนึ่งไปหมู่บ้านหนึ่ง ไม่ได้เกิดจากยุงลายจากหมู่บ้านนี้บินไปอีกหมู่บ้านนั้น เพราะยุงลายบินระยะใกล้ประมาณ 100-200 เมตร เท่านั้น แต่การแพร่โรคเกิดจากคนมีเชื้อเด็งกี่ไวรัสเข้าไปในพื้นที่ที่มีพาหะของโรค จึงทำให้เกิดการถ่ายทอดโรคขึ้น

ยุงลายบ้าน พบได้ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ ทั้งในเขตเมืองและชนบท ชอบกินเลือดคน ออกหากินตั้งแต่เช้าจรดเย็น แต่จะชอบออกหากินมากในช่วง 8.00-17.00 . เพราะช่วงเวลาดังกล่าวอากาศอบอ้าว และขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่นๆ อีก จึงทำให้พบยุงลายกินเลือดในเวลาดังกล่าวมาก ยุงลายตัวเมียจะกินเลือดประมาณ 3-4 วันต่อครั้ง แต่ถ้ากินไม่อิ่มจะกินต่อไปจนอิ่ม หลังจากกินเลือดแล้ว 3 วัน จะวางไข่ หลังจากนั้นจะออกหากินอีกครั้งหนึ่ง เป็นดังนี้ตลอดชีวิต ตามธรรมชาติยุงลายมีอายุประมาณ 1-2 เดือน แต่ในห้องทดลองมีอายุยืนยาว 60-102 วัน

แหล่งที่ยุงลายบ้าน ชอบวางไข่มากที่สุด ได้แก่ ขาตู้กันมด โอ่งน้ำใช้ โอ่งน้ำดื่ม ถังซีเมนต์ห้องน้ำ ภาชนะอื่นๆ โอ่งซีเมนต์ขนาดใหญ่ และถังเก็บน้ำฝน ตามลำดับ แต่เมื่อพิจารณารวมถึงสัดส่วนแต่ละชนิดของภาชนะในประเทศไทยแล้ว อันดับความสำคัญของภาชนะที่จะต้องกำจัดลูกน้ำยุงลายในเขตเทศบาลเมือง ได้แก่ โอ่งน้ำใช้ ขาตู้กันมด ถังซีเมนต์ห้องน้ำ โอ่งน้ำดื่ม ภาชนะอื่นๆ ทั้งภายนอก-ในบ้าน และโอ่งซีเมนต์ขนาดใหญ่ ตามลำดับ

ในเขตเทศบาลตำบล เมือง นคร มหานคร ได้แก่ โอ่งน้ำใช้ ขาตู้กันมด โอ่งน้ำดื่ม ภาชนะอื่นๆ ภายนอก-ในบ้าน ถังซีเมนต์ห้องน้ำ และโอ่งซีเมนต์ขนาดใหญ่ ตามลำดับ

ในเขตชนบท ได้แก่ โอ่งน้ำใช้ โอ่งน้ำดื่ม ขาตู้กันมด ภาชนะอื่นๆ ภายนอก-ในบ้าน ถังซีเมนต์ห้องน้ำ และโอ่งซีเมนต์ขนาดใหญ่ ตามลำดับ

ยุงลายชอบวางไข่ในน้ำสกปรกมากกว่าน้ำสะอาด แต่น้ำสกปรกจะต้องใสและอยู่ในภาชนะทั้งที่คนทำขึ้น หรือที่เกิดจากธรรมชาติเท่านั้น ท่อระบายน้ำแบบเปิดที่ทำด้วยคอนกรีต อยู่ใกล้บ้าน และอยู่ในที่ร่มก็เป็นที่วางไข่ได้ แต่มีจำนวนน้อยมาก ยุงลายจะไม่วางไข่บนผิวน้ำ แต่จะวางไข่ที่ผิวภายในของภาชนะเหนือระดับน้ำเล็กน้อย

ในน้ำสกปรก มีกลิ่นดึงดูดให้ยุงลายตัวเมียไปวางไข่ น้ำสกปรกมีสารอินทรีย์ ตัวไรน้ำหรือแบคทีเรียจำนวนมาก ซึ่งเป็นอาหารของลูกน้ำ ทำให้ลูกน้ำเจริญเติบโตได้เร็วกว่า และขนาดของยุงใหญ่กว่ายุงที่อยู่ในน้ำสะอาด ที่พบลูกน้ำในน้ำสะอาดมากเพราะภาชนะเก็บน้ำของคนไทยเก็บน้ำสะอาดไว้ใช้

ความชุกชุมของยุงลาย โดยดูจากดัชนีของยุงลาย พบว่า ในฤดูร้อน และฤดูหนาว ค่า BI ใกล้เคียงกัน แต่ในฤดูฝน ค่า BI จะสูงกว่าฤดูร้อนและฤดูหนาว 0.6 เท่า ในปีแรก และเพิ่มเป็น 0.8 เท่า ในปีที่สอง

การระบาดของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย เริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นฤดูฝน (พฤษภาคม) ไม่ใช่เป็นเพราะโรงเรียนเปิดเทอม แต่เป็นเพราะความชุกชุมของยุงลายสูงขึ้น และอาจเป็นเพราะเด็งกี่ไวรัสแพร่จำนวนได้มากและรวดเร็วในตัวยุง เพราะความชื้นและอุณหภูมิในฤดูฝน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ

จากการสอบสวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกส่วนใหญ่พบการติดเชื้อที่บ้าน ในโรงเรียนพบน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับบ้านและโรงพยาบาล ซึ่งมักจะมีข่าวการเกิดโรคแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในหอผู้ป่วยในของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสมอๆ นอกจากจะต้องกำจัดยุงลายในบ้านและโรงพยาบาลแล้ว ยังต้องกำจัดในโรงเรียนด้วย เพื่อว่าต่อไปในอนาคตเด็กนักเรียนที่จะเติบโตเป็นหัวหน้าครอบครัวจะได้นำความรู้ในการกำจัดยุงลายไปกำจัดที่บ้านของตนเองด้วย

 

 

การกำจัดหรือควบคุมลูกน้ำยุงลาย  ที่สำคัญ มี  3 วิธี คือ

1.            การกำจัดทางกายภาพ เช่น การปิดฝาภาชนะให้มิดชิด ใช้กับดักลูกน้ำ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์  ขัดผิวภายในของภาชนะและถ่ายเทน้ำทุก 7 วัน (แต่ห้ามเทน้ำในแหล่งน้ำ หรือท่อระบายน้ำ เพราะไข่และลูกน้ำจะเจริญเติบได้ดีในแหล่งนั้นๆ) วิธีทางกายภาพเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ทำยากที่สุด เพราะประชาชนไม่ค่อยนิยมและให้ความร่วมมือ

2.            การกำจัดทางชีววิทยา ด้วยการใช้สิ่งที่มีชีวิตกำจัดลูกน้ำ เช่น ปลากินลูกน้ำ มวนต่างๆ แบคทีเรีย (BTI) ดักแด้ของแมลงปอ ลูกน้ำยุงยักษ์ เป็นต้น แต่มักจะไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร

3.            การกำจัดด้วยสารเคมี (larvicide) มีหลายชนิด แต่ที่ได้ผลดีที่สุด คือ สารทีโมฟอส หรือปัจจุบันเรียกว่า สารเคมีกำจัดลูกน้ำ หรือที่รู้จักกันในชื่อทรายอะเบท สารเคมีชนิดนี้กำจัดลูกน้ำได้ดี ในขนาดความเข้มข้น 1 ในล้านส่วน หรือทรายอะเบท 1 กรัม ต่อน้ำ 10 ลิตร ใส่ 1 ครั้ง สามารถกำจัดลูกน้ำยุงลายได้ 1-3 เดือน แต่ถ้าพบลูกน้ำแสดงว่าฤทธิ์ของสารเคมีหมดแล้ว แต่ถ้าไม่มีการถ่ายเทน้ำสามารถออกฤทธิ์ได้นานกว่า 3 เดือน ทรายอะเบทไม่ทำลายตัวโม่ง แต่ถ้าเกิดเป็นยุงแล้วจะมีอายุไม่ยืน

สารเคมีกำจัดลูกน้ำยุงลายชนิดนี้ มีความเป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต่ำมาก เมื่อเทียบกับสารเคมีชนิดอื่นๆ   การจะเลือกใช้วิธีใดจะต้องพิจารณาชนิดของภาชนะให้เหมาะสมกับวิธีนั้นๆ ด้วย

การควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกด้วยวิธีการปฏิบัติอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการกำจัดยุงพาหะตัวเต็มวัย ด้วยการฉีดพ่นสารเคมี ด้วยเครื่องพ่น น้ำยาล้างจาน แชมพู ไม่ช๊อตยุงไฟฟ้า กับดักยุงแสงไฟ ถังดักยุงตัวเต็มวัย รวมทั้งใช้เกลือแกง ผลมะกรูด ปูนแดง น้ำขี้เถ้า สวิง กับดักยุง ถุงทรายมหีศจรรย์ ถุงทรายพิชิตลูกน้ำ และอิฐมอญเผาไฟ สเปรย์หรือธูปตระไคร้หอม และวิธีอื่นๆอีกมากมายตามภูมิปัญญาพื้นบ้าน

การกำจัดตัวแก่ยุงลายโดยการใช้เครื่องพ่นซึ่งมี 2 รูปแบบ คือ

1.            การพ่นหมอกควัน วิธีนี้ได้ผลในการกำจัดตัวแก่น้อย ประมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์ ถ้าจะให้ได้ผลดี จะต้องพ่นบ่อยครั้ง ทุก 2-3 วัน และต้องปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดขณะพ่น และต้องศึกษาชนิดของยาฆ่าแมลงด้วย

2.            การพ่นฝอยละออง (ULV) เป็นวิธีการกำจัดตัวแก่ได้ดีที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับยาฆ่าแมลงด้วย การพ่น ULV ด้วยเครื่องขนาดใหญ่บนรถบรรทุกได้ผลไม่ดี เพราะยาฆ่าแมลงเข้าไปในบ้านได้น้อย และสิ้นเปลืองมาก เครื่องพ่น ULV ขนาดเล็กแบบสะพายหลังดีกว่าชนิดมือถือ เพราะใช้เวลาน้อย และปลอดภัยแก่ผู้พ่นยามากกว่า

การกำจัดตัวแก่ด้วยยาฆ่าแมลงชนิดกระป๋องที่ขายตามท้องตลาด เหมาะกับพื้นที่ขนาดเล็กภายในบ้านเท่านั้น ไม่เหมาะกับการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ เพราะสิ้นเปลืองมาก แต่ถ้าผู้ใดมีเงินมากจะซื้อไว้ภายในครอบครัวก็น่าจะทำได้

การพ่นหมอกควัน หรือพ่น ULV จะต้องพ่นในบ้าน จะเป็นเวลาใดก็ได้ที่ประชาชนยอมรับ เพราะยุงลายบ้านอาศัยอยู่ในบ้านเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าจะพ่นด้วยเครื่องพ่นขนาดใหญ่ที่ติดตั้งบนรถบรรทุก จะต้องพ่นในขณะที่ลมไม่แรง และเวลาเช้าหรือเย็น เท่านั้น

การกำจัดลูกน้ำยุงลายเพียงอย่างเดียว หรือการกำจัดตัวแก่เพียงอย่างเดียวใช้เวลานานและบ่อยครั้ง สิ้นเปลืองแรงงานมาก ถ้าใช้วิธีผสมผสานโดยการกำจัดลูกน้ำก่อน 1-3 วัน แล้วกำจัดตัวแก่จะประหยัดแรงงานได้มาก และได้ผลดี

ขั้นตอนในการพยากรณ์โรค

1.            การพยากรณ์การระบาดในระยะไกล ด้วยการใช้ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคในระดับจังหวัด อย่างน้อย 8-10 ปี (ซึ่งทุกจังหวัดมีอยู่แล้ว) วิเคราะห์การระบาด ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นแบบระบาดปีเว้นสองปี บางจังหวัดอาจมีรูปแบบแตกต่างได้ การพยากรณ์ระยะไกลนี้จะบอกได้ว่าปีนี้จะมีการระบาดรุนแรงหรือไม่ (ถ้ามีการระบาดรุนแรงควรทุ่มเททรัพยากรในการป้องกันควบคุมโรคให้มาก) แล้วเลือกพื้นที่เสี่ยงสูงต่อการระบาด ตามลำดับต่อไป

2.            การพยากรณ์การระบาดระยะใกล้ ด้วยการเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด ถ้าพบว่าในเดือนมกราคม-เมษายน มีผู้ป่วยมากกว่าค่ามัธยฐาน 5-7 ปี แสดงว่าการระบาดจะรุนแรง ระยะนี้มีเวลาพอที่จะกำจัดลูกน้ำและตัวแก่ได้ทันก่อนฤดูฝนจะมาถึง

ในประเทศไทย พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกตลอดปี แต่ในเดือนมกราคม เมษายน ของทุกๆ ปี จะมีผู้ป่วยไม่มาก จึงควรเป็นช่วงเวลาป้องกันโรค ในเดือนพฤษภาคม ตุลาคม เป็นช่วงที่มีการระบาดทุกปี จึงเป็นช่วงเวลาของการควบคุมโรค

ขั้นตอนในการป้องกันโรค

1.            หลังจากพยากรณ์การระบาดและเลือกพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดรุนแรง ในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัดแล้ว ออกไปกำจัดลูกน้ำและตัวแก่ เพื่อลดจำนวนยุงลายให้ต่ำที่สุดก่อนฤดูฝนจะมาถึง จะทำให้การระบาดลดความรุนแรงลงมาก

2.            ทำการเฝ้าระวังผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เมื่อพบผู้ป่วยจะต้องรายงานให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ และออกไปกำจัดตัวแก่ทันที ตามด้วยการกำจัดลูกน้ำในช่วงเวลาเดียวกัน จะลดการระบาดลงได้มากในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึง

ขั้นตอนในการควบคุมโรค

1.            เฝ้าระวังผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เมื่อพบผู้ป่วยจะต้องรายงานให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ ภายใน 24      ชั่วโมง แล้วออกไปกำจัดตัวแก่ทันทีในบ้านผู้ป่วย และรอบบ้านผู้ป่วย รัศมี 50 - 100 เมตร ถ้าชุมชนหนาแน่นต้องพ่นยาให้กว้าง ถ้าชุมชนกระจายไม่ต้องพ่นให้กว้างก็ได้ (ขึ้นอยู่กับสถานที่) ตามด้วยการกำจัดลูกน้ำยุงลาย

2.            ควรทำแผนที่บ้านผู้ป่วย (spot map) ในระดับหมู่บ้าน คอยติดตามอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ ถ้าพบว่าโรคกำลังระบาดไปในทิศทางใด หรือหมู่บ้านใด การสกัดทิศทางการระบาดโดยการไปกำจัดยุงลายล่วงหน้าจะทำให้การระบาดไม่แพร่ออกไปในวงกว้าง

หลังจากเดือนตุลาคมไปแล้ว ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะเริ่มลดลง แต่การกำจัดลูกน้ำยุงลายยังคงต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อให้การควบคุมโรคไข้เลือดออกเป็นไปอย่างยั่งยืนตลอดไป

มาตรการสำหรับป้องกันควบคุมโรคในอนาคต สำหรับจังหวัด และส่วนกลาง

1.            ต้องมีการนิเทศ ติดตาม และประเมินผล จากส่วนกลางและภูมิภาค

2.            ต้องมีเสนาธิการการวางแผนป้องกันควบคุมโรค (focal point) ระดับจังหวัด และอำเภอ

3.            จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ งบประมาณให้เพียงพอ

4.            การป้องกันโรคให้ประชาชนมีส่วนร่วม การควบคุมโรค เจ้าหน้าที่เป็นแกนนำ

5.            สร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังและการควบคุมโรค ภายใน 24 ชั่วโมง

6.            เลือกใช้สารเคมี วัสดุ อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพและราคาที่เหมาะสม

7.            ใช้วิธีผสมผสาน และควรมีสารเคมีกำจัดลูกน้ำยุงลายไม่น้อยกว่า ร้อยละ 70 (ในสถานการณ์ปัจจุบัน)

8.            พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้เรื่องการควบคุมยุงลาย แต่ละระดับ

9.            ต้องกำจัดลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

10.    เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องมีความจริงใจ และตั้งใจในการควบคุมโรค

 

แนวทางในการเลือกหมู่บ้านเสี่ยงสูงต่อการระบาดของโรคไข้เลือดออก เรียงอันดับความสำคัญ

1.            หมู่บ้านที่ไม่เคยเกิดโรค แต่อยู่ใกล้กับพื้นที่เคยเกิดโรคเมื่อ 1-3 ปีที่ผ่านมา

2.            หมู่บ้านที่ไม่เคยเกิดโรค และเป็นชุมชนหนาแน่น

3.            หมู่บ้านที่มีการคมนาคมจากชุมชนใหญ่สะดวก และพื้นที่ที่มีการไปมาหาสู่กันเสมอ

4.            หมู่บ้านที่มีความชุกชุมของยุงลายสูง

5.            หมู่บ้านที่มีผู้ป่วยหรือมีการระบาดในปีก่อน หรือหมู่บ้านที่มีผู้ป่วยไม่ติดต่อกัน 3 ปี

อำเภอ หรือจังหวัด ที่ไม่สามารถกำจัดยุงลายอย่างมีประสิทธิภาพได้ทุกหมู่บ้าน ควรจะใช้ระบาดวิทยาในการป้องกัน ควบคุมโรค จะลดงบประมาณและแรงงานได้มาก แต่จังหวัดนั้นจะต้องมีระบบข้อมูล และข้อมูลจากการเฝ้าระวังโรคที่ดี มีข้อมูลต่อเนื่องกันหลายปี สำหรับการพยากรณ์ว่าปีใดจะมีการระบาดรุนแรง ควรมีข้อมูลมากกว่า 8 - 10 ปี (secular trend) ในระดับอำเภอ และจังหวัด สำหรับการพยากรณ์หมู่บ้านที่มีความเสี่ยงสูงนั้นควรมีข้อมูลการเฝ้าระวังโรคในระดับหมู่บ้าน อย่างน้อย 5 ปี ดังนั้น จังหวัดจึงควรพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคให้ได้มาตรฐานต่อไป

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 545617เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2013 07:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 09:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอให้ปีนี้อยากระบาดมากเลย 

อยากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือประสาน การประชาสัพันธ์และกำจัดยุงลาย

อ่านเจอ"ยุงชอบกัดคนไหนมากกว่า"

Plug in Bug Guard

ผลิตภัณฑ์เครื่องไล่ยุงชนิดน้ำจากธรรมชาติ 100 %
*** ปลอดภัยสำหรับเด็กทารก สตรีตั้งครรภ์ ***

เครื่องไล่ยุงร้ายไม่ให้รบกวนลูกน้อยที่คุณรัก ไม่ใช่แค่ลูกรักของคุณจะปลอดภัย แต่ทั้งบ้านของคุณจะปลอดภัยจากยุงร้ายและสารเคมี มั่นใจหายห่วงเพราะสารไล่ยุงนี้สกัดมาจากธรรมชาติล้วนๆ ทำให้ใช้ได้ในเด็กทารก โดยที่ไม่มีอันตรายใดๆ ด้วยสารสกัดจาก
1. Citronella oil (น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้)
2. Peppermint oil (ใบสาระแหน่)
3. Lavender oil (ดอกลาเวนเดอร์)
4. Wildred tomato extract
*ผ่านการทดสอบและรับรองตามมาตรฐาน
*เลขจดแจ้ง อย. วอส.66/2559
*ผ่านการเทสจากห้องแล๊ป **มีผล test report**

เพราะฉนั้นรับรองได้ว่าปลอดภัย 100% ใช้ได้แม้เด็กทารก ทั้งบ้านจะปลอดภัยจากยุงลาย ไข้เลือดออก และไวรัสซิก้า ป้องกันกันไว้ก่อน ด้วยความปรารถนาดี
-------------------------------------------------------

***จำหน่ายทั้งปลีกและส่ง รับตัวแทนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ***
สนใจติดต่อ สอบถามได้ที่
Tel : 0926044409
ID Line: onemyplus
ส่งของทุกวัน จันทร์-อาทิตย์
จำหน่ายทั้งปลีก - ส่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท