เยี่ยมปราชญ์ชาวบ้านลงมือปฏิบัติจริงที่บึงสามัคคี


ต้องปรับที่วิธีคิดของตนเองก่อน จากนั้นๆ ก็ค่อย พูดคุยสื่อสาร ทำความเข้าใจกับคนสมาชิกครอบครัวที่อยู่รอบข้างตัวเราให้เข้าใจกับแนวคิดของเราเสียก่อน

 

            เยี่ยมปราชญ์ชาวบ้านที่ลงมือปฏิบัติจริงที่บึงสามัคคี เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๖ ผมและทีมงานมีโอกาสไปเยี่ยมปราชญ์ชาวบ้าน ที่ชื่อคุณลุงเฉลิม พีรี อยู่บ้านเลขที่ ๗๕ หมู่๓ บ้านใหม่ ตำบลบึงสามัคคี อำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร ปัจจุบันมีอายุ ๖๑ ปี โดยเริ่มแรกคุณลุงเฉลิม ได้เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมนั้น ประกอบอาชีพทำไร่อ้อยเพื่อส่งโรงงาน และ ปลูกข้าวโพดฝักอ่อน เพื่อส่งโรงงาน แต่ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนระบบการผลิต โดยแบ่งพื้นที่ทำการเกษตรของตนเอง มาปลูกส้มโอ  หากจะพูดง่ายๆก็คือ ได้ทำกิจกรรมพืชเชิงเดี่ยวนั่นเอง พอทำกิจกรรมปลูกพืชเชิงเดี่ยวไปหลายปี ก็พบว่า ยังมีภาระหนี้สินอยู่ตลอดเวลา เพราะต้อง จัดซื้อปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ยเคมี และยาเคมีมาใช้ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรของตนเองอยู่ตลอด อีกทั้งไม่สามารถที่จะควบคุมการใช้จ่ายของครอบครัวได้

           ช่วงราวปี พ.ศ. ๒๕๕๐ มีหน่วยงานทางภาครัฐ ได้จัดทัศนศึกษาดูงาน โครงการตามแนวพระราชดำริ ที่ห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่  ได้ทราบถึงแนวทางการปรับปรุงบำรุงดินในสภาพป่าที่เสื่อมโทรม พร้อมมีการอนุรักษ์ดินและน้ำ จึงเกิดจุดเปลี่ยนที่เกิดแรงจูงใจให้อยากปรับปรุงกิจกรรมของตนเอง ให้มาอนุรักษ์ดินและน้ำ ในขณะเดียวกัน ก็ได้น้อมนำเอา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน มาปรับวิธีคิด พร้อมกับนำความรู้ที่ได้มาปรับปรุงพื้นที่ของตนเองทันที ในขณะที่เริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยน ก็ค้นพบว่า การที่เราจะปรับเปลี่ยนอะไรนั้น ต้องปรับที่วิธีคิดของตนเองก่อน  จากนั้นๆ  ก็ค่อย พูดคุยสื่อสาร ทำความเข้าใจกับคนสมาชิกครอบครัวที่อยู่รอบข้างตัวเราให้เข้าใจกับแนวคิดของเราเสียก่อน จากนั้นก็ต้องลงมือทำทันที เริ่มต้นลงมือทำสิ่งที่ง่ายๆไปก่อน แล้วค่อยๆขยายทำสิ่งที่ยากขึ้นเป็นลำดับ

    

    

    

            ปัจจุบันนี้ครอบครัวคุณลุงเฉลิม ยังคงกิจกรรมเดิม คือปลูกอ้อยไว้ส่วนหนึ่ง แต่ได้ปรับปรุงสวนส้มโอที่มีอยู่เดิม ให้เป็นส้มโอปลอดภัย แต่มุ่งสู่การผลิตส้มโอแบบอินทรีย์ คือมีเป้าหมายพร้อมเริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนจากการใช้ปุ๋ยเคมี ยาเคมี มาเป็นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ที่เป็นมูลสัตว์ที่ลี้ยงสุกร ไก่ เป็ด  โดยเฉพาะการเลี้ยงหมูหลุม จะได้ปุ๋ยอินทรีย์ปริมาณมากพอ ที่จะนำไปใส่ส้มโอ  จากนั้นก็มีการผลิตน้ำส้มควันไม้และการผลิตน้ำหมักจากพืชสมุนไพรที่หาได้ในท้องถิ่น มาใช้ทดแทนการใช้สารเคมี  นอกจากนั้นยังได้ปรับสวนส้ม เป็นการปลูกไม้ยืนต้นแบบผสมผสาน ร่มเย็น ให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด

  

            จาการที่ทีมงาน ได้ลงไปพูดคุยกับคุณลุงเฉลิม ก็ทำให้เราได้ทราบว่า เป็นบุคคลที่มีความรู้ ด้านการเกษตรอย่าง ที่รู้จริง พร้อมเป็นคนที่ปฏิบัติจริง เป็นคนที่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังได้ปรับปรุงพื้นที่รอบๆที่อยู่อาศัย และปรับปรุงสวนส้มโอให้เป็นฐานการเรียนรู้หลายฐาน ปัจจุบันได้เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นแบบอย่างในชุมชน และมีผู้สนใจ มาขอศึกษา และมาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่องในปีหนึ่งไม่น้อยกว่าพันคนแล้วครับ นอกจากนั้นยังมีหน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้มาประสานงานแห่งความร่วมมือ เพื่อพัฒนากิจกรรมของลุงเฉลิม เป็นศูนย์การเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ อีกด้วย  ซึ่งลุงเฉลิม ได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานภาคี พร้อมได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร หลายต่อหลายครั้ง พร้อมยังได้นำความรู้กลับมาพัฒนาฟาร์มของตนเอง จนเป็นที่สนใจของคนที่อยู่ในชุมชนและนอกชุมชน ได้มาศึกษาดูงานและขอรับความรู้อย่างต่อเนื่อง

  

              แต่ก็มีกิจกรรมในฐานการเรียนรู้ที่สนใจ คือฐานการขยายพันธุ์พืชแบบควบแน่น ซึ่งผู้เขียนได้ขออนุญาตคุณลุงเฉลิม นำองค์ความรู้การขยายพันธุ์พืชแบบควบแน่น มาแบ่งปันในBlog gotoknow ด้วย โดยมีวิธีการและขั้นตอนมีดังนี้ครับ 

              ขั้นที่ ๑ เริ่มต้นเลือกยอดต้นไม้ที่ต้องการจะขยายพันธุ์ ขีดเส้นใต้ว่า ยอดของต้นไม้  เพราะไม่จำเป็นต้องเป็นกิ่งแก่ แบบที่ใช้ปักชำกันทั่วไป ตัดด้วยกรรไกรหรือมีดคมๆ ให้รอยตัดเป็นแนวเฉียงจะเหมาะสมที่สุด การเลือกยอดไม้ เลือกกิ่งที่มีตาออกที่กิ่งแล้ว ระวังอย่าให้เปลือกบริเวณที่ตัดฉีก หรือมีแผล เพราะจะทำให้รากบริเวณนั้นไม่งอก หรืองอกแต่ไม่ดี

              ขั้นที่ ๒ นำมาปักชำในดินที่เตรียมไว้ แต่ต้องเป็นดินที่ผ่านการเตรียมพร้อม ตามแบบฉบับของลุงเฉลิม พีรี คือดินที่ขุดลึกลงไปจากหน้าดิน ประมาณ ๑๐ – ๒๐ ซม. ไม่ใช้หน้าดินหรือดินผสมปุ๋ยใดๆ

              ขั้นที่ ๓ นำดินที่ได้มาพรมน้ำให้พอชุ่ม หากสังเกตง่ายๆพอกำดินแล้งปั้น พอติดมือ นำดินมาใส่ภาชนะที่เราจะใช้ชำยอดไม้ ควรใช่ถ้วยใสขนาดประมาณ ๕-๘ ออนซ์ ให้สามารถมองเห็นได้ว่ารากจากยอดต้นไม้ งอกออกมาหรือยัง กดดินใส่ถ้วยให้แน่นพอประมาณ แต่อย่าให้แน่นจนเกินไป

             ขั้นที่ ๔ ใช้ไม้แหลมกดลงไปในดินให้ลึกประมาณ ๓/๔ ของความสูงของแก้วหรือถ้วยใส สำหรับเป็นรูเพื่อปักยอดกิ่งไม้ลงในดิน

             ขั้นที่ ๕  นำยอดกิ่งไม้ที่ต้องการขยายพันธุ์ปักลงในรูที่เจาะไว้ แล้วใส่ดินกลบ กดให้แน่นพอประมาณ

             ขั้นที่ ๖  นำถุงพลาสติกใสขนาดกำลังพอเหมาะที่สามารถคลุมยอดกิ่งไม้ที่จะชำได้หมด ครอบลงบนยอดกิ่งไม้ แล้วทำการมัดปากถุงกับปากแก้วหรือถ้วยใสด้วยยางวง สำหรับยอดไม้ที่มีหนาม ควรริดหนามตามกิ่งยอดไม้ออกให้หมดเสียก่อน เพราะหนามอาจจะทำให้ถุงพลาสติกเป็นรู กระบวนการ ควบแน่น ที่เร่งตาเร่งใบจะไม่สมบูรณ์

             ขั้นที่ ๗ นำถุงที่รัดยางสนิทแล้วไปวางเรียงไว้ในที่ร่มรำไร หรือในเรือนเพาะชำ สังเกตดูจะเห็นว่าในถุงมีไอน้ำจากการคายน้ำของใบเกาะอยู่ทั่วถุง  อันนี้แหละสำคัญเพราะอากาศที่ปิดและไอน้ำจะทำให้กิ่งชำมีน้ำตลอด และไอน้ำจะเร่งตาให้ออกใบใหม่ขึ้นมา เร่งให้ใบเปิด เพื่อรับแสง จะส่งผลให้เกิดการสังเคราะห์เป็นอาหาร เร่งให้กิ่งเกิดราก ทิ้งไว้ประมาณ ๑๕ วัน จะเกิดรากงอกออกมาให้เห็น โดยสังเกตง่ายๆก็หมั่นมองดูที่แก้วหรือถ้วยใสนั่นแหละ

             ขั้นที่ ๘ พอมองเห็นรากออกมีสีขาวๆ จนเป็นรากสีเขียวอมน้ำตาล ก็จะถึงเวลาเปิดถุง มีขั้นตอนตามแบบนักวิจัยชาวบ้านหรือปราชญ์ชาวบ้าน คนเก่งโดยทำการ เจาะช่องที่ถ้วยหรือแก้ว แล้วนำไปแช่น้ำ ดินในแก้วหรือถ้วย จะดูดน้ำเข้าไป เอาแค่พอประมารชักครึ่งหนึ่งของระดับดินในถ้วยหรือแก้วก็พอ จากนั้นแกะถุงออก แต่เพื่อให้กิ่งที่เคยอยู่ในอากาศปิดได้มีโอกาสปรับตัว เมื่อทำการแกะถุงออกแล้วก็ให้กลับถุงเอาถ้วยที่มีกิ่งชำใส่ในถุง แต่คราวนี้ไม่ต้องปิดมักด้วยยางวง แล้วก็นำไปวางเรียงไว้ในร่มรำไร อีกประมาณ ๗ วัน ให้กิ่งชำได้ปรับตัวกับอากาศภายนอก แนะนำให้แกะถุงตอนเย็นๆ เพราะกลางวันหากมีแดดร้อนมาก กิ่งชำอาจจะเหี่ยวเฉาตายได้ จากนั้นก็นำกิ่งออกจากถุง โดยให้นำไปพักไว้อีก ๕-๗ วัน ก็พร้อมที่จะนำไปปลูกได้ สำหรับไม้ที่เหมาะกับกรรมวิธีนี้มีหลายอย่างด้วยกัน ที่ลุงเฉลิมได้ทดลองทำแล้ว ได้แก่ มะนาว มะกรูด ชมพู่ สะเดา มะเดื่อ หม่อนบราชิล ทับทิม แคนา แคป่า มะกอก มะไฟ  ตะขบป่า แมงลัก ผักแพ้ว ผักขม เป็นต้น สามารถขยายพันธุ์ได้ครั้งละมากๆตามที่ต้องการ พืชไม่กลายพันธุ์ และมีความแข็งแรงกว่าการตอนกิ่งหรือปักชำแบบธรรมดา

หากท่านใด สนใจการขยายพันธุ์พืชแบบควบแน่น ตามแบบฉบับของลุงเฉลิม ก็สามารถนำไปทดลองทำได้นะครับ

 

 

แหล่งข้อมูล ลุงเฉลิม พีรี

(๐๘๙-๕๖๗-๐๕๙๑)

เขียวมรกต

๑๐ สค. ๕๖

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 545150เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2013 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน 2013 18:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

น่าสนใจมากๆค่ะ การขยายพันธุ์แบบควบแน่น

       

การลงไปเยี่ยมปราชญ์ชาวบ้าน ...... เป็นกิจกรรมเชิงรุก ที่ดีมากๆๆ นะคะ  ขอบคุณบันทึกดีดีนี้ค่ะ

ปราชญ์ชาวบ้าน  ภูมิปัญญาไทย มีคุณค่ายิ่งสำหรับสังคมไทย เป็นกำลังใจให้กับคนทำงานจ้ะ

ขอขอบคุณ อ.noktalay ที่กรุณาแวะมาแลกเปลี่ยนและให้กำลังใจครับ

ขอขอบคุณ ท่านอาจารย์ Dr.Ple ที่กรุณาแวะมาแลกเปลี่ยนและให้กำลังใจเสมอมาครับ

ขอขอบคุณ คุณมะเดื่อ ที่กรุณาแวะมาแลกเปลี่ยนและให้กำลังใจครับ

ขอขอบคุณ ท่านจัตุเศรษฐธรรม ที่แวะมาให้กำลังใจครับ

ขอขอบคุณท่านอาจารย์ชยพร ที่กรุณาแวะมาให้กำลังใจเสมอมาครับ

ขอขอบคุณ ดร.พจนา ที่กรุณาแวะมาเยี่ยมและให้กำลังใจครับ

ขอบคุณเรื่องเล่าดีๆที่นำมาแบ่งปันเสมอค่ะ

ขอขอบคุณ พี่ใหญ่ที่กรุณาแวะมาแลกเปลี่ยนและให้กำลังใจครับ

เจ็งสุดยอด...ผมจะลองทำดูครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท