ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมสำหรับฆราวาส


 

ในบันทึก "ความเพียรที่พอดี” ได้กล่าวถึงการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไว้ คำว่า “ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” นี้ สำหรับฆราวาสแล้วช่างน่าสงสัย ว่าทำ “อย่างไร” จึงเรียกชื่อว่าได้ทำ “อย่างนั้น”

พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมว่าคือ

 

“ภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับชราและมรณะ ควรเรียกได้ว่า ‘ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม’

.......

หากภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับอวิชชา ควรเรียกได้ว่า ‘ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม”

สํ.นิ.(แปล) ๑๖/๑๖/๒๕

การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนั้น จึงเป็นไปเพื่อความไม่ยึดมั่น เพื่อความว่างหรือ สุญญตา ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชอธิบายว่า ต้องค่อยๆว่างเป็นชั้นๆไป หากเรายังไม่ใช่พระอรหันต์ ยังไม่สามารถจะว่างจากทุกสิ่งในทันทีได้ (๑)

ในคัมภีร์มังคลัตถทีปนี ได้อ้างถึงอรรถกถามหาปรินิพพานสูตรว่า มีการอธิบายถึงการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไว้ ทั้งในฝ่ายบรรพชิตและฆราวาส อันทำให้เห็นการปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งในส่วนของฆราวาสนั้นได้อธิบายว่า

 

 

 

“ฝ่ายคฤหัสถ์ผู้ทำเวร ๕ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ไม่ชื่อว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม. แต่ผู้ใด เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสรณะและศีล รักษาอุโบสถเดือนละ ๘ ครั้ง ให้ทาน ทำการบูชาด้วยของหอมและการบูชาด้วยมาลา บำรุงบิดามารดาและสมณพราหมณ์ผู้ทรงธรรม ผู้นี้จึงชื่อว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม”.

 

 

คณะกรรมการแผนกตำรา มังคลัตถทีปนี (แปล) มหามกุฏราชวิทยาลัย พิมพ์ครั้งที่ ๑๖ หน้า ๑๑๔ – ๑๑๕

 

 

ดังนั้นหากฆราวาสได้ทำในสิ่งเหล่านี้ ก็ชื่อว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ซึ่งเว้นจาก เวร ๕ ก็คือเว้นจากสิ่งที่ต้องเว้นในสิกขาบท ๕ หรือ ศีล ๕ นั่นเอง (๒) เว้นจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ ก็คือ เว้นจากกรรมชั่วอันเป็นทางนำไปสู่ความเสื่อม (๓)

ส่วนที่ว่าบริบูรณ์ในศีลนั้น คือการที่รับสิกขาบทมาฝึกด้วยความเต็มใจ กระทั่งไม่รู้สึกอึดอัดในการฝึกราวถูกขังอยู่ในกรงเพื่อป้องกันตนจากกิเลส แต่กลับเป็นการขังกิเลสไว้ภายในกรง ตนที่อยู่ภายนอกจึงรู้สึกเป็นอิสระ มีศีลที่เป็นไท และเพราะเป็นอยู่อย่างนั้นจนเป็นปกติจึงทำให้ไม่มีการล่วงสิกขาบท (๔)

ส่วนคำว่า สรณะ คือ การถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นหรือที่พึ่งนั้น ไม่ใช่เพียงการเปล่งวาจาเท่านั้น แต่เป็นการเชื่ออย่างไม่หวั่นไหวปฏิบัติตามพระปัญญาตรัสรู้ที่ได้ทรงนำมาแสดงโดยนัยของไตรสิกขา ด้วยการไตร่ตรองจนทราบวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติ ผลการปฏิบัติ และองค์ธรรมที่มารับช่วงต่อ ทั้งนี้ก็เพื่อ

 

 

 

-สามารถเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ (สักกสูตร - สํ.ส.(แปล) ๑๘ / ๓๔๑ / ๓๕๖ - ๓๖๘)

 

 

-ถอนตัณหาอันนำไปสู่ภพ (องคุลีมารสูตร – ม.ม. (แปล) ๑๓ / ๓๕๒ / ๔๓๒)

 

 

-พ้นจากนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาต และบรรลุโสดาบันอันมีตรัสรู้เป็นที่เป็นไปในเบื้องหน้า (ปฐมสรณานิสักกสูตร – สํ.ม.(แปล) ๑๙ / ๑๐๒๐ / ๕๒๙ - ๕๓๒)

 

 

เพราะเชื่อมั่นในพระพุทธองค์ ว่าทรงฝึกพระองค์ได้ดีแล้ว ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เห็นพระองค์เป็นแบบอย่าง เป็นกัลยาณมิตร จึงเพียรปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุตามพระองค์ด้วยตนเอง มีธรรมเป็นที่พึ่ง (๕)

เมื่อมีพระธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ น้อมพระธรรมอันวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตนนั้น (๖) มาสู่ตน ทำตนให้เป็นที่พึ่งของตน มีตนเป็นเกาะ แล้ว พระพุทธองค์ตรัสต่อว่าควรมีการพิจารณาถึงแดนเกิดของทุกข์ทั้งหลาย (๗)

ทั้งนี้ก็เพื่อรู้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นไม่เที่ยง ดังนั้นเมื่อธรรมคือขันธ์ทั้ง ๕ เหล่านั้นผันแปร คลายไป ดับไป ก็เห็นด้วยปัญญาตามความเป็นจริง จึงทำให้ละทุกข์ทั้งมวลได้ และเพราะละได้ จึงไม่สะดุ้ง อยู่เป็นสุข

ซึ่งผู้อยู่เป็นสุขอย่างนี้ ตรัสเรียกว่า “ผู้ดับกิเลสแล้วด้วยองค์ธรรมนั้น” (๘)

เมื่อรู้ชัดถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และน้อมไปว่าถ้าตัวเราไม่มี ของเราก็ไม่พึงมี ถ้าไม่มีกรรมสังขาร ปฏิสนธิก็จะไม่มี ก็จะสามารถตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ (๙)

ส่วนพระสงฆ์เป็นที่พึ่งคือ เป็นทั้งเนื้อบุญ, เป็นทั้งกัลยาณมิตร เป็นทั้งพยานยืนยันว่าการปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นมีผลเกิดขึ้นได้จริง และเป็นทั้งแบบอย่างแก่เราผู้ปรารถนาการบรรลุผลการปฏิบัติ

สำหรับการถืออุโบสถศีลนั้น ก็ต้องถือโดยทราบความมุ่งหมาย ว่าต้องการฝึกการลดการปรนเปรอตนทางอายตนะต่างๆคือ หู (ไม่ฟังการประโคม ขับร้อง) ตา (ไม่ดูการละเล่น) จมูก (ไม่ใส่เครื่องหอม) ลิ้น (ไม่รับประทานอาหารหลังเวลาวิกาล กาย (ไม่ตกแต่งร่างกายด้วยอาภรณ์อันเกินสมควรและไม่ประดับร่างกายด้วยเครื่องประดับต่างๆ) เพื่อฝึกการลดการพึ่งพิงสิ่งเหล่านี้, ฝึกการสำรวมเพื่อป้องกันไม่ให้ราคะ โทสะ เข้าครอบงำ อันเป็นการค่อยๆลดทอนกิเลส

 

 

 

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เคยบรรยายไว้ว่า การปฏิบัติควรเป็นอย่าง “ค่อยเป็นค่อยไป” โดยควรเริ่มทดลองรักษาอุโบสถศีลในวันพระก่อน ครั้นเห็นว่าทำได้ ไม่ลำบากแล้ว จึงค่อยเพิ่มวันโกนขึ้นมาด้วย จึงทำให้มีการรักษาอุโบสถศีลเดือนละ ๘ วัน

 

 

 

เพราะปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมประกอบกับการเข้าหาสัตตบุรุษ, ฟังธรรมตามกาล และ การมีโยนิโสมนสิการ  จึงเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัตินั้นตกถึงกระแส ดังที่พระพุทธองค์ตรัสรวมเรียกองค์ทั้ง ๔ นี้ว่าเป็นองค์แห่งธรรมเป็นเครื่องบรรลุโสดา (๑๐)

และเพราะปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อบุคคลแวดล้อมอย่างไม่บกพร่อง (เช่น บำรุงบิดามารดา) และปฏิบัติคล้อยตามหลักธรรมเพื่อละคลายกิเลส จึงบรรลุวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติธรรมควรแก่ธรรม ดังที่ปรากฏในพระสูตร ตามที่ยกมาดังกล่าว

..................................

อ้างอิง

(๑) 
“การปฏิบัติสุญญตาที่ถูกต้อง
อันนี้แหละเป็นสุญญตาที่ถูกต้อง ว่างจากความไม่เป็นสาระแก่นสาร ว่างจากสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่นสาร และสิ่งใดที่เป็นสาระแก่นสารก็ถือเอาไว้ปฏิบัติ อย่าให้ว่าง อย่าให้ว่างจากสิ่งที่เป็นสาระแก่นสาร แต่ให้ว่างจากสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่นสาร ส่วนสิ่งที่เป็นสาระแก่นสารนั้นอย่าให้ว่าง ให้มีอยู่

เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติสุญญตานั้น จึงไม่ใช่หมายความว่าทีแรกก็ให้ว่างกันไปเสียหมด ไม่ต้องมีอะไรจะยึดถือทั้งนั้น ในการปฏิบัติสามัญทั่วไปนั้น จึงต้องให้ว่างจากความไม่ดี ความชั่ว แต่ว่าให้มีความดี อย่าให้ว่างจากความดี ให้มีความดีที่จะปฏิบัติยิ่งขึ้นต่อไป และเมื่อสุดชั่วก็สุดดี คือเป็นพระอรหันต์นั่นแหละจึงเป็นอันว่าว่างหมดกันเสียทีหนึ่ง ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์แล้ว ก็จะต้องทิ้งไม่ดี ยึดดีไว้ ว่างจากสิ่งที่ไม่ดี ไม่ว่างจากสิ่งที่ดี ปฏิบัติเพิ่มพูนขึ้นไปโดยลำดับ ซึ่งถึงเป็นพระอรหันต์เมื่อไรก็เป็นอันว่าว่างหมดทั้งดีทั้งชั่ว

เพราะฉะนั้น เมื่อตนยังไม่ถึงขั้นถึงตอนที่จะไปว่างหมด คิดว่าจะว่างหมด สุญญตาหมด ก็เป็นการคิดผิด ปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ขั้นของธรรมะที่ปฏิบัตินั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ต้องมีความเข้าใจ และเมื่อปฏิบัติถูกต้องดั่งนี้ก็เรียกว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม”
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ได้บรรยายไว้เมื่อวันที่ ๙ ธ.ค. ๒๕๒๕

หมายเหตุ เนื่องจากส่วนอ้างอิงที่เหลือยาวมาก เกรงว่าจะทำให้เนื้อเรื่องยาวจนอ่านลำบาก จึงขอยกไปไว้ในความเห็นค่ะ

หมายเลขบันทึก: 544176เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2013 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2013 21:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

(๒)
[๔๔๘] ท่านอุบาลีทูลถามว่า “เวรมีเท่าไรหนอแล พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาลี เวรนี้มี ๕ อย่าง คือ
๑.ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ๒.ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้
๓.ประพฤติผิดในกาม ๔.พูดเท็จ
๕.ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท
อุบาลี เวร ๕ นี้แล”
วิ.ป.(แปล) ๘ / ๔๔๘ / ๖๓๑

.............................................................

(๓)
[๓๒๑] อกุศลกรรมบถ ๑๐ (ทางแห่งอกุศลกรรม, ทางทำความชั่ว, กรรมชั่วอันเป็นทางนำไปสู่ความเสื่อม ความทุกข์ หรือทุคคติ — unwholesome course of action)
ก. กายกรรม ๓ (การกระทำทางกาย — bodily action)
๑. ปาณาติบาต (การทำชีวิตให้ตกล่วง, ปลงชีวิต — destruction of life; killing)
๒. อทินนาทาน (การถือเอาของที่เขามิได้ให้ โดยอาการขโมย, ลักทรัพย์ — taking what is not given; stealing)
๓. กาเมสุมิจฉาจาร (ความประพฤติผิดในกาม — sexual misconduct)

ข. วจีกรรม ๔ (การกระทำทางวาจา — verbal action)
๔. มุสาวาท (การพูดเท็จ — false speech)
๕. ปิสุณาวาจา (วาจาส่อเสียด — tale-bearing; malicious speech)
๖. ผรุสวาจา (วาจาหยาบ — harsh speech)
๗. สัมผัปปลาปะ (คำพูดเพ้อเจ้อ — frivolous talk; vain talk; gossip)

ค. มโนกรรม ๓ (การกระทำทางใจ — mental action)
๘. อภิชฌา (เพ่งเล็งอยากได้ของเขา — covetousness; avarice)
๙. พยาบาท (คิดร้ายผู้อื่น — illwill)
๑๐. มิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิดจากคลองธรรม — false view; wrong view)

พระพรหมคุณาภรร์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม 

(๔)

“การถึงพร้อมด้วยศีลที่พระอริยะยินดี ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าว ไม่พร้อย เป็นไทแก่ตัว ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ ดีนัก เพราะการถึงพร้อมด้วยศีลที่พระอริยะยินดีเป็นเหตุ สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายเพราะกายแตกจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์”

สํ.ส.(แปล) ๑๘ /๓๔๑ / ๓๕๙

.........................................................

(๕)

 

ทำตนเป็นเกาะ หมายถึงทำตนให้พ้นจากห้วงน้ำคือ โอฆะ ๔ เหมือนเกาะกลางมหาสมุทรที่น้ำท่วมไม่ถึง (ที.ม.อ. ๑๖๕ / ๑๕๐)

(๖) “ธรรม ๓ ประการที่ผู้ปฏิบัติพึงเห็นชัดด้วยตนเอง

ผู้ใหญ่บ้าน ธรรม ๓ ประการนี้ที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่คร่ำครึ ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน

ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑.บุคคลผู้มีราคะย่อมคิดเบียดเบียนตนเองบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้างเพราะราคะเป็นเหตุ เมื่อละราคะได้แล้ว เขาย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง นี้เป็นธรรมที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่คร่ำครึ ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน

(โทสะ โมหะ ตรัสในนัยเดียวกัน)

 

สํ.ส. (แปล) ๑๘ / ๓๖๔ / ๔๒๙ – ๔๓๐

(๗)

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ เธอทั้งหลายผู้มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง ควรพิจารณาถึงกำเนิดของ โสกะ (ความเศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ) และอุปายาส (ความคับแค้นใจ) เกิดขึ้นอย่างไร มีอะไรเป็นแดนเกิด”

สํ.ข.(แปล) ๑๗ / ๔๓ / ๕๙

................................................

(๘)

ก็เมื่อภิกษุรู้ว่า รูปไม่เที่ยง แปรผันไป ดับไป เห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูปในกาลก่อนและรูปทั้งปวงในบัดนี้ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดาก็จะละโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสได้ เพราะละโสกะเป็นต้นเหล่านั้นได้จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้งก็อยู่เป็นสุข ภิกษุผู้อยู่เป็นสุข เรากล่าวว่า ผู้ดับกิเลสแล้วด้วยองค์ธรรมนั้น

(เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตรัสโดยนัยเดียวกัน)

 

สํ.ข.(แปล) ๑๗ / ๔๓ / ๖๐

(๙)

“เพราะรู้ชัดว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง รู้ชัดว่าทั้งหมดนั้นเป็นทุกข์ รู้ชัดว่าทั้งหมดนั้นเป็นอนัตตา รู้ชัดว่าทั้งหมดนั้นถูกปัจจัยปรุงแต่ง รู้ชัดว่า ....เพราะความไม่มีรูป เพราะความไม่มีเวทนา เพราะความไม่มีสัญญา เพราะความไม่มีสังขาร เพราะความไม่มีวิญญาณ ภิกษุนั้นเมื่อน้อมใจไปอย่างนี้ว่า ถ้าเราไม่พึงมี แม้บริขารของเราก็ไม่พึงมี ถ้ากรรมสังขารจักไม่มีได้แล้ว ปฏิสนธิของเราก็จักไม่มีพึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้อย่างนี้”

สํ.ข.(แปล) ๑๗ / ๕๕ / ๘๐

(โอรัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องต่ำ หรือ กิเลสผูกใจสัตว์อย่างหยาบ ๕ คือ สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา,สีลัพพตปรามาส,กามราคะ และ ปฏิฆะ)

..................................................

(๑๐)

[๑๐๔๖] “ภิกษุทั้งหลาย องค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการนี้

องค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑.สัปปุริสสังเสวะ (การคบหาสัตบุรุษ)

๒.สัทธัมมัสสวนะ (การฟังพระสัทธรรม)

๓.โยนิโสมนสิการ (การมนสิการโดยแยบคาย)

๔.ธัมมานุธัมมปฏิบัติ (การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม)

ภิกษุทั้งหลาย องค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการนี้”

 

สํ.ม. (แปล) ๑๙ / ๑๐๔๖ / ๕๖๘ - ๕๖๙

"สาธุ..สาธุ..สาธุ"...น้อมรับ..ธรรม..ที่..ถึง..ด้วย..ธรรม..ด้วย...ศรัธทรา...แล..สุญญตา..เทอญ....

"ขอบพระคุณ..ต่อสิ่งดีๆ..ที่ให้กันแลกัน...เจ้าค่ะ..ยายธี

อนุโมทนา.................ครับพี่ณัฐรดา

ทำไมมาเตือนสติผมได้ทันทุกทีครับ.............

เข้าพรรษานี้ ผมเริ่มที่จะเข้มเรื่องรักษาศีลให้บริบูรณ์ที่สุด.......................

แต่เมื่อวาน ผมซื่อกาแฟทาน มองนาฬิกา 12.02 นาที กำลังดูดกาแฟปั่นยังไม่หมดเลย.................  หลายวันก่อนผมตัดสินใจทิ้งแก้วกาแฟนั้นเลย   มาเมื่อวาน........ ด้วยความเสียดาย   5555 ผมดูดต่อกว่าจะหมดก็ประมาณ 12.10 น

นี่ละมั่งที่ครูบาอาจารย์ เขาสู้เขาฝืน ความอยากได้ อยากมี อยาก "กิน" กัน.....555

คราวหน้า.....ได้บทเรียน ก็อย่าไปหาอะไรทานตอนใกล้ๆเที่ยงก็หมดปัญหา.....555

ขอบคุณค่ะ...ทุกประโยคธรรมนำใจสุขสงบ...

สวัสดีค่ะคุณ ยายธี

ขอบคุณที่แวะมานะคะ

สวัสดีค่ะ อ.วิชญธรรม

อนุโมทนากับอาจารย์จังค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณ พ.แจ่มจำรัส

ขอบคุณที่มาเยี่ยมกันนะคะ

สวัสดีค่ะพี่นงนาท

ขอบคุณค่ะที่แวะมาเสมอๆ

สวัสดีค่ะคุณณัฐรดา...ขอบคุณบันทึกที่ดีมีประโยชน์มากๆนะคะ...อนุโมทนาบุญด้วยนะคะ

ขอบคุณ ดร.พจนามากค่ะ

สำหรับการมาเยี่ยมและความเห็น

และ..............................

รวมไปถึงทกท่านที่แวะมาด้วยค่ะ

อย่างอย่างรื่นเริงในธรรม  ดอกไม้ก็สวย ธรรมกับศิลปะให้ความรู้สึกผ่อนคลายเป็นสุขเสมอ

 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท