หลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไปของวิทยาลัย Earlham


หลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไปของ Earlham มีเป้าหมายเพื่อเตรียมผู้เรียนให้มีความพร้อมในการใช้ชีวิต

หมายเหตุผู้เขียน ชิ้นงานนี้เป็นงานเล็ก ๆ ที่ผู้เขียนเริ่มศึกษาเกี่ยวกับหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป เป็นจุดเริ่มต้นในการทำวิทยานิพนธ์ ในโอกาสที่จะรับปริญญาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2556 นี้ ขอหยิบงานชิ้นนี้มาเผยแพร่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขอขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านที่มีส่วนทำให้ผมมีวันนี้ ขอบพระคุณครับ

หลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไปของวิทยาลัย Earlham

กฤษฎา  กุณฑล  ผู้เรียบเรียง

ข้อมูลเกี่ยวกับวิทยาลัย: วิทยาลัย Earlham ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1847 ตั้งอยู่ในเมือง Richmond รัฐ Indiana ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นวิทยาลัยที่เน้นการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีในด้านศิลปศาสตร์ (Liberal Art College) มีบุคลากรสายวิชาการ 98 คน นักศึกษา 1,127 คน เปิดสอนทั้งในวิชาเอกและวิชาโทมากกว่า 40 สาขา (หมายเหตุ มีบริบทคล้ายกับมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งกำหนดตำแหน่ง (Positioning) ของมหาวิทยาลัยไว้ที่มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีและการพัฒนาสังคม)


Earlham ได้กำหนดทักษะพื้นฐานของนักศึกษาและออกแบบเป็นหลักสูตรที่เน้นในด้าน ศิลปกรรมศาสตร์(Fine Arts) , มนุษยศาสตร์,สังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ หลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไปของ Earlham ได้ออกแบบขึ้นเพื่อตอบสนองคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของวิทยาลัย โดยในปี 1993 วิทยาลัยได้ศึกษาตนเองแล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการกำหนดนโยบายหลักสูตรและได้มีการตรวจสอบจากคณะ ซึ่งได้มีการกำหนดเป้าหมายของการจัดการศึกษาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปที่มุ่งให้บัณฑิตมี

1.  ทักษะในการอ่าน คิดสะท้อนกลับ การเขียนและการพูดเพื่อการสื่อสาร

2.  เข้าใจความคิดและวิธีคิดในสาขาวิชาอื่น

3.  เข้าใจวิธีการทางวิทยาศาสตร์และนำความรู้ไปใช้ในห้องปฏิบัติการ

4.  ความสามารถในการตีความงาน ความคิด ข้อความหรือวัฒนธรรมในมุมมองที่แตกต่างกัน

5.  ทักษะในการรวบรวมและประเมินข้อมูลจากแหล่งที่มาต่าง ๆ

6.  ประสบการณ์ในการสืบเสาะหาความรู้เชิงบูรณาการกับสาขาวิชาอื่น

7.  ความรับผิดชอบและมีความรู้

8.  ความเชี่ยวชาญภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาแม่ อย่างน้อย 1 ภาษา

9.  ความตระหนักและความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมอื่นที่มีในโลก

10.  ความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของงานศิลปะ

11.  ความคิดสร้างสรรค์และความเชื่อมั่นในความคิดของตนเอง

12.  ทักษะกระบวนการกลุ่มและการเรียนรู้แบบร่วมมือ

13.  การรับรู้ตนเองด้านร่างกาย การเมือง สังคม ศิลปะและจริยธรรม

14.  ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ต่อมาคณะกรรมการกำหนดนโยบายหลักสูตรได้มีการปรับปรุงหลักสูตร ในปี 2002-2003 โดยได้ปรับปรุงพันธกิจในระยะยาวเพื่อเตรียมให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยกำหนดเป้าหมายไม่เฉพาะหมวดวิชาศึกษาทั่วไปเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการออกแบบหลักสูตรในสาขาวิชาต่าง ๆ ซึ่งได้กำหนดแนวทางการประเมินหลักสูตร ดังนี้

1.  การอ่าน การสะท้อนความคิด การอภิปรายและการเขียน

2.  การเพิ่มความคิดวิเคราะห์ข้อมูลจากสื่อและการเปรียบเทียบความคิดกับผู้อื่น

3.  ความเข้าใจกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมาจากการปฏิบัติการในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ หรือผ่านประสบการณ์ภาคสนามในกระบวนการธรรมชาติ

4.  ความเข้าใจและการประยุกต์ใช้ข้อมูลเชิงปริมาณและหรือความคิดเชิงนามธรรม

5.  ความเข้าใจภาษาที่สองและวัฒนธรรมของเจ้าของภาษา

6.  ความเป็นพหุวัฒนธรรมในการศึกษาความหลากหลายทั้งภายในประเทศและนานาชาติ

7.  ความเข้าใจศิลปะอย่างละเอียดผ่านการปฏิบัติและการสร้างสรรค์จากทฤษฎีและประวัติศาสตร์

8.  การปฏิบัติและการมีวินัยในการเรียนรู้เป็นกลุ่ม

9.  ทักษะการกีฬาและการสร้างสุขภาพที่ดี

10.  ความสามารถในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สามารถคิดวิเคราะห์ ประเมินและสร้างความคิดใหม่

ลักษณะของหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป

หลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไปของ Earlham มีเป้าหมายเพื่อเตรียมผู้เรียนให้มีความพร้อมในการใช้ชีวิต จึงนำไปสู่การมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ในวิธีการมากกว่าที่จะเน้นวิชาเฉพาะสาขา ส่วนใหญ่แล้วจะจัดการเรียนการสอนแบบกลุ่มเล็กเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและการร่วมมือกันระหว่างผู้เรียนและผู้สอน รวมทั้งเพื่อตอบสนองพันธกิจของวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยร่วมระหว่างอาจารย์และนักศึกษา นอกจากนั้นแล้วยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาเลือกรายวิชาปฏิบัติรวมทั้งมีอาจารย์มาแนะนำรายวิชาที่ผู้เรียนสนใจเป็นพิเศษและมีความสำคัญต่อการทำงานในอนาคต ใน Earlham การจัดการเรียนการสอนทุกสาขา(ซึ่งเป็นพันธกิจกลาง)ในวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของวิชาศึกษาทั่วไป

1.  รายวิชาที่กำหนดให้เรียนในชั้นปีที่ 1 ประกอบด้วย 1)รายวิชาที่เป็นการเตรียมตัวในการเรียนและใช้ชีวิตในวิทยาลัย (Interpretive  Practices) มุ่งเน้นการตีความจากการอ่าน การเขียนและการอภิปรายในชั้นเรียน เพื่อสร้างทักษะพื้นฐานในการเรียน การสื่อสารอย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพ การเป็นผู้ฟังที่ดี มีจิตใจที่เปิดกว้างและการพัฒนาทักษะที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการเป็นพลเมืองที่ดี 2)รายวิชาสัมมนา(Seminar) มุ่งเน้นการสัมมนาเพื่อค้นหาหัวข้อที่สนใจในชุมชนและสร้างการเรียนรู้แบบร่วมมือกัน สนับสนุนให้นักศึกษาหาวิธีการใหม่ ๆ ในการพัฒนาชุมชน มีความคิดสร้างสรรค์และเชื่อมั่นในความคิดของตนเอง 3)รายวิชาการเปรียบเทียบ (Comparative Practices) ซึ่งเรียนหลังจากสองรายวิชาแรก มุ่งเน้นการเปรียบเทียบผลการปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในหลายมุมมองในเชิงสหวิทยาการ ให้มีการนำประสบการณ์ในการเขียนและอ่านที่ได้ศึกษามาก่อน เพื่อเขียนหรือตั้งคำถามที่ท้าทายความคิด รวมทั้งเปรียบเทียบในบริบททางประวัติศาสตร์ สังคมและการเมือง โดยให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดกับคนอื่น ๆ

2.  การวิเคราะห์เหตุผล วิทยาลัยมีความต้องการให้ผู้เรียนมีความสามารถในการวิเคราะห์เหตุผลเชิงนามธรรมและการวิเคราะห์เหตุผลเชิงปริมาณ โดยนักศึกษาจะต้องเลือกเรียนวิชาในทั้งสองกลุ่ม อย่างน้อยกลุ่มละ 1 รายวิชา วิชาละ 3 หน่วยกิต การวิเคราะห์เหตุผลเชิงนามธรรมมีความสำคัญและเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์ความรู้ทุกด้าน รวมทั้งจะช่วยในการเพิ่มทักษะการสรุปความเป็นทั่วไปในสังคม ส่วนการวิเคราะห์เหตุผลเชิงปริมาณจะมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ในสมัยใหม่ การอยู่ในสังคมเทคโนโลยี ผู้เรียนจึงจำเป็นต้องมีความสามารถในการสรุปอ้างอิง ตีความข้อมูลและประเมินข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ ซึ่งผู้เรียนจะต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์สูตร การเขียนกราฟ ตาราง การใช้สถิติในการวิเคราะห์และแก้ปัญหา การประมาณค่าและการตรวจสอบคำตอบข้อจำกัดของคณิตศาสตร์และสถิติ

3.  การแสวงหาความรู้โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความเข้าใจมนุษย์ เน้นการสังเกตอย่างเป็นระบบ การทดลองเพื่อพัฒนาหรือทดสอบทฤษฎี นักศึกษาจะต้องลงทะเบียนอย่างน้อยสองรายวิชา ไม่น้อยกว่า 7 หน่วยกิตและอย่างน้อยต้องมีวิชาที่ใช้ห้องปฏิบัติการ จำนวน 4 หน่วยกิต เพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการแสวงหาความรู้ในการเพิ่มความเข้าใจธรรมชาติ ใช้การสังเกต การทดลองเพื่อพัฒนาทฤษฎีและทดสอบสมมุติฐาน ให้มีประสบการณ์โดยตรงในการวิเคราะห์ทฤษฎีและเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์

4.  ความหลายหลายในสังคม การศึกษาด้านศิลปศาสตร์ในปัจจุบันจะต้องมีการเตรียมผู้เรียนให้เป็นพลเมืองโลกที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรม และสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป จึงต้องมีการเตรียมผู้เรียนให้อยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรมทั้งในประเทศและนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านภาษาทั้งนี้วิทยาลัยได้กำหนดจำนวนรายวิชาและหน่วยกิตทั้งสามกลุ่ม โดยกำหนดให้ต้องเรียนในกลุ่มวิชาความหลากหลายในระดับประเทศ 1 วิชา จำนวน 3 หน่วยกิต กลุ่มวิชาความหลากหลายในระดับนานาชาติ1 วิชา จำนวน 3 หน่วยกิตและกลุ่มวิชาภาษา 2 วิชา จำนวน 10 หน่วยกิต

5.  วิชาด้านศิลปะ วิชานี้มีเป้าหมายในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของบุคคล พัฒนาความเชื่อมั่นในตนเอง การทำความใจ ความตระหนัก การมองเห็นคุณค่าในศิลปะ  มีรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีและประวัติศาสตร์ เพื่อเติมเต็มความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ รวมทั้งรายวิชาที่มุ่งเน้นการประยุกต์ศิลปะ เพื่อพัฒนาเทคนิคและสร้างประสบการณ์ทางศิลปะให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนหลักสูตรของวิทยาลัยกำหนดให้เรียนในรายวิชาทฤษฎีและประวัติศาสตร์ด้านศิลปะ ไม่น้อยกว่า 3 หน่วยกิต และกลุ่มวิชาประยุกต์ศิลป์ ไม่น้อยกว่า 1 หน่วยกิต

6.  ความต้องการชีวิตที่ดีงาม ในมุมมองของวิทยาลัยหมายถึง ความกระตือรือร้น กระบวนการตลอดชีวิตที่สร้างความตระหนักและทางเลือกในการสร้างเสริมสุขภาพ และเติมเต็มชีวิตให้มีคุณค่า ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ จิตวิทยา การส่งเสริมสุขภาพในชุมชนและการวิเคราะห์เพื่อบูรณาการในการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีในกลุ่มวิชานี้ผู้เรียนสามารถเลือกศึกษาได้สองลักษณะคือรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ อย่างน้อย 4 กิจกรรม กิจกรรมละ 0.5  หน่วยกิต รวม 2 หน่วยกิต หรือรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์และปฏิบัติกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพ จำนวน 2 หน่วยกิต

การจัดการศึกษาด้านศิลปศาสตร์จะมุ่งเน้นในภาพกว้างของหลักสูตร และเพิ่มรายละเอียดในภาพลึกตามสาขาวิชาเอกที่ศึกษา นักศึกษาที่เรียนวิชาเอกเดี่ยวหรือวิชาเอกคู่ในแผนก(division) เดียวกัน จะต้องเรียนไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต นักศึกษาที่เรียนวิชาเอกคู่ที่อยู่คนละแผนกและคนละภาควิชา(department) จะต้องเรียนไม่น้อยกว่า 20 หน่วยกิต ในวิชานอกแผนกของทั้งสองวิชาเอก

การบริหารจัดการหลักสูตร

การบริหารจัดการหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของคณะกรรมการวิชาการหลักสูตร (Committee on Academic Programs : CAP) ซึ่งได้กำหนดนโยบายในการเรียนและการเทียบโอนหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ดังนี้

1.  นักศึกษาที่เข้าเรียนในฐานะชั้นปีที่หนึ่ง จะต้องลงทะเบียนรายวิชาต่าง ๆ ในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปให้ครบถ้วนตามหลักสูตร กรณีที่โอนมาจากสถาบันอื่นให้คณะกรรมการวิชาการหลักสูตรจะเป็นผู้พิจารณาและเทียบโอนให้ไม่เกิน 8 หน่วยกิต

2.  นักศึกษาที่ขอเทียบโอนจะต้องตรวจสอบข้อมูลกับอาจารย์ที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิดก่อนที่จะลงทะเบียนในภาคเรียนแรกที่เข้าศึกษา  คณะกรรมการจะพิจารณาเฉพาะรายวิชาที่มีคำอธิบายตรงกับเป้าหมายของการจัดการศึกษาหมวดวิชาศึกษาทั่วไปของวิทยาลัยเท่านั้น

3.  การขอใช้วิชาอื่นเพื่อทดแทนวิชาศึกษาทั่วไป ให้นักศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบในการกรอกคำร้อง เสนอผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อเสนอให้คณะกรรมการ CAP พิจารณา

4.  นักศึกษาที่เรียนวิชาศึกษาทั่วไปมาจากสถาบันอื่นหรือได้ศึกษาในระหว่างภาคเรียนฤดูร้อนกับสถาบันอื่น ให้เสนอเรื่องผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาและงานทะเบียนของวิทยาลัยเพื่อพิจารณา

5.  วิชาที่ได้ลงทะเบียนเรียนล่วงหน้า (AP) หรือวิชาที่เรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรนานาชาติ (IB) สามารถใช้ในการเรียนหมวดวิชาศึกษาทั่วไปได้

6.  นักศึกษาจะต้องรับรู้ว่าคณะกรรมการ CAP จะไม่รับคำร้องหลังจากระยะเวลากลางภาคเรียนของภาคเรียนสุดท้ายก่อนสำเร็จการศึกษา

สรุปข้อมูล ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2553

แหล่งค้นคว้าเดิม  http://www.earlham.edu/curriculumguide/academics/gened.html


แหล่งค้นคว้าปัจจุบัน  http://www.earlham.edu/curriculum-guide/general-education-program/

วันที่เผยแพร่ 31 กรกฎาคม 2556


หมายเลขบันทึก: 544170เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2013 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 กรกฎาคม 2013 09:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าสนใจมาก ขอแสดงความยินดีกับการจบการศึกษาด้วยครับ

ขอบคุณครับ อ.ขจิต ผมทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง การพัฒนาหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป... งานชิ้นนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์มอบหมายให้อ่าน หลังจากนั้นก็ศึกษาหลักสูตรและการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยอันดับ 1-10 ในอเมริกาและในเอเซีย พอเสร็จก็เริ่มพัฒนาหลักสูตรมาตามลำดับครับ

วันนี้ก็มาพักอยู่ที่ ม.เกษตรศาสตร์ เตรียมตัวสำหรับวันพรุ่งนี้ครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท