ถอดกลยุทธ์ “ก่อการดี” โครงการเจ๋ง มีเงินหนุน ทำไม่ยาก


บางครั้งการคิดจะทำ “การดี” จำเป็นต้องมีแรงสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขององค์ความรู้ พลังแนวร่วม กำลังใจ และที่สำคัญคือเรื่องของ “เงินทุน”ซึ่งเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงให้การไปสู่เป้าหมายทำได้ง่ายขึ้นโอกาสเช่นนี้ “ทีมงานกระจายสุข” จึงขอเล่าต่อเคล็ดลับการเขียนโครงการขอทุนสนับสนุน ที่พวกเราซุ่มบันทึกระหว่าง “การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการเปิดรับทั่วไป (สำนัก 6)” ที่นำเอาสมาชิกกว่า 20โครงการที่เคยได้รับทุนจาก สสส.มาร่วมแลกเปลี่ยนไอเดียดีๆ กัน 


เป้าหมายชัดมีชัยกว่าครึ่ง  “อภิญญา ตันทวีวงศ์” ผู้จัดการโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการเปิดรับทั่วไป ในฐานะผู้สรุปประเด็นการสัมมนาอธิบาว่า สิ่งที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จ คือการกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานในแต่ละกิจกรรมให้ชัดเจน การออกแบบกิจกรรมต้องตรงใจกับผู้เข้าร่วม และควรมีการทบทวนหรือประเมินผล ทุกครั้งที่กิจกรรมสิ้นสุดลง เพื่อให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างไร ซึ่งการจัดกิจกรรมที่ดำเนินงานแล้วเป็นผลทันที ผู้เข้าร่วมจะรู้สึกได้ประโยชน์ และง่ายต่อการเชิญชวนมาในครั้งต่อไปการขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะนอกจากทำให้ผู้ใหญ่รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการแล้วยังมีโอกาสได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือเพิ่มเติม ซึ่งวิธีการดำเนินงานทำได้ง่ายๆ โดยอาจจะ ติดต่อไปยังหน่วยงานที่ต้องการ อาทิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลฯ, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล, อบต. เป็นต้น ซึ่งวิธีการติดต่อหน่วยงานราชการ ควรส่งเป็นหนังสือ (การพิมพ์ข้อความลงในจดหมายเพื่อแจ้งว่าเราจะดำเนินการอะไร ต้องการขอความร่วมมืออย่างไร) ซึ่งหลังจากส่งหนังสือไปแล้ว สามารถใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเพื่อเชิญชวนด้วยวาจาอีกครั้งหนึ่ง หากเป็นไปได้การเชิญบุคคลากรของหน่วยงานนั้นๆ มาเป็นที่ปรึกษาโครงการหรือสมาชิกโครงการจะทำให้การทำงานกับหน่วยงานนั้นๆ เป็นไปได้ง่ายขึ้น


คนเดียวหัวหาย หลายคนอยู่ได้ ส่วนเคล็ดลับของ “ไชยยันต์ กุคำโกฏ” ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาศักยภาพการจัดการสุขภาวะฯ ตำบลแสนสุข จ.อุบลราชธานี บอกแนวทางการทำโครงการของกลุ่มตนเองว่า การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่โครงการมักจะเชิญนายกเทศมนตรีมาเปิดงานให้ทุกครั้งเพื่อให้เห็นว่าโครงการได้พัฒนาพื้นที่อย่างไรบ้าง โดยการเข้าหาเทศบาลเราต้องทำหนังสือไปทุกครั้ง แต่เราจะเน้นการบอกกล่าวด้วยวาจาด้วย แต่ที่ต้องทำหนังสือเข้าไปเพราะเขาจะได้เก็บไว้เป็นผลงานเช่นกัน ดังนั้นถ้าเราเข้าใจ ก็จะดำเนินการได้ด้วยความราบรื่น ซึ่งโครงการเราโชคดีที่คุณพ่อสมจิตรซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการทำงานในพื้นที่มานานและเป็นคนอัธยาศัยดีมาก การเข้าหาเทศบาลและหน่วยงานต่างๆ จึงทำได้ไม่ยากนัก ซึ่งตอนนี้เทศบาลก็เห็นความสำคัญและสนับสนุนโครงการมาอีก 10,000 บาท ซึ่งมีพื้นที่อื่นเห็นว่าทำแล้วดีก็พยายามมาเรียนรู้จากเราไปทำบ้างเราก็พยายามอบรมแกนนำในพื้นที่ต่างๆ เพื่อไปพัฒนาชุมชนของเขาการทำให้กลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะชาวบ้านเห็นความสำคัญของโครงการเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เพราะหากไม่มีความอยากเมื่อเข้าร่วมโครงการได้ไม่นานนักคนก็จะค่อยๆ หายไป ซึ่งการด้านการเปลี่ยนแปลกความคิดหรือความเชื่อเป็นสิ่งที่ทำได้ค่อนข้างยากในกลุ่มคนสูงอายุ


ดังนั้นการเชิญบุคคลที่ชาวบ้านให้ความเชื่อถือและเคารพ อาทิ พระสงฆ์ ผู้ใหญ่บ้าน ครู หมอ พยาบาล มาให้คำแนะนำในกิจกรรมที่จะดำเนินการถือเป็น การสร้างความน่าเชื่อถือและสามารถชักจูงชาวบ้านให้มีส่วนร่วมได้เป็นอย่างดี  ดีแล้วบอกต่อ ประชาสัมพันธ์ชั้นเซียน“ไชยยันต์” ยังมองว่า  การสื่อสารต้องใช้ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย หากสามารถใช้ได้หลายช่องทางควรใช้ทุกอย่างที่มีในชุมชน เช่น เครื่องขยายเสียง ป้ายไวนิล เสียงตามสาย อินเตอร์เน็ต จากการถอดบทเรียนพบว่าสื่อที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นชาวบ้านได้ดีที่สุดคือ วิทยุชุมชน ที่สามารถชักจูกชาวบ้านให้มีส่วนร่วมได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้บางโครงการยังส่งข่าวไปยังสถานีโทรทัศน์ เช่นสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที สถานีโทรทัศน์ในท้องถิ่นหรือที่เรียกกันว่าเคเบิ้ลทีวีในท้องถิ่น ให้มาทำข่าวกิจกรรมให้ ตลอดจนการสร้างสัมพันธ์กับเครือข่ายให้ และมีการประชาสัมพันธ์กันแบบอดีต คือการตีคล้องร้องเป่าจุดพลุสร้างความสนใจให้เกิดขึ้นซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวิธีที่ทุกโครงการพยายามนำมาใช้เพื่อให้เกิดการประชาสัมพันธ์ไปยังสังคมให้มากที่สุดไม่ลืมเรื่องความโปร่งใส


ขณะที่ “โครงการนำวัฒนธรรมพื้นบ้านสู่การสร้างความสุขที่ยั่งยืน” บ้านส้มป่อย หมู่ที่ 6 ต.แม่สัน อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง โดย “เกรียงศักดิ์ สันเทพ” ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า พวกเขาฟื้นฟูวัฒนธรรมโดยใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน เป็นตัวเชื่อม ซึ่งการเชิญชวนคนเข้าร่วมกิจกรรมใช้ดนตรีถ่ายทอดผ่านวิทยุชุมชนคนแม่สันเมืองยาว ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งการใช้จ่ายที่โปร่งใสถือเป็นอีกสิ่งที่สำคัญ ดังนั้นรายรับ-รายจ่าย ต้องมีการชี้แจงให้ผู้เกี่ยวข้องทราบด้วย อาทิ อบต.เพราะ หน่วยงานในท้องถิ่นสามารถช่วยลดรายจ่ายได้ เช่นการขอแรงงานจากบุคคลใน อบต. เพื่อเตรียมงานและเก็บงาน นอกจากนี้ยังสามารถยืมเต้นท์กันแดดกันฝน หรือเวที ซึ่งไม่ต้องจ่ายค่าเช่า ก็ทำให้ประหยัดเงินไปได้มาก ซึ่งหลังจากสิ้นสุดโครงการก็พบว่า สามารถสร้างเยาวชนให้เป็นที่ยอมรับจากคนในสังคมได้ด้วยกลุ่มวัฒนธรรมพื้นบ้านส้มป่อย 2004 จากบทเพลงทางศาสนาที่เคยหายไปบัดนี้สิ่งเหล่านั้นได้รับการฟื้นฟูและกลับมาอยู่คู่ชุมชนได้อีกครั้ง 


รางวัลเล็กๆน้อย ตัวอย่างของความสำเร็จ นอกจากจะใช้สื่อสร้างแรงจูงใจให้อยากเข้าร่วมแล้ว การใช้รางวัลเป็นแรงจูงใจก็เป็นอีกวิธีที่ได้ผล  เช่น การมอบเกียรติบัตร ซึ่งถือว่าเป็นแรงจูงใจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด แต่การให้ต้องให้แบบมีเงื่อนไข อาทิ การกำหนดเวลาเข้าร่วมให้ครบตามจำนวนที่กำหนด เพื่อให้เกิดความภูมิใจว่าเกียรติบัตรนั้นๆ ต้องใช้ความสามารถจึงจะได้มา การเชิญวิทยากรที่มีความน่าเชื่อถือที่ยอมรับ ก็เป็นอีกวิธีที่ทำให้ผู้เข้าร่วมเกิดความศรัทธาและอยากทำตาม คือการยกตัวอย่างจากประสบการณ์จริง ซึ่ง  น.ส.สุพรรณี แสนเขื่อน (ครูเย็น) ครูฝ่ายปกครอง ส่วนกิจกรรมและธุรการ โรงเรียนนครพนมวิทยาคม ผู้รับผิดชอบโครงการ “นครพนมวัยใสห่วงใยสุขภาพ” เล่าถึงวิธีการดำเนินโครงการให้ประสบความสำเร็จว่า การดำเนินโครงการต้องมีความอดทนสูง การใช้ตัวอย่างเป็นการสะท้อนประสบการณ์ถือเป็น ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม เช่น เด็กที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ก็ให้มาเป็นตัวอย่างพูดให้เพื่อนๆ หรือน้องๆ ฟังเพื่อที่จะไม่ต้องผิดพลาดซ้ำอย่างนี้ ซึ่งวิธีการทำโครงการควรมองให้กว้างทำกิจกรรมให้ครอบคลุม

 

“การกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนสำคัญมาก เพราะจะส่งผลไปยังการเลือกวิธีการ ที่จะทำกับเขา โครงการของครูต้องมีความไว้ใจสูงมาก ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่น ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม การสร้างลูกเล่นใหม่ๆ ก็มีความสำคัญเพราะหากทำเดิมๆ ซ้ำๆ ก็จะเบื่อ สิ่งที่ต้องคิดต่อคือบางครั้งต้องให้กลุ่มเป้าหมายดำเนินกิจกรรมเอง เช่นการให้เขาหาข้อมูล แต่เราต้องไม่คาดหวังว่ากลุ่มเป้าหมายของเราจะต้องทำได้ดีหรือเก่งอย่างเรา ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องทำโดยไม่คิดถึงสิ่งตอบแทน สิ่งสุดท้ายเราต้องเป็นผู้สนับสนุนเสริมสร้างความมั่นใจให้เขา ให้เขาเชื่อมั่นว่าเขาทำกิจกรรมพวกนี้ได้ ตั้งแต่การกระตุ้นเชิญชวนตั้งแต่แรกจนเมื่อเขามาเข้าร่วมแล้วคือทำแล้วเราจะไม่ทิ้งเขา” ครูเย็นกล่าวปิดท้าย ทั้งหมดคือสิ่งที่แต่ละโครงการร่วมถอดบทเรียน เคล็ดลับของการทำโครงการ โดยที่ทุกคนต่างลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าสิ่งสำคัญที่สุดของกลยุทธ์ครั้งนี้ยังเป็นเรื่องของการทำงานด้วยใจรัก กำลังใจของทีมงานและความเอาจริงเอาจังเพราะหากคนทำงานเข้มแข็ง การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ก็ไม่มีอะไรยากจนเกินความสามารถทำ“การดี”จึงต้องวางแผน และมีกลยุทธ์ที่จะเดินไปสู่เป้าหมายให้อะไรต่ออะไร มันง่ายขึ้นนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 544098เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2013 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 กรกฎาคม 2013 15:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

..สุขกระจาย  ถอดดี ถ่ายทอดเนี้ยบ บอกเทคนิคปฏิบัติ แทรกวิชาการ ครบเครื่อง..ช

อบค่ะ ชอบมาก ขออนุญาตนำไปเป็นตัวอย่างเผยแพร่ต่อนะคะ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท