เราควรสอนเด็กๆ ลูกหลาน ผ่านกระบวนการ "สั่งสม"


ขณะเดินทางไปราชการร่วมกับ ผอ.สวัสดิ์ มะลาหอม ผมคุยกับท่านเรื่องสำคัญ ที่ผมเพิ่งจะเข้าใจ มั่นใจว่าเป็นหลักธรรมชาติจริง และยิ่งภูมิใจเมื่อได้บอกท่าน ผอ.พอเพียงต่อ เกี่ยวกับ ทฤษฎี "การสั่งสม" 

ผม ไม่ได้ใช้คำว่า "สั่งสมบุญ" หรือ สั่งสมอะไรทั้งนั้น เพราะกลัวอักขระจะเปลี่ยนความหมายของสิ่งที่ไม่ใช่ "อัตตา" ให้กลายเป็นความเข้าใจผิด คิดว่า "บุญ" ซื้อหากันได้เหมือนสังคมไทยในวันนี้ 

หลายครั้งที่ผมเข้าร่วม กิจกรรมด้านจิตตปัญญาศึกษา ที่ทำสุนทรียสนทนาเรื่องความเป็นมาหรือความฝันในวัยเด็ก ผมสรุปกับตนเองว่า กิจกรรมนี้อาจใช้ได้ดีกับ "เด็กตะวันตก" ที่มีวัฒนธรรมการปลูกฝังให้เด็กๆ มี "ความฝัน" เป็นของตนเอง แต่กับเด็กไทย คนไทย ที่เน้นการ "บอก สอน ป้อน สั่ง" เน้นเรียนแบบ "นั่ง" แทนที่จะเน้น "ปลุกพลัง" ในตัวเด็กแล้ว ไม่เวิร์ค (ผมสังเกตว่าหลายคนไม่มีความฝันจริงจังใดๆ ส่วนใหญ่เป็นเพียงความหลง อยากมี อยากเป็นชั่วคราว) 

 ผมทดลองเปลี่ยนคำถามใหม่กับ "คนไทย" ที่มาทำสุนทรียสนทนาว่า "อะไร สิ่งใด หรือเหตุใด เราจึงเป็นเราในวันนี้"  ปรากกฎว่าได้ผล  กับตัวผมเองก็ได้ผล ผมอธิบายได้ว่า การที่มีศรัทธาจนหันมาฝึกปัญญาตามหลักพุทธ เพราะตอนสมัยยังเด็ก คุณตา พรมมา ศรีแสง คุณตาแท้ๆ ฝึกให้นั่งสมาธิตั้งแต่ยังไม่เข้าโรงเรียน  ตอนหลังเมื่อเติบโตไปเรียนในเมือง แม้จะหลงแสงสีเสียง แต่ก็รอดตายจากสังคมเสี่ยงนี้มาได้

ผมเล่าให้ ผอ.สวัสดิ์ ฟังด้วยว่า ผมเคยอ่านหนังสือของ หลวงพ่อจรัญ ที่ท่านบอกกับญาติของคนบ้าคนหนึ่งว่า ให้ดูแลให้เขาทำความดีไว้ แม้เขาไม่สามารถหายได้เร็วนี้ หมดกรรมเก่ากรรมดีจะให้ผล จนหายได้ภายหลัง

เมื่อยอมรับ 

  • หลักของธรรม (ธรรมนิยาม)  สิ่งใดๆ ย่อมเกิดจากเหตุ  เหตุน้อย ผลน้อย เหตุมาก ผลมาก เหตุพิเศษ ผลพิเศษ (คำสอนของหลวงปู่ศรี มหาวีโร วัดป่ากุง จ.ร้อยเอ็ด)
  • หลักของกรรม (กรรมนิยาม) แต่ละคนมีกรรมเป็นของๆ ตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย 
  • หลักของใจ (จิตตนิยาม) คือ เรามีใจ (จิต) เป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งล้วนสำเร็จด้วยใจ 
  • หลักของธรรมชาติภายนอกได้แก่ อุตุนิยาม และพีชนิยาม  

และ เมื่อพิจารณาร่วมกับ หลักการเรียนรู้ ปัญญา ๓ ที่พุทธเจ้าตรัสสอน วิธีการทำให้เกิดปัญญา 3 ทางคืก จากการ ฟัง/อ่าน จากการคิด และจากการภาวนาหรือลงมือปฏิบัติ 

สามารถสรุปให้สั้นง่าย ได้ใจความของคำว่า "สั่งสม" ที่กระผมหมายถึง ดังนี้ครับ

 

  • ต้อง "พาทำ" เด็กๆ ลูกหลานเรา ต้องได้ "สั่งสม" แม้ว่าเขาจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจในขณะนั้นๆ ก็ไม่เป็นไร เขาจะเข้าใจในภายหลัง เมื่อ "พลัง" ที่ "สั่งสม" ในตัวเขาเพียงพอ .....
  • เพราะว่าปัญญาเขาเกิดจาก "การฟัง การอ่าน" เราจึงต้องเป็น กัลยาณมิตร "บอก สอน ป้อน ให้" จัดให้เขาผ่านพบประสบกับสิ่งแวดล้อมที่ดี (ปรโตโฆษะ) พบแต่สิ่งดี ที่มีประโยชน์ เพื่อให้เขาได้ "สั่งสม" ความดี
  • เพราะ ปัญญาของเขาเกิดจาก "การคิด" เราจึงต้องฝึกให้เขารู้จัก "จิต" รู้จัก "จินตนาการ" โดยอำนวยให้ได้ "ฝึกคิด" ฝึกประสบการณ์ ผ่านกระบวนการคิดโดยแยบคาย หรือ โยนิโสมนสิการ 10 ประการ
  • เพราะสิ่งสำคัญคือการเรียนรู้จากการปฏิบัติ พวกเขาจึงต้องได้ "ฝึกหัด" การทำงานด้วย อิทธิบาท 4 ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ... ธรรมแห่งความสำเร็จในการงาน  งานแต่ละชิ้นที่สัมฤทธิ์จะทำให้จิตของเขามั่นใจและเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ
  • ขณะ เดียวกัน ก็ต้องบ่มเพาะจิตใจแบ่งปันเอื้อเฟื้อ ด้วย พรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา (แนะนำให้ฟังธรรมของ ท่าน ป.ปยุตโต)
  • และสุดท้าย ธรรมที่จะทำให้เขาอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข คือ ภาคปฏิบัติของพรหมวิหารทั้ง 4 คือ สังคหวัตถุ 4 ได้แก่ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตา 

ไม่เฉพาะ "พาทำ"  แต่ ต้อง "ชวนให้ทำ" "ทำให้ดู" ตลอดจน ต้องรู้จัก "วางเฉย" เพื่อเปิดโอกาสให้เขาฝึกเรียนรู้ด้วยตนเอง 

สุดท้ายนี้ สรุปให้สั้น คือ 

  • เรา ต้องไม่ทิ้งเด็กๆ คนไหนให้เป็นน้ำตุ่มรั่ว นอกจากไม่ได้ "สั่งสมความดี" ในตัวแล้ว ยังเสี่ยงต่อการ "สั่งสมความชั่ว" ที่จะพาตัวตกต่ำต่อไป 

 ท่านคิดว่าไงครับ


หมายเลขบันทึก: 544090เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2013 12:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2013 22:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

 

        

   กระบวนการ "สั่งสม" ....  แบบนี้ดีจริงๆ ค่ะ   ขอบคุณค่ะ

 

 

ขอบคุุณค่ะที่นำเรื่องดีๆแบ่งปัน...สนับสนุนการทำให้ดูค่ะ เพราะจำได้ว่าพ่อ แม่ ท่านไม่ค่อยได้้สอนอะไรลูกๆมากนักแต่ท่านเน้นการทำให้ดู เช่นการดูแล ตา ยาย  รวมทั้งปู่ย่า  เช่น เวลาจะทานข้าวท่านก็จะตักน้ำใส่ขันเงินใบใหญ่มาวางข้างๆตา ยาย พอท่านทานข้าวอิ่มท่านก็ไม่ต้องเดินไปดื่มที่ตุ่มเอง  ....ต่อมาพี่ก็ทำเหมือนท่าน คือตักน้ำมาให้ท่านเหมือนกับที่ท่านทำกับตายาย   ต่อมา น้องๆ ก็ตักน้ำมาให้พี่เหมือนกันกับที่พี่ทำกับพ่อ แม่ และปัจจุบัน หลานๆก็ทำเหมือนที่พี่ทำกับพ่อ แม่ คือพี่ไม่เคยได้ลุกไปดื่มน้ำเองเลย หลานเขาตักมาให้เสมอๆโดยที่ไม่ต้องบอกค่่ะ    มันเป็นความสุขที่มีได้ทุกวันนะคะ

ศรัทธาเท่านั้น ที่จะทำให้เกิดกระบวนการ "สั่งสม" ในลูกหลานของเรา

ขอบคุณ คุณหมอ ครูมุก ท่านผอ.ชยันต์ และ ผอ.มานพ ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนครับ

ชอบประโยคนี้จังค่ะ.."สั่งสมความดี"    ขอบคุณท่านอาจารย์ฤทธิไกร..ที่ได้นำหลักธรรมดีๆมาแชร์ให้ทราบกันนะคะ  

สรุปเป็นหลักธรรม  ผมว่าผมเข้าใจยากครับ  ผมไม่ค่อยรู้เรื่องธรรมะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนไม่ดีนะครับ  ยังไงผมจะส้่งสมความดีต่อไป........................

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท