ปากดีสมองดี___คุณเลือกได้(เลย)


.
สำนักข่าวเทเลกราฟ ตีพิมพ์เรื่อง "ปากไม่ดี (อนามัยช่องปากไม่ดี) เสี่ยง (มีความสัมพันธ์กับ) สมองเสื่อม (อัลไซเมอร์)"
= , ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
.
.
ภาพที่ 1: ฟันของคนเรามีระบบเลือด (เส้นสีแดง = หลอดเลือดแดง; เส้นสีม่วง = หลอดเลือดดำ) ไปหล่อเลี้ยงทั้งด้านใน และด้านนอก โดยเฉพาะส่วนเหงือก
.
ฟันของคนเราอยู่ในเบ้าฟันแบบหลวมๆ เปรียบคล้ายเสาส่งสัญญาณวิทยุผอมๆ สูงๆ ตามบ้านนอกที่ล้มง่าย ต้องมีลวดสลิงยึดโยงรอบทิศ จึงจะแข็งแรง ไม่ล้มง่าย
.
ฟันของคนเรามีเยื่อยึดโยง เป็นเส้นใย หรือไฟเบอร์ขนาดจิ๋ว อยู่ในเนื้อเยื่อรอบโคนฟัน หรือเนื้อเยื่อปริทนต์ (H, I, J, K) ทำหน้าที่ยึดฟันให้ติดกับกระดูกเบ้าฟัน และเหงือก
.
ภาวะเหงือกอักเสบเรื้อรัง เหงือสึก หรือเหงือกร่น (มองด้วยตาเปล่าจะเห็นคอฟันสีเหลืองน้ำตาลยาวขึ้น คล้ายกะเหรี่ยงคอยาว) ทำให้เกิดการสูญเสียเส้นใย หรือไฟเบอร์ที่ยึดฟันให้ติดกับเบ้าฟัน ทำให้ฟันโยก หรือฟันหลุดได้ในระยะยาว
.
.
ภาพที่ 2: ฟันของคนเราวางอยู่ในเบ้า (กระดูก) ฟันแบบหลวมๆ, มีเส้นใยยึดโยง (เส้นสีม่วง = H, I, J, K) ช่วยยึดโยงฟันให้ติดกับเหงือก และกระดูกเบ้าฟัน [ wikipedia ]
.
การแปรงฟันแรง ใช้แปรงสีฟันเส้นแข็ง (ดีที่สุด คือ ชนิดขนอ่อน หรืออ่อนมากเป็นพิเศษ, ไม่ใช่ชนิดขนแข็งปานกลาง), แปรงฟันผิดวิธี หรือไม่ไปตรวจฟัน-ทำฟัน เช่น ขูดหินปูน ฯลฯ กับหมอฟันเลย เพิ่มเสี่ยงการสะสมคราบพลัค หรือคราบจุลินทรีย์ผสมหินปูนบริเวณคอฟัน
.
คราบพลัค หรือคราบจุลินทรีย์ผสมหินปูนบริเวณคอฟัน เพิ่มเสี่ยงโรคเหงือกอักเสบเรื้อรัง เนื้อเยื่อรอบโคนฟัน หรือปริทนต์อักเสบเรื้อรัง เหงือกสึก เหงือร่น ฟันผุ ฟันสึก เสียวฟัน ฟันโยก หรือฟันหลุดก่อนวัยอันควรได้
.

.
การศึกษาใหม่จากอังกฤษ ทำโดยการตรวจศพคนไข้โรคสมองเสื่อม 10 รายเทียบกับกลุ่มควบคุม (ศพคนที่ไม่เป็นโรคสมองเสื่อม)
.
ผลการศึกษาพบว่า มีร่องรอยของเชื้อโรค "พอร์ไฟโรโมแนส จิงจิวาลิส (Porphyromonas gingivalis) หรือ "พี. จิงจิวาลิส" ในสมอง
.
เชื้อโรคชนิดนี้พบในเนื้อเยื่อเหงือกอักเสบเรื้อรัง และพบได้ในช่องปากของคนเรา
.
การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า เชื้อโรคที่สะสมในเหงือก และเนื้อเยื่อรอบโคนฟัน หรือที่เรียกว่า เนื้อเยื่อปริทนต์ (ปริ = รอบๆ; ทนตะ = ฟัน) สามารถหลุดรอดเข้าสู่กระแสเลือดได้
.
เหงือกของคนเราอ่อนนุ่ม และสะสมเชื้อโรคได้ คล้ายกับฟองน้ำล้างจาน
.
ช่วงเวลาที่มีแรงกดต่อเหงือก จะมีการบีบอัด คล้ายกับการบีบฟองน้ำล้างจาน รีดน้ำออกบางส่วน ทำให้เชื้อโรคส่วนน้อยหลุดเข้าไปในกระแสเลือดได้แก่ (ช่วงเวลา...)
  • กินอาหาร ดื่มน้ำ
  • เคี้ยว
  • แปรงฟัน
  • ทำฟัน ผ่าตัดฟัน
การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า เหงือกอักเสบเรื้อรังเพิ่มเสี่ยงโรคหลายอย่าง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ
.
กลไกที่เป็นไปได้ คือ เชื้อโรคที่หลุดจากเหงือก เนื้อเยื่อรอบโคนฟันส่วนน้อยมากๆ หลุดลอยไปในกระแสเลือด และไปเกาะหนึบที่เซลล์สมอง
.
.
ร่างกายจะพยายามทำลายเชื้อโรค โดยทำให้เกิดการอักเสบ เพื่อปล่อยสารทำลายเชื้อโรค และดึงเม็ดเลือดขาวเข้าไปกำจัดเชื้อโรค
.
ทว่า... การอักเสบนี้อาจเกิดขึ้นนาน เลยทำลายทั้งเชื้อโรค และเซลล์สมอ
.
การศึกษานี้สอดคล้องกับการศึกษาก่อนหน้านี้จากสหรัฐฯ
.
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า วิธีป้องกันสมองเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์ ฯลฯ เริ่มจากการ "มีดี 2 อย่าง" ก่อนได้แก่ "สมองดี เริ่มต้นที่ปากกับเท้า (ตีน)"
.
(1). ปากดี = อนามัยช่องปากดี
  • แปรงฟันให้ถูกวิธี แปรงเบาๆ แปรงให้ทั่วถึง นานพอดี 2-3 นาที, 2-3 ครั้ง/วัน
  • หลีกเลี่ยงการแปรงฟันหลังกินอาหารที่มีกรด เช่น ยาน้ำ น้ำอัดลม ผลไม้ น้ำผลไม้ ฯลฯ หรือด่าง เช่น ยาลดกรด (ยาน้ำ) ฯลฯ ทันที (รอ 30-60 นาที) > บ้วนปาก +/- เคี้ยวหมากฝรั่งไร้น้ำตาลเบาๆ ทันที หลายๆ ครั้ง
  • ใช้แปรงสีฟันขนอ่อน (soft) หรืออ่อนมากเป็นพิเศษ (extra soft)
  • เคาะด้ามแปรงหลังใช้ เพื่อไล่ (สะบัด) น้ำออก
  • เก็บแปรงในที่แห้ง นอกห้องน้ำ
  • ผึ่งแปรงให้แห้ง เช่น ตากแดด แขวนนอกบ้าน ฯลฯ 1 ครั้ง/สัปดาห์
  • ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์
  • เปลี่ยนแปรงทุก 2-3 เดือน หรือแปรงเสื่อมสภาพ เช่น ขนบานออก ฯลฯ
  • ใช้ไหมขัดฟันให้ถูกวิธี 1 ครั้ง/วัน
  • ตรวจฟันกับหมอฟันทุก 6-12 เดือน
(2). เท้าดี (ตีนดี) = ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ
  • แนะนำให้เดินสะสมเวลาให้ได้อย่างต่ำ 40 นาที/วัน, ขึ้นลงบันได หรือขึ้นลงเนิน 4 นาที/วัน
  • หรือออกกำลังหนักปานกลาง เช่น เดินเร็วอย่างต่ำ 30 นาที, 5 ครั้ง/สัปดาห์ ฯลฯ
  • หรือออกกำลังหนัก เช่น วิ่งเร็วอย่างต่ำ 30 นาที, 3 ครั้ง/สัปดาห์ ฯลฯ
.
ถ้าไม่มีโอกาสออกกำลังจริงๆ, การเดินไม่เร็ว ไม่เร่งรีบหลังอาหาร แบบที่โบราณเรียกว่า "เดินย่อยอาหาร" หลังอาหาร 10-15 นาที ทุกมื้อ ทั้งมื้อใหญ่มื้อเล็ก ช่วยได้
.
เมื่อ "มีดี 2 อย่าง" คือ "ปากดี เท้าดี(ตีนดี)" แล้ว ให้ป้องกัน หรือลดเสี่ยงสมองเสื่อม (หลายชนิด) ด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มดังนี้ [ mayoclinic ]; [ NIH ]
.
(1). ไม่นั่งนานเกิน 1 ชั่วโมง/ครั้ง
.
เช่น ให้ลุกขึ้นยืนสลับนั่ง เดินสลับ เดินไปล้างมือด้วยสบู่-บ้วนปาก-ดื่มน้ำ-ปัสสาวะ (ฉี่) ฯลฯ
.
(2). ใช้สมองทำงานสร้างสรรค์ + เรียนต่อเนื่องตลอดชีวิต
.
เช่น ฝึกภาษาต่างประเทศ ท่องบทสวดมนต์หลายภาษา (เช่น บาลี-ไทย ฯลฯ), พูดคำ "ขอบคุณ-ขอโทษ-ขอบใจ" บ่อยๆ เพื่อลดการมองโลกในแง่ร้าย (มองโลกแง่ร้ายนานๆ เพิ่มเสี่ยงเครียด ซึมเศร้า)
.
(3). กินอาหารสุขภาพ
  • เน้นลดข้าวขาว-ขนมปังขาว-แป้งขาว-อาหารทำจากแป้ง-น้ำตาล-อาหารทอด
  • เปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง ขนมปังขาวเป็นขนมปังเติมรำสีน้ำตาล (โฮลวีต)
  • กินผักผลไม้ทั้งผล (ไม่ใช่น้ำผลไม้กรองกากทิ้ง) > แนะนำให้มีผักตระกูลกะหล่ำ เช่น บรอคโคลี กะหล่ำ ฯลฯ ตามโอกาส
  • ลดเนื้อแดง หรือเนื้อสัตว์ใหญ่ เช่น หมู แพะ แกะ วัว ฯลฯ
  • ลดเนื้อสำเร็จรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน หมูหยอง หมูยอ หมูแผ่น ฯลฯ
  • กินปลาที่ไม่ทอด เช่น นึ่ง ต้ม แกง ปลากระป๋อง (ปลากระป๋องส่วนใหญ่ใช้การอบความร้อน ไม่ใช่ดอง และไม่ใช่ทอด)
(4). ตรวจเช็คความดันเลือด น้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือดหรือโคเลสเตอรอล
  • รักษาให้ต่อเนื่องถ้าเป็นโรค หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรค
(5). ไม่สูบบุหรี่
.
(6). ไม่ดื่มหนัก
.
(7). ป้องกันอุบัติเหตุส่วนหัว และโรคทำร้ายสมอง
  • สวมหมวกกันน็อค หรือใช้เข็มขัดนิรภัย
  • เมาไม่ขับ ง่วงไม่ขับ
  • ไม่กินเนื้อดิบ หมูดิบ เพื่อป้องกันพยาธิตัวตืดขึ้นสมอง
  • กางมุ้ง ใช้มุ้งลวด +/- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคสมองอักเสบญ๊่ปุ่นบี
  • ระวังสารตะกั่ว โดยเฉพาะหม้อต้มน้ำก๋วยเตี๋ยว น้ำซุป, ตู้น้ำกดที่เชื่อมด้วยตะกั่ว
  • ล้างมือด้วยสบู่ก่อนกินอาหาร ดื่มน้ำ เพื่อป้องกันโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ฯลฯ จากหมึกพิมพ์ โดยเฉพาะหลังอ่านหนังสือพิมพ์ หนังสือ สัมผัสสีทาบ้าน
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
.

 > [ Twitter ]

  • ขอขอบพระคุณ / Thank
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์. 30 กรกฎาคม 56. ยินดีให้ท่านนำบทความไปใช้ได้ โดยอ้างที่มา และไม่จำเป็นต้องขออนุญาต... ขอบคุณครับ > CC: BY-NC-ND.
  • ข้อมูล ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูง จำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
 


หมายเลขบันทึก: 544096เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2013 13:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2013 13:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท