เข้าพร้อม "ตอก!" ออกพร้อม "ต้ม!" เทศกาลทำบุญช่วงเข้าพรรษา วัดชลธาราม


เข้าพร้อม "ตอก!" ออกพร้อม "ต้ม!"



ภาพบรรยากาศเช้าวันทำบุญแรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ วัดชลธาราม จ.นครศรีธรรมราช

"เข้าพร้อมตอก ออกพร้อมต้ม"
หลายคนที่เคยได้ยินคำนี้ถ้ามีพื้นเพเป็นชาวปักษ์ใต้แล้วจะทราบความหมายดี
ในฐาะนะสะใภ้ชาวใต้ของผู้เขียนแล้ว  รู้สึกเป็นวลีที่ไพเราะและมีความหมายมาก
หมายถึงอะไรหนอ??

ในช่วงเทศกาลทำบุญเข้าพรรษานี้ วัดที่ผู้เขียนไปบ่อยวัดหนึ่งในอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
คือวัดชลธาราม   ซึ่งชาวบ้านมามักเรียกขานว่า"วัดเตาหม้อ" เนื่องจากพื้นที่ด้านฝั่งทิศใต้ของวัดติดคลองเตาหม้อ
วันนี้ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ พ้นจากวันเข้าพรรษามาราว ๗ วัน  มีประเพณีที่เหล่าชาวพุทธนิยมถือปฏิบัติ
โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและใกล้เคียง คือ การนำข้าวตอกไปทำบุญที่วัดในวันแรม ๘ ค่ำ
ซึ่งปีนี้ตรงกับวันอังคาร ผู้เขียนมีสอนช่วง ๑๐ โมงเช้า นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมงานบุญกุศลครั้งนี้
การยกปิ่นโตไปวัดนั้น ผู้เขียนพยายามจะไปให้ตรงวันพระ
เพราะได้อุทิศถวายเป็นสังฆทาน  ได้กราบพระทั้งวัด และได้เห็นพระภิกษุสงฆ์พร้อมเพรียงกันกราบไหว้
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว รู้สึกใจคอสงบเยือกเย็นเป็นสุข ตลอดถึงมีโอกาสร่วมสวดมนต์ทำวัตรเช้า
กับเหล่าพระคุณเจ้าและอุบาสกอุบาสิกาที่พร้อมเพรียงกันมา
ผู้เขียนศรัทธาและเชื่อมั่นในอานุภาพของคุณพระศรีรัตนตรัยมาก
มีความเชื่อโดยส่วนตัวว่า ควรหาโอกาสไปวัดทำบุญเพื่อต่อไปภายภาคหน้าชีวิตจะได้ไม่ตกระกำลำบาก
จะรอให้อายุมากจึงเข้าวัดนั้น ไม่อยู่ในความคิด และจะพยายามทำดีไปเรื่อยๆ จนกว่าชีวิตจะสิ้นสุดลงซึ่งไม่รู้ว่าจะเย็นนี้....วันพรุ่งนี้หรือเมื่อไหร่?   อันว่าความตายนั้นไม่มีใครบอกได้
อ้าว!! จะเล่าเรื่องไปทำบุญไหงมาออกที่ความตายได้ล่ะเนี่ย!!!โธ่!!!

กลับมาเข้าเรื่องใหม่

นั่นคือช่วงเข้าพรรษานี้ ประเพณีนำข้าวตอกไปวัดนั้น นิยมกันมากในหมู่ชาวพุทธภาคใต้
ที่บ้านผู้เขียนไม่มีลักษณะนี้ หรือมีก็ไม่แน่ใจ แต่เท่าที่จำความได้ ช่วงเข้าพรรษาที่เคยติดตามเตี่ยของผู้เขียน
ขับเรือจ้างพาคนเฒ่าคนแก่ในคลองแป๊ะกง นั่งเรือไปวัดนั้น
ที่วัดมีประเพณีทำบุญเข้าพรรษาติดต่อกันหลายวัน บางแห่งอาจจะ 7 วัน บางแห่ง 5 วัน
วัดดอนไก่ดี อำเภอกระทุ่มแบน สมัยที่ผู้เขียนยังเด็กนั้น ช่วงเข้าพรรษามีพระจำพรรษาถึง 100 กว่ารูป
พุทธศาสนิกชนล้นหลามแน่นขนัด ยกสำรับที่วิจิตรตระการตามีฝปิดครอบด้วย
จำได้ชัดเจนว่า ส่วนใหญ่จะถวายผ้าอาบน้ำฝนที่ห่ออย่างสวยงามและมีดอกบัวประดิษฐ์ในห่อสังฆทานนั้น
มีคุณลุงท่านหนึ่ง ถวานสำรับกับข้าวอย่างประณีตพร้อมด้วยพวงลำไยพวงใหญ่ ติดตาผู้เขียนมาก
อาหารคาวหวานนั้น ที่ขาดไม่ได้ส่วนใหญ่จะเป็นทองหยิบ ฝอยทอง และเม็ดขนุน
รวมทั้งจาวตาลเชื่อม (ที่ผู้เขียนชอบมาก)
ปีนั้นราวๆพ.ศ.๒๕๒๑-๒๕๒๓ จำไม่ได้แน่ชัดรู้ว่ายังเรียนประถม
ได้มีโอกาสตามเตี่ยไปที่วัด
แต่เราสองคนพ่อลูกไม่ได้ร่วมทำบุญหรือแม้แต่ดอกไม้สักดอกนึงก็ไม่ได้เตรียมไป
ได้แต่บริจาคเงินเหรียญหยอดใส่ตู้ ถ้าจำไม่ผิด
เมื่อมานึกย้อนดูแล้ว น่าจะเป็นเพราะฐานะที่ยากจนส่วนหนึ่งทำให้ไม่มีอะไรไปถวายเลย
เห็นภาพที่คุณลุงท่านนั้นยกสำรับคาวหวานของท่านไปถวายและมีพวงลำไยพวงใหญ่มัดอย่างสวยงาม
ซึ่งสมัยนั้นจัดว่ามีราคาแพง เพราะการคมนาคมขนส่งไม่สะดวกเหมือนสมัยนี้
ผู้เขียนนึกในใจว่าอีกหน่อยโตขึ้นขอให้มีโอกาสได้ทำบุญถวายอาหารพระเช่นเดียวกับคุณลุงท่านนั้นบ้าง
ความคิดนี้และภาพในวันนั้น ยังฝังแน่นอยู่ตลอด
ตอนนั้นจำได้ว่าช่วงเวลาหนึ่งได้มีโอกาสเดินเล่นเตร็ดเตร่อยู่บริเวณวัด
ไปอ่านพบรายชื่อผู้สร้างซุ้มประตูวัดที่อยู่ริมแม่น้ำท่าจีน (ซึ่งสมัยก่อนผู้คนสัญจรทางเรือเป็นส่วนใหญ่)
จำชื่อผู้สร้างไม่ได้ แต่นามสกุลนั้นผู้เขียนจำได้แม่น คือ "เรียบร้อยเจริญ " และ"เจริญชาศรี"
(นามสกุลนี้ยังพิมพ์ด้วยหมึกสีน้ำเงินติดในจานสังกะสี สีขาว ที่วัดใช้ด้วย)
ทราบจากเตี่ยผู้เขียนว่าเป็นนามสกุลของกำนันท่านหนึ่งในเขตตำบลดอนไก่ดี
ตอนนั้นยังนึกในใจตามประสาเด็กว่า เขาเป็นใครหนอ คงจะรวยมาก มีบุญมาก
ได้มีโอกาสสร้างซุ้มประตูอันสวยงามเช่นนี้
กลับมาอีกรอบ (หลังจากพาไปวัดที่กระทุ่มแบนแล้ว)
มาวัดชลธารามในปี ๒๕๕๖ กันใหม่!!!
ปีนี้มีพระจำพรรษารู้สึกจะ ๑๗ รูป
ที่วัดนี้จะทำพิธีตอนเช้านับว่าโอกาสดีมาก
เริ่มจากอุบาสกอุบาสิกา สวดมนต์บูชาคุณพระศรีรัตนตรัย
เสร็จแล้วอาราธนาศีล พระคุณเจ้าให้ศีล ๘
ซึ่งท่านเจ้าอาวาส พร่ำสอนญาติโยมว่า
"โยมมาวัดนี้ พระไม่มีอะไรจะให้! นอกจากให้ศีล!
ขอให้โยมรักษาศีลที่อาตมาให้นี้ไว้ให้ดี!
แล้วชีวิตโยมจะมีแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรือง!"

นับว่าท่านเจ้าอาวาสให้ "ของดี" อย่างที่สุด
และท่านจะฝึกพระบวชใหม่ให้เป็นผู้นำในการกล่าวศีล ๘
เพื่อฝึกพระภิกษุที่จำพรรษาที่วัด ให้มีวัตรปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบเป็นการขัดเกลา
ทั้งพระและชาวบ้านไปพร้อมกันในตัว
หลังจากนั้นเมื่อรับศีลแล้วก็กล่าวคำถวายสังฆทาน
กรวดน้ำอุทิศบุญกุศลให้บิดามารดาผู้ล่วงลับ ตลอดจนครูอุปัชฌาอาจารย์ฯลฯ
ช่วงที่พระคุณเจ้าฉันภัตตาหารเช้า
ญาติโยมที่มาวัดนี้จะพร้อมเพรียงกันสวดมนต์
บทที่สวดคือ อิติปิโสรัตนมาลา เช่นเดียวกับบทสวดอิติปิโสที่พระเดชพระคุณเจ้า
พระธรรมสิงหบุราจารย์  (หลวงพ่อจรัล  ฐิตธัมโม เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี)
ท่านแนะนำทั้งบทนั่นเอง
ตามด้วยสวดมนต์ มงคลจักรวาล ๘ ทิศ แล้วแผ่เมตตาให้ตนเองตามด้วยแผ่ให้สรรพสัตว์
เมื่อสวดเสร็จ เหล่าพระคุณเจ้าก็ฉันภัตตาหารเสร็จพอดี!
และข้าวตอกที่นำมาทำบุญจำนวนมากนั้น ถึงตอนนี้จะจ่ายแจกให้นำกลับไปกินที่บ้านด้วย!
ลืมบอกคุณผู้อ่านไปว่าเมื่อแรกยกปิ่นโตเข้าไปที่ศาลานั้น
กลิ่นน้ำกะทิทุเรียน จะอบอวลหอมหวลมาก!!!!
ผู้เขียนเข้าใจว่านิยมรับประทานคู่กับข้าวตอกนั่นเอง
และญาติโยมก็ทำมาถวายเกือบทุกปิ่นโต กลิ่นจึงตลบอบอวลไปด้วยน้ำกะทิทุเรียน
สุดท้ายเฉลยที่ว่า "เข้าพร้อมตอก ออกพร้อมต้ม"  นั้นคุณผู้อ่าน อ่านมาถึงตรงนี้
คงทราบแล้วว่าหมายถึง เทศกาล "เข้า" พรรษา นิยมทำบุญด้วย ข้าวตอก
ส่วนออกก็หมายถึง ออกพรรษา นิยมทำบุญด้วยข้าวต้มมัด หรือข้าวต้มลูกโยนนั่นเอง

ขอถือโอกาสเทศกาลวันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ วันนี้
อนุโมทนาบุญแก่ท่านผู้อ่านทุกท่านของgotoknow ให้ประสบแต่ความสุข ความเจริญรุ่งเรือง
ดังคำสอนของพระคุณเจ้า ว่า "ให้รักษาศีลให้ดี"แล้วชีวิตจักเจริญรุ่งเรือง
สาธุ!



พระประธานที่ศาลาการเปรียญของวัดเตาหม้อ


ข้าวตอกที่ญาติโยมนำมาทำบุญจำนวนมาก



เข้าพรรษานี้มีพระบวชใหม่จำพรรษาหลายรูปถึง ๑๗ รูป จากปกติประมาณ  ๕ รูป


บรรยากาศในเทศกาลทำบุญวันแรม ๘ ค่ำ วัดชลธาราม

หมายเลขบันทึก: 544095เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2013 13:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2013 20:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขออนุโมทนาบุญด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท