หาความพอดีบนเงื่อนไขระบบนิเวศในบ้าน


 
 

 

ผมจำเป็นต้องทำระบบบำบัดและจัดการน้ำทิ้งในบ้านเสียใหม่ แต่เดิมนั้น ในบ้านผม ผมวางแผนจะใช้สระบัวและคูน้ำที่เชื่อมต่อกับสระบัว แล้วก็ปลูกกอไผ่ตลอดแนวบนขอบคูน้ำยาวประมาณ ๔๐ เมตร เป็นระบบบำบัด รองรับน้ำทิ้งในบ้าน และบำบัดให้สะอาดโดยสระบัว ส่งต่อเข้าไปในคูน้ำ ให้รากไผ่จากกอไผ่กว่า ๑๐ กอตลอดขอบคูน้ำ บำบัดน้ำให้สะอาด จากนั้นก็เชื่อมต่อกับนาของชาวบ้านและคลองส่งน้ำของหมู่บ้านที่ออยู่รอบบ้าน สภาวิจัยแห่งชาติกับมหาวิทยาลัยมหิดลเคยอุดหนุนให้ผมวิจัยมิติสังคมและวัฒนธรรมชุมชนของการทำนาบัวมาแล้ว สิ่งหนึ่งที่พบคือนาบัวมีคุณสมบัติในการบำบัดและฟื้นฟูดินกับน้ำด้วย เลยนอกจากจะทำสระบัวเอาไว้เป็นส่วนหนึ่งในบ้านแล้ว ก็ขอเอามาทำต่อไปเรื่อยๆในบ้านอีกเสียเลย เพื่อศึกษาในฐานะที่เป็นสวนน้ำพร้อมกับดูบทบาทในการเป็นระบบนิเวศ จัดการและบำบัดน้ำทิ้งในบ้าน หาวิธีเพลิดเพลินไปกับการเก็บข้อมูล แล้วก็ศึกษาให้ได้เผยแพร่แง่มุมต่างๆไว้ไปเรื่อยๆ 

แต่ต่อมา ๒-๓ ปีนี้ก็ต้องปรับความคิดใหม่ เนื่องจากสระบัวและคูน้ำในบ้านผมนั้น แม้จะขนาดเล็กมาก แต่ก็จุน้ำเอาเรื่องเหมือนกัน เมื่อปล่อยน้ำเข้าเต็มที่ ก็น่าจะจุน้ำสัก ๒๐๐ ลูกบาศก์เมตร หล่อเลี้ยงการทำนาทำสวนได้สัก ๒-๓ ไร่เหมือนกัน น้ำหน้าดินรวมทั้งน้ำทิ้งจากในบ้าน จะไหลไปรวมในสระบัวก่อน แต่เมื่อได้ใช้จริง แม้ในช่วงทำกิจกรรมที่คาดว่าจะใช้บ้านรองรับได้ ทั้งการมีประชุมและเวิร์คช็อปสำหรับกลุ่ม ๒๐-๓๐ คน พร้อมกับการดำเนินชีวิตตามปรกติในบ้านแล้ว น้ำทิ้งที่เกิดจากการอาบน้ำ ซักผ้า ล้างจาน รวมทั้งการใช้สอยต่างๆ เมื่ออยู่ในบ่อเกรอะและแหล่งรองรับน้ำก่อนส่งไปลงสระ ก็มีปริมาณไม่มาก ภายในระยะเวลาไม่ถึงวันก็แห้งหายไปหมด ไม่เหลือไปขังหล่อเลี้ยงในสระบัว ดัง
นั้น ปัญหาที่จะต้องนำมาคิดและปรับปรุงเสียใหม่สำหรับแนวคิดแต่เดิมที่คิดจะทำสระบัวซ้อนลงไปบนแหล่งบำบัดน้ำในบ้านก็คือ มันขนาดใหญ่เกินที่น้ำใช้ในบ้านจะมีมากพอสำหรับทำให้เกิดความเป็นสระบัว  
แต่เมื่อเชื่อมต่อกับเหมืองฝาย ร่วมเป็นส่วนหนึ่งไปด้วยในระบบจัดการน้ำทำเกษตรกรรมของชาวบ้านในชุมชน หากไม่มีวิธีจัดการเพิ่มขึ้นอีก เพื่อจะให้เป็นระบบแยกอิสระจากเหมืองฝายของชาวบ้านก็ได้ หรือจะให้เชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งกันก็ได้ตามความจำเป็นต่างๆแล้ว ในช่วงเวลาที่ขาดแคลนน้ำทำนาทำสวน สระบัวและคูน้ำที่มีอยู่ แม้จะมีขนาดเล็กเมื่อเทียบสัดส่วนของแปลงนา เมื่อต้องการให้มีน้ำและให้น้ำจากเหมืองฝายไหลผ่าน หากสภาพโดยทั่วไปเป็นปรกติ ก็จะไม่เป็นไร 
แต่หากบางปี ดังเช่นปีนี้ เกิดภาวะแล้งและขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่องหลายเดือน สระเล็กๆที่ดูเหมือนไม่มีบทบาทอย่างไรต่อระบบนิเวศของน้ำ ก็คงจะกลายเป็นตัวดึงน้ำในช่วงที่มีน้ำน้อย ทำให้ชาวบ้านโดยรอบที่ทำนาทำสวน ยิ่งขาดแคลนน้ำมากเข้าไปอีก และเมื่อมองไปในอนาคต หากมีชุมชนหนาแน่นมากยิ่งๆขึ้น ปัญหาเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ก็จะเด่นชัดมากขึ้น แต่รอให้เกิดอย่างนั้นเสียก่อน ก็คงจะวางองค์ประกอบต่างๆและแก้ไขได้ไม่ง่ายเสียแล้ว ค่อยๆวางระบบออกจากตัวเราเองก่อนแล้วก็ทำเสียเลยตั้งแต่ตอนนี้ดีกว่า  
ก็เลยต้องออกแรงทำท่อซีเมนต์ ๒ ท่อ ท่อหนึ่ง ๓ วง และอีกท่อหนึ่ง ๒ วง เพื่อเป็นระบบบำบัดและจัดการน้ำทิ้งในบ้าน ส่วนสระบัวและคูน้ำ ก็ปรับแต่งระบบเชื่อมต่อกับเหมืองฝายใหม่ เดินท่อรอบบ้าน เพื่อควบคุม รับและส่งต่อน้ำ เชื่อมโยงกับระบบท่อและเหมืองฝายของชุมชน หากมีน้ำหลากมาก สระบัวในบ้านผมจะเป็นแอ่งพักน้ำเล็กๆเอาไว้สำรองใช้ได้เล็กน้อย หากแห้งแล้งมาก ดังเช่นปีนี้ ก็จะให้ลำดับความสำคัญแรกแก่การทำนาทำสวนของชาวบ้านก่อน โดยปิดน้ำและเพื่อให้น้ำในระบบเหมืองฝายในยามที่ขาดแคลน ได้ระดมรวมไปเลี้ยงการทำนาทำสวนของชาวบ้านให้มากที่สุดเท่าที่มี แล้วก็จะไม่กระทบกับแหล่งรับน้ำและบำบัดทิ้งในบ้าน เพราะมีบ่อซีเมนต์ที่สร้างขึ้นใหม่นี้อีกต่างหาก

หลุมลึกสัก ๑๕๐ เซนติเมตร เท่ากับยอดอก กว้างยาวประมาณ ๒-๓ เมตร สำหรับวางท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ เมตรนั้น หากใช้รถขุด ก็ขุดและโกยดินออกเพียงสองสามครั้งก็ใช้ได้ ราคาก็จะประมาณ ๓๐๐-๕๐๐ บาท แต่ผมก็เลือกที่จะขุดและทำทั้งหมดด้วยแรงคนโดยทำเอง เพราะไม่ได้ต้องการเพียงการขุดดินฝังท่อและทำสิ่งที่ต้องการให้ได้ด้วยการลงทุนต่ำแต่ให้ได้กำไรสูงสุดเท่านั้น แต่ต้องการทำสิ่งดังกล่าวนั้นขึ้นมาใช้ดำเนินชีวิตและทำการงานด้วย ขณะเดียวกัน ก็อยากจะศึกษาและเรียนรู้ไปบนการปฏิบัติไปด้วยว่า การทำสิ่งนี้บนฐานชีวิตตนเองในบริบททางเศรษฐกิจสังคมปัจจุบันนั้น เราจะสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน ต้องเผชิญอุปสรรคปัญหาอะไรบ้าง กระบวนการทั้งหมดต้องมีความเกี่ยวข้องกับสังคมและสภาพแวดล้อมต่างๆอะไรบ้าง ทรัพยากรและสิ่งที่ต้องใช้บนวิถีการผลิตโดยทั่วไปของสังคมในปัจจุบัน เมื่อนำมาใช้บนวิถีชีวิตและบนพื้นฐานการจัดการด้วยการพึ่งตนเอง ณ ระดับครัวเรือนและชุมชนการอยู่อาศัย มีขีดจำกัดและมีความยืดหยุ่นต่อการอยู่กับความเป็นจริงในชีวิตตรงไหนบ้าง กระบวนการชีวิตและมิติสังคม ที่ดำเนินไปบนวิถีปฏิบัติอย่างนี้ เป็นอย่างไร เกิดอะไรกับตัวเราบ้าง ให้การเรียนรู้และได้ความหลากหลายในทางเลือกที่เหมาะสมบนเงื่อนไขต่างๆที่น่าสนใจอะไรและอย่างไรบ้าง และอีกหลายอย่าง ที่หากเราลดทอนเพียงใช้เงินจ้างทำเพื่อได้เพียงความสะดวกสบาย ก็จะไม่สามารถเห็นและได้เข้าถึงความเป็นจริงอีกเป็นจำนวนมากที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่โดยรอบในปัจจุบัน 

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผมได้นำเอาแนวการศึกษาวิถีสังคมชาวนาบัว มาทำให้อยู่ในภาวะดังอุปมาว่า 'กอบัวบอกลึกตื้นชลธาร และความเป็นนาบัว ก็เป็นสิ่งบ่งชี้ สะท้อนปัจจัยแวดล้อมสังคมและสิ่งแวดล้อม' มาศึกษาและตรวจสอบกับสถานการณ์ที่ต่างบริบท โดยปฏิบัติศึกษาให้การวางท่อสำหรับทำที่บำบัดน้ำทิ้งในบ้าน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ศึกษาให้เป็นเสมือนดอกบัวและนาบัว ไม่พิจารณาแบบแยกส่วนและอยู่โดดๆอย่างเอกเทศ แต่จะพิจารณาในฐานะที่เป็นภาวะผุดบังเกิดและเป็นเครื่องหยั่งไปถึงสิ่งต่างๆโดยรอบ เพื่อเห็นภาพสะท้อน เข้าใจระบบและเห็นความซับซ้อนของเหตุปัจจัยต่างๆตามสภาวการณ์ที่เป็นจริงในเงื่อนไขของสิ่งนั้นๆในปัจจุบัน จากนั้นก็ตั้งโจทย์เพื่อกำหนดรู้และเจริญสติไปบนสิ่งที่จะต้องทำต่างๆ ซึ่งก็เป็นการนำเอาวิธีการวิจัย มาตรวจสอบให้เห็นความเชื่อมั่นใน'ความเป็นธรรมวิจโย' หรือศึกษาการปฏิบัติธรรมไปบนการใช้ชีวิตและการทำงาน เพื่อเห็นรอยเชื่อมต่อกันบนกิจกรรมการนำมาใช้ในชีวิตจริง สร้างวัตถุ พัฒนาทางกายภาพ ให้ได้มิติจิตใจและจิตวิญญาณ ซึ่งก็น่าจะเป็นแนวหนึ่งสำหรับศึกษาปฏิบัติธรรมที่จะไม่ทำให้ปัจเจกแยกส่วนออกไปจากระบบสังคมและสิ่งอื่นๆ พร้อมกับทำให้เป็นผู้สังเกต ศึกษา และสร้างความรู้ ขึ้นจากความมีชีวิตของปรากฏการณ์ต่างๆที่ตัวเราเองได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินไปของชีวิต

ผมเริ่มทำตั้งแต่เมื่อสิ้นหน้าหนาวและเริ่มเข้าสู่หน้าแล้ง เริ่มถางหญ้า เปิดหน้าดิน ขุดแล้วก็โกยดินขึ้นทีละชั้น ดินแถวบ้านนั้น หน้าดินในระดับ ๑ เมตรแรก เป็นดินทรายละเอียดปนกรวดหิน ในหน้าแล้งดินทรายละเอียดจะแข็งราวกับดินดานที่เต็มไปด้วยกรวดหิน จึงขุดยากมาก ต้องใช้อีเตอร์ขุด เมื่อลึกเกิน ๑ เมตรดินจึงเริ่มมีความชุ่มชื้น จึงเริ่มอ่อนและใช้จอบขุดได้ง่ายขึ้น

ผมทำๆหยุดๆ สลับกับการทำงาน ไปบรรยายและทำงานวิชาการบ้าง ตัดหญ้า และทำสิ่งต่างๆพร้อมกันไปตามปรกติ สบายๆ ผ่านไปกว่า ๒ เดือน หลังจากขุดดินกว้างและลึกได้ที่ดังที่ต้องการ ผมก็ค่อยๆกลิ้งท่อซีเมนต์ลงหลุม เมื่อกลิ้งท่อลงหลุมนั้น ก็เล่นเอาเหนื่อยสบักสบอม งานที่คิดว่าจะเสร็จง่ายๆ ก็กลับเกิดงานเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เพราะท่อคอนกรีตนั้นหนักมาก เมื่อกลิ้งลงไปก็ยากที่จะประคองให้ได้แนวที่ต้องการได้อย่างพอดี ผลก็คือท่อท่อนหนึ่งแทนที่จะลงไปและตั้งตามแนวที่ผมต้องการ ก็กลับหล่นไปอยู่ก้นหลุ่มในแนวนอน หมดปัญญาที่จะยกให้ตั้งขึ้น ผมต้องขุดบ่อขยายปากหลุมให้กว้างและมีพื้นที่พอที่จะขยับกลิ้งท่อและยกตั้ง ให้ได้แนวและระดับที่พอดีสำหรับเดินท่อเชื่อมต่อกับอีกท่อหนึ่ง

การแก้ไขปัญหาและวางท่อใหม่ทำไปด้วยความยากลำบากและต้องใช้ความระแวดระวังอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่วายที่จะโดนท่อกลิ้งกระแทก ทับมือทับขา รวมทั้งโดนคมตามแง่งซีเมนต์กดทับแล้วบาด ได้แผลเลือดโกรก  ปวดแสบปวดร้อนทั้งผมและภรรยา แต่ทุกอย่างก็สำเร็จได้อย่างที่ต้องการ ผมกับภรรยานั่งทำน้ำมะนาวจิบเย็นๆฉลองกันเองหลังจากเสร็จเอาเมื่อมืดค่ำของเมื่อวานก่อน ทั้งความเหนื่อยกระหายและบรรยากาศยามเย็นหมดแดดร้อน ก็ทำให้น้ำมะนาวเย็นๆคนละแก้วนั้นอร่อยสดชื่นมาก

ทำไปก็ได้ความตระหนักว่าท่อซีเมนต์ขนาดกว้าง ๑ เมตร สูง ๕๐ เซนติเมตร ที่มีแพร่หลายอยู่ทั่วไปนั้น เหมาะสำหรับใช้เครื่องจักรและจ้างแรงงานคนหลายๆคนให้นำมาใช้ทำสิ่งต่างๆที่ต้องการให้ แต่ไม่เหมาะเลยสำหรับทำและใช้แรงปฏิบัติด้วยตนเอง มองไปรอบข้าง ก็ยิ่งเห็นสิ่งที่ไม่เอื้อต่อการที่คนส่วนใหญ่จะสามารถกลับไปอยู่กับพื้นฐานตนเอง  แต่ให้สามารถบรรลุความจำเป็นพื้นฐาน มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาวะ และได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ของตนเอง เพื่อตนเองและเพื่อสังคมรอบข้างตามอัตภาพแห่งตน เราพากันสร้างสังคมที่ห้อมล้อมตนเองให้มนุษย์หันกลับเข้าพึ่งตนเองไม่ได้ จำเป็นต้องเดินออกไปขึ้นต่อปัจจัยภายนอก หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องจำกัดความต้องการในการพัฒนาตนเองลงไปด้วยภาวะจำยอม เห็นสภาพความไม่พอดีว่าดำรงอยู่อย่างไรและตรงไหนบ้าง เราควรจะจัดวางตนเอง และพอจะสร้างโอกาสต่างๆขึ้นบนฐานชีวิตตนเอง ได้อย่างไรบ้างหรือไม่ 

ในท่ามกลางเงื่อนไขแวดล้อมอย่างใหม่ของปัจจุบัน ทรัพยากรและระบบโครงสร้างต่างๆ ที่มีอยู่เป็นส่วนใหญ่ จะเอื้อต่อการต้องพึ่งระบบกลไกและการจัดการที่ใหญ่กว่าความสามารถคนมาก จึงมีธรรมชาติเป็นแรงกดดันอยู่ในตนเอง ให้คนส่วนใหญ่ดำเนินชีวิตอยู่บนการพึ่งตนเองก่อนได้ยาก อีกทั้งหากพิจารณาจากภายนอก ไม่ผ่านการสัมผัส ได้เผชิญกับอุปสรรคปัญหาและความยากแค้นกายใจอีกเป็นจำนวนมากบนกระบวนการปฏิบัติ เราก็จะไม่เห็นคำอธิบายบนความเป็นจริงอีกหลายอย่าง ในการไหลไปตามกันของกระแสสังคม ที่น่าจะมีทางเลือกดีกว่าแต่ผู้คนกลับไม่ทำและทำไม่ได้ การมุ่งคิดและทำสิ่งต่างๆง่ายๆ ก็จึงไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่หากผู้คนที่สนใจต้องการดำเนินไป ก็ต้องริเริ่มและเรียนรู้ใหม่บนความเป็นจริงในบริบทอันหลากหลาย อีกหลายอย่าง.

หมายเลขบันทึก: 543236เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2013 09:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ประทับใจในการบริหารจัดการระบบนิเวศแบบลงมือทำเองของท่านอาจารย์มากค่ะ

แวะมาชื่นชม "ระบบการจัดการน้ำสู่สุขภาวะทางนิเวศ" เป็นการเรียนรู้ด้วยการปัญญาปฏิบัติอย่างงดงาม

รักและคิดถึงอาจารย์และครอบครัวเสมอครับผม 

เห็นท่าขุดแล้วไม่ธรรมดา555

เข้าใจเปรียบเทียบการทำงานและการจัดบรรยากาศบ้านนะครับ

เอาไผ่และผักนักเรียนมาฝากครับ กำลังทำโรงเห็ดกัน

สวัสดีครับคุณครู noktalay ครับ
ก็หาความหมายและสร้างความสนุกเพลิดเพลินไปกับสิ่งที่ต้องทำด้วยตนเองไปน่ะครับ
เลยก็ได้แง่มุมดีๆ มาแบ่งปันกันไปด้วยดีมากเหมือนกันครับ ขอบพระคุณครับผม

สวัสดีครับ Kroo Gang ครับ
ได้ความสนุกดีไปอีกแบบครับ

สวัสดีครับบอาจารย์ Dr.Pop ครับ
ตอนนี้เรียน คศน. สอน ทำงาน และบริหาร หนักเลยละสิครับ
รำลึกถึงอาจารย์ด้วยความชื่นชมอยู่เสมอครับ

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ
ผลงานดูแลไผ่และผักนักเรียนของอาจารย์นี่ ใช้ได้เลยนะครับ งามหลายๆ

สวัสดีค่ะอาจารย์วิรัตน์...เยี่ยมชมและชื่นชมระบบนิเวศในบ้านค่ะ...เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆนะคะ

ผลงานบ่งบอกว่าทั้งสองท่านยังมีสุขภาพที่แข็งแรงมากๆค่ะ ขอบคุณบันทึกบรรยายละเอียดละออ อ่านแล้วรับรู้ได้ทุกตัวอักษรถึงความตั้งใจของอาจารย์ ชื่นชมมากๆค่ะ สุดยอดจริงๆ ถ้าพวกเราทุกคนใส่ใจกับชุมชนรอบๆตัวได้เหมือนอาจารย์ สังคมทุกที่คงอบอุ่นน่าอยู่มากเลยนะคะ

สวัสดีครับอาจารย์ดร.พจนาครับ
ทำอย่างนี้ก็สนุกดีมากเหมือนกันครับ ไม่อย่างนั้นก็เหนื่อย และกว่าจะได้ทำอะไรก็คงต้องจัดการตระเตรียมตนเองไปอีกหลายอย่างเป็นปี เลยก็ทำให้เป็นโอกาสเหมือนได้ทำการศึกษาค้นคว้า แล้วก็นำมาสื่อสารถ่ายทอด แบ่งปัน และบันทึก เผยแพร่ได้ด้วย แล้วก็เก็บเอาไว้เป็นข้อมูลไว้ใช้ได้ด้วย เอาไว้ภายหน้าก็คงนำกลับมาพิจารณาอีกที ตอนนี้เลยบันทึกเผยแพร่ไว้ก่อน ขอบพระคุณท่านมากเลยละครับที่แวะมาเยือน

สวัสดีครับอาจารย์ดร.โอ๋-อโณครับ
ตอนนี้นี่พอได้ครับ ได้ผลหลายอย่างแบบเห็นหน้าเห็นหลังยิ่งกว่าอย่างที่เคยวิ่งจ๊อกกิ้งเช้าเย็นรอบหมู่บ้านรอบละ ๑๐ กิโลเมตรเยอะเลยครับ แรกๆนั้นปวดเมื่อยแทบตายเลย ทำให้ได้รู้ว่าการทำงานในสำนักงานอย่างเราๆนี่ ไปจำกัดความสามารถในการใช้งานของร่างกายตนเองของมนุษย์ไปมากอย่างยิ่งเลยละครับ 

สวัสดีค่ะอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์  ที่เคารพ

อาจารย์คิดละเอียดมากค่ะ  บางครั้งการพยายามพึ่งตนเองก็ไม่ง่ายนักนะคะ  บ้านหนูนะแค่จัดการหญ้ายังไม่ค่อยทันเลยค่ะ

อาจารย์ทั้งคู่ยังแข็งแรงมาก ๆ เลยนะคะ

สวัสดีครับคุณหมอธิรัมภาครับ
ในเรื่องวิธีคิดเรื่องการพึ่งตนเองหรือ Self-Reliance ไม่ว่าจะทางด้านสุขภาพ หรืออย่างในปัจจุบัน ก็เป็นหลักคิดหนึ่งในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่มีไม่น้อยถือว่าเป็นแนวคิดของการสร้างสังคมเศรษฐกิจที่พึงประสงค์นี่ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเสมอน่ะครับ ก็เลยทำโน่นทำนี่ แล้วก็ไม่ลืมที่จะสำรวจใคร่ครวญมิตินี้ไปบนชีวิตประจำวัน เพื่อได้ฝึกหัดอบรมชีวิตตนเอง ให้เป็นการอยู่กับการศึกษาเรียนรู้อยู่เรื่อยๆอย่างเป็นส่วนใหญ่น่ะครับ เหมือนเป็นการสร้างความเพลิดเพลินและหาความรื่นรมย์ไปกับเรื่องต่างๆ ซึ่งก็ดีมากเหมือนกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท