ประเพณีแห่เทียนพรรษาประจำปีพุทธศักราช 2556


คนอง  วังฝายแก้ว

อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ วิชาเอกการปกครอง มจร. วข. พะเยา

ประเพณีแห่เทียนพรรษาประจำปีพุทธศักราช 2556

  คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ วิชาเอกการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา  ได้จัดให้มีประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปีการศึกษา 2556 เพื่อนำเทียนมาถวายวัดจำนวน 9 วัด ณ พระวิหารหลวง วัดศรีโคมคำ ตำบลเวียง อำเภอเมืองพะเยา  จังหวัดพะเยา โดยมีพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระสุนทรกิตติคุณ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหาร รองเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดศรีโคมคำ ได้ให้ความอนุเคราะห์มาเป็นประธานในพิธีถวายเทียนพรรษาในครั้งนี้ด้วย นอกจากนั้นก็มีอาจารย์ฝ่ายบรรพชิต อาจารย์ฝ่ายคฤหัสถ์ และเจ้าหน้าที่ โดยมีพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระราชปริยัติ รองเจ้าคณะจังหวัดพะเยา ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ และพระครูศรีวรพินิจ รองเจ้าคณะอำเภอปง จังหวัดพะเยา ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ เป็นผู้นำฝ่ายบรรพชิต จะมาร่วมในพิธีถวายเทียนพรรษาในครั้งนี้ด้วย

 ในการนี้ การแห่เทียนพรรษา ที่จะจัดมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2556 ได้รับความร่วมมือจากนิสิตฝ่ายคฤหัสถ์   จากสาขาวิชารัฐศาสตร์ วิชาเอกการปกครอง ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 – 3 จำนวน 426 คนโดยประมาณ ได้ให้ความร่วมมือ ร่วมใจเป็นอย่างดียิ่งในคราวประชุมที่ผ่านมา โดยจะเริ่มตั้งขบวนต้นเทียนที่หน้าอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง อำเภอเมืองพะเยา โดยมีคณาอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตคฤหัสถ์จะร่วมเดินขบวนแห่เทียนพรรษาครั้งนี้ด้วย เป็นการบ่งบอกถึงความสมัครสามัคคีของชาว มจร. เลือดสีชมพูที่เข้มข้น ที่ช่วยกันสืบสานวัฒนธรรม และประเพณีอันดีงามของไทยเรา ให้อยู่ไปตลอดกาล เพื่อเป็นมรดกตกทอดแก่อนุชนรุ่นหลังต่อไป

ประวัติและพิธีหล่อเข้าเทียนพรรษามีความเป็นมาอย่างไร 
   พิธีหล่อเข้าเทียนพรรษา มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ครั้นโบราณ เพราะเมื่อสมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้อย่างในปัจจุบัน เวลาพระภิกษุสามเณรจะสวดมนต์ท่องตำรา ต้องอาศัยแสงสว่างจากคบ ตะเกียง และเทียนไขชาวบ้านจึงพร้อมใจกันหล่อเทียนถวาย โดยการเรี่ยไรขี้ผึ้งจากผู้มีจิตศรัทธา เมื่อมีมากพอแล้วจึงทำการหล่อที่วัดหรือสถานที่จัดงาน ทำการตกแต่งประดับประดาและแกะสลักลวดลายมีการประกวดความสวยงามกันอย่างสนุกสนานครื้นเครงก่อนถึงวันเข้าพรรษา 1 วัน จะจัดให้มีการฉลองต้นเทียน กลางคืนมีมหรสพ นิมนต์พระมาสวดเจริญพระพุทธมนต์ วิธีการเหล่านี้แล้วแต่จะเห็นสมควร พอรุ่งเช้าเป็นวันเข้าพรรษาจึงทำการแห่ต้นเทียนไปถวายตามวัด อานิสงส์ของการหล่อเทียนหรือถวายเทียนพรรษาแก่พระภิกษุ ถือกันว่าจะทำให้เป็นผู้มีปัญญาดีเจริญก้าวหน้า เหมือนดังแสงเทียนที่สว่างในยามค่ำคืน ซึ่งพระภิกษุสมัยก่อนใช้เป็นแสงสว่างในการอ่านหนังสือธรรมะและประกอบกิจของสงฆ์[1]
  ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นับถือวัวเพราะถือว่า วัวเป็นพาหนะของพระอิศวร เมื่อวัวตาย จะเอาไขจากวัวมาทำเป็นน้ำมันเพื่อจุดบูชาพระผู้เป็นเจ้าที่ตนเคารพแต่ชาวพุทธซึ่งนับถือศาสนาพุทธจะทำเทียนเพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัย โดยการเอารังผึ้ง ร้างมาต้มเอาขี้ผึ้ง แล้วฟั่นเป็นเทียนเล่มเล็ก ๆ มีความยาวตามต้องการ เช่น ยาวเป็นคืบ หรือเป็น ศอกแล้วใช้จุดบูชาพระเทียนพรรษา เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ชาวพุทธจะยึดถือเป็นประเพณีนำเทียนไป ถวายพระภิกษุในเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อปรารถนาให้ตนเองเป็นผู้เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ ประดุจแสงสว่างของดวงเทียน 
  เทียนพรรษา คือ เทียนขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษกว่าเทียนชนิดอื่น สำหรับจุดใน โบสถ์ตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525)  การทำเทียนพรรษา มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ จากการนำรังผึ้งมาต้มเอาขี้ผึ้งไปฟั่น เป็นเทียนนำไปถวายพระภิกษุ เอาเทียนเล่มเล็ก ๆ หลาย ๆ เล่ม มามัดรวมกันเป็นลำต้นคล้ายกับ ต้นกล้วย หรือลำไม้ไผ่ แล้วนำไปติดกับฐาน ซึ่งการมัดรวมกันแบบนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่นิยมเรียกว่าต้นเทียนหรือต้นเทียนพรรษา  ต้นเทียนพรรษาประเภทแรก คือ "มัดรวมติดลาย" เป็นการเอาเทียนเล่มเล็ก ๆ มามัด รวมกันบนแกนไม้ไผ่ให้เป็นต้นเทียนขนาดใหญ่ แล้วตัดกระดาษเงิน กระดาษทองเป็นลายต่าง ๆ ติดประดับโดยรอบต้นเทียน ต่อมามีการคิดทำต้นเทียนเป็นต้นเดี่ยว เพื่อใช้จุดให้ได้นาน โดย การใช้ลำไม้ไผ่ที่ทะลุปล้องเป็นแบบหล่อ เมื่อหล่อเทียนเป็นต้นเสร็จแล้วจึงนำมาติดที่ฐานและจัดขบวนแห่เทียนไปถวายพระที่วัดการตกแต่งต้นเทียน เริ่มมีขึ้นโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้ขี้ผึ้งลนไฟหรือตากแดดให้อ่อน แล้วปั้นเป็นรูปดอกลำดวนติดต้นเทียน หรือเอาขี้ผึ้งไปต้มให้ละลาย แล้วใช้ผลมะละกอ หรือ ผล ฟักทองนำมาแกะเป็นลวดลาย ใช้ไม้เสียบนำไปจุ่มในน้ำขี้ผึ้ง แล้วนำไปจุ่มในน้ำเย็น แกะขี้ผึ้งออก จากแบบ ตัดและตกแต่งให้สวยงามนำไปติดที่ต้นเทียน พ.ศ. 2482 มีช่างทองชื่อ นายโพธิ์ ส่งศรี เริ่มทำลายไทยไปประดับบนเทียน โดยมี การทำแบบพิมพ์ลงในแผ่นปูนซีเมนต์ซึ่งถือว่าเป็นแบบพิมพ์ หรือแม่พิมพ์ แล้วเอาขี้ผึ้งที่อ่อนตัว ไปกดลงบนแม่พิมพ์จะได้ขี้ผึ้งเป็นลายไทย นำไปติดกับลำต้นเทียน ต่อมา นายสวน คูณผล ได้คิดทำลายให้นูนและสลับสี จนเห็นได้ชัด เมื่อส่งเทียนเข้า ประกวดจึงได้รับรางวัลชนะเลิศ และในปี พ.ศ. 2497 นายประดับ ก้อนแก้ว คิดประดิษฐ์ทำหุ่นเป็น เรื่องราวพุทธประวัติ และเอาลวดลายขี้ผึ้งติดเข้าไปที่หุ่น ทำให้มีลักษณะแปลกออกไป จึงทำให้ เทียนพรรษาได้รับรางวัลชนะเลิศและชนะเลิศมาทุกปีในเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์
  ปี พ.ศ. 2502 มีช่างแกะสลักลงในเทียนพรรษาคนแรก คือ นายคำหมา แสงงาม และ คณะกรรมการตัดสินให้ชนะการประกวด ทำให้เกิดการประท้วงคณะกรรมการตัดสิน ทำให้ในปีต่อๆมามีการแยกประเภทต้นเทียนออกเป็น2ประเภทชัดเจนคือ
  1.ประเภทติดพิมพ์(ตามแบบเดิม)
  2.ประเภทแกะสลัก
การทำเทียนพรรษามีวิวัฒนาการเรื่อยมาไม่หยุดนิ่ง ในปี พ.ศ. 2511 ผู้คนได้พบเห็น ต้นเทียนพรรษาขนาดใหญ่และสูงขึ้น มีการแกะสลักลวดลายในส่วนลำต้นอย่างวิจิตรพิสดาร ใน ส่วนฐานก็มีการสร้างหุ่นแสดงเรื่องราวทางศาสนา และความเป็นไปในสังคมขณะนั้น กลายเป็น ประติมากรรมเทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งช่างผู้ริเริ่มในการทำต้นเทียนยุคหลังคือ นายอุตส่าห์ และ นายสมัย จันทรวิจิตร สองพี่น้อง นับเป็นงานสร้างสรรค์ทางศิลปะอันเกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง 
   งานประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นงานประเพณีที่รวมความผูกพันของชุมชนท้องถิ่น โดยเริ่มตั้งแต่การที่ชาวบ้านร่วมบริจาคเทียนเอามาหลอม หล่อเป็นเทียนเล่มใหญ่เล่มเดียวกัน เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่คณะไปในตัว การสรรหาภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่มีฝีมือทางช่าง มีความรู้ ความชำนาญในเรื่อง การทำลวดลายไทย การแกะสลักลวดลายลงบน ต้นเทียน การทำเทียนให้เป็นลายไทย แล้วนำไปติดบนต้นเทียน การประดับด้วยผ้าฝ้าย ผ้าไหม ดอกไม้สด ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของช่างในท้องถิ่น ส่วนการจัดขวนแห่ก็ล้วนแต่ใช้ของพื้นเมือง เช่น เครื่องแต่งกายขอขบวนฟ้อน จะใช้ผ้าพื้นเมืองเป็นหลัก การฟ้อนรำจะใช้ท่ารำที่ดัดแปลงมาจาก วิถีชีวิต การทำมาหากินของชาวบ้าน เป็นท่ารำในรูปแบบของศิลปะที่งดงาม ดนตรีประกอบก็เป็น เครื่องดนตรีประจำถิ่น ผสมเข้ากับการขับร้องที่สนุกสนานเร้าใจ ทำให้งานประเพณีนี้ยิ่งใหญ่ ประชาชนต่างเฝ้ารอคอย 
ศิลปะการฟ้อนรำที่นิยมนำมาประกอบการแสดงในขบวนแห่ คือ การรำเซิ้งต่างๆ เช่น เซิ้งกระลอ เซิ้งกระติบ เซิ้งสวิง เซิ้งแหย่ไข่มดแดง ซึ่งดัดแปลงมาจากการประกอบอาชีพในวิถีชีวิตประจำวันทั้งสิ้น   กล่าวโดยสรุป...งานแห่เทียนพรรษา เป็นงานที่ทำให้คนวัยรุ่น หนุ่มสาว ได้มีโอกาสได้ใกล้ชิดและสัมผัส กับศิลปวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่การเข้าเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือ เป็นลูกมือช่างของทาง วัดในการแกะสลักทำลวดลายต้นเทียน ค้นคว้าหาวิธีการทำเทียนพรรษาให้วิจิตรพิศดาร งดงาม แต่ประหยัด การเข้าร่วมในขบวนแห่จะเป็นการผสมผสานระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ เช่น การเล่นดนตรีพื้นบ้าน โปงลาง หรือเป่าแคน จะมีทั้งผู้สูงอายุและคนหนุ่มสาว ส่วนขบวนฟ้อนรำ จะใช้เด็กๆ รุ่นเยาว์ ถึงวัยหนุ่มสาวมากกว่าคนสูงวัย ซึ่งคาดหวังได้ว่าประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นจะสืบทอดต่อไปอีกยาวไกล

  [1] www.isangate.com


หมายเลขบันทึก: 542534เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2013 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กรกฎาคม 2013 10:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เคยเห็นหลายคนทำบุญวันเข้าพรรษาด้วยหลอดไฟ...โดยถวายเทียนจำนำพรรษาสำหรับจุดใน โบสถ์ตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา เพียงต้นเดียว...

อาจารย์ ดร. พจนา ครับ ที่อาจารย์เห็นผู้คนหลากหลายทำบุญเข้าพรรษาด้วยหลอดไฟ น่าจะเป็นความเชื่อส่วนบุคคลนะครับ ถ้าได้ทำบุญด้วยหลอดไฟแล้ว ชีวิตจะเจริญชวดช่วงสว่างไสวเหมือนแสงสว่างของหลอดไฟ แตกต่างจากการทำบุญด้วยการถวายเทียน เพราะมีจุดประสงค์เพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ตลอด 3 เดือนในช่วงเข้าพรรษา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท