การศึกษาทางเลือก: เมื่อเราไม่กล้าแม้แต่คิดที่จะเลือก


เวลาที่ใครหลายคนพูดถึงการศึกษา หรือแม้แต่นักการศึกษาเองก็ตามที่ มักจะหลงภายใต้กรอบที่ว่า
การศึกษานั้นคือการศึกษาในระบบโรงเรียน

ซึ่งที่จริงแล้ว ทั่่วโลกมีการศึกษาที่ไม่ได้อิงกับระบบโรงเรียน และอิงกับหลักสูตรปกติที่ใช้ในโรงเรียนทั่วไป

การศึกษาของโลกนั้น ไม่แน่ว่า  ระบบโรงเรียนอาจจะไม่ใช่คำตอบก็เป็นได้

วิชาวรรณกรรมทางการศึกษากำลังอภิปรายกันถึงเรื่องนี้  


คำบรรยายครั้งที่  ๔


การศึกษาทางเลือก: เมื่อเราไม่กล้าแม้แต่คิดที่จะเลือก


เฉลิมลาภ ทองอาจ[*]


               ลักษณะของการศึกษาที่ถูกต้อง และที่ควรจะเป็นประการหนึ่งก็คือ เป็นการศึกษาที่ผู้เรียนมีทางเลือก คำว่าทางเลือกนี้มีได้หลายระดับ การเลือกว่าจะเรียนอะไร ศึกษาหรือไม่ศึกษาด้านไหนในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาแห่งใด ก็เป็นทางเลือกอย่างหนึ่ง  หรือการเลือกที่จะไม่เรียนในสถาบันแห่งใดเลย แล้วหันกลับไปเรียนรู้ด้วยวิธีการของตนเอง นี้ก็เป็นทางเลือกอีกอย่างหนึ่ง  ประเด็นสำคัญจึงอยู่ว่า สังคมไทยยอมรับการศึกษาที่ผู้เรียนเป็นผู้เลือกเองเช่นนี้หรือไม่ว่า เป็นการศึกษาที่สามารถพัฒนาพวกเขาได้ไม่ต่างไปจากการศึกษากระแสหลัก


              หลายประเทศเมื่อเกือบ ๕๐ ปีที่แล้ว ได้กล้าที่จะเลือกการศึกษาอย่างอื่น ๆ  ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อเยาวชน เพราะเชื่อว่า สามารถพัฒนาผู้เรียนได้ในหลายมิติมากกว่าการศึกษาทั่วไป แต่สังคมไทยกลับเป็นสังคมทีส่งเสริมให้การศึกษาขั้นพื้นฐานเข้มแข็งอยู่ฝ่ายเดียว และไม่สนใจการศึกษาทางเลือก โดยเห็นว่าเป็นพวกนอกกระแส ที่สุดแล้ว เมื่อไม่มีผู้กล้าคิดแม้แต่จะเลือกการศึกษาแบบอื่น ๆ ว่าเป็นการศึกษาที่มีคุณค่าต่อชีวิต  ผู้เรียนไทยก็คงยังปราศจากทางเลือกอยู่นั่นเอง เพราะเขาได้หมดสิทธิ์ที่จะเลือก ตั้งแต่เขาถูกบังคับให้เลือกการศึกษากระแสหลักแล้ว 


               การศึกษาเป็นเช่นเดียวกับกระแสน้ำ ที่ย่อมมีกระแสหลัก หรือสายสำคัญ อันไหลผ่านชุมชนใหญ่เป็นเส้นธารหล่อเลี้ยงชีวิต แต่ขณะเดียวกัน ก็มีอยู่บ้างที่แตกแขนงสาขาออกมาเป็นลำธารเล็ก ๆ เป็นคลองหรือเป็นลำห้วย  ไหลผ่านหมู่บ้านไม่กี่แห่ง  การศึกษาที่แยกตัวออกมาจากกระแสหลัก (mainstream education) และจัดกันแต่เฉพาะบางกลุ่ม  ก็มีลักษณะเช่นสายน้ำกระแสรองตามที่กล่าวมา ต่างกันแต่ว่า การศึกษาอย่างหลังที่เรียกว่าการศึกษาทางเลือกนั้น บางครั้ง อาจมิได้แตกแขนงแนวคิดออกมาจากการศึกษากระแสหลักเสียที่เดียว เพราะเป็นไปได้ว่า  อาจมีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ หรือมีรูปแบบการพัฒนาเยาวชน ที่ตรงข้ามกับกระแสหลักโดยสิ้นเชิงก็เป็นได้ เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการศึกษาทางเลือก จึงควรพิจารณาความเป็นมาของการศึกษาลักษณะนี้ ซึ่งเริ่มต้นในต่างประเทศ  เป็นเบื้องต้นก่อน


(Paulo Freire)


              แนวคิดการศึกษาทางเลือก เริ่มต้นขึ้นเมื่อมีผู้ตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบโรงเรียนที่นิยมกระทำอยู่เป็นแบบแผนในราวช่วงกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 19 (ค.ศ. 1960-1970) คำถามและกระแสแนวคิด  ต่าง ๆ เกิดขึ้นจากนักการศึกษา นักคิด นักเขียนและนักปฏิรูประบบโรงเรียนในหลายภูมิภาคด้วยกันไม่ว่าจะเป็น  Ivan Illich, A.S. Neill และ Hartmut von Hentigในทวีปยุโรป  John Holt, Jonathan Kozol และ Herbert Kohl ในทวีปอเมริกา  และ  Paulo Freire  ในละตินอเมริกา นักคิดเหล่านี้ ล้วนแต่วิพากษ์วิจารณ์การศึกษากระแสหลักอย่างรุนแรงว่าไม่ให้อิสรภาพที่แท้จริงแก่ผู้เรียน และผู้เรียนในระบบการศึกษากระแสหลัก ย่อมไม่อาจจะหลุดพ้นไปจากกรอบหรือกฎเกณฑ์บางอย่างของสังคมไปได้  ท้ายที่สุด ระบบโรงเรียนกลับทำให้ผู้เรียนกลายเป็นเหยื่อ  ที่สังคมสามารถกระทำย่ำยีอย่างไรก็ได้  ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องแสวงหาการศึกษารูปแบบอื่น ๆ ที่ต่างออกไป เพื่อพัฒนาคนให้สามารถเติบโตและเจริญก้าวหน้าได้อย่างแท้จริงเสียที


               การศึกษาทางเลือกเกิดขึ้นจากความพยายามของนักการศึกษาที่พยายามจะ “เลือก” สิ่งอื่น ๆ  ที่มิได้ถูกการศึกษากระแสหลักกำจัดกรอบไว้  นักการศึกษาได้คิดรูปแบบของโรงเรียน หลักสูตรหรือ  การสอน อันเป็นสิ่งใหม่ มีความหลากหลาย ยืดหยุ่น ไม่อิงกับการศึกษากระแสหลัก และที่สำคัญคือ  เชื่อว่ามีประสิทธิภาพในการพัฒนามนุษย์ได้ดีกว่าการศึกษาแบบดั้งเดิม ด้วยเหตุนี้ในช่วงต่อมา จึงได้เกิดการศึกษาทางเลือกขึ้นมาหลายรูปแบบ ดังที่ประมวลมาได้ดังต่อไปนี้ (Sliwka,2008: 95-97)



    (Rudolf Steiner)


                โรงเรียน Waldorf  หรือโรงเรียน Steiner เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาทางเลือกตามปรัชญาของ Rudolf Steiner ซึ่งพบใน 60 ประเทศ ทั่วโลก  การศึกษาแนวนี้ มุ่งเน้นการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนกระทั่งถึงวัยรุ่น  โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีอิสระ  มีคุณธรรม เน้นการบูรณาการชีวิต ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจและอารมณ์ ตลอดจนทักษะการปฏิบัติ หลักการจัดการศึกษาแนวคิดนี้ เช่น  ในช่วงปฐมวัยหรือก่อนอายุ 7 ปี  เด็กควรได้รับการส่งเสริมให้เล่น  วาดรูป ฟังนิทาน  หรืออยู่ในวิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติให้มากที่สุด ในช่วงวัยนี้ จึงยังไม่ควรสอนอ่าน  เน้นการให้เด็กเรียนเพียงวิชาเดียวในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งพอที่จะทำให้เด็กมีสมาธิจดจ่อได้  หรือการเชื่อมโยงระหว่างวิชาต่าง ๆ ในลักษณะของการบูรณาการผ่านศิลปะหรือสิ่งที่ให้ความสุนทรีย์



       (Kurt Hahn )


                 โรงเรียน  Round Squareเป็นรูปแบบหนึ่งของการศึกษาทางเลือกที่พบได้ทั่วโลก การจัดศึกษาของโรงเรียนประเภทนี้ มีพื้นฐานมาจากแนวคิดการจัดการศึกษาที่เน้นประสบการณ์ของ  Kurt Hahn ซึ่งเชื่อว่า โรงเรียนคือสถานที่ที่จะเตรียมผู้เรียนหรือเยาวชนให้พร้อมต่อการดำรงชีวิต ปรัชญาหรือแนวคิดของเขาเน้นว่า  โรงเรียนจะต้องเป็นสถานที่ที่ให้ผู้เรียนเผชิญหรือพบกับชีวิตโดยตรง  (facing life directly) ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนกลายเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ  มีเมตตากรุณา  มีจินตนาการ  มีหลักการและรู้วิธีการแก้ปัญหา  การจัดการศึกษาของโรงเรียนกลุ่มนี้ จึงเน้นการเรียนรู้ตามสภาพจริง  ส่งเสริมให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ เช่น ทำโครงงาน  ออกบริการชุมชน  จัดกิจกรรมฝึกอบรมผู้นำ แลกเปลี่ยนเรียนรู้  ในระดับนานาชาติ ตลอดจนทำกิจกรรมภายนอกโรงเรียน เพื่อเผชิญกับสถานการณ์จริงให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถการเผชิญสิ่งต่าง ๆ (self-confrontation) และสร้างตัวตน (self-formation) ขึ้นมาจากสิ่งแวดล้อม หรือชุมชนที่พวกเขาได้ลงไปคลุกคลีหรือปฏิบัติงานอยู่เป็นประจำ



(A.S. Neill)


                 โรงเรียนอิสระ หรือโรงเรียนประชาธิปไตย (free or democratic schools) เป็นแนวคิดของการศึกษาทางเลือกที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตย  แนวคิดนี้เกิดขึ้นเมื่อมีการก่อตั้งโรงเรียน Summerhillเมื่อปี ค.ศ. 1921  ในสหราชอาณาจักร  โดย  A.S. Neill ปัจจุบันมีโรงเรียนที่จัดการศึกษาแบบเน้นประชาธิปไตยลักษณะนี้กว่า  100 แห่ง หลักการพื้นฐานของโรงเรียนประเภทนี้ก็คือ การตัดสินใจใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน จะต้องดำเนินการด้วยการลงมติจากครูและผู้เรียน ซึ่งแต่ละฝ่ายก็จะมีหนึ่งเสียงเท่ากัน  และมติเสียงข้างมากจะใช้ตัดสินกิจกรรมการเรียนการสอน รวมถึงนโยบายทุกด้านของโรงเรียน


                   โรงเรียน  Escuelas  Nuevas เป็นแนวคิดทางการศึกษาที่เดิมเกิดขึ้นเพื่อพัฒนาการศึกษาในประเทศโคลอมเบีย ซึ่งโรงเรียนมักตั้งอยู่ในเขตชนบท มีครูและนักเรียนน้อย และในห้องเรียนหนึ่งห้อง  มีครูหนึ่งคนที่ทำหน้าที่สอนผู้เรียนหลายระดับ  หลักการจัดการศึกษาของโรงเรียนกลุ่มนี้ประกอบด้วย การจัดการศึกษาที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน การเน้นให้ผู้เรียนทำงานและเรียนรู้ร่วมกัน  หลักสูตรจะจัดประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้เรียน  เวลาเรียนและระบบต่าง ๆ จะยืดหยุ่น และผู้เรียนกับชุมชนจะมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิด  บิดา มารดา และคนในชุมชนสามารถเข้ามาช่วยจัดการเรียนการสอนแก่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้กับบุคคลต่าง ๆ ในสังคม และเรียนรู้วิธีการปฏิบัติงานต่าง ๆ ที่มีอยู่จริงในชุมชน  ทั้งนี้ ในการจัดการเรียนรู้ ไม่เน้นการแข่งขัน  แต่มุ่งไปที่การจัดการศึกษาที่ให้ผู้เรียนแต่ละคนเรียนรู้ในระดับของตนเอง และค่อย ๆ ฝึกฝนเพื่อผ่านระดับชั้นต่าง ๆ ไปตามศักยภาพ ผู้เรียนจึงแข่งขันกับตนเอง ไม่เปรียบเทียบกับผู้เรียนคนอื่น ๆ ซึ่งอาจเรียนต่างระดับไป  จากตน  แนวคิดนี้สามารถปฏิรูปการศึกษาให้ผู้เรียนในชนบทของโคลอมเบียมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น ทำให้มีการนำไปใช้ต่ออย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา กระทั่งในปี ค.ศ. 1989  ธนาคารโลกได้ประกาศยกย่องให้เป็นแนวคิดการศึกษาทางเลือกที่ประสบความสำเร็จสูงสุด 1 ใน 3 นโยบายด้านการศึกษาของประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก 



(Jiddu  Krishnamurti) 


                  นอกจากแนวคิดการศึกษาทางเลือกข้างต้นแล้ว ยังมีแนวคิดของการศึกษาทางเลือกอื่น  ๆ ที่นับว่าน่าสนใจ และริเริ่มจัดการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น  เช่น  การจัดการศึกษาที่เน้น  การสร้างอิสรภาพจากภายในของโรงเรียน  Brockwood Park School ซึ่งก่อตั้งโดยนักการศึกษาอินเดีย คือ Jiddu  Krishnamurti  ในปีค.ศ.  1969  โรงเรียนแห่งนี้ มุ่งเน้นการพัฒนาการเรียนรู้ด้านวิชาการ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางด้านจิตวิญญาณหรือปัญญา  ซึ่งผู้เรียนจะต้องหาจุดสมดุลระหว่างอิสรภาพและความรับผิดชอบ  กิจกรรมมีการฝึกฝนทำสมาธิ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดจิตที่เป็นอิสระจากอัตตาหรือ  การเห็นแก่ตนเอง อีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น โรงเรียนตามแนวคิดของ CélestinFreinet นักการศึกษาฝรั่งเศส  ที่มุ่งเน้นไปที่การนำความสนใจใคร่รู้ (curiosity) ของผู้เรียน  มาเป็นจุดตั้งต้นในการเรียน  แล้วจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน  ผู้เรียนจะได้รับการกระตุ้นให้เรียนรู้ด้วยการทำงานร่วมกับผู้อื่น ภายใต้หลักการที่เรียกว่าการสอนให้ทำงาน (pedagogy of work หรือ  pédagogie du travail) ซึ่งผู้เรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับงานและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่จริงในสังคม เพื่อนำความรู้และทักษะเหล่านั้นมาสร้างเป็นผลงาน หรือให้บริการแก่ผู้อื่น ซึ่งเป็นการฝึกฝนความรับผิดชอบทั้งต่อตนเอง และสังคมที่เขาดำรงอยู่  โรงเรียนกลุ่มนี้ขยายตัวแพร่หลายมากในทวีปยุโรป อาทิ ที่ประเทศเบลเยี่ยมและเยอรมันนี



                                                                (อาจอง  ชุมสาย ณ อยุธยา)


               สำหรับการจัดการศึกษาทางเลือกในประเทศไทย มีสถานศึกษาหลายแห่งที่แสดงให้เห็นแนวคิดพื้นฐานที่แตกต่างจากแนวคิดการศึกษากระแสหลักอย่างชัดเจน เช่น โรงเรียนรุ่งอรุณ  โรงเรียนสัตยาไส  โรงเรียนมีชัยพัฒนา โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก  โรงเรียนดรุณสิกขาลัย โรงเรียนอมาตยกุล  รวมทั้งกลุ่มโรงเรียนสาธิต  ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ ล้วนแต่มีปรัชญาการศึกษาที่แตกต่างจากการศึกษากระแสหลัก  อย่างไรก็ตาม การศึกษาทางเลือกในประเทศไทย เมื่อเทียบอัตราการขยายตัว และการได้รับการยอมรับยังถือว่า ค่อนข้างอยู่ในระดับที่ต่างจากโรงเรียนของการศึกษากระแสหลักมาก เนื่องจากการจัดการศึกษาที่แตกต่างบางครั้ง อาจทำให้เป้าหมายหรือกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน อาจมิได้เป็นไปเพื่อการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาอย่างเช่นที่ส่วนใหญ่กระทำกันอย่างแพร่หลาย  เพราะโรงเรียนเหล่านี้ล้วนมุ่งพัฒนาคุณค่าด้านต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นมนุษย์  มิได้มองแต่เรื่องความสามารถทางวิชาการเท่านั้น เมื่อวิชาการไม่ใช่สิ่งที่โรงเรียนมุ่งเน้น ก็ทำให้ไม่สอดคล้องกับค่านิยมของสังคมไทย ผลที่ตามมาคือ  ทำให้ถูกมองว่า โรงเรียนทางเลือกหรือการศึกษาทางเลือก ไม่สามารถที่จะใช้ประโยชน์ได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว  โรงเรียนเหล่านี้มีความประณีตทางปรัชญา  มองเห็นธรรมชาติของผู้เรียนว่ามีความซับซ้อนและมีคุณค่ามากกว่าเครื่องทำข้อสอบ  จึงเป็นที่น่าเสียดายว่าที่สุดแล้ว มุมมองที่สังคมไทยมีต่อการศึกษาทางเลือก ยังคงมีลักษณะเป็นพยายามที่จะ “ไม่เลือก” หรือหากจะเลือก ก็จะขอไว้เป็นลำดับสุดท้าย 


                เมื่อการศึกษาทางเลือกถูกไม่เลือกหรือเลือกเป็นลำดับสุดท้าย  ชีวิตการศึกษาของเยาวชนไทยและการศึกษาไทย ก็ไม่อาจถูกเลือกมาจัดไว้ว่าเป็นการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ  และมีความหลากหลายอย่างแท้จริง  การศึกษายังคงตีบตันอยู่กับเส้นทางเก่า ๆ และนับวันก็ยิ่งจะจำกัดขอบเขตเส้นทางเหล่านั้น ไม่ให้ผู้เรียนเลือกอะไรได้ แม้แต่ชีวิตของพวกเขาเอง  การล่มสลายของความกล้าจัดการศึกษาทางเลือกในประเทศไทย  อาจเรียกว่าเป็นโศกนาฏกรรมทางปัญญา เพราะท้ายที่สุดแล้ว  แม้ในระบบการศึกษาที่ใช้เวลากว่าครึ่งของชีวิต  ก็ไม่อาจที่จะทำให้เราแสวงหาอิสรภาพในการเลือกได้แม้แต่น้อย 

__________________________________

รายการอ้างอิง

Sliwka, A. 2008.The contribution of alternative education.In Innovating to learn,   learning to innovate, 93-112.Paris: The Centre for Educational Research and   Innovation.



[*]อาจารย์กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


หมายเลขบันทึก: 542532เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2013 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กรกฎาคม 2013 10:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นักการศึกษาส่วนใหญ่น่าจะทราบนะครับ ว่าไม่ได้มีแค่ระบบโรงเรียน ส่วนจะเลือกระบบอื่นหรือไม่ก็อีกประเด็น

มีระบบการศึกษาทางเลือกหลายที่เลยนะครับ

เข้าใจว่าที่บ้านเรามีที่หมู่บ้านเด็กกาญจนบุรีด้วยครับ

ชื่นชม "โรงเรียนทางเลือก" ครับ ;)...

เวลาเขียนเรื่องโรงเรียนทางเลือก เรามักจะคิดว่า นี่มันเป็นไปไม่ได้เลยในการศึกษาไทย  ที่จริง การศึกษาบ้านเราเป็นแบบมิติเดียว คืออะไรก็ได้ ที่ไม่ใช่สายอาชีพ สายอาชีวะ เทคโน แต่จะต้องเป็นสายสามัญและสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อไปสู่แท่นรับปริญญาเท่านั้น คือนี่การศึกษาแบบเดียวที่หลายคนนึกออก บ้านเรานี่ มันจึงแห้งแล้งอย่างประหลาดครับ เวลาใครพูดถึงคำว่า "ทางเลือก" จริงไหมครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท