จากบันทึกภาคสนาม เรื่อง บนพื้นที่ความขัดแย้ง


19 กุมภาพันธ์ 2556

การเดินทางลงไปในพื้นที่ระดับตำบล ในเขตอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส  เข้าถึงในพื้นที่เวลา 9:30 น. โดยรอการประสานจากชาวบ้านเจ้าของพื้นที่อยู่ประมาณ 5 นาที เพื่อให้นำไปยังสถานที่ที่จัดงาน ซึ่งเป็นมัศยิดที่อยู่ตรงกันข้ามกับฐานทหาร ทั้งนี้ กลุ่มเราในฐานะผู้จัดงานนั้น ไม่มีความชำนาญในพื้นที่

เวลาประมาณ 10:10 กำนันของตำบลที่เราใช้สถานที่ (ซึ่งชาวบ้านที่เป็นผู้นำทางให้เราบอกเป็นการส่วนตัวว่า เขาเลื่อนขึ้นมาจากการเป็นผู้ใหญ่บ้านเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2556 จากการแต่งตั้ง เนื่องจากกำนันคนเก่าโดนถอดออกจากตำแหน่งโดยที่ผู้นำทางให้เราก็ไม่ทราบสาเหตุ / อายุราว ๆ 40 ปลาย ๆ ถึง 50 ต้น ขับรถกระบะยกสูง จำยี่ห้อไม่ได้) ได้เข้ามาแจ้งว่าไม่อนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมใด ๆ ในพื้นที่ เพราะไม่มีการแจ้งประสานขออนุญาตมาที่ตนเอง ต่อจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ทหาร 3 นาย ทราบโดยการพูดคุยกับทหารที่เข้ามาติดต่อว่า เป็นผู้หมวดที่รับผิดชอบพื้นที่ตำบลดังกล่าว ยศสิบเอก ซึ่งเข้ามาสอบถามว่า มาจากองค์กรใดและจะมาจัดงานอะไร แต่ไม่ได้อธิบายอะไรมาก เนื่องจากกำนันกำลังอยู่ในอารมณ์โมโหและร้อนใจยิ่ง จึงพยายามให้เราออกจากพื้นที่และไปใช้พื้นที่อีกตำบลหนึ่งที่ได้ประสานงานผ่านหนังสือราชการและการพูดคุยผ่านปลัดอำเภอมาก่อน (ซึ่งเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านผู้นำทางขอเปลี่ยนเพราะกังวลใจเกี่ยวกับฐานทหารที่ตั้งอยู่ใน อบต.)

ประมาณ 10:30 น. จึงย้ายไปยัง อบต. และพบว่ากำลังมีการจัดสถานที่ มีเต้นท์และเก้าอี้พลาสติคเตรียมไว้ และพบว่า ระหว่างที่เรากำลังเจรจากับกำนันนั้น ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงจากเดิมที่มีจำนวนราว ๆ 20 กว่าคน และผู้ชายประมาณ 10 คน ได้กลายเป็นชาวบ้านผู้หญิงทั้งหมดประมาณ 50 กว่าคนในระหว่างการเดินทางระหว่างมัศยิดในตำบลแรก ถึงลานโล่งหน้า อบต. ในตำบลที่สอง ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางไม่เกิน 5 นาที

เราได้ส่งคนทำงานในคณะของเราจำนวน 2 คน ซึ่งมีข้าพเจ้าอยู่ด้วย เข้าไปใน อบต. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแจ้งนายก/ปลัด หรือเจ้าหน้าที่คนใดก็ได้ของ อบต. ให้ทราบถึงการมาของเรา ตามที่ได้ประสานไว้ อย่างไรก็ดี นายก อบต. ได้บอกให้ทราบว่าไม่ต้องการให้ใช้สถานที่และไม่ได้รับหนังสือหรือการประสานมาจากปลัดอำเภอในเรื่องจะเข้ามาใช้สถานที่แต่อย่างใด  ผู้ประสานงานคนหนึ่งจึงได้โทรศัพท์เข้าไปสอบถามปลัด ได้ความว่า เป็นเรื่องเจ้าของพื้นที่และเป็นความผิดของเราในการประสานงาน  ทั้งนี้ สัมผัสได้ถึงความรู้สึกถูกกดดันของ นายก อบต. ในขณะที่กำลังปฏิเสธการรับรู้และไม่ยอมเราใช้สถานที่จัดกกิจกรรม ซึ่งคาดคะเนว่า คงมีบางส่วนคล้ายกับที่กำนันตำบลแรกกล่าวถึง ความเดือดร้อนของเขาในการมีคนภายนอกเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว

อนึ่ง  เมื่อทั้ง 2 คนที่เป็นสมาชิกในคณะทำงานได้กลับมาแจ้งข้อมูลที่ได้รับมาจาก นายก อบต.  ทำให้ชาวบ้านที่เป็นผู้นำทางได้เดินเข้าไปสอบถามกับ นายก.อบต เพราะได้เคยประสานงานมาล่วงหน้ามาแล้ว แต่ตัวนายกได้ขับรถออกจาก อบต. และปิดโทรศัพท์มือถือ ทำให้ไม่สามารถพูดคุยกันได้

ต่อมา มีทหารซึ่งสวมรองเท้าแตะและเสื้อยืด อายุ 20 ปลาย ถึง 30 ต้น ๆ ได้เข้ามาแจ้งสำทับว่าให้ออกจากพื้นที่ เพราะเจ้าของพื้นที่ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ (หมายถึง อบต.ไม่อนุญาต) เพราะไม่ได้มีการประสานงานมาล่วงหน้า จึงมีการเจรจากันในสถานที่จัดงานอีกครั้ง โดยทางเราขอจัดงานจนถึงตอนเที่ยง (ขณะนั้นเป็นเวลา ประมาณ 11:20 แล้ว) แต่ทหารผู้นั้น (ซึ่งทราบจากคนในพื้นที่ว่าเป็นผู้หมวดดูแลตำบลที่สองนี้) ไม่อนุญาต จึงต่อรองว่าได้จ้างชาวบ้านทำข้าวกล่องแล้ว (การทำข้าวกล่องดำเนินการผ่านกำนันในตำบลแรก) ขอให้ข้าวมาแล้วแจกข้าวกันแล้วค่อยกลับ แต่ก็ไม่ได้รับการอนุญาต อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้าวมาพอดี  ข้อตกลงนี้จึงสัมฤทธิ์ผลในทางปฏิบัติเช่นกัน

ในเหตุการณ์ดังกล่าวมีการกระทบทางวาจาระหว่างกลุ่มชาวบ้านกับทหารคนที่เข้ามาเล็กน้อย แต่ไม่ลุกลาม เนื่องจากทางกลุ่มของเรายินยอมออกจากพื้นที่ดังที่ฝ่ายปกครองและฝ่ายทหารแจ้ง และบอกกับชาวบ้านว่า คงเป็นการผิดพลาดในการประสานงาน ซึ่งจะกลับไปแก้ไขและจะหาทางกลับมาพบกับชาวบ้านใหม่ ซึ่งช่วยผ่อนคลายอารมณ์ชาวบ้านไปได้พอสมควร  ประเด็นที่ชาวบ้านพูดนั้น โดยรวมแล้วเป็นเรื่องของการไม่พอใจที่ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐขับไล่ (ชาวบ้านได้รับการประสานงานว่าจะมีการจัดงานดังกล่าวมานานราว 2 สัปดาห์ และเป็นการรับรู้ทั้งทางตรงและผ่านผู้นำชุมชนด้วย) ในขณะเดียวกัน ประเด็นที่ทหารสื่อสารเป็นการส่วนตัวก็คือ ชาวบ้านทั้งหมดล้วนแต่เป็นกลุ่มจัดตั้งของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ข้ามมาจากตำบลที่ 1 ที่ตนเองไม่ต้องการให้เข้ามาและไม่รับผิดชอบหากเกิดอะไรขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับทหารในตำบลที่หนึ่ง ที่ไม่ต้องการให้คนต่างตำบลที่เขาเห็นเข้ามาในพื้นที่ตำบลที่เขารับผิดชอบเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้  การจัดงานจึงเลิกไปในเวลาประมาณ 11:45 น.
และทางคณะเราได้ย้ายไปพูดคุยกับชาวบ้านครอบครัวหนึ่ง ซึ่งแจ้งกับเราว่า มีกลุ่มคนแต่งชุดเครื่องแบบทหารประมาณ 7 คน เดินทางด้วยรถกระบะมิซซูบิชิและรถกระบะเชฟโลเรตเข้ามาตรวจค้นบ้านในขณะที่เจ้าบ้านไม่อยู่ และได้ลักทรัพย์ที่เป็นทองรูปพรรณจำนวน 4 บาท ไป  ทั้งนี้ชาวบ้านได้แจ้งความและร้องเรียนไปยังหน่วย ฉก ที่รับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าว รวมถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด ไปแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

สิ่งที่สังเกตเห็น

ข้อสังเกต

ฝ่ายปกครองที่พบ (กำนัน นายก อบต. และอาจรวมถึงปลัดอำเภอ) ถูกกดดันด้วยคำสั่งบางอย่างที่ไม่อาจอ้างอิงอย่างเปิดเผยได้ 

กำนันนั้น มีท่าทีกระอักกระอ่วนมากที่ทหารเข้ามาระหว่างที่เรากำลังคุยกับเขาอยู่ และพยายามแสดงออกว่า ไม่ใช่พวกเดียวกันกับเราอย่างมาก  แต่เมื่อเห็นว่าการพูดคุยระหว่างทหารกับพวกเราเป็นไปด้วยดี มีลักษณะเสมอภาค (ในตอนแรกทหารมีลักษณะข่มเล็กน้อย แต่เมื่อข้าพเจ้าตอบคำถามอย่างชัดเจน ด้วยเสียงปกติ ให้ทั้งชื่อจริง เบอร์โทร และ "ช่วย" ให้เขียนชื่อข้าพเจ้าง่ายขึ้นด้วยการแสดงบัตรประชาชน ดูเหมือนลักษณะการข่มจะลดลงทันที)  ก็ถอยออกห่าง แต่ก็ยังคงมีท่าทีไม่เป็นมิตรแบบประหวั่นต่อพวกเราเช่นเดิม  (ซึ่งน่าแปลกที่ไม่ใช่ลักษณะของความรำคาญ หรือขี้เกียจให้บริการจึงบอกปัด แบบผู้นำท้องถิ่นทั่วไปที่เคยพบเจอ และไม่ใช่ลักษณะของความรังเกียจด้วย)

ในขณะที่ นายก อบต. แสดงท่าทีออกมาอย่างชัดเจนทางน้ำเสียง และแววตา ว่าได้รับความกดดันอย่างมาก ประกอบกับการยืนยันด้วยวาจาว่าไม่เคยได้รับการติดต่อทั้งทางเอกสารและการพูดคุยเพื่อใช้สถานที่ดังกล่าว (ซึ่งมีการยอมรับจากทหารคนหนึ่งที่เข้ามาพูดคุยขณะที่คณะทำงานและชาวบ้านทำกิจกรรมอยู่หน้า อบต. ว่าได้รับ และเขียนผิดหลายจุดอีกด้วย อนึ่ง ทหารดังกล่าวเป็นผู้หมวดที่ตั้งค่ายอยู่ใน อบต. มีหน้าที่ดูแลพื้นที่ตำบลที่สองนี้ด้วย) และพยายามหลีกเลี่ยงที่จะคุยกับชาวบ้านที่เป็นผู้นำทาง (ในอีกนัยหนึ่ง คือเป็นผู้ประสานงานให้คณะของเราในพื้นที่ดังกล่าวด้วย) ด้วยการขับรถออกไปทันทีที่เห็นชาวบ้านคนนี้กำลังเดินเข้าไปในพื้นที่สำนักงาน อบต. และปิดมือถือเสีย

คำถามของข้อสังเกตนี้ คือ การเป็นผู้นำชุมชนอย่างเป็นทางการของ นายก อบต. หรือ กำนัน เหตุใดจึงไม่สามารถใช้อำนาจทั้งในเชิงบารมีและในเชิงตำแหน่งหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาได้  ความเห็นคือ อาจสอดคล้องกับที่ ดันแคน แมกคาโก ได้เขียนไว้ใน tearing a part ที่ว่า ตัวผู้นำชุมชนอย่างเป็นทางการนั้น ต้องวางตัวในลักษณะที่ ตามคำสั่งรัฐ มากกว่าสะท้อนปัญหาและความต้องการของประชาชน

เกี่ยวกับทหาร

ทหารที่พูดคุยกันนั้น ไม่ได้มีลักษณะข่มขู่คุกคามอย่างชัดเจน แม้จะมีลักษณะการข่มกันอยู่บ้าง แต่คาดว่าน่าจะเป็นลักษณะธรรมชาติของทหารยศต่ำที่มีหน้าที่รับผิดชอบสูงเกินกว่ายศ (ในที่นี้คือการเป็นผู้หมวดยศนายสิบ -ไม่ได้เป็นจ่า- ที่จำเป็นต้องรับผิดชอบพื้นที่ทั้งตำบล)  ลักษณะของทหารที่เข้ามานั้น เป็นการเข้ามา intervention และ cut-off กิจกรรมที่กำลังดำเนินอยู่มากกว่า  และเป็นการเข้ามาอย่างมั่นใจว่า คณะของเราไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อชีวิตของเขา (ทหารชุดแรกที่เข้ามาอยู่ในเครื่องแบบ มีอาวุธครบมือ บรรจุกระสุนในซองครบ แต่ไม่ได้อยู่ในท่าทีเตรียมปะทะ การประคองปืนไม่ได้วางนิ้วชี้ไว้ที่โกร่งไกปืน มีลักษณะเชิงประคอง/ลาดตระเวณ ในขณะที่ทหารที่เข้ามาในตำบลที่สอง ใส่เสื้อยืด รองเท้าแตะ กางเกงลายพราง และมีปืนพกใส่ซองปืนห้อยเอวไว้เท่านั้น)  แต่มองการรวมตัวของชาวบ้านในเชิงว่าจะเป็นการสร้างปัญหา โดยเฉพาะคำพูดของทั้งสองผู้หมวดที่แจ้งกับเราว่า ชาวบ้านของอีกตำบลหนึ่งที่เข้ามาในพื้นที่ของเรา เป็นแนวร่วมทั้งหมด และไม่พอใจ ไม่อยากรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากคนเหล่านี้  ทั้ง ๆ ที่ทั้งสองตำบลอยู่ติดกัน และโดยสภาพชีวิตประจำวัน เป็นไปไม่ได้ที่คนที่อยู่คนละสังกัดเขตตำบลกัน จะไม่เดินทางข้ามเส้นเขตแดนของตำบลกัน

คำถามคือ ด้วยนโยบายเช่นไร ด้วยความคิดเชิงยุทธศาสตร์เช่นไร จึงทำเจ้าหน้าที่ทหารผู้รับผิดชอบพื้นที่เกิดการปฏิบัติหน้าที่ด้วยชุดความคิดเช่นนี้

 

เกี่ยวกับชาวบ้าน

ชาวบ้านผู้หญิงมีความยินดีที่มีคนนอกพื้นที่เข้ามาในพื้นที่ ในขณะที่กลุ่มชาวบ้านผู้ชายมีลักษณะสงวนท่าทีอย่างเห็นได้ชัด  กลุ่มชาวบ้านผู้หญิงมีลักษณะของการพูดตรง ๆ กับทหารที่เข้ามาในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตำบลที่สอง ซึ่งเป็นมลายูมุสลิมและสื่อสารด้วยการใช้ภาษามลายูถิ่นเหมือนกัน  ในขณะที่สำหรับผู้ชายนั้น ต่างแยกย้ายหายไปตั้งแต่การถูกกำนันให้คณะของเราออกจากพื้นที่ตั้งแต่ตำบลที่หนึ่งแล้ว

ชาวบ้านผู้หญิง ยินดีกับการให้ข้อมูลทั่ว ๆ ไปอย่างสูง โดยเฉพาะปัญหาการเดือดร้อนจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ (ซึ่งหมายถึงทหาร) ชาวบ้านผู้หญิงขอคำปรึกษาหนทางและกลไกของทางราชการที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ  เช่น กรณีมีหน่วยทหารเข้าค้นบ้านในขณะที่ไม่มีเจ้าบ้านอยู่ และได้ลักทรัพย์ทองรูปพรรณที่อยู่ในบ้าน ประมาณ 4 บาท  ทางเจ้าบ้านและญาติ ๆ ได้เข้าไปแจ้งความที่สถานีตำรวจอำเภอเป็นที่เรียบร้อย โดยชาวบ้านมีหลักฐานและบรรยายลักษณะของทหารที่เข้าค้นบ้านได้ครบถ้วน และยังเคยพบกับกลุ่มทหารชุดดังกล่าวในครั้งต่อ ๆ มาอีกด้วย  นอกจากนี้ยังพยายามติดต่อนายทหารระดับสูงของหน่วย ฉก และ ผู้ว่าราชการ เพื่อช่วยกำชับติดตามโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเอาทอง (ซึ่งชาวบ้านแจ้งว่า เป็นมรดกของตระกูล จึงมีความผูกพันธ์และมีคุณค่าทางจิตใจมาก) ของตนคืน

ข้อสังเกตนี้ จึงมาสู่คำถามที่ว่า เหตุใดชาวบ้านที่ทหารมั่นใจว่า เป็นแนวร่วมของผู้ก่อความไม่สงบ (หรือผู้ประสงค์แบ่งแยกดินแดน) จึงยังพยายามพึ่งพากลไกลของรัฐในการอำนวยความยุติธรรมให้กับตนเอง  ทั้ง ๆ ที่หากเป็นแนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ใช้ความรุนแรงอย่างขยายตัวแล้ว การติดต่อกับกลุ่มขบวนการ (ตามสมมติฐานของทหาร) น่าจะช่วยให้ชาวบ้านได้ทองคืนเร็วกว่า

หมายเลขบันทึก: 542166เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2013 08:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กรกฎาคม 2013 12:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

...ความขัดแย้ม .... เมื่อเริ่ม ... ต้องรีบจัดการ โดยเร็วนะคะ .....

คงเริ่มมานานจนเลยจุดที่จะจัดการโดยเร็วได้แล้วล่ะครับ

คิดว่า ถ้าเปรียบเป็นพยาธิสภาพ ตอนนี้ก็คงเรื้อรังและแทรกซ้อนเยอะมากเลยครับผม

แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ(ซีไรท์)

ขออ่าน "ซือโก๊ แซกอ" ก่อนนะครับ

ได้มาสักพักหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ได้อ่านเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท