ปลูกผักขะแยงเป็นอาชีพ ลงทุนต่ำ ผลผลิตปลอดภัย


ผักขะแยง เป็นพืชที่ปลูกและดูแลรักษาง่าย ไม่มีปัญหาเรื่องโรคแมลง ตอบสนองต่อปุ๋ยอินทรีย์ได้ดี จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช

ผักขะแยง เป็นพืชผักพื้นบ้านที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมการบริโภคของคนอีสานมาช้านาน มีกลิ่นหอม ใช้ดับกลิ่นคาวในอาหารหลายตำรับ เช่น ห่อหมก แกงอ่อม

ในอดีตผักขะแยงพบได้ทั่วไปตามท้องทุ่งนาตลอดช่วงฤดูฝน ออกดอกและให้เมล็ดในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนมกราคม จากนั้นจึงสิ้นอายุขัย เมล็ดที่ร่วงหล่นจะงอกและเจริญเติบโตให้ผลผลิตได้ใหม่เมื่อมีสภาพแวดล้อมเหมาะสม หรือประมาณเดือนพฤษภาคม เป็นต้นไป ปัจจุบันผักขะแยงที่เกิดเองตามธรรมชาติหาได้ยากเต็มที สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือ การใช้สารเคมีควบคุมและกำจัดวัชพืชในนาข้าว จึงทำให้มีผู้คิดค้นวิธีการปลูกผักขะแยงบริโภคและปลูกเป็นอาชีพเสริม ซึ่งประสบผลสำเร็จมาแล้วหลายคน


คุณพ่อสุวินัย เมืองจันทร์ เกษตรกรบ้านกุดตากล้า (หนองปลาคูณ) ตำบลตาโกน อำเภอเมืองจันทร์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นเกษตรกรอีกท่านหนึ่งที่ประสบความสำเร็จดังกล่าว และถือได้ว่าเป็นผู้ชำนาญการด้านการปลูกผักขะแยง โดยเริ่มทำเป็นอาชีพมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จนกระทั่งปัจจุบัน หรือประมาณ 14 ปี คุณพ่อสุวินัย บอกว่า ผักขะแยงปลูกโดยการใช้เมล็ด หรือใช้ลำต้นที่มีรากติด ถ้าเป็นมือใหม่แนะนำให้ใช้วิธีการที่สองจะแน่นอนกว่า

ขั้นตอนแรก ปรับสภาพพื้นที่ให้ราบเรียบ ใช้จอบขุดพลิกหน้าดินตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 5 วัน จากนั้นจึงขุดย่อยดินทำแปลงปลูกผักขะแยง ขนาด กว้าง 1 เมตร ยาว 4 เมตร โรยปุ๋ยอินทรีย์ให้ทั่วแปลงโดยประมาณ (พิจารณาจากความอุดมสมบูรณ์ของดิน) ขุดคลุกเคล้าผสมกับดิน ปล่อยน้ำใส่แปลง เกลี่ยหน้าดินให้เรียบแน่น และทำให้แปลงต่ำกว่าพื้นดินปกติประมาณ 3 นิ้ว ไว้สำหรับเก็บน้ำหล่อเลี้ยงผักขะแยงในแปลง


หลังจากเตรียมแปลงเสร็จแล้ว ขุดผักขะแยงให้มีรากและดินติดมาด้วย ปลูกผักขะแยงลงในแปลงให้มีระยะห่างประมาณ 1 คืบ


หลังจากปลูกผักขะแยงแล้ว ให้โน้มลำต้นแนบชิดกับพื้นดิน ใช้ดินทับ จะทำให้เกิดต้นใหม่จากทุกปล้องของต้นผักขะแยง เป็นการเพิ่มผลผลิตอีกวิธีการหนึ่ง การโน้มลำต้นอาจทำหลังจากปลูกผักขะแยงได้ประมาณ 1 อาทิตย์


หลังปลูกแล้วให้ปล่อยน้ำเข้าหล่อเลี้ยงผักขะแยงในแปลง ประมาณ 1 เดือน สามารถตัดจำหน่ายได้ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์เร่งการเจริญเติบโตจะช่วยกระต้นการเจริญเติบโตของผักขะแยง และตัดจำหน่ายได้เร็วขึ้น หลังตัดห้ามปล่อยน้ำเข้าท่วมลำต้นที่ตัดแล้ว เพราะจำทำให้ผักขะแยงไม่แตกลำต้นใหม่ ควรปล่อยน้ำเข้าแปลงเพียงแค่รักษาความชื้นในดินเท่านั้น หลังจากผักขะแยงที่ตัดแตกลำต้นใหม่ได้ทั้งหมด หรือเป็นส่วนใหญ่ จึงปล่อยน้ำขังในแปลงได้


การตัดผักขะแยงให้ชิดกับพื้นดิน จะทำให้ผักขะแยงที่เกิดในรุ่นต่อไปไม่แน่นเกินไป และสามารถตัดผลผลิตจำหน่ายได้อีกเดือนละ 1 ครั้ง แปลงขนาด กว้าง 1 เมตร ยาว 4 เมตร ใช้เวลาตัดจำหน่ายประมาณ 2 วัน ให้ผลตอบแทนแปลงละ 900 บาท/รุ่น

ผักขะแยง จะออกดอกและให้เมล็ดในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนมกราคม ช่วงนี้ผักขะแยงจะหยุดการเจริญเติบโตทางใบและลำต้น ให้ผลผลิตลดลง ใบเริ่มเหลือง เหี่ยว และยุบ เกษตรกรบางรายจะเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ในช่วงนี้ คุณพ่อสุวินัย ใช้วิธีการขุดสับผสมไว้กับดินในแปลงเพื่อให้เมล็ดฟักตัว ประมาณเดือนมีนาคมเป็นต้นไปสภาพแวดล้อมจะมีความเหมาะสมต่อการงอกของเมล็ด จึงเริ่มให้น้ำ ดูแลรักษา และจัดการผลผลิต


คุณพ่อสุวินัย สรุปทิ้งท้ายว่า ผักขะแยง เป็นพืชที่ปลูกและดูแลรักษาง่าย ไม่มีปัญหาเรื่องโรคแมลง ตอบสนองต่อปุ๋ยอินทรีย์ได้ดี จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ปัจจุบันการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดวัชพืชในนาข้าวส่งผลกระทบให้ผักขะแยงที่มีอยู่ในธรรมชาติหาได้ยาก และอาจสูญพันธุ์ไปจากท้องไร่ท้องนา การปลูกผักขะแยงน่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เหมาะสมในการประกอบอาชีพเกษตร


สถานที่ : บ้านกุดตากล้า (หนองปลาคูณ) ตำบลตาโกน อำเภอเมืองจันทร์ จังหวัดศรีสะเกษ

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

www.phargarden.com

www.m-culture.in.th


หมายเลขบันทึก: 542142เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2013 01:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2013 17:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

...ได้ยินชื่อมานานผักขะแยง...เพิ่งเห็นของจริงวันนี้...ขอบคุณค่ะ

น่าสนใจมากเป็นผักพื้นบ้านที่น่าจะปลูกไว้กินเองนะครับ

ผักนี้ใช้ทำอาหารอะไรได้บ้างครับ และที่ทำแล้วอร่อยมาก คืออะไร คนภาคตะวันออกอยากรู้ครับ

ไม่ทราบผักนี้ ภาคกลาง ตะวันออก มีชื่อเรียกต่างกันหรือเปล่าครับ อยากได้เผื่อหาในพื้นที่ได้

มันผักเดียวกับ "หอมดอกผักกะแยง...ยามฟ้าแลงค่ำลงมา" หรือเปล่าครับ?

ใช่ครับคุณ Ensign ใช้แต่งกลิ่นหรือปรุงรสในน้ำพริก แกงอ่อม แกงหน่อไม้ แกงปลา ห่อหมก กินเป็นผักสด เมนูที่อร่อยก็ขึ้นอยู่กับความชอบของเรา ส่วนตัวผมห่อหมกอร่อยที่สุดครับ

เป็นพืชผักที่มีต้นทุนต่ำ ดูแลรักษาง่าย และสนับสนุนแนวทางการผลิตพืชอาหารปลอดภัย

ขอบคุณมากครับสำหรับข้อมูล ผมเป็นคนนึงที่ชอบผักพื้นบ้าน เราจะไปปลูกอะไรที่มันยุ่งยากต้องใช้เงินทองเวลาแรงงานปุ๋ยและยาในการดูแลรักษาทำไม ในเมื่อผักพื้นบ้าน อร่อยๆ ดีๆ มีมากมาย แค่หามาปลูกมันก็ดูแลตัวเองให้เรามีกินแล้ว แค่ฟื้นวิถีชนบทคืนมาผมว่าเราก็อยู่ได้อย่างมีความสุขแล้วครับ

เป็นผักที่ชอบมากๆค่ะ เคยวิ่งเก็บตามท้องนาขายตอนเด็กๆ คู่กับผักสายบัวในหนองน้ำหน้าบ้าน

ตามท้องนาทุกวันนี้ แทบไม่มีแล้วค่ะ คงมาจากการใช้ยาฆ่าหญ้าหรือเปล่าหนอ ผักขะแยงหายไป...ตามกุ๊ดจี่แล้วสิ

ขอบคุณทุกๆบันทึกเลยนะคะ ตอนนี้ทยอยปลูกผักหวานป่ายืนพื้น ตามด้วยกล้วยและแก้วมังกร

ต้องหาผักระยะสั้นมาลงเสริมแล้วค่ะ ผักเสี้ยน ผักแป้น และกระเจี๊ยบแดง น่าสนใจมากค่ะ

ต้นเสียว ที่ปลูกใช้ทำฟืน ก็น่าสนใจค่ะ แต่พยายามมองให้ชัดว่าคือต้นอะไร ก็ดูไม่ออกค่ะ :)

ถ้าปลูกตามคันนาแล้วไม่ทำให้ดินเสียเหมือนต้นยูคา คงต้องหาพันธุ์มาลงบ้างแล้วค่ะ

ขอบคุณอีกครั้งนะคะ

พื้นที่ใดที่ใช้ยาฆ่าหญ้าจะไม่มีผักขะแยง ถึงแม้จะไม่ได้ใช้ยาฆ่าหญ้าในพื้นที่ แต่ถ้าหากมีการใช้ในพื้นที่ข้างเคียง จะมีผลทำให้ผักขะแยงใบหงิกงอและไม่เจริญเติบโต เพราะฤทธิ์ของยาฆ่าหญ้าที่ล่องลอยมากับอากาศ

โอ้...ผักขะแยง โดนยาฆ่าหญ้าไม่ได้ เหมือนผักหวานป่าเลยนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับข้อมูล

เคยเห็นต้นแต่ไม่ทราบชื่อค่ะ รู้จักชื่อแล้ว ขอบคุณมากนะคะ

ผักขะแยงมีทั้งชนิดหอมและไม่หอม  ผักขะแยงแท้  ผักขะแยงเทียม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เชื้อผักขะแยง

เป็นผักที่มีประโยชน์ทางสมุนไพรด้วยนะคะ

ทางสมุทรสาครไม่เคยเห็นค่ะ 

ไม่มีผัดแขยง แต่มีปลาแขยง

ทำฉู่ฉี่อร่อยมากค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท