เทคนิคการสร้างกลุ่มชุมชนคนทำงาน (CoPs) ทางออนไลน์ใน GotoKnow


เนื่องจากมีสมาขิกเก่าและใหม่และผู้สนใจที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกหลายท่านให้ความสนใจในโครงการนี้ ดิฉันจึงขอสรุปและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการนี้ดังต่อไปนี้นะคะ

GotoKnow คือ ชุมชนเสมือนและเป็นคลังความรู้ของคนทำงานทั้งในระดับบุคคลหรือองค์กรชุมชนที่เข้ามาถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ความรู้ในการทำงานและการดำเนินชีวิตในประเด็นความสนใจต่างๆ ด้วยการบันทึกข้อความ รูป ไฟล์ หรือ ลิงก์วิดีโอ ลงในสมุดบันทึกหรือบล็อกใน GotoKnow ค่ะ

สมาชิกของ GotoKnow สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายความรู้ความสนใจและผู้คนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันได้ด้วยเครื่องมือที่สำคัญ 4 อย่างดังนี้ค่ะ

1. ระบบคำสำคัญของบันทึก 

เพียงแค่ประชาสัมพันธ์ให้ใส่คำสำคัญเดียวกันก็สามารถเชื่อมโยงชุมชนได้แล้วค่ะ

2. ระบบการติดตาม

สมาชิกชุมชนจะไม่พลาดการติดตามบันทึกของสมาชิกท่านอื่นด้วยการกดติดตามค่ะ

3. ระบบแพลนเน็ตหรือรวมบล็อก 

4. ระบบชุมชน 

 

ความหมายของกลุ่มชุมชนนักปฏิบัติ

กลุ่มชนชนนักปฏิบัติ (Communities of Practice - CoPs) หรือที่ดิฉันขอเรียกเพื่อสร้างความเข้าใจง่ายๆ ว่าเป็น กลุ่มชุมชนคนทำงาน นั้นหมายถึง การรวมตัวของผู้ที่มีความสนใจเดียวกันมาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ความเห็นกันอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ที่ช่วยเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการร่วมมือระหว่างกันค่ะ

ในด้านการจัดการความรู้ (Knowledge Management) นั้นเป็นที่ยอมรับกันว่า กลุ่มชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการร่วมมือกันแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และช่วยให้เกิดการถ่ายทอดแนวปฏิบัติดีๆ (Best practices) ได้ไม่ยากค่ะ เพราะด้วยสัมพันธภาพที่เกิดขึ้นข้ามสายงานและองค์กรที่เกิดขึ้นจากกลุ่มชุมชนนั่นเองค่ะ

ทาง GotoKnow จึงเข้ามาสนับสนุนการสร้างกลุ่มชุมชนอย่างเป็นทางการขึ้นค่ะ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยได้มีพื้นที่ของกลุ่มชุมชนและคลังความรู้ที่เกิดจากผู้คนที่รวมตัวกันข้ามสายงาน ข้ามหน่วยงาน หรือข้ามองค์กร มาร่วมกันสร้างสังคมไทยให้เข้มแข็งขึ้นใน GotoKnow ค่ะ

 

เทคนิคการสร้างกลุ่มชุมชนคนทำงาน

ที่ผ่านมา GotoKnow ได้สนับสนุนกลุ่มชุมชนคนทำงานไปแล้วจำนวน 9 ชุมชนค่ะ ได้แก่ 

 

  • ชุมชนวิทยากรกระบวนการ (Facilitators) 
  • ชุมชนครูเพื่อศิษย์
  • ชุมชนพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (R2R)
  • ชุมชนผู้ดูแลผู้ป่วยเบาหวาน
  • ชุมชนสุขภาวะชุมชนหนองบัว 
  • ชุมชนเยาวชนจิตอาสา
  • ชุมชนกิจกรรมบำบัด
  • ชุมชมองค์กรสุขภาวะและการสร้างพื้นที่แห่งความสุข
  • ชุมชนอาหารเพื่อสุขภาพ

 

ดิฉันได้ลองถอดบทเรียนของชุมชนเหล่านี้ออกมาเป็นเทคนิคต่างๆ ในการสร้างกลุ่มชุมชนทางออนไลน์ดังนี้นะคะ และหวังว่าคงเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านที่สนใจในการเข้าร่วมโครงการสร้างกลุ่มชุมชนคนทำงานใน GotoKnow ในครั้งนี้ค่ะ

1. สร้างความเป็นตัวตนจริงๆ 

ในหน้าโปรไฟล์ (Profile) ควรระบุความเป็นตัวตนที่ชัดเจนของสมาชิก เช่น ชื่อ นามสกุล องค์กร รูปถ่ายจริง เป็นต้น เพราะผู้คนจะให้ความร่วมมือและความสนใจในเนื้อหาและชุมชนมากขึ้นหากสัมพันธภาพมีมากขึ้นซึ่งแสดงง่ายๆด้วยการให้ข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงความจริงใจที่จะเปิดเผยตัวตนของบุคคลนั้นๆ ค่ะ

2. ดำเนินกิจกรรมทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์

สัมพันธภาพและความรู้จะงอกเงยขึ้นได้ด้วยกิจกรรมที่นำมาสู่การร่วมมือกันค่ะ เช่น ในทางพื้นที่จริงนั้นมีการจัดกิจกรรมเพื่อพบปะสังสรรค์หรือร่วมกันทำกิจกรรมจิตอาสา หรือในทางออนไลน์มีการจัดกิจกรรมร่วมกันถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ผ่านรูปถ่าย หรือ บันทึกใน  GotoKnow ค่ะ

3. มีทีมกระตุ้นการร่วมมือสร้างกลุ่ม

กลุ่มชุมชนที่รวมตัวขึ้นมาจะต้องมีทีมหลักที่มีหน้าที่ในการกระตุ้นในเกิดการร่วมมือในกิจกรรม มีการประชาสัมพันธ์ชุมชน และมีหน้าที่ในการอบรมให้สมาชิกในชุมชนได้รู้จักใช้เครื่องมือออนไลน์ของ  GotoKnow หรืออบรมทำความเข้าใจเรื่องการจัดการความรู้ของชุมชนค่ะ ที่สำคัญคือทีมจะต้องมีใจรักการเขียนการอ่านนะคะ

4. ให้ความสำคัญกับการให้ความร่วมมือ และสนับสนุนการให้รางวัลตอบแทน

ทีมหลักของชุมชนต้องให้ความสำคัญกับการร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ ของสมาชิกในระดับต่างๆ กัน เช่น สมาชิกที่ร่วมกิจกรรมออนไลน์บ่อยที่สุด สมาชิกที่มีบันทึกมากที่สุด สมาชิกที่ต่อยอดความเห็นมากที่สุด เป็นต้นค่ะ และควรสนับสนุนกระตุ้นการร่วมมือนี้ด้วยรางวัลตอบแทนค่ะ ซึ่งอาจจะเป็นรางวัลที่สัมผัสได้และมีคุณค่าแก่ผู้ได้รับค่ะ ส่วนรางวัลการเป็นที่ยอมรับในชุมชนย่อยและชุมชนใหญ่ของ GotoKnow นั้นจะเห็นได้ชัดจากการเข้าร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมออยู่แล้วค่ะ

5. สร้างแบรนด์ของกลุ่มชุมชน

ชื่อเรียกชุมชน เป้าหมายการรวมตัว หรือวัตถุประสงค์ของชุมชน ที่ตอกย้ำอย่างต่อเนื่องผ่านเครื่องมือต่างๆ ที่ GotoKnow มีให้ เช่น การบันทึกความรู้หรือภาพกิจกรรม การอีเมลส่งตรงถึงสมาชิกแต่ละคน ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างความเหนียวแน่นให้กลุุ่มชุมชนค่ะ

6. ผู้นำทำเป็นตัวอย่าง

ทีมผู้นำชุมชนจะเป็นคนที่กระตุ้นให้เกิดการร่วมมือของสมาชิกได้ดีที่สุดค่ะ ดังนั้นทีมผู้นำจะต้องเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสมาชิกอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นแบบอย่างให้สมาชิกค่ะ เขียนบ้าง ไม่เขียนบ้าง ปล่อยปละละเลย จะทำให้สมาชิกหมดไฟในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางออนไลน์นะคะ

7. สกัดความรู้ให้เข้าใจง่าย

ในสังคมปัจจุบันนี้ ให้อะไรก็ไม่ดีเท่ากับการให้ความรู้สู่สังคมค่ะ คุณค่าของการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ของสมาชิกในชุมชนคือ การที่ความรู้ของเขาได้เกิดการผสมผสานความรู้กับผู้อื่นและเกิดเป็นชุดความรู้ที่เข้าใจง่ายเพื่อให้สังคมไทยได้มีความรู้ที่นำไปใช้ปฏิบัติได้จริงค่ะ การสกัดความรู้ที่ชุมชนถ่ายทอดออกมาจึงเป็นหน้าที่หนึ่งของทีมผู้นำชุมชนค่ะ

8. ต้อนรับสมาชิกใหม่

น้องใหม่ที่เข้ามาร่วมกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนต้องได้รับการต้อนรับและให้คำแนะนำอย่างดีค่ะ และมีกิจกรรมอบรมและสร้างแรงบันดาลใจในการใช้เครื่องมือ GotoKnow  หรือกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกกันเป็นระยะๆ ค่ะ

9. สร้างชุมชนอย่างมีแบบแผน

ทีมผู้นำชุมชนอาจจะคิดไว้ก่อนหน้าแล้วว่า อยากให้เกิดเนื้อหาความรู้ในประเด็นใดบ้าง หรืออยากให้เกิดสมาชิกในสายงานอาชีพหรือความสนใจใด จะช่วยให้สร้างชุมชนได้อย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และเกิดชุดความรู้ที่มีแกนหลักของเนื้อหาครบถ้วนค่ะ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 541908เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2013 15:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 21:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

-สวัสดีครับอาจารย์..

-ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ..

คุณเพชรน้ำหนึ่งร่วมส่งสักโครงการซิค่ะ :)

อาจารย์จันคะ

ขอบพระคุณรายละเอียดเพิ่มเติมค่ะ

ครูหยินส่งในตอบรับให้อ.จันแล้วค่ะ ส่งวันอังคารค่ะ ตามที่อยู่ที่ให้มาขอบคุณอีกครั้งค่ะ

ครูหยินขอศึกษาระบบก่อน อยากตั้งเป็น ชุมชนคนพอเพียง เพื่อมีส่วนร่วมแก้วิกฤตชีวิตโลก

สนใจนะครับแต่ความรู้ยังน้อย เคยแต่เขียนบันทึก ไม่รู้ว่าเขาเริ่มกันอย่างไร เปนกำลังใจให้ทุกคนครับ

-สวัสดีครับอาจารย์

-ขอเป็นหนึ่งในสมาชิกที่ติดตามกิจกรรมดี ๆก็แล้วกันนะครับ

-คงต้องหาเครือข่ายและเรียนรู้อีกมากครับ

-ขอบคุณครับ

  • เป็นกำลังใจให้นะครับ
  • ผมไม่มีทักษะในการสร้างชุมชนและประสานครองใจคน ไม่งั้นผมจะร่วมประกวดด้วยสักโครงการ
  • แต่สิ่งที่ผมพบและสังเกตอย่างหนึ่งคือ ในพื้นที่เสมือนแห่งนี้มี "ทักษะจริยธรรมของคนวัยทำงานผ่านประสบการณ์ความเป็นจริงทางสังคมบนพื้นที่เสมือน (G2K)" ที่น่าจะเขียนได้มากกว่า ๑ เล่ม (จดหมายเหตุ) จึงฝากไว้สำหรับผู้มีกำลังแรงกล้า (Power) ด้วยนะครับ

- สวัสดีค่ะ อ.จันทวรรณ

- โครงการน่าสนใจมาก ค่ะ

เป็นโครงการที่ดีมากครับ เพราะจะทำให้คนที่มีความรู้ความสามารถ ต่างความรู้ต่างประสบการณ์ ต่างหน่วยงานต่างพื้นที่ ได้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์สังคมร่วมกัน ผมเป็นทั้งเกษตรกรและนักส่งเสริมการเกษตรทำงานร่วมกันกับชาวบ้านในท้องถิ่น มีความสนใจที่จะร่วมเครือข่ายชุมชนคนทำงาน เพื่อประโยชน์ของชาวบ้านในพื้นที่ครับ

ขอเชิญส่งสักโครงการนะคะที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรค่ะ เช่น ปลูกผักกินเอง หรือ สอนเยาวชนวัยเด็กให้รักการเกษตร เป็นต้นค่ะ

ขอบคุณมากค่ะสำหรับเรื่องดีๆที่กำลังศึกษาและพัฒนา. รพ. สรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี ไปเป็น. LO ค่ะ

ขอบคุณมากครับพี่อ.ดร.จัน ที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ยอดเยี่ยมและชัดเจน

สนใจและ ชื่นชม ผลงานมานานแล้วครับ

กำลังรวบรวมทีมนำและเขียนแผน proposal เพื่อสมัครเป็นสมาชิกชุมชนCOP.online

ขอบคุณครับที่ยื่นเวลาออกไปถึง 31 กค.56 กำลังเร่งเขียนโครงการ

สัญญาว่าจะร่วมมือกับ gotoknow อย่างเข้มแข็งครับ...แล้วเจอกันนะครับ

ยินดีนะคะคุณประวิทย์ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาในการปรับแก้ proposal สามารถดูตัวอย่างการเขียนได้ในบันทึก http://www.gotoknow.org/posts/541173  นะคะ

และขอเน้นค่ะว่าเป็นโครงการที่เน้นกิจกรรมทางออนไลน์ใน GotoKnow เพื่อสร้างเครือข่ายในประเด็นที่ต้องการขับเคลื่อน และผลที่ได้รับจะต้องมีการถอดบทเรียนจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาเป็นชุดความรู้ด้วยนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ

อาจารย์คะ

ถ้าเป็นการร่วมโครงการหนึ่ง เช่น โครงการนี้

แต่รายละเอียดของเรา สมาชิกย่อย คือการสอนให้เยาวชนรักการเกษตร

...การเสนอโครงการ และการเรียนรู้ การสร้างทีม

ควรให้โครงการหลักเป็นฝ่ายดำเนินการ เป็นแม่ข่าย

หรือว่า สมาชิกย่อย ดำเนินการได้เลยค่ะ

เจ้าของโครงการหลัก พบบันทึกอาจารย์หรือยังหนอ

จะลองปรึกษา คุณ น้อย น้ำพอง ดูนะคะ เวลาใกล้...มากแล้ว

ขอบคุณมากค่ะ

อ่า่นข้อเสนอแนะ และเข้าร่วมของสมาชิกแล้วรู้สึกดีจังเลยค่ะ

โลกเรียนรู้ทางออนไลน์กับgotoknowของพี่

คงได้มีโอกาสทำหน้าที่นักเรียนเป็นนักเรียนที่ดี

และสนุกได้อีกนาน เป็นกำลังใจให้นะคะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท