ลิขสิทธิ์ (Copyrights)


     หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ลิขสิทธิ์เป็นผลงานที่เกิดจากการใช้สติปัญญา ความรู้ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์งานให้เกิดขึ้น

  สิทธิในการเป็นเจ้าของความคิด ที่คิดค้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปจดทะเบียน แต่ต้องสื่อออกมา เพราะกฎหมายคุ้มครองสื่อของความคิด แต่ไม่ได้คุ้มครองความคิด

  งานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งหมดอายุการคุ้มครองแล้ว งานนั้นจะกลายเป็นสมบัติของสาธารณะ หรือที่เรียกว่างานสาธารณะ (Work in public domain) บุคลใดๆ ในสังคมก็สามารถใช้งานได้โดยอิสระ ไม่ต้องขออนุญาต และไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทน

  ลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property) อย่างหนึ่ง เป็นสิทธิหวงกันของเจ้าของที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เป็นสิทธิที่จะห้ามไม่ให้ผู้อื่นนำงานของเจ้าของไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต อันมิใช่สิทธิในกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นสิทธิที่กฎหมายให้แก่ผู้สร้างสรรค์งานหรือผู้เป็นเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์เท่านั้น ฉะนั้นผู้ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในวัตถุมีรูปร่างจึงอาจจะไม่ใช่ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ก็เป็นได้

หลักเกณฑ์ให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์

1.  เป็นการแสดงออกซึ่งความคิด

  หลักการที่สำคัญของกฎหมายลิขสิทธิ์ คือ สิ่งที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์นั้นต้องเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดให้ปรากฏในรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะปรากฏในรูปแบบใด เช่น การเขียน หรือพิมพ์ความคิดลงบนแผ่นกระดาษ  การบันทึกเสียงเพลงและดนตรีลงบนเทปบันทึกเสียง หรือการแกะสลักงานออกเป็นรูปร่าง เป็น สำหรับตัวความคิดนั้นเอง จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์แต่ประการใด ซึ่งกฎหมายลิขสิทธิ์ มาตรา 6 ระบุไว้ชัดเจนว่าการคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่ครอบคลุมถึงความคิด หรือขั้นตอนกรรมวิธีหรือระบบ หรือวิธีใช้งานหรือทำงาน หรือแนวคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ซึ่งหลักการนี้ของระบบลิขสิทธิ์จึงแตกต่างจากระบบสิทธิบัตรที่ให้ความคุ้มครองความคิด ดังนั้น หากต้องการคุ้มครองความคิดควรคำนึงถึงระบบสิทธิบัตร

2.  เป็นการสร้างสรรค์ด้วยตนเองหรือความคิดริเริ่ม

  หลักการสำคัญประการต่อมาคือ ผู้สร้างสรรค์ได้ใช้ความรู้ความสามารถของตนเองในการสร้างสรรค์งานนั้นขึ้นมาด้วยตนเองเป็นสำคัญ หรืออาจกล่าวได้ว่างานนั้นเกิดจากความคิดริเริ่มของผู้สร้างสรรค์โดยมิได้ลอกเลียนแบบงานของผู้ใด อย่างไรก็ตาม งานที่สร้างสรรค์นั้น ไม่จำเป็นต้องมีงานใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เช่น หากศิลปินสองคนวาดภาพธรรมชาติที่เดียวกันโดยมิได้ลอกเลียนแบบกัน ทั้งสองคนก็อาจเป็นเจ้าของงานที่ตนเองสร้างสรรค์ขึ้น อย่างไรก็ตาม มีบางแนวความคิดถือว่าการสร้างสรรค์ด้วยตนเองนั้นจะต้องมีความรู้ ความชำนาญ ความสามารถ และความอุตสาหะ พยายาม ตลอดจนวิจารณญาณของตนเอง โดยมิได้คัดลอกงานจากที่อื่น จากหลักการดังกล่าวข้างต้น พบว่าความใหม่และคุณภาพของงานจึงไม่ใช่สาระสำคัญของงานลิขสิทธิ์

3.  เป็นงานสร้างสรรค์ตามที่กฎหมายให้ความคุ้มครอง

  งานที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์นั้น นอกจากจะเป็นงานสร้างสรรค์ด้วยตนเองและแสดงออกซึ่งความคิดแล้วตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น องค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ คือ ต้องเป็นงานที่กฎหมายให้การรับรองด้วย

งานที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้การรับรองอาจแบ่งออกได้ 2 ประเภทหลัก ดังนี้

1. งานลิขสิทธิ์ทั่วไป (Copyrights Works) ได้แก่

วรรณกรรม หมายความว่า งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ และให้หมายความรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย

   -  งานนาฏกรรม หมายความว่า งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว และให้หมายความรวมถึงการแสดงโดยวิธีใบ้ด้วย

   - งานศิลปกรรม หมายความรวมถึง งานด้านจิตรกรรม งานประติมากรรม งานสถาปัตยกรรม งานภาพพิมพ์ งานภาพประกอบแผนที่ งานภาพถ่ายแผนที่หรือโครงสร้าง และศิลปะ ประยุกต์ของงานดังกล่าว

   - งานดนตรีกรรม หมายความว่า งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลงหรือขับร้อง ไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้องหรือมีทำนองอย่างเดียว และให้หมายความรวมถึงโน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียประสานแล้ว

  - งานโสตทัศนวัสดุ หมายความว่า งานอันประกอบด้วยลำดับของภาพโดยบันทึกลงในวัสดุ ไม่ว่าจะมีลักษณะอย่างใด อันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีก โดยใช้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการใช้วัสดุนั้น และให้หมายความรวมถึงเสียงประกอบงานนั้นด้วย ถ้ามี

  - งานภาพยนตร์ หมายความว่า โสตทัศนวัสดุ อันประกอบด้วย ลำดับของภาพ ซึ่งสามารถนำออกฉายต่อเนื่องได้อย่างภาพยนตร์ หรือสามารถบันทึกลงบนวัสดุอื่น เพื่อนำออกฉายต่อเนื่องได้อย่างภาพยนตร์ และให้หมายความรวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์นั้นด้วย ถ้ามี

  - งานสิ่งบันทึกเสียง หมายความว่า งานอันประกอบด้วยลำดับของเสียงดนตรี เสียงการแสดงหรือเสียงอื่นใด โดยบันทึกลงในวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะใด ๆ อันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีก โดยใช้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการใช้วัสดุนั้น แต่ทั้งนี้มิให้หมายความรวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์หรือเสียงประกอบโสตทัศนวัสดุ

  - งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หมายความว่า งานที่นำออกสู่สาธารณชนโดยการแพร่เสียงทางวิทยุกระจายเสียง การแพร่เสียงและหรือภาพทางวิทยุ โทรทัศน์ หรือโดยวิธีอย่างอื่นอันคล้ายคลึง

2. งานลิขสิทธิ์สืบเนื่อง (Derivative Works) ได้แก่

- งานดัดแปลง หมายถึง งานที่เกิดจากการทำซ้ำงานต้นฉบับ โดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุงแก้ไข

  เพิ่มเติม หรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงาน

  ขึ้นใหม่ ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่นการนำภาพวาดไปพิมพ์เป็นลวดลายบนกระเบื้องหรือเสื้อยืด นวนิยายแปล การทำงานสองมิติเป็นงานสามมิติ หรือการปรับปรุงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

- งานรวบรวม หมายถึง งานที่เป็นการนำเอางานอันมีลิขสิทธิ์มารวบรวมหรือประกอบเข้ากัน โดยการคัดลอกหรือจัดลำดับในลักษณะซึ่งมิได้ลอกเลียนงานของบุคคลอื่น ทั้งนี้ การกระทำ ดังกล่าวต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น พจนานุกรม ปาทานุกรม หนังสือรวบรวมข้อเท็จจริง หรือฐานข้อมูล เป็นต้น

  นอกจากจะเป็นงานที่กฎหมายให้การรับรองตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้นแล้ว เงื่อนไขที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ งานที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ จะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนด้วย เช่น กฎหมายลิขสิทธิ์จะไม่ให้ความคุ้มครองแก่ภาพลามกอนาจาร หรือนวนิยามเสื่อมเสียศีลธรรม เป็นต้น


หมายเลขบันทึก: 539757เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท