สอนเด็กใช้ “แท็บเล็ต” อย่างได้ผลด้วยวินัย และคุณธรรม


Tablet เป็นสื่อการเรียนรู้ที่ลงทุนสูง เพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา เด็กๆ ควรใช้อย่างรู้ค่า และคุ้มค่า



สอนเด็กใช้ “แท็บเล็ต” อย่างได้ผลด้วยวินัย และคุณธรรม

เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลลงทุนมหาศาลในการซื้อสื่อTablet คอมพิวเตอร์พกพาประจำตัวนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ตามนโยบายOne Tablet Per Childเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านสื่อเทคโนโลยีอย่างเสมอภาค ทั่วถึง ตามแนวคิดภควันตวิทยา (Ubiquitologyหรือ Pakawantology)  ซึ่งหมายถึง ศาสตร์ที่ว่าด้วยการแพร่กระจายความรู้ ข้อมูลข่าวสาร หรือสภาวะต่างๆ ปีนี้นักเรียนที่ได้สัมผัสแท็บเล็ตรุ่นแรกก็เลื่อนชั้นมาเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒  การใช้สื่อ Tablet จึงต้องมีพัฒนาการสูงขึ้น ประเมินประสิทธิภาพประสิทธิผลได้

มีงานวิจัยหลายชิ้นสรุปว่า การใช้สื่อแท็บเล็ตของเด็กที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จด้วยดี แต่จากการลงพื้นที่ติดตามการใช้แท็บเล็ตเพื่อการเรียนรู้ของเด็ก ติดตามการใช้แผนการจัดการเรียนรู้ของครู พบว่า โรงเรียนส่วนใหญ่ใช้สื่อแท็บเล็ตได้คุ้มค่า เด็กมีความสุขกับของเล่นชิ้นใหม่ ครูผู้สอนต่างหากที่ตามเด็กไม่ทัน หลายโรงเรียนก็อยู่ในภาวะปรับตัว ยังลงไม่ถึงตัวปฏิบัติที่แท้จริง สภาพแทบเล็ตที่ผ่านมือเด็ก ไม่แตกต่างจากของเล่นอื่นๆ ที่เต็มไปด้วยรอยขีดข่วนมอมแมม เด็กส่วนใหญ่ใช้งานได้อย่างคล่องแคล่ว แต่โดยภาพรวม การใช้สื่อแท็บเล็ตของเด็กก็ยังไม่ได้สนองการเรียนรู้ได้เต็มที่ถึงระดับที่น่าพอใจ และตัวครูเองก็ยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเทคนิควิธีการจัดการเรียนรู้เพิ่มเติม  ที่ต้องพิจารณานิเทศช่วยเหลือครูอย่างเร่งด่วนในตอนนี้ก็คือ การสร้างพฤติกรรมด้านวินัย คุณธรรมให้เกิดขึ้นกับตัวเด็กก่อนใช้แท็บเล็ต และชี้แนะ (Coaching) เทคนิควิธีการจัดการเรียนรู้สำหรับครูเพิ่มเติมในการจัดกิจกรรมโดยใช้สื่อแท็บเล็ต ด้วยเหตุผลสนับสนุนดังต่อไปนี้

๑.  เกมการศึกษา บทเรียนสำเร็จรูป ใน Applicationsภายหลังศึกษา ครูควรจัดกิจกรรมเสริมให้เด็กมีโอกาสได้แสดงออกถึงการคิดสร้างสรรค์  จินตนาการเพราะจุดด้อยของสื่อเทคโนโลยีทุกชนิดคือเรื่องนี้

๒.  ปกติเด็กก็เรียนรู้กับเครื่องแท็บเล็ตเป็นรายบุคคลเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับกลไก  แต่การจัดการเรียนรู้ครูควรเปิดโอกาสให้เด็กเรียนเป็นกลุ่ม เรียนแบบจับคู่ เพื่อให้เกิดคุณนิสัยการแบ่งปันความรู้ ช่วยเหลือ พึ่งพาซึ่งกันและกัน

๓.  ปลูกฝังความซื่อสัตย์ต่อตนเองการเรียนรู้ตามลำดับขั้นตอนเรียนรู้อย่างมีวินัยในตนเอง เรียนรู้เพราะอยากรู้อยากศึกษา  ซุกซนต่อการเรียนรู้ ไม่ซุกซนต่อความบันเทิงสนุกสนานด้านเดียว

๔.  แท็บเล็ตเป็นเครื่องมือที่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง บำรุงรักษาอย่างถูกหลักวิธี เพื่อให้ใช้ได้ทนทาน คุ้มค่า ต้องรักและหวงแหนและใช้อย่างรู้ค่า

๕.  เมื่อเห็นว่า เด็กมีทักษะการใช้ที่คล่องแล้ว ไม่ควรมีข้อห้ามหยุมหยิม จนเด็กไม่กล้าเล่น กล้าลอง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แต่ควรสนับสนุนให้ค้นหาและรู้วิธีแก้ไขเมื่อผิดพลาด

๖. ควรเข้าใจว่าสื่อเทคโนโลยีในโลกมีการพัฒนาอยู่ทุกนาที แทบเล็ตรุ่นที่ได้รับแจก ย่อมมีสมรรถนะต่ำลงทุกวัน จึงควรสอนให้เด็กรู้ประมาณตน อดทนต่อการประมวลผลช้า  หรือใช้ไม่ทันต่อความต้องการ เป้าหมายที่สำคัญอยู่ที่ตัวความรู้ ไม่ใช่ตัวเครื่อง

๗. หาช่องทางเรียนรู้ผ่านสื่อแท็บเล็ตตามบริบทที่ทำได้หลายๆทาง ทั้งในระบบออนไลน์ ระบบออฟไลน์ เพื่อช่วยให้เด็กรู้วิธีเรียนของตนเอง ตื่นตัวที่จะแสวงหาความรู้ใหม่ๆ วิทยาการใหม่ๆ

๘.การใช้สื่อแท็บเล็ตนานๆ เด็กจะขาดทักษะการเขียน อันเป็นพื้นฐานสำคัญของเด็กเล็ก จึงควรพัฒนาทักษะการเขียนการอ่านควบคู่กันไป เช่น เขียนบันทึกความรู้สั้นๆ หรือเขียนตอบคำถามง่ายๆ

๙. ครูศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ทดลองพัฒนาวิธีการสอนใหม่ๆ โดยใช้สื่อแท็บเล็ต แม้สื่อจะมีประสิทธิภาพสูงเพียงใด หากนำสื่อมาใช้ไม่สอดคล้องการเรียนรู้ธรรมชาติผู้เรียน หรือไม่เหมาะสมกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อม ก็ย่อมเกิดประโยชน์ไม่คุ้มค่า ข้อสำคัญในโลกนี้ไม่มีสื่อการเรียนรู้ชนิดใดที่มีคุณค่าเท่ากับ “ตัวครู”




หมายเลขบันทึก: 539542เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2013 08:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2013 23:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นข้อคิดที่น่าสนใจ น่าคิดและนำไปสู่การปฏิบัติ สมกับสถานภาพของผู้เขียน ที่เป็นศึกษานิเทศก์นะคะ

"ไอดิน-กลิ่นไม้" คิดและเขียนบันทึกเรื่อง "โรงเรียนแห่งความสุขแบบยั่งยืน : Sustainable Happy School" อยากจะฝากท่านพิจารณา เผื่อเห็นว่ามีประโยชน์ในการนำไปใช้ ก็กรุณาสื่อต่อไปยังคุณครูด้วย ขอบคุณมากค่ะ


รายละเอียดอยู่ในบันทึกนี้นะคะ http://www.gotoknow.org/posts/539358



 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท