BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องธนิยสูตร ๒ (คาถาแรก)


เล่าเรื่องธนิยสูตร ๒ (คาถาแรก)

สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสำราญพระอิริยาบทอยู่ในพระคันธกุฏี วันพระเชตวัน เมื่อนายธนิยะได้เปล่งวาจารำพันออกมาเป็นบทกลอนแสดงถึงความเอิบอิ่มใจในหน้าที่การงานของตนว่าไม่มีอะไรบกพร่องว่า...

เรามีข้าวสำเร็จแล้ว มีน้ำนมรีด (จากแม่โค) รองไว้แล้ว
มีการอยู่กับชนผู้เป็นบริวารผู้มีความประพฤติอนุกูลเสมอกัน
ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำมหี เรามุงบังกระท่อมแล้ว ก่อไฟไว้แล้ว
แน่ะฝน หากว่าท่านย่อมปรารถนาก็เชิญตกลงมาเถิด ฯ

ระยะทางระหว่างพระคันธกุฏีที่ประทับของพระบรมศาสดากับกระท่อมของนายธนิยะนั้นห่างกันประมาณ ๗ โยชน์ แต่พระพุทธองค์ทรงสดับบทกลอนนี้ด้วยทิพยโสต (หูทิพย์) ครั้นทรงสดับแล้วก็ทรงตรวจสอบด้วยพุทธจักษุ ก็ทรงทราบเรื่องราวทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต กล่าวคือ นายธนิยะนี้ ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้านั้น เขาได้ถวายสลากภัตร ๒๐ สำรับ แด่พระสงฆ์ทุกวันเป็นเวลาถึง ๒ หมื่นปี และบัดนี้บารมีของเขาและภรรยาแก่รอบควรแก่การบรรลุธรรมแล้ว ถ้าพระองค์ไม่เสด็จไปโปรดในวันนี้ เขาและภรรยาจักถูกอุทกภัยเบียดเบียน มัจจุมารทำลายล้าง โอกาสที่จะได้บรรลุก็จะล่วงเลยไป ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงเสด็จมาโดยอากาศ (เหาะมา) แล้วมาประทับยืนบนหลังคากระท่อมที่นายธนิยะกับภรรยานอนอยู่ ได้ทรงประพันธ์คำฉันท์หรือแต่งกลอนโต้ตอบไปว่า

เราเป็นผู้ไม่โกรธ มีกิเลสดุจหลักตอปราศไปแล้ว
เรามีการอยู่สิ้นราตรีหนึ่งที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำมหี
กระท่อมมีหลังคาอันเปิดแล้ว ไฟดับแล้ว
แน่ะฝน หากว่าท่านปรารถนาก็เชิญตกลงมาเถิด ฯ


ดังปรารภไว้เบื้องต้นแล้วว่า การแต่งกลอนโต้ตอบกันนี้ เริ่มต้นด้วยการเล่นคำทำสำนวน แต่นั้นเป็นภาษาบาลี มิใช่ภาษาไทย ถ้าเป็นภาษาไทยดังตัวอย่างว่า...

วัดจะดีมีหลักฐานเพราะบ้านช่วย
บ้านจะสวยเพราะมีวัดดัดนิสัย
บ้านกับวัดผลัดกันช่วยก็อวยชัย
ถ้าขัดกันก็บรรลัยทั้งสองทาง ฯ

บทกลอนนี้ มีปรากฎทั่วไปตามวัด แต่ก็มีผู้แต่งล้อว่า...

บ้านก็ขัดวัดก็ขูดพูดไม่ออก
วัดยิ่งบอกบ้านยิ่งบ่นทนไม่ไหว
บ้านได้บุญส่วนวัดได้ปัจจัย
สักเมื่อไหร่จะเลิกบุญพ่อคุณเอย ฯ
ถ้าเป็นอย่างนี้ พวกเราก็เข้าใจเลย ไม่จำเป็นต้องอธิบาย แต่เมื่อเป็นภาษาบาลี เราก็มาชมกันสักเล็กน้อยเพื่อให้เห็นพระปรีชาญาณของพระพุทธองค์ในประเด็นนี้

โดยนายธนิยะบอกว่า...
ปกฺโกทโน ทุกฺขขีโรหมสฺมิ
อนุตีเร มหิยา สมานวาโส
ฉนฺนา กุฏิ อาหิโต คินิ

อถ เจ ปตฺถยสี ปวสฺส เทว ฯ

พระพุทธเจ้าทรงแต่งแก้ว่า...

อกฺโกธโน วิคตขิโลหมสฺมิ
อนุตีเร มหิเยกรตฺติวาโส
วิวฏา กุฏิ นิพฺพุโต คินิ
อถ เจ ปตฺถยสี ปวสฺส เทว

คำแรกของบทกลอนนี้ นายธนิยะใช้คำว่า ปกฺโกทโน ซึ่งแปลว่า ข้าวหุงสุกแล้ว แต่พระพุทธเจ้ามาทรงแก้เป็น อกฺโกธโน ซึ่งแปลว่า ไม่โกรธแล้ว โดยแปลง ป.ปลา (กฺโกทโน) เป็น อ.อ่าง (กฺโกทโน) ... และแปลง ท.ทหาร (ปกฺโกโน) เป็น ธ.ธง (อกฺโกโน) ... เพียงแค่นี้ ความหมายจาก ข้าวหุงสุกแล้ว กลายเป็น ไม่โกรธแล้ว ซึ่งเฉพาะสองคำนี้ คัมภีร์อรรถกถาบอกว่า "เนื้อความไม่เข้ากันเลยประดุจฝั่งนี้และฝั่งโน้นของมหาสมุทรฉะนั้น" ซึ่งสำนวนนี้คงจะตรงตามสำนวนปักษ์ใต้ว่า "ไกลกันคนละเล"

ส่วนคำอื่นๆ ผู้สนใจในภาษาอาจสังเกตได้เอง เช่น แปลง ทุกฺขขีโรหมสฺมิ  มาเป็น วิคตขิโลหมสฺมิป็นต้น ฉะนั้น ผู้เขียนจะผ่านประเด็นการเล่นถ้อยคำสำนวนบาลีไป เพราะเข้าใจยากสำหรับผู้ไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านนี้ จะมาว่าเฉพาะถึงเนื้อหาของบทกลอนเท่านั้น ในตอนต่อไป...

คำสำคัญ (Tags): #ธนิยสูตร
หมายเลขบันทึก: 539540เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2013 08:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2013 08:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท