เรื่องเล่าจากโต๊ะอาหาร


 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมโต๊ะอาหารกับปรมาจารย์ทางด้านกฎหมายถึงสองท่าน ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าเมื่อเอ่ยถึงชื่อของท่านอาจารย์คนึง ฤๅไชย และ ท่านอาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล คงไม่มีนักศึกษากฎหมายคนไหนไม่รู้จักอย่างแน่นอนเพราะถึงแม้ว่าจะไม่เคยร่ำเรียนกับท่านทั้งสองโดยตรงก็ต้องเคยเห็นชื่อของท่านทั้งสองผ่านหูผ่านตาตามชั้นตำรากฎหมายกันมาบ้าง (ถ้าใครไม่เคยเห็นไม่เคยได้ยินชื่อท่านทั้งสองจริงๆ ผู้เขียนขอบอกเลยว่าพวกท่าน “out” มาก รีบค้น google แบบด่วนๆ) นอกจากปรมาจารย์ทางกฎหมายสองท่านแล้ว ยังมีรองศาสตราจารย์ ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ ดร. ชาติชาย เชษฐสุมน อาจารย์ ดร. รัชนีกร ลาภวณิชชา โต๊ะอาหารในวันนั้นจึงมีอาจารย์กฎหมายต่างวัย ต่างประสบการณ์ อยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาและพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการกันอย่างไม่มีกั๊ก บรรยากาศของการทานอาหารจึงอัดแน่นไปด้วยอณูแห่งความรู้จนผู้เขียนคิดแบบติดตลกว่าถ้าความรู้มันซึมผ่านผิวหนังได้ ผู้เขียนต้องฉลาดขึ้นมาอีกห้าระดับแน่ๆ

  หัวข้อที่พูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างทานอาหาร หลักๆ คือเรื่องการเตรียมความพร้อมของนักกฎหมายเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 โดยท่านอาจารย์คะนึงกล่าวว่า เมื่อก่อนนักกฎหมายไทยให้ความสนใจเพียงแค่กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา วิธีพิจารณาความแพ่ง วิธีพิจารณาความอาญา ไม่ค่อยให้ความสนใจกฎหมายระหว่างประเทศสักเท่าใดนัก ทั้งนี้ท่านเองได้มีโอกาสศึกษากฎหมายระหว่างประเทศและทำงานเกี่ยวกับการตรวจสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศของภาครัฐจึงตระหนักถึงความจำเป็นที่นักกฎหมายไทยควรที่จะต้องมีความรู้ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อมีโอกาสจึงอาสาเข้ามาทำการสอนกฎหมายขัดกัน ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีใครสนใจสอนมากนัก อย่างไรก็ตามท่านยังคงรู้สึกว่านักกฎหมายไทยให้ความสนใจกฎหมายระหว่างประเทศกันน้อย ในขณะที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2015 ทำให้มีความรู้สึกที่ติดอยู่ในใจว่าอยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อเตรียมพร้อมต่อการเกิดขึ้นของ AEC ดังนั้นเมื่ออาจารย์พันธุ์ทิพย์ได้ปรึกษาหารือถึงการจัดกิจกรรมในงานมุทิตาจิตเนื่องในวันคล้ายวันเกิดของท่านอาจารย์คนึง จึงเห็นถึงโอกาสอันดีที่จะได้เผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ AEC อันเป็นที่มาของการจัดเสวนาวิชาการ โครงการวิชาการรำลึก TU Law Conference ปาฐกถานิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ชุด ศาสตราจารย์ คนึง ฦๅไชย เรื่อง“ภารกิจของนักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลในประชาคมอาเซียน” เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาโดยงานเสวนาครั้งนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ความคิดที่จะเตรียมนักกฎหมายไทยให้พร้อมกับการเกิดขึ้นของ AEC จึงถูกต่อยอดด้วยการปรับปรุงหนังสือกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศของท่านอาจารย์คนึงที่ได้เคยเขียนไว้ให้มีความทันสมัย ซึ่งภารกิจในครั้งนี้มีอาจารย์รัชนีกรรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ พร้อมด้วยกองหนุนคุณภาพคับแก้วอย่างท่านอาจารย์จรัญ อาจารย์พันธุ์ทิพย์ และอาจารย์ชาติชาย ที่จะเข้ามาช่วยอ่านทวนและเสริมให้หนังสือมีความสมบูรณ์มากที่สุด เรียกได้ว่าเป็น “กองทัพ” ทางวิชาการชั้นยอดจริงๆ

  สำหรับการปรับปรุงหนังสือกฎหมายธุรกิจในครั้งนี้บรรดาอาจารย์ต่างมีความเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะคงสำนวนการเขียนของท่านอาจารย์คนึงไว้เพราะเป็นสำนวนที่อ่านง่ายแต่จะเพิ่มเติมในส่วนของฎีกาใหม่ๆ และปรับปรุงเชิงอรรถให้ทันต่อยุคสมัย นอกจากนี้ภายหลังจากที่หนังสือได้ถูกปรับปรุงจนแล้วเสร็จ ท่านอาจารย์พันธุ์ทิพย์ได้เสนอให้มีการจัดเสวนาวิชาการขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเปิดตัวหนังสือและสะกิดให้บรรดาบุคลากรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเริ่มเตรียมความพร้อมทางด้านกฎหมายรับการเข้าสู่ AEC ในอีกสองปีข้างหน้า

  ทั้งนี้การเสวนาถูกกำหนดให้จัดขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ซึ่งแบ่งออกเป็นภาคเช้าและภาคบ่าย โดยในภาคเช้าจะเป็นการบรรยายโดยท่านอาจารย์คนึงและท่านอาจารย์จรัญซึ่งจะมาเสริมในเรื่องภารกิจทางด้านงานยุติธรรม โดยอาจจะเชิญบุคคลที่ทำงานในภาคธุรกิจเข้ามาเสริมเพื่อให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น หรือบุคคลในภาคธุรกิจระดับรากหญ้า ธุรกิจขนาดเล็กตามแนวชายแดน มาร่วมพูดคุยเพื่อให้เห็นภาพทางธุรกิจในอีกมุมหนึ่ง ส่วนในภาคบ่ายจะเป็นการบรรยายของอาจารย์ ดร. เสรี นนทสูติ ผู้แทนไทยใน AICHR คนปัจจุบัน เพื่อชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ต้องปฏิบัติเมื่อมี AEC เกิดขึ้น โดยอาจจะเชิญอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ดร. อุกฤษ กรมเจรจาการค้า สำนักอาเซียน กระทรวงพาณิชย์ หรือ อาจารย์ยรรยง พวงราช หรือ คุณศรีรัตน์ รัษฐปานะ รวมถึงผู้พิพากษาที่มีมุมมองเกี่ยวกับผลดีผลร้ายต่อแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทยและแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ และศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ อธิบดีกรมบังคับคดีเข้ามาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในภาคบ่ายด้วย

  นอกจากแผนงานการปรับปรุงหนังสือและการจัดเสวนาแล้ว สิ่งที่ผู้เขียนพอจะจับสาระสำคัญได้จากวงสนทนา คือความคิดในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC ของอาจารย์แต่ละท่าน โดยอาจารย์คนึงและอาจารย์ชาติชายมีความเห็นที่ตรงกันว่าควรจัดให้มีการศึกษากฎหมายเปรียบเทียบของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนว่าแต่ละประเทศใช้ระบบกฎหมายใดบ้าง ด้านอาจารย์รัชนีกรได้เสนอแนวคิดที่น่าสนใจเป็นอย่างมากในเรื่องการจัดให้มีศูนย์ให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการใช้กฎหมายของต่างประเทศ เพื่อให้คำปรึกษาแก่ศาลไทยกรณีที่ศาลมีความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎหมายภายในของประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ โดยต้องเป็นองค์กรที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการให้คำปรึกษาในเชิงลึกว่ากฎหมายต่างประเทศนั้นๆ ใช้อย่างไร ส่วนท่านอาจารย์จรัญได้กล่าวโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ในการเข้าสู่ AEC ซึ่งก็คือ ศาลสิทธิมนุษยชนอาเซียน โดยหากจะปล่อยให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการก็จะต้องเกิดปัญหาความล่าช้าเพราะรัฐสมาชิกอาเซียนหลายรัฐยังมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้นจึงต้องเป็นหน้าที่ของภาควิชาการในการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบต่างๆ ที่รัฐกังวล โดยภาควิชาการต้องศึกษาถึงแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้สามารถศึกษาจากศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปที่มีพัฒนาการมาอย่างยาวนานและเป็นศาลที่ได้รับความเชื่อถือจากรัฐสมาชิก หากทางภาควิชาการของไทยมีบทความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเผยแพร่ออกไปไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยเท่านั้นแต่ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ในการศึกษาด้วย

  ในช่วงท้ายของการรับประทานอาหารของหวานและผลไม้ตามฤดูกาลถูกยกมาเสิร์ฟ ในขณะที่บทสนทนาของเหล่าอาจารย์ก็ได้เปลี่ยนไปเป็นเรื่องสัพเพเหระ ถามไถ่ถึงสารทุกข์สุขดิบของลูกศิษย์ทั้งเก่าใหม่ เสียงหัวเราะเป็นระยะพร้อมใบหน้าที่เปื้อนยิ้มของอาจารย์แต่ละท่านแสดงให้เห็นถึงความสุขเล็กๆ ที่ได้รับจากการรับประทานอาหารร่วมกันครั้งนี้ เมื่อได้เวลาอันสมควรการสนทนาก็สิ้นสุดลงโดยแต่ละคนต่างก็แยกย้ายไปปฏิบัติภารกิจของตน ในระหว่างเดินทางกลับไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผู้เขียนได้นั่งคิดทบทวนเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปและตระหนักว่า ผู้เขียนได้รับเกียรติเป็นอย่างยิ่งให้มีโอกาสร่วมโต๊ะอาหารกับคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งสำหรับผู้เขียนเองเห็นว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่โอกาสดีดีแบบนี้จะผ่านเข้ามาในชีวิตและก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับโอกาสแบบนี้ ทันใดนั้นก็มีคำถามหนึ่งแทรกเข้ามาในห้วงความคิดของผู้เขียนว่า รถอาจารย์แหววนี่ติดฟิล์มกันแดดหรือเปล่านะ??


หมายเลขบันทึก: 538874เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2013 04:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2013 04:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท