ประโยชน์ของการสร้างบล็อกมากกว่าหนึ่งบล็อก


คุณบอน ให้ข้อคิดเห็นในมุมมองของผู้ใช้ระบบ GotoKnow ไว้น่าสนใจทีเดียวค่ะ (http://gotoknow.org/blog/bonlight/53799) โดยเฉพาะเรื่อง การมีบล็อกเดียวหรือมีหลายบล็อก

ดิฉันพบว่าเป็นเรื่องที่อธิบายกันยากจริงๆ ค่ะ จริงๆ แล้วมีประโยชน์มากในด้านของการจัดการ Information overload

เอาอย่างนี้แล้วกันค่ะ สมมุติว่า คุณบอน มีบล็อกเดียว ใส่ทั้งเรื่องวิจัยและ เรื่องกลเม็ดเคล็ดลับใกล้ตัว ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ

1. ถ้ามีคนใน GotoKnow สร้างแพลนเน็ตเรื่องวิจัยเพื่อต้องการติดตามอ่านเป็นประจำ แต่นานๆ ครั้ง คุณบอนจะเขียนเรื่องวิจัยสักครั้งแต่เขียนเรื่องกลเม็ดใกล้ตัวเป็นหลัก ผู้อ่านท่านนั้นที่ต้องการติดตามเรื่องวิจัยจากคุณบอนก็จะเบื่อในที่สุด เพราะเขาได้ข้อมูลที่เขาไม่ต้องการค่ะ

2. ถ้ามีคนที่ติดตั้งระบบรวบรวมบล็อกภายนอก เช่น ติดตั้ง PlanetMatter มารวมบล็อกเฉพาะด้าน เช่น ดิฉันมี PlanetKM.org เพื่อดึงบล็อกเฉพาะด้าน KM ทีนี้ถ้าบล็อกของคุณเป็นเรื่อง KM บ้าง เรื่องอื่นๆ บ้าง เต็มไปหมด ผู้บริหารระบบนั้นก็จะไม่ดึงเอาบล็อกของคุณมา (ตามประสบการณ์ของดิฉันนะค่ะ) จึงทำให้เสียโอกาสในการ PR บล็อกของตนค่ะ

3. ในแง่ของการพัฒนาระบบเพื่อทำ Knowledge mining หรือเหมืองความรู้ การที่บล็อกไม่มีจุดเด่น คือมีคำหลักหรือป้ายบล็อกไม่เกี่ยวเนื่องกัน การเชื่อมโยงคลังความรู้เพื่อสร้างเป็นแผนที่ความรู้จะทำได้ยากขึ้นค่ะ

Blogger.com ซึ่งเป็นของ Google ก็ใช้ระบบหลายบล็อกเช่นกันกับ GotoKnow ค่ะ ระบบบล็อกอื่นๆ ที่ตามมา บ้างก็ใช้แบบเดียวกับ Blogger บ้างก็ใช้บล็อกเดียวแล้วทำเป็น Category ในบล็อกนั้น

สำหรับดิฉันในฐานะผู้พัฒนาระบบแล้วก็ต้องบอกว่า แบบที่เราทำใน GotoKnow สามารถพัฒนาระบบที่ซับซ้อนขึ้นได้ง่ายกว่าค่ะ ดิฉันจะอาจจะมองผิดก็ได้นะค่ะ เพราะเราไม่สามารถคาดเดาอนาคตของเทคโนโลยีข้างหน้าได้ค่ะ Web 2.0 พัฒนาไปเร็วมากค่ะ

จะมีบล็อกเดียวหรือหลายบล็อกก็ตามแต่ผู้ใช้อยากจะใช้ค่ะ ดิฉันอยากจะแนะนำว่า แต่ละท่านควรจะบริหารบล็อกของท่านดังนี้ค่ะ

- ควรมีหนึ่งบล็อก สำหรับประสบการณ์ความรู้เชิงปฏิบัติที่เกิดจากการทำงานประจำของท่าน เช่น ด้านวิจัย ด้านการพัฒนาระบบ ด้านการจัดการความรู้ เป็นต้นค่ะ

- ควรมีอีกหนึ่งบล็อก สำหรับเรื่องราวชีวิตความรู้สึกนึกคิดมุมมองต่างๆ ต่อสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของท่าน เป็นต้นค่ะ


- ต้องพยายามหาทางประชาสัมพันธ์บล็อกของท่านเองด้วย เช่น เขียนบ่อยๆ, เลือกใช้บล็อกลิงค์ที่จำง่ายๆ เป็นต้น

หลายปีผ่านไปในการใช้ GotoKnow ท่านจะเห็นประโยชน์ของคลังความรู้เฉพาะด้านของท่านที่มีต่อประเทศไทย และด้วยเทคโนโลยีของ Web 2.0 ที่พัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ท่านจะมีผู้อ่านบล็อกที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเดียวกับท่านมากขึ้น คุณภาพจะมาก่อนปริมาณค่ะ

หมายเลขบันทึก: 53833เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2006 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2015 12:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

เห็นด้วยอย่างยิ่งในหลายๆ ...ประเด็นนะคะ...

ใน Blogger.com กะปุ๋มก็เขียนอยู่หลาย blog เช่นกัน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่อง mind&spiritual....

พอมาเขียนที่ GotoKnow.org ก็ยังยึดแนวคิดเดิมในการเรื่องของการจัดการ...เกี่ยวกับสิ่งที่เราเขียน...เช่น

  • Blog ความในใจ ส่วนใหญ่จะเป็น..ทั่วๆ..ไปเกี่ยวกับการมองชีวิต อารมณ์ ความคิด และจิตวิญญาญ...และอื่นๆ ทั่วไป
  • Blog คนเล่าเรื่องจิตเวช...theme หลักก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำงานประจำในกลุ่มงานจิตเวช ที่เป็นเรื่องของการทำงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวช รวมไปถึงงานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน
  • Blog การให้คำปรึกษาทางด้านจิตวิทยา นั้น...เป็นเรื่องเกี่ยวการการให้คำปรึกษา เรื่อง case เรื่องเทคนิค ทักษะ กระบวนการต่างๆ...ที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาการให้คำปรึกษา
  • Blog R2R ในโรงพยาบาลยโสธร...นี้ก็เล่าเรื่อง R2R อย่างเดียวโดยเฉพาะ

และ...

  • Blog กระบวนการสร้างรู้ หรือ Knowledge Construction จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ กระบวนการทางปัญญา การจัดการความรู้ สังคมฐานความรู้...

แนวคิดที่จัดอย่างนี้...มองจำลองการทำของสมองของเราที่เหมือนเก็บสิ่งต่างๆ ไว้เป็น chunk ที่สามารถดึงออกมาใช้ หรือมีการเก็บไว้อย่างเป็นหมวดหมู่ เหมือนจัดหมวดหมู่สิ่งที่มันรก...ๆ ..อยู่ในสมองไม่ให้กระจัดกระจายจนเกินไป...

เห็นด้วยว่า หากเราจะส่งเสริมการจัดการความรู้ เราควรเริ่มที่การจัดการความคิดของเราก่อนค่ะ ตัวเองจะแบ่งความคิดในหัวออกเป็น 5 ส่วนใหญ่ๆตามบล็อกที่ตั้งขึ้นค่ะ

  • อันแรกเกิดเพราะอยากเล่าอยากคุยเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษให้ใช้งานได้จริงๆ อยู่ที่ Effective English Usage
  • บล็อกต่อมา เขียนเพื่อสื่อสารเรื่องที่เกิดจากการทำงาน สิ่งที่คิดทั่วๆไปในเวลาทำงาน เกี่ยวกับชีวิต จึงเป็นเรื่องเล่าและเรื่องคุยจาก Lab Chem
  • ทีนี้เวลาเราอ่านหนังสือ journal ข่าวสารอะไรที่คิดว่าอยากจะเอามาเล่าต่อ จึงแยกออกมาเป็นอีกบล็อก เพื่อให้เป็นที่สำหรับข้อมูลจากภายนอก ไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากความคิดและงานของตัวเองที่เขารายงานว่า
  • ส่วนเรื่องส่วนตัวที่มักจะเกิดจากพูดคุยกับลูก ความคิดที่ได้จากการสื่อสารกับลูก ก็จะแยกไว้อีกบล็อก ตั้งชื่อตามที่มาหลักว่า อันเนื่องมาจากลูกๆ
  • คราวนี้เมื่ออยากจะเอารูปดอกไม้ที่ถ่ายเก็บเอาไว้มากมายจากเมือง Perth มาเผื่อแผ่ไว้ในบล็อก พร้อมทั้งเป็นการบังคับตัวเองให้หาข้อมูลที่ตัวเองอยากทำมาใส่ให้รูปไปด้วย ก็ตั้งขึ้นมาอีกบล็อก คือทัศนาธรรมชาติ บล็อกนี้กว่าจะได้แต่ละบันทึก ทำนานมากค่ะ เพราะทั้งใส่รูปและข้อมูล แต่มีเวลาทำเมื่อไหร่ ก็ได้ดูรูปเก่าๆทุกที มีวามสุขมากค่ะ ดูเท่าไหร่ก็ไม่เบื่อ

ต้องขอบคุณ GotoKNow เป็นอย่างมากค่ะ ที่ทำให้เราได้รู้จักการจัดการความรู้ ความคิดของเราเอง เป็นความชาญฉลาดของผู้พัฒนาระบบทั้งสองท่านของเรา - อ.จันทวรรณและอ.ธวัชชัย ที่ได้รวบรวม function ทั้งหลายแหล่มารวมกันอย่างสมบูรณ์แบบอยู่ในโลก GotoKNow แห่งนี้

มีประโยชน์มากๆเลยครับ คงต้องไปจัดการตัวเองซะหน่อย ^_^
ขอบคุณครับสำหรับคำแนะนำเพื่อความเข้าใจที่ดี

เรียน ดร.จันทวรรณ

  • บล็อกของครูอ้อยก็มีมาก 12 บล็อก ซึ่งผู้อ่านก็เลือกอ่านได้ตามประเด็นที่ต้องการค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ
  • เป็นสิ่งที่ถูกต้องมาก ๆ เลยครับ ดร.จันทวรรณ
  • เพราะเมื่อก่อนผมก็ประสบปัญหาต่าง ๆ ดังเช่นที่ท่านว่าครับ
  • ก็คือเขียนบันทึกงานต่าง ๆ รวมกับบันทึกกลเม็ดเคล็ดลับได้งานวิจัย ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ แถมยังมีบันทึกชีวิตต่าง ๆ ผสมปนเปกันไปหมดเลยครับ แม้กระทั่งตัวผมเองก็ยังงง ๆ เองเลยครับว่า ชักเริ่มจะไม่ค่อยเข้าทีครับ
  • ตอนนี้ก็เริ่มเปิดบล็อกเพิ่มขึ้น แบ่งแยกเป็นประเภทให้ชัดเจนมากขึ้น
  • โดยเรื่อง ๆ เดียว บางครั้งเราก็สามารถบันทึกได้ถึง 3 บล็อก อย่างเช่น เรื่องที่ผมกำลังเตรียมจะเขียนเรื่องของ "ข้าวต้มมัด" ที่ได้เริ่มเขียนไปใน ไดอารี่ชีวิต ว่าวันที่ไปทำอะไรมา ก็เป็นแบบสบาย ๆ ตามสไตล์ชิว ๆ ตามวัตถุประสงค์ของการเปิดบล็อกครับ
  • และเตรียมจะเขียนเรื่องเทคนิคต่าง ๆ ที่ได้ร่วมทำ "ข้าวต้มมัด" ในครั้งนี้ไว้ใน Baby R2R ซึ่งเป็นการสังเกต เก็บข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้ตลอดช่วงระยะเวลาที่ทำข้าวต้มมัดกับครอบครัว
  • โดยสุดท้ายก็จะสกัดองค์ความรู้และสิ่งต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับชีวิต ไว้ในบล็อกหลักก็คือ ความรู้คือพลัง ดังเช่น บันทึกเรื่อง ต้นข้าวแห่งความสุข ซึ่งก็มีที่มาจากการได้ร่วมทำกิจกรรมของครอบครัวครับ
  • เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก ๆ เลยครับที่มีการแบ่งบล็อกต่าง ๆ ออกเป็นหมวดหมู่ครับ
  • ขอบพระคุณท่าน ดร.จันทวรรณ ที่นำสิ่งดี ๆ มาเผยแพร่และบอกเทคนิคดี ๆ เช่นนี้กับทุก ๆ ท่านครับ

ตอนนี้กำลังเร่งทำให้แต่ละบล็อกสามารถเลือก theme สีได้ค่ะ จะได้ดูแตกต่างกันตามบุคลิกของบล็อกค่ะ :)

ขอขอบคุณท่านอาจารย์จันทวรรณ และทีมงาน G2k...

  • ขอสนับสนุนการแบ่งบล็อก + การติดป้ายเป็นหมวดหมู่ครับ...
  • ยกตัวอย่างเช่น ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะชอบน้องหมา ไม่ชอบน้องแมว (เช่น เจ้าโมโม่ โคโค่ ฯลฯ) + บางท่านอาจจะชอบน้องแมว ไม่ชอบน้องหมา + ชอบทั้งคู่ + ชังทั้งคู่ > จะได้เลือกได้ถูกใจ...

People want choices & voice. (Khin Mg Myint) 

  • เห็นด้วยกับการจัดหมวดหมู่ความคิดค่ะ
  • ขอชื่นชมอาจารย์จริง ๆ ที่ พัฒนาไม่หยุดยั้ง ยิ่งรู้ว่าแต่ละบล็อกจะมีความแตกต่างยิ่งดีมาก ๆ เลยค่ะ
  • สงสัยว่า บล็อกชุมชนคนชุดเขียว ของพี่คงจะมีแต่สีเขียวเป็นหลัก แต่เอ๊ะ....บล็อกต้มยำความคิด คงจะมีสีเหมือนต้มยำนะคะเนี่ย

 

เรียนท่านอาจารย์ ดร.จันทวรรณ และ ผศ.ดร.ธวัชชัย

 ขอมองในอีกมุมหนึ่ง นะครับ

 Computer ครั้งแรกที่เข้ามาเขียนใน G2K ใน Version แรกที่ว่าเป็นบันทึกของผู้เขียน เห็นด้วย เลยเขียนครับ

 มีอะไรในชีวิตก็เขียนข้อคิดลงในบันทึก

 ป้าย เป็นตัวบอกถึง ความเชื่อมโยง ค้นหา

 สนใจก็อ่าน ไม่สนใจก็ผ่านไป

 ชีวิตคนๆหนึ่ง ทำงานหลายอย่าง หลายแนว หลายวิถี ไม่จำเป็นต้องแบ่งร่าง

 สรุป หากเป็นบันทึกของเรื่องราวในชีวิตคน คนหนึ่ง Blog ก็เพียง เสมือนหนึ่ง "เสรษฐกิจ..พอเพียง" 

 ผู้บริโภค หรือ แฟนๆ ก็เลือกตามความสนใจที่อยากจะ "แลก เปลี่ยน เรียน รู้"

  • ความหลากหลายคือความงดงาม
  • ใครชอบแบบไหนก็เลือกเดิน
  • แต่ละแบบย่อมมีข้อดีข้อด้อยในตัวเอง......ทางสายกลาง....คือสิ่งที่ท่านพระพุทธเจ้าเลือก

สวัสดีครับ

อ่านตั้งแต่เมื่อวานแล้ว ก็เก็บประเด็นไว้มาเขียนในวันนี้ พร้อมมุมมองในแบบของนายบอน อ่านเกม ฉีกมุมมองของ ดร.จันทวรรณ กับ กลยุทธหลายบล็อกในบล็อกเดียว การบริหารความแตกต่างในแบบ Keep in Mind + ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนา Planet ของ gotoknow

ข้อเสนอของ ดร.จันทวรรณใน ข้อ 1-2-3 คิดอยากจะทำครับ แต่เนื่องจากข้อจำกัดของนายบอนเอง เลยทำในแบบของตัวเอง

a0006
แบบ กลยุทธ์หลายบล็อกในบล็อกเดียว ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ gotoknow มีอยู่แล้ว เรียกว่า เพิ่มความซับซ้อนให้มากข้นไปอีก สมดังเจตนารมณ์ของผู้พัฒนาไปเลยนะครับ อิอิ

ออตเองเพิ่มเป็น สอง แล้วครับ

  • อันหนึ่งเอาไว้บ่นสรรพเพเหระ ได้เรื่องบ้าง ไร้สาระบ้างก็ตามประสาออตอะครับ เห็นว่าเป็นประโยชน์นะครับบางที่บ่นอยู่กับตัวเองอาจจะบ้าได้ อยากน้อยก็มีคนรับฟังรับอ่าน 
  • อีกอันเอาไว้เก็บคลังความรู้ของงานวิจัย ตอนนี้เวลาไปไหนไม่ต้องยกโน๊ตบุคไปแล้วนะครับ ทำงานจากข้อมูลใน G2K เลยทันที
  • ขอบพระคุณอาจารย์และทีมงานนะครับ

 Crazy คิดเรื่องBlog

หลากหลาย Blog

ระวังอย่า Block ความนึกคิด

ร่วม รวม พลัง สร้างสรรค์ องค์กร แห่งการเรียนรู้ กอบกู้สู่สังคม





  • ทำตามสั่งแล้วครับ :)
  • พบปัญหาใหญ่ของการจัดหมวดหมู่ครับ คือ การไม่สามารถย้ายกระทู้เปลี่ยนสังกัดหมวดหมู่ใหม่ได้ ถ้าจะย้าย ต้องลบของเก่าไปแปะใหม่ แต่ time stamp และการโต้ตอบจะถูกลบทิ้งหมด ทำให้การจัดหมวดหมู่ผิดธรรมชาติ (เพราะควรย้ายได้บ่อย) ระยะยาวจะทำให้ไม่อยากจัด หมวดหมู่ครับ

ขอบคุณค่ะอาจารย์ ในอนาคตจะทำให้ย้ายบันทึกไปบล็อกอื่นของเจ้าของได้ค่ะและ comment จะตามไปด้วยค่ะ

ได้เคยเข้า gotoknow มาอ่านหลายครั้ง แต่เพิ่งจะสมัครสมาชิกและจะลองเขียนดูบ้าง เลยเข้ามาศึกษาก่อน ได้ประโยชน์ค่ะ  ขอบคุณค่ะ

น่ารับฟังทั้งนั้นเลย

ในแง่การจัดการ ท่านดร.จันทวรรณเสนอก็จะง่ายสะดวกสำหรับผู้ค้นคว้า

ทีนี้สำหรับผมที่มี blog เดียวตั้งแต่ต้น และสาระก็ปนกันไปหมด จะมาจัดหมวดหมู่ก็คงจะลำบากแล้ว ทางระบบมีกลวิธีจัดการบ้างใช่ไหมครับ

สำหรับต่อไปจะจัดแยก blog ตามเสนอครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท