ครุฑจับนาค


ครุฑจับนาค


เรือครุฑยุดนาคหิ้ว ลิ่วลอยมาพาผันผยอง
พลพายกรายพายทอง ร้องโห่เห่โอ้เห่มา...
จากกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ซึ่งบรรยายถึงเรือพระราชพิธีในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ได้กล่าวถึงเรือครุฑยุดนาค หรือเรือครุฑจับนาค ที่มาของเรื่องครุฑยุดนาคเป็นตำนานในศาสนาพราหมณ์ เนื้อเรื่องมีดังนี้
พญาครุฑเป็นบุตรของพระกัศยปมุนีเทพบิดรและนางวินดา พระกัศยปมุนีองค์นี้เป็นฤๅษีที่มีฤทธิ์เดชมากองค์หนึ่ง และเป็นผู้ให้กำเนิดเทพอีกหลายองค์ในศาสนาพราหมณ์ พระองค์มีชายาหลายองค์ แต่องค์ที่เกี่ยวข้องกับตำนานพญาครุฑนั้น นอกจากนางวินตาแล้วยังมีอีกองค์หนึ่งคือนางกัทรุ ซึ่งเป็นพี่น้องกับนางวินตา และเป็นมารดาของนาคทั้งปวง ทั้งสองนางได้ขอพรให้กำเนิดบุตรจากพระกัศยป โดยนางกัทรุได้ขอพรว่าขอให้มีบุตรจำนวนมาก
ต่อมานางกัทรุได้ให้กำเนิดนาคหนึ่งพันตัว อาศัยอยู่ในแดนบาดาล ส่วนนางวินตาขอบุตรเพียงสององค์และขอให้บุตรของนางมีอำนาจวาสนา เมื่อนางคลอดบุตรปรากฏว่าออกมาเป็นไข่สองฟอง นางทนรอไม่ไหวว่าบุตรของตนจะมีหน้าตาอย่างไร จึงทุบไข่ออกมาฟองหนึ่ง ปรากฏว่าเป็นเทพบุตรที่มีกายแค่ท่อนบนเท่านั้น ได้นามว่าอรุณเทพบุตร อรุณเทพบุตรโกรธมารดาของตนที่ทำให้ตนออกจากไข่ก่อนกำหนด จึงสาปให้มารดาเป็นทาสนางกัทรุ และให้บุตรคนที่สองของนางเป็นผู้ช่วยเหลือนางให้พ้นจากการเป็นทาส จากนั้นจึงขึ้นไปเป็นสารถีให้กับพระอาทิตย์ หรือ สุริยเทพ นางวินตาจึงไม่กล้าทุบไข่ฟองที่สองออกมาดู คงรอให้ถึงกำหนดที่บุตรคนที่สองซึ่งก็คือพญาครุฑออกมาจากไข่เอง เมื่อแรกที่พญาครุฑกำเนิดมามีร่างกายขยายตัวออกใหญ่จนจรดฟ้า ดวงตาเมื่อกะพริบเหมือนฟ้าแลบ เมื่อขยับปีกครั้งใดขุนเขาก็จะตกใจหนีหายไปพร้อมพระพาย รัศมีที่พวยพุ่งออกมาจากกายมีลักษณะดั่งไฟไหม้ทั่วทั้งสี่ทิศ
ในกาลต่อมานางกัทรุและนางวินตาได้พนันกันถึงสีของม้าอุไฉศรพที่เกิดในคราวกวนเกษียรสมุทรและเป็นสมบัติของพระอินทร์ โดยพนันว่าใครแพ้ต้องเป็นทาสอีกฝ่ายหนึ่งห้าร้อยปี นางวินตาทายว่าม้าสีขาว ส่วนนางกัทรุทายว่าสีดำ ซึ่งความจริงม้าเป็นสีขาวดังที่นางวินตาทาย แต่นางกัทรุใช้อุบายให้นาคลูกของตนแปลงเป็นขนสีดำไปแซมอยู่เต็มตัวม้า บางตำนานก็ว่าให้นาคพ่นพิษใส่ม้าจนเป็นสีดำ นางวินตาหลงกลจึงยอมแพ้ต้องเป็นทาสของนางกัทรุห้าร้อยปี
ภายหลังเมื่อครุฑได้ทราบสาเหตุที่มารดาต้องตกเป็นทาสและได้ทราบเงื่อนไขจากพวกนาคว่าต้องไปนำน้ำอมฤตมาให้นาคเสียก่อนจึงจะให้นางวินตาพ้นจากการเป็นทาส ครุฑจึงบินไปสวรรค์ไปนำเอาน้ำอมฤตซึ่งอยู่กับพระจันทร์ แล้วคว้าพระจันทร์มาซ่อนไว้ใต้ปีก แต่ถูกพระอินทร์และทวยเทพติดตามมาและเกิดการต่อสู้กันขึ้น ฝ่ายเทวดานั้นไม่อาจเอาชนะได้ เมื่อพระอินทร์ใช้วัชระโจมตีครุฑนั้น ครุฑไม่ได้รับบาดเจ็บแม้แต่น้อย แต่ครุฑก็จำได้ว่าวัชระเป็นอาวุธที่พระอิศวรประทานให้แก่พระอินทร์ จึงสลัดขนของตนให้หล่นลงไปเส้นหนึ่งเพื่อแสดงความเคารพต่อวัชระและรักษาเกียรติของพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ของเหล่าเทพ
พระนารายณ์ได้ออกมาขวางครุฑไว้และสู้รบกับพญาครุฑด้วยเช่นกัน ต่างฝ่ายไม่อาจเอาชนะกันได่้ จึงตกลงยุติการสู้รบ พระวิษณุให้พรแก่ครุฑให้ครุฑเป็นอมตะและให้อยู่สูงกว่าพระองค์ ส่วนครุฑก็ให้สัญญาว่าจะเป็นพาหนะของพระนารายณ์และเป็นธงครุฑพ่าห์สำหรับปักอยู่บนรถศึกของพระนารายณ์อันเป็นที่สูงกว่า
เมื่อครุฑได้หม้อน้ำอมฤตมาแล้ว พระอินทร์ได้ตามมาขอกลับคืน ครุฑก็บอกว่าตนต้องรักษาสัตย์ที่จะนำไปให้นาคเพื่อให้มารดาพ้นจากการเป็นทาส และให้พระิอินทร์ตามไปเอาคืนเอง ครุฑจึงนำน้ำอมฤตไปให้นาคโดยวางไว้บนหญ้าคา ส่วนนาคเมื่อเห็นน้ำอมฤตก็ยินดี จึงปล่อยนางวินตามารดาของครุฑเป็นอิสระ ขณะพากันไปสรงน้ำชำระกายเพื่อจะมากินน้ำอมฤต พระอินทร์ก็นำหม้อน้ำอมฤตกลับไปทำให้นาคไม่ได้กินน้ำอมฤต นาคจึงเลียที่ใบหญ้าคาด้วยเชื่อว่าอาจมีน้ำอมฤตหลงเหลืออยู่บ้างทำให้ใบหญ้าคาบาดกลางลิ้นเป็นทางยาว ด้วยเหตุนี้งูจึงมีลิ้นสองแฉกมาจนถึงทุกวันนี้ ตั้งแต่นั้นครุฑกับนาคจึงเป็นศัตรูกันมาโดยตลอด และครุฑก็จะจับนาคกินเป็นอาหารเสมอ
ครุฑมีชายาชื่ออุนนติหรือวินายกา โอรสชื่อสัมปาติหรือสัมพาทีและชฎายุ ตามวรรณคดี พุทธศาสนากล่าวว่าครุฑมีขนาดใหญ่มาก วัดจากปีกข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่งได้ 150 โยชน์ เวลากระพือปีกสามารถทำให้เ้กิดพายุใหญ่ทำลายบ้านเมืองให้หมดสิ้นไปได้ ที่อยู่ของครุฑเรียกว่า สุบรรณพิภพเป็นวิมานอยู่บนต้นสิมพลีหรือต้นงิ้ว อยู่ที่เชิงเขาพระสุเมรุ ซึ่งเรามักจะเรียกกันว่าวิมานฉิมพลีนั่นเอง

(กลับไปอ่านเรื่องราวของพญาครุฑเพิ่มเติมที่ "กากีเหมือนดอกไม้)
หมายเลขบันทึก: 538165เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2013 12:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ธันวาคม 2015 15:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ภาพนี้ได้แต่ใดมา วานบอกค่ะ 

สวยงามมากค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท