ศิลป์ครุศิลป์ ๑ : ศิลปะกับชุมชน








ศิลป์ครุศิลป์ ๑

: ศิลปะกับชุมชน

  ศิลปะ เป็นสื่อการแสดงออกของจิตวิญญาณมนุษย์อันอยู่ภายในส่วนลึกของจิตใจที่สร้างสรรค์ผ่าน  ทัศนธาตุทางศิลปะของศิลปิน ความงามทั้งรูปธรรมและนามธรรมผสานกันเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นอารยะของมวลมนุษยชาติ

  ครุศิลป์รุ่น ๑ เกิดขึ้นภายใต้โครงการ ครุศิลป์สร้างสรรค์งานศิลปะกับศิลปินแห่งชาติ รุ่นที่ ๑ ปี ๒๕๕๓ โดยหออัครศิลปิน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม คัดเลือกครุศิลป์จากสถาบันการศึกษา  ทั่วประเทศ จำนวน ๑๐ คนเพื่อเดินทางไปเผยแพร่ผลงานศิลปะ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้รับความร่วมมือจากสภาศิลปกรรมไทยแห่งสหรัฐอเมริกา ดร.กมล ทัศนาชลี ประธานสภาศิลปกรรมไทยแห่งสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ดำเนินการจัดการแสดงผลงานศิลปกรรม และทัศนศึกษา Art Museum อีกทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับศิลปินสหรัฐอเมริกา

  จากพันธกิจด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ในส่วนของผลงานทางศิลปะเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ไทยศูนย์วัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวจึงได้จัดสัมมนาวิชาการด้านศิลปะขึ้นโดยการรวมตัวของกลุ่มครุศิลป์รุ่น ๑ จากสถาบันการสอนศิลปะในประเทศไทย จำนวน ๑๐ มหาวิทยาลัยคือ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี วิทยาลัยเพาะช่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังมหาวิทยาลัยรังสิต  มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และความร่วมมือด้านศิลปะและวัฒนธรรมพร้อมกับพัฒนาความร่วมมือของกลุ่มครุศิลป์และสร้างเครือข่ายด้านศิลปะและวัฒนธรรม

  ทั้งนี้ยังเป็นเป็นการจัดการองค์ความรู้ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาใช้ให้เกิดประโยชน์และมีการเผยแพร่งานด้านศิลปวัฒนธรรม

  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มครุศิลป์ ในหัวข้อ “ศิลปะกับชุมชน” ณ วัดผาลาด (สกิทาคามี)

ผศ.ลิปิกร มาแก้ว

  วิหารทางล้านนาบ้านเรา เป็นวิหารหลังเล็ก ด้วยอากาศเย็น ลวดลายที่ประดับมักเป็นลวดลายใหญ่ ช่างในล้านนาส่วนใหญ่ เป็นช่างหลวง คือช่างในคุ้ม ในวัง ส่วนอีกประเภทหนึ่ง คือช่างพื้นบ้าน และมักถ่ายเทซึ่งกันและกัน

  ธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะ เช่น มีดอกไม้ที่ใหญ่ ลายเถาวัลย์ มีทั้งใหญ่และละเอียดอยู่ในนั้น

  เมื่อเข้าวัด คนเฒ่าคนแก่ก็จะถอดรองเท้าไว้นอกวัด ด้วยความกลัว “ขึด” หรือ สิ่งไม่ดีทั้งหหลาย กลัวทรายจะติดเท้าออกไป ปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยมีการขโมยรองเท้าหรือรองเท้าหาย คนเฒ่าคนแก่ก็จะถอดรองเท้า แล้วนอบน้อมจิตใจเข้ามา บริเวณทรายของวัดก็คือ นทีสีทันดร ที่ล้อมรอบเขาสัตตปริภัณฑ์ทั้งเจ็ด ศูนย์กลางคือเขาพระสุเมรุ เพราะฉะนั้น ผังของวัดจะมีระเบียนแบบแผนที่สืบทอดต่อๆ กันมา ที่เห็นได้ชัดที่สุด ก็คือวัดพระธาตุลำปางหลวง ที่เรียนกว่า เวียงพระธาตุ มีกำแพงล้อมรอบ ขึ้นไปมีบันไดนาค ซุ้มประตูโขงวิหารหลวง มีวิหารทิพย์ มีพระธาตุเจดีย์ ที่สำคัญจากชัยภูมิที่ดี ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงมีหอพระพุทธบาท มีพระธาตุกลับหัว ในยุคหนึ่งสมัยพม่าปกครอง ที่นั่นก็เป็นฐานบัญชาการอย่างดี ภาพกลับหัวก็เปรียบเหมือนกล้องวงจรปิด ด้วยเห็นภาพคนเดินเข้าออก ด้วยหลักฐานและตำนานการเข้ามาบุกค่ายทหารของหนานทิพย์ช้างก็ยังคงอยู่ที่นั่น

  ถ้าเราเดินเข้าไปในวัดก็มีนทีสีทันดร หรือลานทรายที่ผู้เฒ่าผู้แก่เข้าไปด้วยความนอบน้อม ปัจจุบันวัดหลายวัดมีการเท “สะตาย” หรือเทซีเมนต์ หรือปูหินแกรนิตเป็นต้น เช่นวัดพระธาตุดอยสุเทพ ที่ปูหิน เวลาร้อนจะร้อนมาก ตอนฝนตกก็จะลื่น เมื่อฝนตกความชื้นก็ขึ้นสู่ด้านบน เมื่อความชื้นขึ้นสู่ด้านบน เมื่อความชื้นไปยังพระธาตุที่เคยระบายอากาศและความชื้นจากปูนโบราณ เมื่อหุ้มทองจังโก ก็ไม่มีที่ระบายอากาศและความชื้น ทำให้อิฐยุ่ย ด้วยอดีตนั้น ปูนที่ใช้เป็นปูนตำจากธรรมชาติที่ “หายใจได้” คือปูนที่สามารถระบายอากาศและความชื้นได้ ด้วยเป็นปูนที่เผา ตำ ผสมด้วยน้ำหนัก น้ำอ้อย อันอยู่กับธรรมชาติ

  แต่ก่อน คนเฒ่าคนแก่จะเข้าวัดด้วยความนอบน้อม สมัยนั้นยังไม่มีหลอดไฟ ก็จะจุดเทียน เมื่อเช้าแสงยังไม่แจ้ง ก็จะจุดเทียนบูชาพระ พระพุทธรูปก็ปิดทอง เสา เครื่องไม้ในวิหารก็ปิดทอง เมื่อจุดเทียน แสงเทียนก็แกว่งไกว ไม่อยู่นิ่ง เมื่อกราบยังบริเวณสายตาพระพุทธรูปตกกระทบ เมื่อก้มลงกรายแล้วเงยหน้าขึ้น ก็จะเห็นเหมือนพระพุทธเจ้ายังคงมีชีวิต ยังเคลื่อน ยังไหวอยู่ เมื่อน้อมจิตใจไปจับตรงนี้ ก็จะเกิดความเชื่อความศรัทธา และบริเวณที่จุดธูปก็เหมือนกับอวกาศ ลายทองที่ตกกระทบแสงเทียน ก็เหมือนกับดวงดาว เหมือนจักรวาล เมื่อไปสัมผัสแบบนั้นจริงๆ ก็คงจะรู้สึกได้

  อีกอย่างหนึ่ง ก็มีการติดลายทอง จะก่อให้เกิดสภาวะความเป็นทิพย์ สิ่งที่น้อมนำใจไปสู่ศีล สมธิ ปัญญาขึ้น แล้วอีกอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องก็คือ การจัดวาง การจัดวางภายในพระวิหาร ก็จะมีแท่นธรรมาสน์ ธรรมาสน์ของล้านนา จะแตกต่างจากของภาคกลาง คือจะเป็นปราสาทที่ปิด ๓ ด้าน เปิดเพียง ๑ ด้าน สำหรับพระสงฆ์ สามเณรที่จะขึ้นไปเทศน์ ก่อนขึ้นไปเทศน์นั้น จะต้องกราบพระประธานก่อน และกราบแท่นธรรมาสน์ แล้วจึงขึ้นเทศน์ธรรมได้ สิ่งเหล่านี้ เกิดจากจินตนาการของคนโบราณ

  ประการที่ ๑ เกิดจากปราสาทที่อยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นฟ้าก็ได้

  ประการที่ ๒ เกิดขึ้นจากการรังสรรค์ ปรุงแต่ง จากการฟังธรรมมหาชาติเวสสันตรชาดก จะมีอยู่ฉากหนึ่ง ที่นางมัทรีได้ร้องไห้จนสลบไป แล้วพระเวสสันดรก็ร่ำรำพันว่าจะสร้างปราสาทให้กับนางอย่างงดงาม ให้เหมือนกับปราสาทที่อยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้า

  ธรรมาสน์ของล้านนาได้ใช้ในการเทศน์ธรรมเวสสันดรชาดกนั้นก็ยังทำหน้าที่เป็นกล่องเสียง หรือลำโพง ด้วยด้านบนจะเปิดอยู่ส่วนหนึ่ง ทำให้เกิดเสียงก้องกังวาน ถ้าเป็นธรรมาสน์แบบลำปาง ก็จะเป็นรูปแบบคล้ายลำโพงที่ผายขึ้นข้างบน ทำให้เกิดเสีบงก้องกังวานเช่นเดียวกัน ด้วยสมัยนั้นไม่มีไมโครโฟนในการขยายเสียงเทศน์ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ด้วยความเชื่อที่ว่า ฟังธรรมเวสสันดรครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ก็จะไปเกิดบนสวรรค์ชั้นฟ้า คนเฒ่าคนแก่ ก็รอคอยถึงวันที่ฟังเทศน์

  มีกัณฑ์หนึ่ง ที่พระเวสสันดรจะเข้าป่า ก็มีซุ้มประตูป่า ในเทศกาลยี่เป็งเปรียบเหมือนเวสสันดร มัทรี ชาลี และกัญหา เข้าป่า มีเขาวงกฎ เข้าไปด้านใน

  เมื่อเข้ามาข้างใน ก็จะสร้างลายช้างร้อย ม้าร้อย ประดับตกแต่ง มีดอกไม้ของหอมทำให้ได้กลิ่นและภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง ในสมัยก่อนเป็นวิหารเปลือยไม่มีฝาผนัง ก็จะมีการสร้างภาพพระบฏไว้ให้เห็น เมื่อมีทั้งภาพ ได้กลิ่นจากดอกบัวดอกปีบ ได้ยินเสียงพระเทศน์ด้วยน้ำเสียงแตกต่างไปในแต่ละกัณฑ์ มีทั้งเสียงเล็ก เช่นกุมมารบรรพ์ มัทรี เสียงใหญ่เช่นกัณฑ์มหาราช ชูชก นครกัณฑ์ เสียงกลางก็มี จุลพน มหาพน เป็นต้น

  ในบางครั้งยังมีการจินตนาการไปสู่การฟ้อนดาบฟ้อนเชิง ในกัณฑ์นคร ตอนพระเวสสันดรเข้าเมือง ก็จะมีการฟ้อนหอก ฟ้อนดาบ ฟ้อนง้าว มีคนเชื้อชาติต่างๆ มีการฟ้อน และลวดลายผ้าต่างๆ ที่ปรากฏ

  คนโบราณที่แต่ง มองเห็นภาพกว้างทั้งหมด และช่าง ก็จินตนาการขึ้นมาและสร้างผลงานออกมาเป็นรูป เป็นการโน้มน้าวจิตใจคน ตั้งแต่ให้เห็นภาพ ได้กลิ่น ได้ยินเสียง ครบรส ทั้งตลก ร้องไห้

  นักปราชญ์บางท่าน ก็ได้ตีความปริศนาธรรมที่อยู่เนื้อความด้วย เช่น บ้านของชูชกที่ว่า “สี่เสาย่องแย่ง หมาขึ้นแกว่งหางก็ไหว แมวขึ้นไอก็เสิ้ง” เปรียบเหมือนธาตุทั้ง ๔ ของคน มันไหว มันเอียง อีกตอนหนึ่งก็เปรียบหมาของพรานเจตบุตรทั้ง ๓๒ ตัวว่า เปรียบเหมือนอาการของคนทั้ง ๓๒ ประการ แล้วแต่ว่าใครจะตีความกันอย่างไร

  เสียงเทศน์มหาชาติ ส่งจินตนาการไปยังช่างล้านนา ได้สร้างได้แปลง และนักปราชญ์ของล้านนา ได้น้อมนำจิตใจของตน การได้สร้างแปลงหรือที่เรียกว่า Installation หรือศิลปะการจัดวาง สิ่งที่เราได้อยู่ ได้สัมผัส มีคุณค่าที่สุดแล้ว ล้านนาเรา มีสิ่งดีสิ่งงามอีกเยอะ เราต้องขามไปศึกษาต่อ

ผศ.ประสิทธิ์ วิชายะ

  ได้นำเสนอตัวอย่างงานที่ทำกับชุมชน ในต่างสถานที่ ต่างเวลากัน มาให้เห็นพอสังเขปดังนี้

  - งานชิ้นหนึ่ง เป็นงานที่นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำร่วมกัน เป็นงานประติมากรรมกับชุมชน เทคนิคคือไม้ไผ่สานเป็นรูปสัตว์ ติดไฟแบล็คไลท์ ให้เกิดภาพเรืองแสง ทำให้เกิดความรู้สึกคุ้นชินตามปกติ

  การทำงานร่วมกับชุมชนในแบบของอีสาน โดยใช้ไม้ไผ่สานเป็นโครงสร้าง ใช้สีขาวรองพื้นแล้วใช้สีฝุ่นแบล็คไลท์ ผสมน้ำและกาว เอามาทา วิธีการไม่ซับซ้อนยุ่งยาก แต่เกิดงานที่คณะวิชา ร่วมกับชุมชน ที่มีทักษะกับชุมชนที่มีความรู้เรื่องไม้ไผ่ การถักทอพวกภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ ในชุมชน พัฒนาขึ้นมากลายเป็นงานร่วมสมัย

  - งานชิ้นที่ทำที่เมืองแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เป็นงานประติมากรรมดินเผา  โดยมีส่วนร่วมกับชุมชนและสภาพแวดล้อมตรงนั้น

  เริ่มต้นมี concept ในเรื่องคิดถึงบ้าน โดยปั้นเป็นรูปใบหน้าของคุณแม่ที่ไม่ได้อยู่ร่วมกัน มีการเดินทางของน้ำที่เรียงกันเป็นเส้น พื้นที่ที่ไปทำงานนี้ เป็นแม่น้ำสำคัญของเมือง มีโขดหิน แอ่งน้ำ ใช้ประติมากรรมดินเผา มาประกอบกับสภาพแวดล้อม ด้วยในน้ำมีลูกอ๊อด ที่เห็นว่ามีความเชื่อมโยงกับครอบครัว จึงเอามาประกอบกัน มีการจัดองค์ประกอบ เปลี่ยนแปลงรูปทรง มีการจัดกลุ่มที่มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมธรรมชาติ สิ่งที่สื่อก็คือ ความอบอุ่นของการอยู่ร่วมกันของแม่กับลูก ในขณะที่ธรรมชาติของโลกมีการเคลื่อนไหวที่รุนแรงโดยสะท้อนผ่านแม่น้ำ ที่มีความเชี่ยวกรากของสายน้ำ ขณะเดียวกันความผูกพันของลูกกับแม่อยู่ด้วยกันด้วยความอบอุ่น โดยสื่อในอีกชิ้นหนึ่งว่า แม้เราจะไปที่ไหนมีอุปสรรคอะไรในชีวิต ในสังคมที่มีความเจริญ ที่เคลื่อนไหวรุนแรง ผู้มีปัญญาก็อยู่ได้ด้วยความสุขความสงบ ด้วยมีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ

  ถาม  ตัวดินเผาลอยน้ำได้ไหม?

  ตอบ  ตัวดินเผา ด้านในกลวง ดินเผาจะลอยน้ำใสระยะเวลาหนึ่ง

  ก็ถือว่าเป็นงานที่ทดลอง เป็นงานที่บันทึกตัวเอง บันทึกสิ่งแวดล้อม สร้างงานที่ตัวเองรู้สึก นั้บว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งในลักษณะที่หัวข้อการสร้างงานศิลปะที่มีส่วนกับชุมชน เป็นโอกาสที่พาผมและทั้ง ๑๐ คนไป สหรัฐอเมริกา มีโอกาสได้เห็นสังคมในสหรัฐอเมริกา มีการเอางานศิลปะ งานตกแต่ง ที่มีความพิเศษ งดงาม ลงทุนที่จะสร้างงานที่ยิ่งใหญ่ มาตกแต่งตึกรามบ้านช่อง อาคารสำคัญต่างๆ

  งานที่นำมาตกแต่งเช่น

๑.  งานหล่อบรอนซ์ ของ บาบาร่า ฮาเวิร์ด ศิลปินชาวอังกฤษ

๒.  งานสถาปัตยกรรมของสถาปนิกชื่อ แฟรงแกรี่ เค้าจะมีทฤษฎีในการสร้างรูปทรบแบบ anti-structure จะเห็นว่ามีลักษณะเหมือนกล่อง แม้ว่าภายนอกจะต่างจากที่คุ้นชิน แต่ภายในยังคงมีพื้นที่ใช้สอยครบถ้วน

๓.  ประติมากรรม ที่ UCLA ในบริเวณทางเดินที่นักศึกษาใช้เดินผ่านสำหรับเปลี่ยนห้องเรียน ก็จะเห็นประติมากรรมของศิลปินหลายคน

๔.  งานเพนท์ของ ริชาร์ด รอง เป็นศิลปินแนว Post stable art โดยใช้ดินโคลนเพนท์บนฝาผนังจริงๆ

๕.  ประติมากรรมของเฮนรี่ มัวร์ , ฮวน มิโร ที่ใช้เวลาถึง ๒๐ ปี ในการสร้างชิ้นงานนูนสูง

  การใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมด ในการสร้างงาน ขณะเดียวกัน ก็มีการปลูกฝังการสร้าง การเรียนรู้ให้กับเยาวชน ให้เด็กเล็กๆ ดูงานในพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ด้วยตัวคนเดียวได้

  ถาม   เมื่ออาจารย์ประสิทธิ์ ไปเห็นมาแล้ว อย่างนี้ คิดว่า นักศึกษาที่เริ่มทำ จะมีอะไรที่น่าจะทำได้ง่ายหรือจะเริ่มต้นประมาณไหน?

  ตอบ  จริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยากหรือซับซ้อน ด้วยหลักสูตรที่เรียนกันในมหาวิทยาลัย โดยผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อสอนและนำพาให้เข้าใจถึงศิลปะ ทำให้นักศึกษา รู้สึกว่า ศิลปะเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก อยากให้นักศึกษาเข้าใจเรียนตามหลักสูตรที่ออกแบบมา จะเข้าใจศิลปะแน่นอน ไม่ต้องกังวล แต่สิ่งที่จะต้องคิดต่อไปคือ เมื่อเข้าใจศิลปะ เราจะสร้างงานศิลปะแบบไหน อย่างไร ในเส้นทางการทำงานเพื่อดำรงชีวิต เราจะทำอย่างไรกับมัน ถ้าเรามองข้ามปัญหาว่า เรียนศิลปะไม่เข้าใจไปได้ มันจะทำให้เราอิสระขึ้น สามารถสร้างงานได้อย่างสดชื่น 

  ถาม  ในการที่เราศึกษาภูมิปัญญาจากบรรบุรุษ และทำในปัจจุบันเราจะยืนอยู่บนทัศนะเอะไรในการทำงานต่อไปข้างหน้า

  ตอบ 

  (ผศ.ลิปิกร)  คนโบราณคิดว่า ทำอะไรก็ได้ ในสิ่งที่เป็นปัจจุบัน แต่ปัจุบันของคนในอดีต ก็คืออดีตของคนในปัจจุบัน ศิลปินจะได้รับการยอมรับก็ต้องใช้เวลาอันล่วงไปแล้ว หรือที่ อ.ถวัลย์ ดัชนี กล่าวว่าอยู่ท่ามกลางคนที่ยังไม่เกิดกับคนที่ตายไปแล้ว เหมือนกับว่ามีช่องว่างบางอย่างอยู่ในการเป็นผู้นำด้านการทำงานศิลปะ การกระทำในปัจจุบัน จะเป็นผลในปัจจุบันหรือในอนาคตก็ได้

  (ผศ.ประสิทธิ์)   งานช่างงานศิลปะของเราอยู่กับชุมชน กับวัด และคนก็ผูกพันกับวัด คนแต่ก่อนสร้างขึ้นเพื่อพุทธบูชา โดยไม่ได้สร้างเพื่อตัวตน ต่างกับตะวันตกที่ทำงานเพื่อตัวตนของตนเอง การเริ่มต้นของงานเราก็ไม่เหมือนกันแล้วระหว่างตะวันตกและตะวันออก เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป ก็เหมือนกับเกมส์ที่มีการกำหนดกติกา โดยมีผู้นำมาเล่นตามกติกานั้นๆ  หากไม่ปรับตัวหรือไม่ทันเกมส์ก็จะเป็นผู้ที่ตกยุค และไม่ทันเขา โดยที่สำคัญ เราไม่ใช่เจ้าของความคิดหรือกติกาใหม่แล้ว เหมือนงานศิลปะเราเรียนตามแบบแผนตะวันตก แล้วสร้างกติกาของเราเพื่ออยู่กับกติกาตะวันตกได้ ฉะนั้นต้องมีการปรับตัว พัฒนา มีความจำเป็นที่จะเรียนรู้เท่าทัน เราจะเห็นว่า มีการนำงานหรือความคิดในอดีตมาสร้างสรรค์เป็นผลงาน Contemporary Art ในกติกาใหม่ สำหรับคนอนุรักษ์ก็มีหน่วยงานที่ดูแลอยู่แล้ว แม้แต่การเขียนภาพฝาผนังก็ไม่ได้ใช้เทคนิควิธีแบบเดิมอีกแล้ว


หมายเลขบันทึก: 538162เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2013 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2013 11:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณ .... เนื้อหา + ความรู้ดีดี นี้ค่ะ .... อยากเรียนรู้ด้วยจังเลย .... 

น่าสนใจมากๆ

มาเขียนบ่อยๆนะครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท