ปากบ่อโมเดล ประเด็นของ สปร.สมุทรสาคร


อ่านเพื่อรักสิ่งแวดล้อม

รติรัตน์  รถทอง  เขียนเนื้อหา

ได้รับการขอให้ช่วยเขียนเกี่ยวกับ   "ปากบ่อโมเดล"   จากทางกลุ่มทีมงาน สปร.  จังหวัดสมุทรสาคร  ให้ช่วยถอดบทเรียนของปากบ่อโมเดล  เพื่อนำเสนอ สปร.ประเทศ (ชาติ)  ณ  ไบเทคบางนา  ในวันที่  31  พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2556  เป็นโจทย์ที่ใหญ่หลวงนัก  เขียนเนื้อหาตั้งแต่  22 เมษายน  2556  ต้องรายงานภายในวันที่  28 เมษายน  2556  ต้องเดือดร้อนโทรศัพท์หาเจ้าของโครงการ  คุณบรรจง  เกาเล็ก  และคุณสมควร  อินกรัด ให้ช่วยแถลงไขในเรื่องของปากบ่อโมเดลที่ได้จัดทำกันขึ้นมา  เป็นโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมของจังหวัดสมุทรสาคร

  

ได้ข้อมูลมาน้อยมาก  ข้อจำกัดคือการเขียนให้ได้  5  หน้า   ก็เลยรับทำมาเพื่อหน้าตาของจังหวัดสมุทรสาคร  ถึงทำได้ไม่ค่อยสมบูรณ์  แต่มีงานปากบ่อโมเดลไปโชว์     ช่วงนี้ไม่ค่อยสบายเจ็บป่วยเป็นภูมิแพ้มาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ทำให้งานต่างๆ ด้อยไปแยะทีเดียว  พอป่วยแล้ว ก็คิดแต่เรื่องเก่าๆ ที่เคยได้รับกระทบใจมาอย่างแรง   ด้วยการฝันเลอะเทอะในตอนป่วย  และไปทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ใครหลายๆ คนที่เคยดูแลเราและรักเราอยู่เสมอ

บทความเดิมที่มี

วันที่ ๑๑ มิ.ย. ๕๕ อนุกรรมการประเด็นสิ่งแวดล้อม ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภาคประชาชนจ.สมุทรสาคร (คอช.) ได้จัดโครงการประชุมและการอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการ "ปากบ่อโมเดลกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชุมชน" ณ ชุมชนบ้านปากบ่อใหญ่ ต.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เพื่อถอดบทเรียน "ปากบ่อโมเดล" ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของประชาชนเพื่ออนุรักษ์พื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนบ้านเกาะ 

โดยมีคณะอนุกรรมการเข้าร่วม ได้แก่ คุณบรรจง เกาเล็ก คุณวิโรจน์ , คุณชาญชัย และคุณสุนทรีย์รัช โดยมีมีวัตถุประสงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรจากการใช้สารเคมีในการเกษตร ไปสู่เกษตรชีวภาพ ซึ่งมีผลไม้ที่ขึ้นชื่อของบ้านเกาะคือ ฝรั่ง พุทรา และมะขามเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ประมาณ ๕๐ ท่าน นอกจากนี้ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสาคร ยังได้เข้ามาประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้รับทราบถึงการสนับสนุนงบประมาณของสำนักงาน เช่น การฝึกอบรมเพื่อค้นหาปัญหาและความต้องการของเกษตรกร และ การสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรในโอกาสต่อไป

ข้อความถอดบทเรียนเพื่อนำเสนอ สปร.ชาติในการให้ข้อมูลของปัญหาสิ่งแวดล้อมภายในจังหวัดสมุทรสาคร

ถอดบทเรียน    โดย นางสาวรติรัตน์  รถทอง  ครูอาสาสมัคร กศน.  ดังนี้

สรุปบทเรียน   เรื่อง  ปากบ่อโมเดล

ปากบ่อโมเดลกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชุมชน  หมู่ 8  บ้านปากบ่อใหญ่ ตำบลบ้านเกาะ

อำเภอเมือง  จังหวัดสมุทรสาคร และหมู่บ้านใกล้เคียงภายในเขตจังหวัดสมุทรสาคร

ความสอดคล้อง

ความสอดคล้องกับมติสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่  3  จังหวัดสมุทรสาครได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว   เมื่อวันที่  22 พฤษภาคม  2556  ณ ห้องประชุมห้อง 401 (พันท้ายนรสิงห์)  ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร  โดยมีมติ  7  ข้อที่พิจารณาร่วมกัน  มติที่มีความสอดคล้องกับปากบ่อโมเดล คือ ข้อ 6  การบริหารจัดการน้ำและแก้ไขอุทกภัยอย่างมีส่วนร่วมและบูรณาการ   เนื่องจากปี พ.ศ. 2554  จังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดที่ไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องน้ำท่วมมากนักเนื่องจากการบริหารจัดการน้ำของชุมชนและตำบลต่างร่วมมือกันทำงานในการบริหารจัดการน้ำ  ทำให้ภาคเกษตรกรรมไม่ได้รับผลกระทบมาก เป็นเพราะการบริหารจัดการน้ำที่ดี ในภาครวมของจังหวัดดีมาก  ถึงจะมีพื้นที่อำเภอในบางส่วนที่ได้รับผลกระทบเดือดร้อนบ้าง  แต่ถ้าเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ทั้งกรุงเทพมหานคร  นครปฐมแล้ว  จังหวัดสมุทรสาครถือว่าไม่ถูกผลกระทบน้ำท่วมมากกว่าจังหวัดที่ได้กล่าวมานี้  ถึงได้รับความเสียหายน้อย แต่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ยังมีแต่เดิมก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร  ติดเรื่องของงบประมาณและกำลังในการปฏิบัติงาน  จังหวัดสมุทรสาครถือว่าในภาคการเกษตรกรรมยังมีปัญหาอยู่มาก  จึงเกิดการรวมตัวของภาคประชาชนที่เข้มแข็งมากขึ้น  เช่น ปากบ่อโมเดลของตำบลบ้านเกาะซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมืองสมุทรสาครที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากที่สุดใน  3 อำเภอ

  หมู่บ้านปากบ่อใหญ่  ตำบลบ้านเกาะ  อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร  มีอาชีพทางการเกษตร  การทำสวนผลไม้มายาวนาน  จากบรรพบุรุษ  จังหวัดสมุทรสาครเป็นเขตปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร  ทำให้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเจริญเติบโตและการขยายตัวของกรุงเทพมหานคร  ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมต่อการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีบทบาท  ทำให้ปัจจัยโครงสร้างของจังหวัดขยายตัวอย่างรวดเร็ว  มีสถานประกอบการจำนวน  5,000 กว่าแห่งของโรงงานอุตสาหกรรม  ส่งผลต่ออาชีพของคนในภาคเกษตรกรรมอย่างมาก  ผลกระทบไม่ว่าจะเป็น น้ำเสีย อากาศเป็นพิษ  และดินที่ใช้ในการเกษตรก็ได้รับผลกระทบมากขึ้นตามวันเวลา 

  โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำลำคลองที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์  ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเกิดความเสียหาย  สถานการณ์ลุกลามกลายเป็นความขัดแย้ง  จนต้องมีการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาอยู่หลายครั้งจาก  2  ฝ่าย  คือ   ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม  เพื่อหาแนวทางในการอยู่ร่วมกัน  โรงงานอุตสาหกรรมอยู่ได้  ชุมชนอยู่ได้   กลไกระดับชุมชนมีการนำกระบวนการสมัชชามาจัดการปัญหา  และร่วมกันกับหน่วยงานระดับจังหวัด ทั้งสิ่งแวดล้อมให้ความรู้ และประสานกับกรมชลประทานระบายน้ำดี  เพื่อไล่น้ำเสีย  และดำเนินการจนโรงงานยอมติดตั้งบ่อบำบัดน้ำเสีย  การเชื่อมร้อยชุมชนให้ได้รับความรู้ในการทำปุ๋ยอินทรีย์ปลาหมัก เพื่อเป็นการลดการใช้สารเคมี เป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของชาวตำบลบ้านเกาะ

หน่วยงานที่สนับสนุน

จังหวัดสมุทรสาครได้มีการบูรณาการทำงานครั้งสำคัญ  โดยได้รับการสนับสนุน

จากหน่วยงาน สปร. พอช. สปสช.  สสส. และสช.ให้การสนับสนุน ทั้งงบประมาณและเครือข่ายเป็นอย่างดี ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ  จำนวน  2  โครงการ  คือ  โครงการถอดบทเรียน ปากบ่อโมเดล  และโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ  ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ในการทำปุ๋ยอินทรีย์ปลาหมักเพื่อปรับสภาพดินในการทำเกษตร  และยังมุ่งเน้นในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ของ น้ำ และอากาศ  จากหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคราชการ  ภาคเอกชน และภาคประชาชนของจังหวัดสมุทรสาครได้มีส่วนร่วมในการเสนอแนวความคิดในการบริหารจัดการการชุมชน

สถานการณ์สำคัญของพื้นที่  ( ที่มาและความสำคัญ )

จังหวัดสมุทรสาครมี 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอกระทุ่มแบน และอำเภอบ้านแพ้ว และมีคำขวัญ คือ เมืองประมง ดงโรงงาน ลานเกษตร เขตประวัติศาสตร์  ซึ่งไม่มีความสอดคล้องกันเลยในการอยู่ร่วมกันของทุกภาคส่วนที่จะอยู่ร่วมกัน อำเภอเมือง และกระทุ่มแบนเป็นชุมชนเมือง และมีโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย ส่วนอำเภอบ้านแพ้วเป็นภาคเกษตรกรรม  ดังนั้นวิถีชีวิตจึงมีความบิดเบือนกันอย่างสิ้นเชิง 

  ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช  2550  มาตรา  85 (5)  กำหนดไว้ว่ารัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านที่ดิน  ทรัพยากรธรรมชาติ  และสิ่งแวดล้อม  โดยการส่งเสริม  บำรุงรักษาและคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน  ตลอดจนควบคุมและจำกัดภาวะมลพิษที่มีผลต่อสุขภาพ  อนามัยสวัสดิการ และคุณภาพชีวิตขอประชาชน โดยประชาชน  ชุมชน  ท้องถิ่น  และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางในการดำเนินงานการช่วยเหลือตนเองแบบบูรณาการร่วมกันในการช่วยกันแก้ไขปัญหา

  ข้อมูลจากแผนชุมชน ปี พ.ศ. 2553  ปรากฏว่าหมู่บ้านปากบ่อใหญ่ หมู่ 8  ตำบลบ้านเกาะ  อำเภอเมืองสมุทรสาคร  จังหวัดสมุทรสาคร  มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น  1,739  คน  จำนวน  260  ครัวเรือน  ประชาชนส่วนใหญ่เกือบร้อยละ  60  ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  หรือทำสวนผลไม้  หลากหลายประเภท  เช่น  ฝรั่ง พุทธา และผลไม้อื่นๆ ตามฤดูกาล  รองมาร้อยละ 20  ประกอบอาชีพรับจ้างโรงงานอุตสาหกรรม  และค้าขาย  ร้อยละ 20 ประกอบอาชีพอื่นๆ 

  พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา  ชาวบ้านปากบ่อใหญ่และหมู่บ้านใกล้เคียงจำนวน  150  ครัวเรือน  ประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ  น้ำในคลองเน่าเสีย  ทำให้พืชผลการเกษตรเสียหาย  ชาวบ้านปากบ่อใหญ่  จึงรวมกลุ่มกันและวิเคราะห์ปัญหา  ปรากฏว่าน้ำเน่าเสีย  สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการปล่อยน้ำเสียของโรงงาอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ผ่านขั้นตอนการบำบัดน้ำเสีย  ซึ่งขณะนี้โรงงานอยู่ในระหว่างการดำเนินการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยน้ำลงแม่น้ำ ลำคลอง  ในขณะเดียวกันชาวบ้านปากบ่อใหญ่ก็ได้ร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินการบำบัดน้ำเสียในแม่น้ำลำคลองตลอดถึงแม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากทางราชการก็ตาม

  เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายให้เกษตรกรมีน้ำใช้ในการเกษตร  เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร  ประชากรมีรายได้เพิ่ม  ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของชาวปากบ่อใหญ่และบริเวณใกล้เคียงดีขึ้นเป็นลำดับ  และกรรมการเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนจังหวัดสมุทรสาคร  จึงร่วมมือกับภาคประชาชนหมู่ 8  บ้านปากบ่อใหญ่  ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร  ร่วมกับหมู่บ้านใกล้เคียงร่วมกันจัดทำโครงการปากบ่อโมเดลกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมขึ้น

  ปากบ่อโมเดล  มุ่งเน้นการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม คือ

1.  น้ำ โรงงานต้องจัดให้มีเครื่องบำบัดน้ำเสีย  โดยทำงานเชื่อมประสานกับกรมชลประทาน  กรมสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ  อบต.  เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันตลอดเวลา

2.  ดิน  เมื่อดินเสื่อมดินเสีย  ก็มีการปรับเปลี่ยนจากเกษตรเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์  ขี้วัว  ขี้ควาย  แกลบ  น้ำหมักชีวภาพ  สูตรปลาทะเล  ชิ้นส่วนปลาที่เหลือจากโรงงาน  โดยชาวบ้านลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้งจนได้ผลสำเร็จ

3.  อากาศ  ควบคุมโรงงานไม่ให้ปล่อยสารเคมีสู่ชั้นบรรยากาศ  การปล่อยควันไฟ ไอเสีย  โดยมีโรงงานปลาป่นที่มีปัญหากลิ่นเหม็นเน่าคละคลุ้งไปตามชั้นอากาศ  สร้างมลภาวะมากมาย

สถานการณ์ในพื้นที่ตำบลบ้านเกาะได้เกิดการรวมตัวในภาคประชาสังคมขึ้น  เพื่อการการอยู่ร่วมกันของโรงงานอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม ปัจจุบันนี้กลุ่มปากบ่อโมเดลได้มีกิจกรรมที่ช่วยเหลือเกษตรกรด้วยกัน  ทั้งความรู้และจุดศูนย์รวมร่วมกันในด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบร่วมกัน

  ประธานกรรมการ  คุณบรรจง  เกาเล็ก  และคณะอนุกรรมการรวมถึงสมาชิก จำนวน  50 ครัวเรือนเริ่มต้นพูดคุยกัน  ทั้งหน่วยงานเกษตรจังหวัดสมุทรสาคร  ซึ่งหาแนวทางในการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรนำวัตถุประสงค์การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรการใช้สารเคมีในการเกษตรไปสู่เกษตรกรทางเลือกแบบชีวภาพ  เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคผลิตภัณฑ์เกษตรไม่ว่าจะเป็น ผลไม้ ฝรั่ง พุทธา และมะขามเทศนั่นเอง

รายละเอียดรูปธรรมความสำเร็จ

  ปากบ่อโมเดลเป็นโครงการภาคประชาชนโดยแท้จริง ของชาวตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร  ซึ่งเกิดจากการบูรณาการจากต้นทุนทางสังคมของประชาชนในพื้นที่หมู่ที่  8  ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร  และชุมชนตำบลใกล้เคียงจากการประชุมตามโครงการปากบ่อโมเดล  กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชุมชน ปี พ.ศ. 2555  ผ่านมาเกือบ 1 ปี พบว่าชาวตำบลบ้านเกาะให้ความสนใจในการเข้าร่วมกลุ่มจำนวน  50  ครัวเรือน  และปี พ.ศ. 2556 ได้เพิ่มสมาชิกเป็นจำนวน  70  ครัวเรือน  และกำลังจะขยายผลกับชุมชนอื่นๆ  ที่เป็นชุมชนเกษตรกร ทั้งทำสวนผลไม้ หรือพืชผักต่างๆ  ให้นำความคิดของปากบ่อโมเดลไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

  เพื่อให้เกิดจิตสำนึกรักชุมชน  ทำเพื่อสังคม  หลังจากผ่านพ้นวิกฤตการต่อสู้เรื่องน้ำเสียแล้ว  ต้องคอยเฝ้าระวังโรงงานอุตสาหกรรมฟอกย้อมผ้าทั้ง 4 โรงงานที่ได้จัดการบำบัดน้ำเสียในบ่อพักน้ำของตนเอง  ทำให้น้ำเสียที่ปล่อยมาจากแม่น้ำลำคลองเริ่มดีขึ้น  แต่ชุมชนก็ต้องคอยเฝ้าระวังมิให้โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียอีก  หลังจากการต่อสู้เพื่อเกษตรกร  ชาวสวนผลไม้แล้วได้จัดกิจกรรมที่เห็นความสำคัญของ “น้ำ”  “ดิน”  และ “อากาศ”  ในระดับครัวเรือนและชุมชน  ที่มีหมอดินที่มีความรู้อยู่แล้ว  ให้ก่อเกิดเครือข่ายแบบดาวกระจาย  เป็นเครือข่ายชุมชนตามเส้นแม่น้ำ ลำคลองที่เข้ามาร่วมกันจัดเวทีในการร่วมคิด  ร่วมทำ และร่วมกันในด้านสิ่งแวดล้อม

บทเรียนสำคัญจากการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม

บทเรียนสำคัญจากการขับเคลื่อนจนเกิดรูปธรรม  พบว่า  ถึงแม้ยังไม่ประสบความสำเร็จ

100 เปอร์เซ็นต์  แต่ก็สามารถรวมตัวของประชาชนที่มีแนวคิด และวัตถุประสงค์เหมือนกันในการแก้ไขสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน  และความสำเร็จในครั้งนี้  เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นของชุมชน

  ผลลัพธ์จากการขับเคลื่อนปากบ่อโมเดล  ส่งผลให้เกิดผลดีกับชุมชนอื่นๆ  อำเภออื่นๆ  ในภาครวมของจังหวัด  มีความต้องการที่จะแก้ไขภาคเกษตรกรของมีความเข้มแข็ง  ซึ่งจะนำไปขยายผลกับสมาชิก  พร้อมกับสร้างเครือข่าย และเชื่อมโยงข้อมูลทั้ง 3 อำเภอ  ร่วมกัน พร้อมกับขับเคลื่อนให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการพัฒนาการเกษตรกรรม  โดยมีเป้าหมายของการอยู่ร่วมกันได้ภาคเกษตรกรรม  ภาคอุตสาหกรรม  อย่างมีความสุข

ข้อเสนอเชิงนโยบาย  “ประเด็นสิ่งแวดล้อม

1.  ปลอดภัยจากสารพิษ

1.1  ให้ความรู้โดยจัดการฝึกอรมเชิงปฏิบัติการและการศึกษาดูงาน  เรื่อง สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยให้กับกลุ่มเยาวชนในสถานศึกษา  ประชาชนของชุมชนและผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการ

1.2  ให้ความรู้  ความเข้าใจสร้างความตระหนักแก่ประชาชน เกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อม

1.3  ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและ / หรือมีคณะกรรมการไตรภาคีประกอบด้วยภาครัฐ  ภาคประชาชน  ผู้ประกอบการ  นักวิชาการอิสระ  ในท้องถิ่นทำหน้าที่ควบคุมและดูแลสิ่งแวดล้อม

1.4  มีการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด

1.5  ให้มีระบบการจัดการมลภาวะของน้ำและจัดตั้งโรงบำบัดน้ำเสีย

1.6  ให้มีการควบคุมและติดตามการตรวจคุณภาพด้านมลพิษอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ

2.  แผนพัฒนาสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาคและท้องถิ่น

2.1  จัดให้มีคณะทำงานร่วมกัน ภาครัฐ ภาคประชาชน และนักวิชาการ  พร้อมกับมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนและติดตามประเมินผล

2.2  จัดให้มีศูนย์บริหารจัดการภัยพิบัติในระดับท้องถิ่น  และระดับจังหวัดบริหารจัดการภัยพิบัติและอุบัติภัย (เคมี อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัยและอุบัติภัย )

3.  การท่องเที่ยวหลากหลายทางเลือก

3.1  พัฒนาความรู้ ส่งเสริมและสนับสนุนมาตรฐานการประกอบอาชีพ ด้านการเกษตรปลอดภัย

3.2  ให้ความรู้ วีการใช้และการลด ละ เลิกปุ๋ยเคมี และสารเคมีทางการเกษตร  สนับสนุนส่งเสริมการผลิตสารอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์

3.3  ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิต ระบบการตลาด โดยใช้ระบบสหกรณ์

3.4  จัดตั้งตลาดกลาง การเกษตรปลอดสารพิษ

3.5  จัดให้มีและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงหลากหลายทางเลือก

3.6  จัดให้มีกิจกรรม  “งานเกษตร”  ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด

4.  การจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ

4.1  ให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะแก่ชุมชน (ภาคครัวเรือน)  แก่เยาวชน ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกโรงเรียน  รวมทั้งผู้ประกอบการทุกอาชีพ

4.2  สร้างจิตสำนึก จิตสาธารณะ ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อคุณภาพชีวิต

4.3  มีการจัดตั้งระบบกำจัดขยะที่มีมาตรฐานสากล

4.4  ส่งเสริมการคัดแยกขยะเพื่อเพิ่มมูลค่าในภาคครัวเรือนและชุมชน

4.5  มีระบบการบริหารจัดการขยะในแหล่งชุมชนและตลาดนัดต่างๆ

แนวทางในการนำบทเรียนไปประยุกต์ใช้

การนำบทเรียนไปประยุกต์ใช้ ของปากบ่อโมเดล  คือ  การได้มีส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาร่วมกัน  แนวทางในการนำบทเรียนไปประยุกต์ใช้พบว่า   “จุดแข็ง”  ของชุมชน  คือ  มีต้นทุนด้านการจัดการทรัพยากรกรคนและการมีส่วนร่วมของประชาชน  มีองค์ความรู้และภูมิปัญญาของท้องถิ่น  เช่น หมอดิน ภูมิปัญญาในด้านการจัดการเกษตร  และต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ  ซึ่งสามารถทำกิจกรรมร่วมกันโดยเริ่มจากการจัดการปัญหาและหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาโดยชุมชนและจากชุมชนร่วมกัน  ส่วน “จุดอ่อน”  คือ ขาดการสนับสนุนเครือมือ  องค์ความรู้ด้านวิชาการ งบประมาณจากส่วนราชการในท้องถิ่น  ซึ่งยังไม่เห็นความสำคัญของการจัดการชุมชนแบบยั่งยืน


ภาคประชาสังคมที่มีส่วนร่วมในการปฏิรูปจังหวัดสมุทรสาคร  ซึ่งเป็น  3 ภาคส่วน คือ ประชาชน ข้าราชการ และนัิกวิชาการ  เพื่อเสนอแนวความคิดและตัวแทนเข้าร่วมจำนวน  10 ท่าน  คือ 1) ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และภาคประชาชน อีก 6 คน อีกสามส่วนเป็นผู้ขับเคลื่อนกระบวนการจากภาคส่วนของ พอช. สช.และ สสส.  ซึ่งจะมีการเข้าร่วมเวทีของ สปร.ในวันที่  31 พ.ค.-2 มิถุนาย  2556 ณ ไบเทค นั่นเอง



นายบรรจง  เกาเล็ก  ประธานกลุ่มปากบ่อโมเดล  ตำบลบ้านเกาะ



อาจารย์สุทัศน์  ตระกูลบางคล้า  ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดสมุทรสาคร

โจทย์ในการเขียนคราวนี้เป็นเรื่องของคนสมุทรสาคร ต้องใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อประชาชนเช่นนี้เป็นเรื่องที่คนสมุทรสาครต้องใส่ใจ  เรารับคนนับล้านเข้ามาอยู่มากิน  มาหาผลประโยชน์มากมาย ความเสื่อมโทรมเริ่มมาเยือนคนสมุทรสาคร  ซึ่งทำอาชีพพื้นถิ่น ไม่ว่าจะเป็นชาวสวนอำเภอบ้านแพ้ว เมือง  และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ของอำเภอเมือง หรือโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งมีอยู่ทั้ง  3  อำเภอ  เศรษฐกิจดีแต่ก็นำมาซึ่งปัญหาให้แก้ไข....กันต่อไป ช่วยกันระมัดระวังไม่ให้เกิดความเสียหาย แค่นี้ยังไม่พอต้องให้ทุกร่วมมือร่วมใจในการทำงานด้วย ไม่ใช่สักแต่ใช้ปากอย่างเดียว  ใครถนัดอะไรก็งัดออกมาใช้กันได้แล้วค่ะ

กลุ่มเป้าหมายจำนวน  120 คน  เป็นตัวแทนของคนสมุทรสาครในการร่วมกันออกความคิดเห็นในครั้งนี้  ขอให้เรารักสมุทรสาครกันจริงๆ เถอะค่ะ รักและหวงแหนในทรัพยากรของเราต่อไป

หมายเลขบันทึก: 538084เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2013 15:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2013 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท