เมื่อนึกถึง...‘แม่ฟ้าหลวง’


เมื่อเรานึกถึงคำว่า...‘แม่ฟ้าหลวง’

สำหรับผมแล้วอย่างน้อยก็มี ๙ ประการ … ที่นึกถึงคำว่า ‘แม่ฟ้าหลวง’

เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๖ - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสำนักงานมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผมเพิ่งมีโอกาสเห็นหนังสือที่ระลึกเนื่องในการเสด็จฯ ซึ่งตนเองมีความประทับใจ ภาพหน้า ๑๒-๑๓ ที่ทางมูลนิธิฯได้นำสภาพป่าดอยตุงเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ มาเปรียบเทียบกับสภาพป่าอันสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ จึงอยากจะขออนุญาตเเรียบเรียงข้อมูลเรื่อง ‘แม่ฟ้าหลวงและดอยตุง’ พอสังเขปทั้งจากหนังสือที่ระลึก และจากประสบการณ์ส่วนตัวดังนี้...

(๑) เมื่อนึกถึง ‘แม่ฟ้าหลวง’ เราทั้งหมดก็นึกถึง ‘สมเด็จย่า’ หรือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระนามซึ่งยากเกินกว่าที่ชาวไทยภูเขาจะเรียกขานได้ ผู้ซึ่งเสด็จมาด้วยเฮลิคอปเตอร์จากฟากฟ้าจนชินตา  พร้อมกับสิ่งของ อาหาร เครื่องมือและบุคลากรทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสเหล่านั้น เขาทั้งหลายจึงพร้อมใจกันขนานพระนามว่า ‘แม่ฟ้าหลวง’ ด้วยความเต็มใจ

(๒) เมื่อนึกถึง ‘แม่ฟ้าหลวง’ หลายคนคงจะนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวบนดอยตุงอันมีชื่อเสียงโด่งดัง โดยเฉพาะสวนดอกไม้ที่อาจจะกล่าวได้ว่าสวยที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปเยี่ยมชมไม่ขาดสาย และเมื่อกล่าวถึงคำว่า ‘สวน’ แล้ว ขอให้ย้อนนึกถึง ‘ไร่แม่ฟ้าหลวง’ (พ.ศ. ๒๕๒๒ - ๒๕๒๘) สถานที่ซึ่งเคยใช้เป็นที่ ‘ปลูกคน’ ของโครงการผู้นำเยาวชนชาวเขา บนพื้นที่ ๑๙ ไร่ ที่เยาวชนชาวเขามาอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว เรียนรู้และฝึกฝนวิถีชีวิตที่มีคุณภาพ ฝึกการพึ่งพาตนเอง ฝึกการอยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จนกระทั่งการศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐสามารถตอบสนองเยาวชนรุ่นถัดมาจนเพียงพอ ไร่แม่ฟ้าหลวงจึงกลายมาเป็น ‘อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง’ และทุกวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ของทุกปี ก็จะเป็นโอกาสดีของชาวเชียงรายและอื่นๆทั่วประเทศ ที่จะมาร่วมงานตานหา “แม่ฟ้าหลวง” เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จย่า

(๓) เมื่อนึกถึง ‘แม่ฟ้าหลวง’ เราต่างนึกถึงการปลูกป่าของสมเด็จย่าฯ ด้วยอมตะวาจา “ฉันจะปลูกป่าที่ดอยตุง” ของสมเด็จย่า ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและทุกคนบนเทือกเขานางนอน พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติจังหวัดเชียงราย ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานให้พื้นที่อาศัยของชาวไทยภูเขาและ ชนกลุ่มน้อย ๖ เผ่า ซึ่งมีประชากรรวมกันราว ๑๑,๐๐๐ คน กลายมาเป็นป่าอันอุดมสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง

จากแหล่งผลิตและค้ายาเสพติดที่ใหญ่ที่สุด จากปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำไร่หมุนเวียน และเพื่อปลูกฝิ่น ตลอดจนการให้ลูกสาวไปเป็นโสเภณีและตามมาด้วยปัญหาโรคเอดส์ สมเด็จย่าทรงเล็งเห็นว่า รากเง้าของวงจรปัญหาอันซ้ำซากคือ ความยากจนและการขาดโอกาสในชีวิต จึงมีพระราชดำริที่จะปลูกป่าให้ธรรมชาติกลับคืนมา ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจและสังคม จึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พ.ศ.๒๕๓๑ ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชููปถัมภ์**

(๔) เมื่อนึกถึง ‘แม่ฟ้าหลวง’ หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินคำว่า ‘ตำราแม่ฟ้าหลวง’ ซึ่งก็คือหลักการพัฒนาที่ได้สั่งสมประสบการณ์กว่า ๔๐ ปี จากพระราชปณิธานของสมเด็จย่ามาจนถึงปัจจุบัน*** ที่สมเด็จย่ามุ่งให้พ้นจาก ความเจ็บป่วย ความยากจน และความไม่รู้ โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น ๓ ขั้นตอนคือ อยู่รอด, อยู่อย่างพอเพียง และอยู่อย่างยั่งยืน โดยปัจจัยแห่งความสำเร็จอยู่ที่การมีส่วนร่วมระหว่าง ชุมชน ข้าราชการและหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งเอกชนในพื้นที่ จนสรุปเป็นองค์ความรู้ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาชนบท การฟื้นฟูและบริหารทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งธุรกิจเพื่อสังคม ปัจจุบันนี้มีคณะดูงานมากกว่าปีละ ๘๐๐ คณะ ขึ้นไปเรียนรู้หลักการทรงงานของสมเด็จย่าบนดอยตุงอันถือได้ว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชีวิตที่ร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้กับสังคมไทย และสังคมโลก

(๕) เมื่อนึกถึง ‘แม่ฟ้าหลวง’ เราทุกคนต่างเคยดื่มกาแฟดอยตุง และขบเคี้ยวถั่วมาคาเดเมีย ที่แสนอร่อยและมีคุณภาพ อันเป็นไปตามรับสั่งของสมเด็จย่าที่ตรัสไว้ว่า “อย่าให้คนซื้อของเราเพราะสงสาร แต่ต้องทำให้ได้มาตรฐานและไม่ขาดทุน” จนทำให้หน่วยธุรกิจ ๔ ด้าน อันได้แก่ อาหาร, หัตถกรรม, การเกษตร และการท่องเที่ยว สามารถเลี้ยงตัวเองได้นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ เป็นต้นมา

(๖) เมื่อนึกถึง ‘แม่ฟ้าหลวง’ เราต้องนึกถึง ‘ความสำเร็จและการขยายผล’ ซึ่งสิ่งยืนยันได้ดีที่สุดถึงความสำเร็จก็คือ การที่สำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมได้ยกย่องให้โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เป็นต้นแบบการพัฒนาทางเลือกเพื่อลดการปลุูกพืชเสพติดและแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยิ่งยืน

นอกจากนี้ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาดอยตุง ยังได้รับเลือกจากมูลนิธิ Schwab ให้เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการทางสังคมดีเด่นแห่งภาคพื้นเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาสังคมและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จ

มีการขยายผลไปยังพื้นที่หลายแห่งทั้งในประเทศ เช่น โครงการปลูกป่าถาวรที่บ้านปะมะหัน, โครงการปลูกชาน้ำมันที่บ้านปูนะ, โครงการพื้นที่ต้นแบบที่น่าน, ฯลฯ ที่ขยายไปยังต่างประเทศเช่น สหภาพเมียนม่าร์, อัฟกานิสถานและอินโดนีเซีย ฯลฯ เป็นต้น

(๗) เมื่อนึกถึง ‘แม่ฟ้าหลวง’ ต้องนึกถึง ‘ความยั่งยืน’ ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ การบริหารงานของอบต.ฟ้าหลวง ที่จะต้องบริหารจัดการการปกครองท้องถิ่นของชุมชน ๒๔ ชุมชน (๑๙ หมู่บ้านหลัก ๕ หมู่บ้านบริวาร) ที่เต็มไปด้วยชาติพันธุ์อันหลายหลาย คุณทรงกลด อดีตนายกอบต.เคยกล่าวไว้ตอนไปเยี่ยมชมว่า “ที่ท่านเห็นคณะบริหารอบต.,กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน ที่นั่งประชุมอยู่นี้ เวลากลับไปบ้านแล้วเรามีภาษาที่ต่างกันอย่างน้อย ๔ ภาษา เรารู้จักที่จะอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของความแตกต่างทั้งไม่ว่า เรื่องความเชื่อ ศาสนา วิถีชีวิตและขนบประเพณี เราแตกต่างกันก็จริง แต่เรามีวิธีทำงานที่ไม่แตกแยก เรามีวิธีการจัดการ และเราสามารถอยู่ร่วมกันได้” และสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้ผู้ซึ่งมาจากความแตกต่างและหลากหลายได้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพนั้นก็คือ ‘แม่ฟ้าหลวง’ นั่นเอง

โครงการพัฒนาดอยตุงฯ วางแผนระยะเวลาดำเนินการไว้ ๓๐ ปี และจะถ่ายโอนให้ผู้นำรุ่นใหม่บริหารจัดการดูแลตนเองตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ เป็นต้นไป ผมจึงไม่แปลกใจเมื่อคุณชายดิศนัดดา ตอบคำถามเรื่องอนาคตของดอยตุง ในรายการสุดท้ายของการขึ้นไปดูงานหลายครั้ง ด้วยการให้คณะของผู้ดูงานไปเรียนรู้จาก อบต.แม่ฟ้าหลวง แทนที่จะต้องอธิบายด้วยตนเอง

(๘) เมื่อนึกถึง ‘แม่ฟ้าหลวง’ ขอให้นึกถึง ‘อนาคตแห่งการแบ่งปันความรู้’ - มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงนั้นถือได้ว่าเป็นผู้สนับสนุนหลักรายหนึ่งของโครงการรากแก้ว โครงการที่เน้นปลุกจิตสำนึกของนักศึกษาให้รู้จักรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม โดยการทำโครงการพัฒนาชุมชน ที่มิได้เพียงแค่การทำงานด้านอาสาพัฒนา เช่นที่เคยปฏิบัติกันมาแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องสามารถนำเสนอโครงการ ด้วยการวิเคราะห์ปัญหา ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงความสุข และความย่ังยืน รวมไปถึงการลงมือทำเพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่ตนคิดและประยุกต์ความรู้ที่ตนเรียนรู้มาจากสถาบันนั้น สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของชุมชนได้

การสนับสนุนที่สำคัญคือ ก็คือด้านองค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้สั่งสมประสบการณ์และความสำเร็จมาในเวลากว่า ๔๐ ปีนั่นเอง

(๙) เมื่อนึกถึง ‘แม่ฟ้าหลวง’ เราคงอดไม่ได้ที่จะให้นึกถึง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย แม้ที่มาและการบริหารงานมิได้เกี่ยวข้องกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ก็ตาม แต่จากการที่ได้เคยไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการรากแก้ว ได้เยี่ยมชมมหาวิทยาลัยในหลายๆจุดนั้น ก็ต้องกล่าวว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่น่าภาคภูมิใจแห่งหนึ่งของประเทศ สมกับที่ได้อัญเชิญพระนามของสมเด็จย่าที่ถูกเรียนขานโดยชาวไทยภูเขามาเป็นชื่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้

===================

**เดิม(พ.ศ.๒๕๑๒) คือ มูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เปลี่ยนชื่อเป็น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเมื่อสมเด็จย่าฯเสด็จสวรรคต ในปีพ.ศ.๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เป็นนายกกิตติมศักด์

*** ใครสนใจหาซื้อ ตำราแม่ฟ้าหลวง ได้ที่ [email protected]


หมายเลขบันทึก: 538044เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2013 08:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2013 08:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

...... องค์ความรู้ ประสบการณ์ ..... สิ่งที่ต้องสั่งสม + มีคุณค่า นะคะ ขอบคุณบทความดีดีนี้ค่ะ

สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซด์ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงรวมทั้ง มูลนิธิและสถาบันปิดทองหลังพระ 

แต่เนื่องจากมีเรื่องราวอยู่มาก ถ้าเริ่มอ่านแต่ต้น ยิ่งชาว Facebook ไม่ได้เก่งเหมือน GoToKnow แล้วผมว่าเริ่มไม่ถูกเลย ในฐานะที่ผมเป็นคนนอก แต่เกี่ยวข้องและงานส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากแม่ฟ้าหลวง จึงพยายามสรุปให้ไม่เป็นทางการนัก น่าจะง่ายต่อการเข้าใจต่อคนนอก ... ขอบคุณอาจารย์เปิ้ลที่เข้ามาอ่านนครับ

เป็นการรวบรวมเรื่องแม่ฟ้าหลวงได้ดีมากเลยครับ มาเขียนบ่อยๆนะครับเป็นประโยชน์มากๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท