หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ชุมชนได้อะไร (ธนาคารข้าว บ้านหินปูนฯ)


หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน คือ “กระบวนการเรียนรู้” ที่ทรงคุณค่า เพราะสร้างเวทีการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ลดความเลื่อมล้ำทางชนชั้น บูรณาการภูมิปัญญาและเทคโนโลยีเข้าหากัน สร้างคุณค่าต่อกันและกัน (เรียนรู้คู่บริการ) มิใช่เน้นผู้รับและผู้ให้จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเหมือนแต่กาลก่อน

โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ถือเป็นนโยบายเชิงรุกในด้านบริการวิชาการแก่สังคมของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ที่มุ่มเน้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัย (อาจารย์,เจ้าหน้าที่,นิสิต) และชุมชน (ชาวบ้าน) หรือแม้แต่ภาคีอื่นๆ ทั้งที่เป็นภาครัฐและเอกชน

นอกจากประเด็นข้างต้น  โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนมีสถานะที่ชวนคิดตามหลายประการ  โดยเฉพาะการจัดวางกระบวนการพัฒนาศักยภาพของอาจารย์สู่การเป็นนักวิจัย  เพราะกระบวนการที่ถูกนำมาขับเคลื่อนนั้นล้วนถูกวางรากฐานผ่านแนวคิดของการ “วิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม” แทบทั้งสิ้น  นับตั้งแต่การพัฒนาโจทย์ การเก็บข้อมูลชุมชน การคืนข้อมูล การสังเคราะห์ข้อมูล ฯลฯ 

ทั้งนี้ทั้งนั้นยังเห็นได้ชัดว่าโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ยังเป็นเสมือนการปฏิบัติการเพื่อค้นหาพื้นที่การวิจัย,ประเด็นการวิจัยและสร้างเครือข่ายนักวิจัยไปพร้อมๆ กัน –



ดร.นวลละออง อรรถรังสรรค์

แต่อย่างไรก็ตาม  ด้วยความที่ว่า “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน”  เป็นภารกิจด้านการบริการวิชาการแก่สังคม  หาใช่งานวิจัยที่เต็มอัตราสูบ  จึงยากต่อการประเมินผลให้แจ่มชัดว่า “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของการหนุนเสริมชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืนได้แค่ไหน”

แต่ที่แน่ๆ ผมมองว่าหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน คือ “กระบวนการเรียนรู้”  ที่ทรงคุณค่า เพราะสร้างเวทีการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม  ลดความเลื่อมล้ำทางชนชั้น  บูรณาการภูมิปัญญาและเทคโนโลยีเข้าหากัน  สร้างคุณค่าต่อกันและกัน (เรียนรู้คู่บริการ) มิใช่เน้นผู้รับและผู้ให้จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเหมือนแต่กาลก่อน  และที่สำคัญก็คือ ...มิใช่ทำให้เสร็จๆ เพียงวันสองวัน หากแต่ขับเคลื่อนกันเป็นระยะๆ ก่อเกิดมิตรภาพและห้องเรียนที่หลากหลายจากทุกฝ่าย..  มีการไปมาหาสู่กันระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน และชุมชนกับมหาวิทยาลัย ฯลฯ




ครับ, จากนี้ไปคือบทสัมภาษณ์เล็กๆ ที่พ่อสำราญ  ศรีทรัพย์  (ประธานโครงการธนาคารข้าว)  แห่งบ้านหินปูนได้บอกเล่าต่อผม  (พ่อสำราญฯ คือหนึ่งในแกนนำชาวบ้านที่ร่วมขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ผ่านหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนร่วมกับมหาวิทยาลัยอย่างจริงๆ จังๆ  ภายใต้ชื่อโครงการโครงการ “การบริหารจัดการธนาคารข้าวเพื่อชุมชนบ้านหินปูน”  โดยสาขาการจัดการคณะการบัญชีและการจัดการ  ซึ่ง ดร.นวลละออง อรรถรังสรรค์ เป็นผู้รับผิดชอบหลัก)



พ่อสำราญ  ศรีทรัพย์


ชุมชนได้เรียนรู้อะไรบ้างจากโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน


  “...ได้เรียนรู้การจัดการองค์กรที่เป็นระบบ เรียนรู้บทบาทและหน้าที่ของแต่ละคนที่เกี่ยวกับธนาคารข้าว
  “...ได้เรียนรู้การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวและการจัดเก็บที่ถูกต้อง
  “...ได้เรียนรู้การทำเกษตรกรรมอย่างประหยัด เช่น การทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวเอง


ชุมชนเปลี่ยนแปลงอย่างไร

 

 “...เกิดการทำงานเป็นทีม  มีการแบ่งงาน บริหารงานและการติดตามงานที่เป็นระบบระเบียบมากขึ้น
  “...เกิดการทำงานที่มีเป้าหมายและมีความหวัง
  “...เกิดแนวคิดการประยุกต์แนวปฏิบัติต่างๆ สู่อาชีพอื่นๆ ที่มีอยู่ในชุมชน


อุปสรรคในการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย


 “...ความล่าช้าที่เกิดจากฤดูกาลประกอบอาชีพของชาวบ้าน เช่น เป็นช่วงการทำนา ทำให้ต้องเลื่อนกิจกรรมอยู่บ่อยครั้ง 
  “...ความล่าช้าของงบประมาณ  ทำให้เกิดความไม่คล่องตัวในด้านการบริหารจัดการต่างๆ


ความรู้ใหม่ที่ชุมชนได้รับ

“...การทำปุ๋ยหมัก
“...การถนอมอาหาร
 “...การคัดเลือกและจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าว
“...การบริหารองค์กร  (ธนาคารข้าว)
“...การจัดทำบัญชี


ข้อเสนอแนะ

 

 “...โครงการทำมาดีแล้ว
แต่ยังต้องการให้มหาวิทยาลัยมาร่วมทำกิจกรรมต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
เพื่อช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี ซึ่งน่าจะช่วยให้ชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืนได้ในที่สุด...”



หมายเหตุ

โครงการ “การบริหารจัดการธนาคารข้าวเพื่อชุมชนบ้านหินปูน” 
ปัจจุบันได้รับการพัฒนาจากงานบริการวิชาการ (หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน)  สู่การเป็นงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น  (งานวิชาการรับใช้สังคม)  ในชื่อ โครงการกระบวนการสร้างเสริมการบริหารจัดการธนาคารข้าวเพื่อการลดต้นทุนในการผลิตข้าวที่เหมาะสมกับชุมชนบ้านหินปูน ต.เขวาใหญ่ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
อันเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคามกับ สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น


หมายเลขบันทึก: 537547เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2013 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2013 10:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอร่วมชื่นชม "โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน" ที่เป็นแบบอย่างของการขับเคลื่อนของสายงานวิชาการ สู่การมีส่วนร่วมของชุมชนของการปฏิบัติเพิ่มมูลค่าของวิถีดำรงชีวิตที่ก้าวจากรากฐานสู่กรพัฒนาที่ดีต่อไป...ขอให้กำลังใจค่ะ...

สวัสดีครับคุณแผ่นดิน ผมเองก็ลูกหลานชาวนาคนหนึ่งที่อยากเห็น มหาวิทยาลัยในจังหวัดออกมาทำงานอย่างนี้เหมือนกัน  ทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้กับชุมชน ขณะเดียวกันก็เก็บข้อมูลทำวิจัยเป็นผลงานทางวิชาการของมหาวิทยาลัยไปด้วย ส่วนชาวบ้านก็ได้ความรู้จากพี่เลี้ยงได้ผลของงานที่ทำ  แถวหมู่บ้านผมยังไม่เห็นมีหน่วยงานหรือมหาวิทยาลัยไหนเห็นความสำคัญ  มีโครงการต่างๆ เข้ามาพัฒนามากมาย ทำกันได้สักพัก และแล้วก็ยกเลิก แตกกระสานกันไป  ตามความเข้าใจของผมน่าจะ "ผลประโยชน์ไม่ลงตัว"  และ "ขาดพี่เลี้ยง" ที่น่าเชื่อถือนั่นแหละเป็นสำคัญ  ถ้าอยู่ใกล้ๆ อยากจะเข้าไปร่วมทำงานด้วยจังครับ 

ดีมากๆ เลยค่ะ นิสิตที่ร่วมกิจกรรมก็สนุก ชุมชนก็ได้รับความรู้ ได้ประโยชน์กันทั่วหน้า ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันค่ะอาจารย์

Congrats to both sides.

I can see a society where people are working together rather than classes (exploiting others).

It seems that มหาวิทยาลัยมหาสารคาม has learned and soon will be a world leading in this endeavour -- in learning and sharing knowledge.

Please keep us updated.

โครงการดีๆมีไว้แบ่งปัน ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท