เสรีนิยมประชาธิปไตย ตอนที่ 1 โทมัส ฮอบส์


ผมว่าจะเขียนเรื่องนี้นานแล้ว แต่บังเอิญไม่มีเวลาว่าง คนไทยคงจะรู้สึกสงสัยว่าทำไมเราจึงพูดถึงสิทธิและเสรีภาพว่าเป็นสิ่งสำคัญในการเมืองไทย หรือเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองไทย เช่น เราชอบดูหนัง เวลาหนังโดนห้ามฉาย เราจะบอกว่าทำไมต้องมาจำกัดสิทธิและเสรีภาพของเราด้วย ทฤษฎีที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพนั้นก็คือทฤษฎีสัญญาประชาคม ในบันทึกนี้ผมจะมาเสนอทฤษฎีสัญญาประชาคม เริ่มต้นที่ ฮอบส์ ล็อค และรุสโซตามลำดับครับ

สำหรับความคิดเรื่องกำเนิดของรัฐ เริ่มด้วย ทฤษฎีเทวสิทธิ์ (Theory of the Divine Right) ซึ่งเชื่อว่ารัฐมีกำเนิดจากพระเจ้า กล่าวคือ พระเจ้าเป็นผู้ประทานดินแดนสร้างมนุษย์ ให้อำนาจตั้งรัฐบาล มอบอำนาจอธิปไตยให้ กล่าวโดยสรุปได้ว่า พระเจ้า คือ ผู้ที่กำหนดกฎเกณฑ์การปกครองทั้งหมดให้ทฤษฎีนี้ก่อให้เกิดผลสำคัญหลายประการ คือ

1. รัฐเกิดจากพระประสงค์ของพระเจ้า
2. มนุษย์มิได้เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างรัฐ แต่เป็นเพียงองค์ประกอบของรัฐ
3. ผู้ปกครองรัฐได้อำนาจปกครองมาจากพระเจ้า ผู้ใดฝ่าฝืนอำนาจรัฐ ผู้นั้นฝ่าฝืนโองการพระเจ้า
4. ประชาชนในรัฐจะต้องเชื่อฟังอำนาจรัฐโดยเคร่งครัด

  ทฤษฎีนี้คลายความนิยมในเวลาต่อมา และเกิดทฤษฎีใหม่ขึ้นที่เรียกว่า ทฤษฎีสัญญาประชาคม (Theory of the Social Contract) ซึ่งคัดค้านทฤษฎีเทวสิทธิ์ในข้อสำคัญหลายประการ ทฤษฎีที่ว่านี้ก็คือทฤษฎีสัญญาประชาคม(Social Contract Theory) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน มีที่มาจากนักคิดนักปราชญ์ในฟากยุโรปโดย ฮิวโก โกรติอุส(Hugo Grotius:ค.ศ.1583-1645)ได้อธิบายสภาวะตามธรรมชาติของมนุษย์ว่า ธรรมชาติของมนุษย์อยู่อย่างอิสระ ไม่ขึ้นกับอำนาจใดต่อมาเมื่อมนุษย์ได้ตกลงกันก่อตั้งสังคมขึ้นเรียกความตกลงนี้ว่าสัญญาประชาคม(Social Contract)

ต่อมานักปรัชญาชาวอังกฤษโทมัส ฮอบบ์(Thomas Hobbes :ค.ศ.1588-1679) ได้นำมาแนวคิดเรื่องสัญญาประชาคมเข้ามาสานต่อไป โดยเขียนหนังสือLeviathan (ค.ศ.1651)หรือ “ลีไวอะธัน (สัตว์ร้ายในตำนาน)”ได้เสนอหลักการสัญญาสวามิภักดิ์(Pactum Subjectiones) เพื่อปกป้องอำนาจอันสมบูรณ์ของกษัตริย์ ในหนังสือ Leviathan วว่าป็นหมือนสัตว์ประหลาดรูปร่างคล้ายปลาวาฬในตำนานที่สามารถกินเรือได้ทั้งลำ ฮอบส์เปรียบตัวLeviathan ว่าเป็นเสมือนรัฐบาลที่ใช้อำนาจรัฐในการบังคับบัญชา

ฮอบส์เริ่มต้นงานเขียนในหนังสือ Leviathanโดยอธิบายถึงสภาพของรัฐในสังคมธรรมชาติที่ซึ่งปัจเจกชนแต่ละคนเท่าเทียมกันโดยธรรมชาติ ทุกคนมีอิสระที่จะทำในสิ่งที่ตนต้องการเพื่อเอาชีวิตรอดอันเป็นผลให้ทุกคนตกอยู่ในภาวะ “ความกลัวอย่างต่อเนื่องในอันตรายจากการตายโหง” ชีวิตของคนในช่วงเวลานั้นโดดเดี่ยว ยากจน เสี่ยงอันตราย มีชีวิตแสนสั้นเยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน รัฐในสังคมธรรมชาติไม่มีกฎหมายหรือผู้จะบังคับใช้กฎหมาย ทางออกเดียวของสถานการณ์นี้ ฮอบส์กล่าวว่าปัจเจกชนเหล่านั้น ต้องสร้างอำนาจสูงสุดขึ้นเพื่อที่จะนำมาซึ่งความสงบสุข

แนวคิดนี้ฮอบส์ได้มาจากทฤษฎีการแสดงเจตนาโดยปริยายในกฎหมายลักษณะสัญญาของประเทศอังกฤษ ฮอบส์ยืนยันว่าประชาชนตกลงกันในหมู่ของพวกเขาเองที่จะละวางสิทธิตามธรรมชาติที่เท่าเทียมและอิสระ และมอบสิทธิอันเด็ดขาดให้แก่รัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งอาจเป็นบุคคลคนเดียวหรือคณะบุคคลก็ได้ รัฏฐาธิปัตย์จะได้บัญญัติและบังคับกฎหมายเพื่อรักษาความสงบในสังคม,ให้ซึ่งชีวิต,เสรีภาพ,และความสามารถในการถือครองทรัพย์สิน ซึ่งฮอบส์เรียกข้อตกลงอันนี้ว่า “สัญญาประชาคม”

นอกจากนี้ฮอบส์ยังมีความเชื่อว่ารูปแบบของรัฐบาลที่นำโดยกษัตริย์เป็นรูปแบบที่ดีที่สุดของรัฏฐาธิปัตย์ ด้วยการมอบอำนาจทั้งหลายทั้งปวงไว้ในพระหัตถ์ของกษัตริย์ย่อมนำมาซึ่งการบริหารอำนาจรัฐได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ฮอบส์ยังคงเชื่ออีกว่าสัญญาประชาคมเป็นสัญญาที่เกิดขึ้นระหว่างปัจเจกชนด้วยกันเองเท่านั้น หาใช่ระหว่างพวกเขากับรัฏฐาธิปัตย์ไม่ ในทันใดที่ประชาชนมอบอำนาจอันสัมบูรณ์แก่กษัตริย์แล้ว พวกเขาก็หามีสิทธิที่จะต่อต้านพระองค์ได้อีก

แต่กระนั้นในขณะที่วันเวลาของอำนาจอันสัมบูรณ์ขององค์กษัตริย์ดำเนินไป “ยุคเรืองปัญญาในยุโรป” ยุคใหม่ของความคิดอันบรรเจิดก็ปรากฏขึ้น เหล่านักคิดในยุคเรืองปัญญาต้องการปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์บนโลกด้วยกันแทนที่ความสำนึกของพวกเขาที่มีต่อศาสนาและชีวิตหลังความตาย นักคิดเหล่านี้ให้ความสำคัญแก่เหตุผล,วิทยาศาสตร์,ความคิดเห็นที่แตกต่างทางศาสนาและสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “สิทธิตามธรรมชาติ” (กล่าวโดยเฉพาะได้แก่สิทธิในชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สิน) ซึ่งเราจะมาคุยกันถึงจอห์น ล็อค และรุซโซกันต่อไป

โดยสรุป เราสามารถสรุปความคิดของโทมัส ฮอบส์ ได้ดังนี้

ธรรมชาติของมนุษย์และโลกก่อนมีสัญญาประชาคม

ในแนวคิดของฮอปมนุษย์นั้นเลวร้าย เห็นแก่ตัว และอ่อนแอ มนุษย์ทุกคนทีความเท่าเทียมกัน มีสิทธิ์ในการทำทุกอย่างแม้แต่ฆ่าผู้อื่น ใครจะฆ่าใครก็ได้ ดังนั้นโลกก่อนมีสัญญาประชมคมจึงมีแต่ความหวาดระแวง เป็นสภาพที่ทุกคนอยู่ในสงครามระหว่างกันและกัน ไม่มีความปลอดภัย

 ทำไมต้องทำสัญญาประชาคม?

เพราะมนุษย์นั้นกลัวตาย มนุษย์จึงต้องมาตกลงกันว่าจะอยู่ด้วยกัน และสร้างความไม่เท่าเทียมขึ้น มนุษย์ยกอำนาจที่มีให้แก่คนคนหนึ่ง ซึ่งเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ (ผู้มีอำนาจสูงสุดของรัฐ) และยอมอยู่ใต้การปกครองของเขา

 ใครคือผู้มีอำนาจอธิปไตย?

องค์รัฏฐาธิปัตย์แต่เพียงผู้เดียว จะมีใครมีอำนาจเทียบเท่าไม่ได้

 สภาพสังคมหลังทำสัญญาประชาคม

มนุษย์พ้นจากสภาพสงครามระหว่างกันและกันเพราะอยู่ใต้กฎหมายขององค์รัฏฐาธิปัตย์

การเรียกอำนาจคืนจากผู้มีอำนาจอธิปไตย

มนุษย์ไม่มีสิทธิเรียกอำนาจคืน จะทำอะไรองค์รัฏฐาธิปัตย์ไม่ได้เพราะไม่อย่างนั้นจะกลับไปเป็นสภาพสงคราม มนุษย์ยังเหลือสิทธิ์เดียวคือสิทธิ์ในชีวิตเท่านั้น องค์รัฏฐาธิปัตย์จะเอาชีวิตไปไม่ได้เพราะผิดข้อตกลง

 หนังสืออ้างอิง

ไม่มีชื่อผู้แต่ง.มรดกทางความคิดของ โธมัส ฮ็อบส์, จอห์น ล็อค, ชาลส์ มองเตสกิเออร์ และ จัง-จากส์ รุสโซ ที่ส่งผลต่อรูปแบบของรัฐบาลในปัจจุบัน. http://emrajalawhouse.com/?tag=%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87-%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B9%8C-%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%AA%E0%B9%82%E0%B8%8B  เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ไม่มีชื่อผู้แต่ง. สรุปสัญญาประชาคม. http://www.dek-d.com/board/view.php?id=1442930เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

จักรภพ ศรมณี. ทฤษฎีสัญญาประชาคม. http://mpa2011.blogspot.com/2011/04/theory-of-social-contract.html  เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

 

หมายเลขบันทึก: 537054เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2013 13:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มกราคม 2014 08:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท